Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
แม่คะหนูอยากเป็นหมอ...(ภาคสอง) ติดต่อทีมงาน

สวัสดีทุกท่านครับ ผมขออนุญาตกลับมาต่อกับ อีกหนึ่งเรื่องราวที่อยากเมาส์มอยให้ฟังนะครับ

       ก่อนอื่นก็ต้องขอบคุณสำหรับทุกท่านที่ให้ความสนใจไปกด like กันใน facebook และ blog “หมอใหม่หัวใจแนว” นะครับ ขอบคุณมากๆ สำหรับท่านที่อยากอ่านเรื่องราวอื่นๆเรียนเชิญนะครับ ถาม google เลยเดี๋ยวเขาก็บอก

       ในประเด็นต่อมาก็ต้องขอบคุณสำหรับท่านที่มาตั้งคำถาม มากมายเลยนะครับทั้งใน facebook และในกระทู้แห่งนี้ แต่ต้องขอบคุณมากกว่าก็คือเหล่าคุณหมอตัวละครลับทีเด็ดทั้งหลายที่มาร่วมตอบคำถามให้กระจ่างแจ้ง บางคำถามผมยังคิดไม่ออกเลยว่าจะตอบยังไงแต่คุณหมอหลายๆท่านก็มาช่วยไขกระจ่างให้ ทำให้สรุปแล้วผมแทบไม่ต้องตอบคำถามไหนเลยทีเดียว(วะฮ่าๆๆๆๆๆ)

        แต่จริงๆก็เลือกไว้บางคำถามแล้วละครับ ที่จะนำมาเขียนเป็นเรื่องราวให้อ่านกัน เพราะบางคำถามก็ไปตรงกับเรื่องที่เขียนค้างไว้แล้วก็จะขออนุญาตตีเนียนไปเลยก็แล้วกัน (เชิบๆ)

        เอาละครับก่อนจะพาเรื่องไปสู่อ่าวไทย ผมจะขอวกกลับมากับเรื่องราวที่บางคนอยากรู้และบางคนก็ไม่อยากรู้ (แน่ละสิ) กับเรื่องราวการเป็นหมอกันเลยละกันนะครับ...

และแน่นอนที่สุด copy paste อย่างมันส์

“ความคิดความรู้สึก และ ข้อมูลทั้งหลายนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่ผมได้มีโอกาสสัมผัสโดยตรงคนเดียว และฟังเพื่อนแพทย์มาบ้างเท่านั้น นั่นหมายความว่าการที่จะเป็นหมอนั้นในบางครั้งอาจจะไม่ได้เป็นในรูปแบบนี้ ไม่ได้รู้สึกอย่างนี้ สรุปก็คือขึ้นอยู่กับคุณหมอแต่ละคนด้วยนะจ๊ะ เป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านนะจ๊ะ”

ถาม  : วันหนึ่งๆหมอทำอะไรบ้าง งานหนักจริงเหรอ ทำไมคุณหมอชอบบ่นว่างานยุ่ง?

ตอบ : เรื่องยุ่งนี่แล้วแต่แพทย์แต่ละสาขา สถานที่ทำงาน งานที่ต้องรับผิดชอบนอกจากการเป็นแพทย์เช่นงานบริหารองค์กรต่างๆซึ่งแพทย์ต้องเข้าไปมีส่วนร่วม งานเอกสารต่างๆ และจำนวนผู้ป่วยที่มารับการรักษาด้วยครับ อันนี้ผมคงไประบุไม่ได้ว่า เป็นหมอยุ่งมากแน่ๆหรือไม่ยุ่งแน่ๆ ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างเลย

       แต่ว่าวันหนึ่งๆ หมอทำอะไรบ้างอันนี้พอตอบได้ประมาณหนึ่งครับ เพราะส่วนใหญ่กิจกรรม การทำงานของหมอแต่ละสาขาจะคล้ายๆกันครับ แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาผู้ป่วยแล้ว แบบที่ไม่ได้เข้าระบบเรียนอยู่ เช่น ไม่ได้กำลังเรียนแพทย์เฉพาะทางอยู่นะครับ เพราะถ้ามีการเรียนเข้ามาเกี่ยวข้อง ตารางเวลาของแพทย์ก็จะแล้วแต่สาขาที่เรียน จะแยกรายละเอียดออกไปหลายๆอย่างเลยครับ และตารางในบางครั้ง ในแต่ละเดือนก็จะแตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นขอเอาเฉพาะกิจกรรมที่แพทย์ทำงานนะครับ เรื่องเรียนข้ามไปแล้วกัน

เช้า : ตื่นนอน เป็นสิ่งที่สำคัญมากครับ เพราะถ้าไม่ตื่นนอนก็ไม่รู้จะทำงานยังไง ถ้า ใครไม่ตื่นก็ตั้งนาฬิกาปลุกครับ ........(เฮ้ยๆละเอียดไปละ ถ้าละเอียดขนาดนี้ ปีหน้าบทนี้ก็อ่านไม่จบ) เอาใหม่ๆ

เช้า : แพทย์ต้องไปดูผู้ป่วยในก่อนครับ หรือที่เรียกกันบ่อยๆว่า ราวน์ วอร์ด นั่นละครับ  เป็นการดูผู้ป่วยในว่า วันนี้กลับบ้านได้หรือยัง ถ้ายังต้องสั่งการรักษาอะไรเพิ่ม เจาะเลือดหรือไม่ ให้น้ำเกลือหรือไม่ ฉีดยากินยาอะไรเพิ่ม ถ้าเป็นผู้ป่วยที่เตรียมตัวผ่าตัดก็ต้องไปดู ไปเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยก่อนที่จะเข้าผ่าตัด ถ้าผ่าเสร็จแล้วก็ต้องไปดูผลจากการผ่าตัด แผล ผลข้างเคียงจากการให้ยาสลบ ถ้าเป็นการคลอดก็ไปดูอาการของเด็กและคุณแม่หลังคลอดด้วยครับ การราวน์นี้ก็จะแล้วแต่จำนวนผู้ป่วยที่มีครับ มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กันไป

สายๆ : หลังจากราวน์เรียบร้อยก็จะเป็นการทำงานหลักในแต่ละสาขาละครับ (จริงๆงานที่แพทย์ทำแต่ละอย่างก็เป็นงานหลักทั้งนั้นละครับ) เช่นถ้าคุณหมอผ่าตัดก็จะเข้าห้องผ่าตัด คุณหมออายุรกรรม (ที่ตรวจโรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ประมาณๆนี้นะครับ) ก็จะไปออกตรวจผู้ป่วยนอก (ก็คือผู้ป่วยที่เราเห็นว่ามานั่งรอตรวจกันนั่นละครับเป็นต้น) คุณหมอสูติกรรม ก็จะไปออกคลินิกฝากครรภ์ แพทย์ทั่วไป(ที่มักอยู่ตามโรงพยาบาลชุมชน) ก็จะไปออกตรวจผู้ป่วยนอกเป็นต้น ประมาณว่าแพทย์สายอื่นๆก็จะแยกย้ายไปทำงานตามตารางเวลาที่ตัวเองมีอยู่ครับ

เที่ยง : กิน!!!!!!!!!! (แพทย์เองก็ต้องกินข้าวนะครับ หาใช่เครื่องจักรกลไม่ หรือแม้เครื่องจักรกลก็ยังต้องใช้น้ำมันนะจ๊ะ) อันนี้ก็แล้วแต่นะครับว่า จะกินอะไรกัน และขึ้นอยู่กับกิจกรรมด้วยครับ เพราะในบางครั้งก็อาจจะไม่ค่อยได้กิน หรืออาจจะไปกินกันเวลาบ่าย 2 บ่าย 3 ขึ้นกับกิจกรรมที่ทำอยู่ในช่วงเช้า ถ้าติดพันหรือทำไม่เสร็จ เช่น ผ่าตัดอยู่ ก็อาจจะต้องข้ามกิจกรรมนี้ไปหรือเลื่อนการกินออกไปก่อน เป็นต้น

บ่าย : ก็จะมีกิจกรรมต่อเนื่องที่ทำอยู่ครับ เช่นออกตรวจผู้ป่วยนอกก็ตรวจไป เข้าห้องผ่าตัดก็ผ่าไป

เย็น : ก็จะมีการไปราวน์เย็นในบางครั้งครับ ไปดูผู้ป่วยที่ให้ยาไปแล้วในตอนเช้า หรือไปดูผลตรวจเลือดที่สั่งไว้ในตอนเช้า แต่ถ้าผู้ป่วยอาการดีและเป็นผู้ป่วยกลุ่มที่อาการคงที่ บางครั้งการราวน์เย็นก็อาจจะไม่มี

       ในบางกรณีหากเป็นอาจารย์แพทย์หรือต้องทำงานด้านบริหารไปด้วยก็อาจจะต้องมีการประชุมต่างๆ การสอนนักเรียนแพทย์ การทำวิจัย  แทรกเข้ามาในช่วงงานเช้าเที่ยงเย็นนี่ด้วยละครับ

ช่วงเย็น กลางคืนดึกดื่น จนถึงเช้า : ช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงเวลาที่แพทย์ต้องอยู่เวรครับ ก็แล้วแต่ว่าใครอยู่แบบใด บางคนอยู่ ตรวจผู้ป่วยนอกเวลา คลินิกพิเศษนอกเวลา ห้องฉุกเฉิน ก็อยู่ดูกันไปครับ โดยก็แล้วแต่ บางคนก็อยู่เป็นกะ กะละประมาณ 8-10 ชั่วโมง บางคนก็อยู่ข้ามคืน เช่น

       คลินิกนอกเวลา อันนี้ไม่ได้หมายถึงที่ไปเปิดคลินิกส่วนตัวนะครับ แต่หมายถึงคลินิกผู้ป่วยนอกหรือคลินิกที่เวลาผู้ป่วยมาตรวจ อาการไม่รีบด่วนมาก แต่ไม่ได้มาในเวลาราชการนั่นแหละครับ จะมาตรวจในส่วนนี้ก็จะทำการตรวจผู้ป่วยและอาจจะมีการส่งตรวจกับคุณหมอเฉพาะทางในวันนั้นๆเลยถ้ากรณีฉุกเฉินและเร่งด่วนมาก แต่ถ้าไม่เร่งด่วนอาจจะนัดมาในวันรุ่งขึ้น ซึ่ง ผู้ป่วยหลายๆท่านก็จะมีอาการงงเล็กน้อยถึงปานกลางว่า แล้วทำไมไม่ส่งปรึกษาในวันนั้นๆไปเลยละ เสียเวลาฉันนะ อันนี้เข้าใจผู้ป่วยครับ แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับในโรงพยาบาลหลายๆแห่งคือ ทีมงาน การตรวจ อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงแพทย์เอง โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทาง ในเวลาราชการจะพร้อมมากกว่าตอนกลางคืนครับ   ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องสงวนทีมส่วนนี้ไว้ให้กับผู้ป่วย ที่มีอาการฉุกเฉินและจำเป็นกว่าจริงๆ แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการฉุกเฉินจริงและรอไม่ได้ คุณหมอทั่วไปที่ดูให้ก็จะส่งปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางให้อยู่แล้วครับ แพทย์ที่ตรวจเวรนี้ก็จะได้พักหลังจากคลินิกนอกเวลานี้ปิดครับ (ซึ่งในโรงพยาบาลบางแห่งก็มีแพทย์เฉพาะทางตรวจในคลินิกนอกเวลาราชการนี้ด้วยก็มีครับ)

       ห้องฉุกเฉิน อันนี้แพทย์ที่จะไปตรวจก็มีที่เป็นแบบข้ามคืนและแบบ 8-10 ชม.ครับ โดยช่วงผลัดเปลี่ยนกันก็จะมีการส่งต่อเวร ส่งต่อรายละเอียดผู้ป่วยกันด้วย ห้องฉุกเฉิน ก็จะดูแลผู้ป่วยที่ฉุกเฉินละครับ ตามชื่อ และอาจจะส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทางต่อไปอีกครั้งหนึ่ง โดยส่วนใหญ่แพทย์ที่ดูห้องนี้มักจะไม่ค่อยได้นอนหรอกครับ ต้องเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา เว้นเสียแต่ว่าผู้ป่วยน้อยหรือไม่มีผู้ป่วยก็จะพอได้แอบพักกันบ้าง บางคนไม่ได้นอนเลยละครับ ก็ต้องไปเริ่มทำงานในเช้าวันถัดไป

เช้า : เริ่มราวน์กันใหม่

       จะเห็นได้ครับ ชีวิตของแพทย์ก็จะวนเวียนเป็น วัฏจักรอยู่อย่างนี้(คล้ายๆยุง) ถ้าบางคนเป็นอาจารย์แพทย์ ก็ต้องไปสอนนักศึกษาแพทย์ด้วย หรือแพทย์บางท่านก็ต้องมีการประชุม บริหารงานโรงพยาบาล พัฒนาการสาธารณสุข เวลาก็ต้องมีการสับเปลี่ยนโยกย้าย ให้งานต่างๆมันลงตัวได้ครับ

       ด้วยตารางเวลาที่แน่นเอี้ยด(กว่าคนในรถไฟฟ้าช่วงเช้า)ของแพทย์ งานของแพทย์จะหนักหรือไม่ขึ้นกับว่าจำนวนผู้ป่วยที่มาตรวจ และที่นอนโรงพยาบาลอยู่ครับ ถ้าผู้ป่วยมีจำนวนมากก็จะเป็นงานหนัก เช่น มีผู้ป่วยในตึก 40 คน ออกมาตรวจผู้ป่วยนอก เช้าบ่าย 100 คน คลินิกนอกเวลา 30 คน (ตัวเลขทั้งหมดเป็นตัวเลขที่สมมติขึ้น แต่!!!! เกี่ยวข้องกับสถานที่และเหตุการณ์ที่มีอยู่จริงๆนะจ๊ะ) รวมวันหนึ่งๆต้องตรวจผู้ป่วยถึง ประมาณร่วมๆ 200 คนแต่ละคนก็มีแต่ละปัญหา อยากระบายอยากให้แพทย์ช่วย แก้ไข ร่วมๆ 200 ปัญหา ก็จะเป็นงานที่หนักทีเดียว (ประมาณว่านั่งทำข้อสอบที่ยากมาก 200 ข้อ แต่อันนี้ไม่ใช่ข้อสอบนะครับ เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตคนที่ยากกว่านั้น) แต่ก็แน่ละครับ เป็นแพทย์ทั้งทีก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดละครับ เพื่อผู้ป่วยของเรา!! จริงมะ?

        เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าการเป็นแพทย์ยุ่งหรือไม่ก็อย่างที่บอกว่า ต้องขึ้นกับสาขา งานที่ทำ จำนวนผู้ป่วยด้วย แต่โดยส่วนใหญ่ แพทย์กว่า 90% งานยุ่งครับ (ตัวเลขจากสถาบันวิจัยหมอใหม่หัวใจแนวแอนด์เดอะแก๊ง นั่นคือจากประสบการณ์และที่ถามเพื่อนแพทย์มา ไม่สามารถนำไปอ้างอิงได้)

ถาม : เป็นหมอรวยสินะครับ?

ตอบ : รวย?? ก็ต้องดูกันก่อนครับ ว่าแบบไหนถึงรวย ถ้า 100 ล้านรวย แพทย์ก็คงไม่รวยครับ งั้นจะเปรียบเทียบกับอะไรดีเอาเป็นว่าถึงแม้แพทย์จะเป็นอาชีพที่รวยหรือไม่ยังไม่แน่ใจ แต่อย่างน้อยการเป็นแพทย์ไม่อดตายครับ เพราะอย่างที่เล่าให้ฟังในตอนต้นว่า เมื่อเรียนจบแพทย์ แพทย์จะยังมีที่ทำงานอยู่(ในตอนนี้) เพราะยังเป็นอาชีพที่ขาดแคลนมาก  สำหรับรายได้เท่าที่ประสบพบเจอมา ก็มีตั้งแต่เดือนละ 3 หมื่นไปจนถึงหลักแสนต่อเดือนครับ (หมอโดยส่วนใหญ่จะอยู่ประมาณหลักหมื่น) ขึ้นอยู่กับ

·     สาขาที่เป็น ว่าเป็นสาขาที่ขาดแคลนหรือมีกันมากมาย หรือว่าเป็นแพทย์เฉพาะทาง หรือแพทย์ทั่วไปด้วย

·     ที่ทำงาน รัฐบาล เอกชน หรือ คลินิกต่างๆ เงินเดือน เงินค่าเวรก็จะแตกต่างกันไป

·     จำนวนผู้ป่วยที่มารับการรักษา เพราะในบางโรงพยาบาล ย้ำอีกที บางโรงพยาบาล ให้เงินตอบแทนแพทย์เวรขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วยที่มารักษาครับ

·     จำนวนเวรและงานที่ต้องรับ ผิดชอบ อยู่เวรมาก ทำงานมากเงินมาก แต่ก็มีครับ บางโรงพยาบาล ย้ำอีกที บางโรงพยาบาล จ่ายเงินเวรแบบเหมาจ่ายไปเลยก็มี

·     การใช้จ่ายเงินของแพทย์ท่านนั้นๆ

       ดังนั้นจะเห็นได้เลยครับ ว่าแพทย์ก็อาชีพๆหนึ่งนั่นละครับ มีเงินเดือน มีเงินตอบแทนเมื่อทำงาน โดยเงินที่ได้ก็แล้วแต่งานที่ทำ ผมขออนุญาตยกตัวอย่างรายได้ เพื่อนแพทย์บางคนมานำเสนอเพื่อเป็นข้อมูลเล็กๆน้อยๆนะครับ

       นายแพทย์ นะเดร๊ด (นามสมมติ)  จบเป็นแพทย์

หมายเหตุ ตัวเลขที่นำมาเสนอเป็นตัวเลขจากประสบการณ์ที่ได้สอบถามเพื่อนแพทย์หลายๆคนมา ตัวเลขอาจจะมีผิดแปลกไปบ้างในบางโรงพยาบาลแล้วแต่งานที่ทำ รวมถึงโรงพยาบาลที่อยู่ด้วยนะจ๊ะ

·     ไปใช้ทุนปีแรก รพ.จังหวัด จะได้เงินประมาณ 3 หมื่นถึง 6 หมื่นบาทต่อเดือน

·     ไปใช้ทุนปี 2-3 รพ.ประจำอำเภอ ยังอยู่เรทใกล้ๆกัน 4-7 หมื่นบาท

·     หากนายแพทย์ นะเดร๊ด เปิด คลินิกด้วยก็อาจจะได้รายได้เพิ่ม ตั้งแต่ 5พัน ถึง 1 แสน บาทต่อเดือน แล้วแต่ว่ามีผู้ป่วยมารับบริการกี่คน แต่เงินเดือนที่ได้รับก็จะลดลงไป  (รัฐจะตัดทอนเงินบางส่วนออก) หากไปเปิดคลินิกส่วนตัว

·     หากไปอยู่เวรโรงพยาบาลเอกชนเพิ่ม ก็อาจจะได้ เวรละ 2 พันจนถึง 5 พันบาทต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล จำนวนชั่วโมง จำนวนผู้ป่วย และงานที่ต้องรับผิดชอบ

·     หากไปเรียนต่อเฉพาะทาง เมื่อจบก็จะได้รายได้เพิ่ม(แต่ระหว่างการเรียนต่อ รายได้จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ.....-_-‘ )

สมมติกันให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น

       นายแพทย์  มาริเอ้ (นามสมมติ) เป็นแพทย์ ทั่วไปทำงานอยู่โรงพยาบาลประจำอำเภอ ได้เงินตอบแทนประมาณ 50000 บาท (รายละเอียดปลีกย่อยว่าเป็นเงินเดือน เงินนู่น นั่น นี่ขอข้ามไปนะครับ) โดยทำงาน 20 วันราชการ 10 เวร เป็นเวรวันธรรมดา 7 วัน วันหยุด 3 วัน ดังนั้นเวลาในการทำงาน

             เวลาทำงานปกติ 8 ชม. x 20 วัน = 160 ชั่วโมง

             เวลาอยู่เวรวันธรรมดา 16 ชม. x 7 วัน = 112 ชั่วโมง

             เวลาอยู่เวรวันหยุด 24 ชม. x 3 วัน = 72 ชั่วโมง

        รวมเวลาทำงานทั้งสิ้น 344 ชม (ที่ต้องรับผิดชอบชีวิตคน) ซึ่งจริงๆแล้วหมอส่วนใหญ่มักจะต้องทำงานมากกว่านั้น

        ก็ลองคิดดูครับว่า ทำงาน 344 ชม.กับ เงิน 50000 บาทถือว่าสบายและร่ำรวยหรือไม่อันนี้ผมคงไปตัดสินแทนไม่ได้

        ยังมีอีกหลายๆอาชีพที่ทำงานน้อยกว่านี้ ได้เงินมากกว่านี้ครับลองคำนวณอาชีพของตะเองดูจิ๊ (เพี้ยนเสียงเพื่อให้ดูแอ๊บและวัยรุ่นขึ้นมาอีกนิด) จะได้ลองเปรียบเทียบดูครับว่าเป็นหมอรวยจริงหรือไม่

        ถามว่าแล้วจะเอามาเล่าทำไม??? เพื่ออะไร??? ที่ต้องการจะสื่อก็คือ แพทย์ก็อาชีพหนึ่งละครับ จะรวยไม่รวยก็ขึ้นอยู่กับงานที่ทำ รายได้แพทย์แต่ละคนก็ไม่เท่ากัน อยากจะแก้ความเข้าใจผิดของผู้ป่วยหลายๆท่านที่มารับการรักษาและมักจะบอกลูกกับหลายๆประโยคที่ว่า

“เป็นหมอสิลูก รวยนะ”(เคยได้ยินจริง)

“เป็นหมอสิลูก มีเงินเป็น สิบๆล้าน งานสบาย”(เคยได้ฟังมาจริง)

        เพราะผมมีความเห็น(ส่วนตัว) ว่าการมาเป็นแพทย์ ควรมาเป็นด้วยความที่อยากช่วยคน อยากทำงานที่มีความเสียสละ ไม่เห็นแก่เงินเป็นใหญ่  ต้องรับผิดชอบชีวิตคนอื่นๆ ต้องเห็นแก่ประโยชน์ของผู้ป่วยมาเป็นอันดับแรกก่อน  ไม่อยากให้เด็กๆหรือลูกๆใคร อยากเป็นหมอ เพราะ “อยากรวย” และงานก็ไม่ได้สบายอย่างที่คิดหรอกครับ ผมเชื่อว่าพ่อแม่ที่มีลูกเป็นหมอ หลายๆคนก็คงทราบดี

       เพราะฉะนั้นกับคำถามที่ว่าเป็นหมอ รวยสินะ ก็คงตอบได้แค่ว่าขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ขึ้นอยู่กับว่ารวยของเจ้าของคำถามนั้น แบบไหนถือว่ารวย แต่เอาเป็นว่า ถ้าจะมาเป็นหมอเพื่อ “งานสบายรายได้ดี” ละก็ ผมไม่แนะนำครับ ยังมีอาชีพอื่นๆอีกมากที่งานสบายกว่า รายได้ดีกว่า แต่หากอยากเป็นหมอเพื่อช่วยชีวิตคน อยากทำงานอีกหนึ่งแนวทางเพื่อช่วยผู้อื่น แบบนี้ละครับผมคงจะแนะนำว่า “มาเป็นหมอเถอะ” (โอ้ววววววววว สาระ)

             

         นี่ก็เป็นอีก 2 คำถามที่มักถูกพูดถึงบ่อยๆ ใครมาถามผมก็มักตอบยังงี้ละครับ คำนวณให้ฟัง หลายๆคนก็เปลี่ยนทัศนคติไป ก็ยินดี แต่หลายๆคนก็ยังไม่เชื่อยังติดอยู่กับความเชื่อผิดๆที่ว่า “เป็นหมอ งานสบายรายได้ดี” อันนี้ก็คงแล้วแต่คนกันไป ยังมีคำถามอีกเล็กน้อยที่มีคนถามเยอะมากกกกกกกก เจอกัน ภาค 3 นะตัวเธอ (เปลี่ยนภาษาเพื่อวัยรุ่นนิดนึง)

จากคุณ : small-doctor
เขียนเมื่อ : 3 มิ.ย. 55 23:20:31




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com