Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
คนไข้มะเร็งคนแรกของผม ภาค 2A ติดต่อทีมงาน

จากความเดิมภาคที่แล้ว
http://topicstock.pantip.com/lumpini/topicstock/2012/05/L12051262/L12051262.html

ตอนนี้จะเป็นการอัพเดตการรักษาต่อจากตอนที่แล้ว ผมยังย้ำวัตถุประสงค์เดิมว่า การเล่าเรื่องราวนี้ผมอยากให้คนอื่นๆได้รับรู้ว่าคนไข้มะเร็งที่รับการรักษาแผนปัจจุบันเป็นอย่างไร(ผ่านสายตาของหมอ) กระบวนการรักษาเป็นอย่างไร(แม้ว่ามันจะเป็นอุดมคติไปหน่อย) และมีปัญหาข้อจำกัดอย่างไร ผมคิดอะไรอยู่และผมจัดการมันอย่างไร

ผลการรักษาที่ดีหรือไม่ดีไม่ได้มาจากตัวหมอแต่เป็นผลจากความรู้ทางการแพทย์แผนปัจจุบันที่มีข้อมูลเช่นนั้นครับ



ตอนที่ 2A
จากรอบที่แล้วคุณลุงผ่านการรักษาด้วยเคมีบำบัดมา 4 ครั้งอาการต่างๆก็ดีขึ้นตามลำดับ เมื่อผ่านเป้าหมายแรกของการรักษาที่จะพยายามทำให้กลับมากินทางปากได้ ทำให้คนไข้แข็งแรงขึ้นได้ ในรอบนี้ผมจึงเริ่มคุยกับคนไข้ถึงเป้าหมายต่อไป เมื่อเราคุมอาการต่างๆได้สิ่งที่หมออยากจะคุมให้ได้ก็คือตัวมะเร็งนั่นเอง เพื่อที่จะยืดเวลาชีวิตที่แข็งแรงพอประมาณนี้ให้นานที่สุดเท่าที่มันจะเป็นไปได้ สิ่งที่ต้องคิดต่อไปก็คือเราจะเอาอะไรมาช่วยในการตัดสินว่าการรักษาต่อจากนี้จะยังได้ประโยชน์อยู่ เพราะหากจะรอให้อาการต่างๆนั้นแย่ลงก็อาจจะช้าเกินไปที่จะให้การรักษาต่อโดยเฉพาะในรายนี้ ย้อนมาดูผลเลือด CEA ก็อาจจะพอช่วยคร่าวๆได้ เพราะระดับของมันก็ลดลงตามอาการที่ดีขึ้น หลังรอบที่สี่ก็ลดลงอีกจาก 1100 เหลือ 600 กว่าๆ แต่สิ่งที่หมออยากจะได้....ถ้ามันเป็นไปได้ก็คือเห็นก้อนเนื้อยุบลงอย่างไรก็ตามสำหรับคุณลุงนั้นอาจจะยากสักหน่อยเพราะในตอนที่เริ่มการรักษานั้นคุณลุงมีปัญหาเรื่องไตจึงเสี่ยงมากเกินไปที่จะทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ในตอนนั้นผมจึงตัดสินใจที่จะไม่ทำนอกจากนี้คุณลุงก็เคยทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มาเมื่อสองเดือนก่อนจึงอาจพออนุโลมได้ว่าของเดิมก่อนการรักษาคือเท่าไร แต่ตอนนี้ผมคิดว่าเราพร้อมที่จะทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แล้วโดยวางแผนเอาไว้ว่าพอครึ่งทางหรือหลังรอบที่ 6 ก็จะนัดทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

ในวันที่นัดของรอบที่ห้านั้นผมเล่าให้ฟังถึงแผนการรักษาต่อไปแต่ดูเหมือนคุณลุงและญาติๆ(วันนั้นมากันหลายคน) จะพอใจในการรักษาตอนนี้อยู่ ในที่สุดผมจึงตกลงที่จะคงการรักษาเดิมไปอีกสองรอบก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าคุณลุงรับการรักษาไหวจริงๆก่อนจะเตรียมที่จะเพิ่มการรักษาจนเต็มที่ตามที่ควรจะเป็น แนวทางนี้อาจจะไม่ถูกต้องนักเพราะหมอมะเร็งทุกคนรู้ดีว่าผลการรักษาจะดีที่สุดหากได้ให้การรักษาที่เต็มที่ แต่ในมุมมองของผมนั้นคือหากการรักษาใดที่ทำให้ได้ผลอยู่ย่อมดีพอ โดยเฉพาะหากการรักษานั้นไม่ได้อยู่ที่การหวังให้หายขาดซึ่งถือว่าเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้แม้อาการจะดีขึ้นแต่คุณลุงยังถือว่าผอมมากหากไม่ระวังการรักษาอาจจะต้องหยุดลงเพราะผลข้างเคียงที่มากเกินไปมันจะไม่คุ้มกัน

เมื่อผ่านมาถึงรอบที่หกผมเองก็เริ่มหมดห่วงแล้ว จึงใช้เวลาในการตรวจให้สั้นลงเพื่อให้มีเวลาเหลือให้คนไข้คนอื่นมากขึ้นซึ่งเป็นธรรมดาของคนไข้ของผมหากคุยสั้นแปลว่าดีเมื่อไรผมพลิกแฟ้มไปมาทบทวนประวัตินั่นต้องสงสัยไว้ก่อนเลยว่ามันมีปัญหาอะไรหรือเปล่า จนบ่ายกว่าๆคนไข้คนสุดท้ายออกจากห้องไปผมไปกินข้าวในโรงอาหารก่อนจะขึ้นไปคุยกับคณลุงเพราะมีเรื่องสำคัญที่ต้องแจ้งคือผมกำลังจะไม่ได้มาทำงานที่รพ.แห่งนี้อีกแล้วด้วยเหตุผลว่าการทำแลบปริญญาเอกของผมมันยุ่งมากการมาตรวจที่นี่ผมไม่สามารถจะกลับไปทำแลบต่อได้เลย แน่นอนข่าวนี้สร้างความตกใจให้กับคนไข้และญาติ ผมแจ้งข่าวที่ผมเพิ่งจะได้รับการยืนยันว่าผมได้รับการตอบรับให้ไปช่วยตรวจที่อีกรพ.หนึ่ง ผมจึงใช้เวลานั่งคุยเพื่อบอกว่าการรักษาต่อที่นี่มีข้อดีคือไม่มีปัญหาเรื่องเตียง คนไข้ก็น้อย แต่ถ้าจะตามผมไปคงต้องเข้าใจกับปัญหาของรพ.นั้นด้วยไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาไม่มีเตียง ปัญหาคนไข้มาก ปัญหาระบบที่ยุ่งยาก จริงๆแล้วผมแนะนำว่าควรรักษาช่วงที่ต้องนอนรพ.ที่นี่ก่อนจนครบแล้วค่อยตามผมา แต่เมื่อคนไข้ตกลงจะตามผมไปรักษาต่อเลย ผมจึงแนะนำให้ไปทำบัตรผู้ป่วยไว้เลย เพื่อที่ผมจะได้จองเตียงไว้ให้แต่เนิ่นๆ

อาจจะเป็นเพราะผมอธิบายไว้ไม่ละเอียดหรืออย่างไร แต่เมื่อถึงวันนัดรับยารอบที่เจ็ด แฟนคุณลุงก็เข้ามาบอกว่ากังวลมากคิดว่าตัวผมเองจะไม่ได้มาตรวจแล้วและรอบนี้ต้องให้หมอท่านอื่นดูแทน(ผมบอกไว้อย่างนั้นกรณีที่จะรักษาต่อที่นี่) ในรอบนี้แม้อาการคุณลุงจะแข็งแรงขึ้นตามลำดับ แต่ผล CEA ที่กลับมาทำให้มันน่าอึดอัดใจเพราะมันขึ้นมาเป็น 700 กว่าๆ แน่นอนคนไข้และญาติต้องกังวลไม่น้อยแน่ๆ แต่ผมก็ปลอบใจว่าอาการดีขึ้นหมอพอใจแล้ว ค่าผลเลือดมันไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่าให้หมอระวังว่าโรคกำลังดื้อยา นอกจากนี้ระดับมันก็อาจจะแกว่งในช่วงแคบๆได้  เมื่อผ่านสองรอบที่ขนาดต่ำกว่าได้ดีผมจึงตัดสินใจเดินหน้าสู่การรักษาเต็มขนาดที่ควรจะเป็น และแนะนำให้รอดูผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ซึ่งจะทำก่อนให้ยารอบนี้ดีกว่า

ปกติแล้วการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นั้นไม่จำเป็นเลยที่จะต้องนอนรพ.แต่ในกรณีนี้ผมตัดสินใจแอดมิทก่อนรอบคีโมสองวันด้วยเหตผลสองอย่างคือ บังเอิญวันนัดมันจำเป็นต้องนัดเร็วกว่ารอบคีโมสองวัน และคุณลุงมีปัญหาทานน้ำได้น้อยเป็นบางครั้งซึ่งหมอทุกคนทราบดีว่าภาวะขาดน้ำนั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไตวายก่อนทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และฉีดสี โดยเฉพาะในคนไข้ที่ไตไม่ค่อยดีอยู่แล้ว

สัปดาห์ต่อมาซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการไปตรวจที่รพ.เดิมนั้นผมเรียกเอาฟิลม์เอกซเรย์คอมพิวเตอร์คุณลุงมานั่งดู คุณหมอเอกซเรย์ที่นี่น่ารักมากเพราะช่วยเปรียบเทียบผลให้กับฟิล์มเก่าต่างรพ.ด้วยโดยที่ไม่ได้บอกด้วยซ้ำว่าคนไข้มีฟิล์มเก่า (ปกติเขาไม่ค่อยยอมเทียบให้หากเป็นต่างรพ.นอกจากจะร้องขอ)  ผมกวาดสายตาไปทั่วๆผลอ่านก่อนจะหมดแรงกับตัวอักษรหนาๆ ซึ่งรู้กันว่ามันต้องเป็นอะไรใหม่ที่สำคัญ(และสำหรับคนไข้มะเร็งมันมักจะไม่ดี) ผมไล่ดูตามผลอ่านพร้อมเปรียบเทียบฟิล์มไปด้วย
- ผนังกระเพาะอาหาร(ซึ่งมีมะเร็งแทรกซึมอยู่)นั้นบางลงอย่างเห็นได้ชัด ผมลองดูฟิล์มลองวัดดูว่ามันบางลงเกือบครึ่ง...เย้
- ต่อมน้ำเหลืองโตเท่าเดิม ผมลองมองดูอดคิดเข้าข้างตัวเองไม่ได้ว่ามันดูเข้มลดลงนะ
- แต่สุดท้ายตัวปัญหาก็คือของใหม่มีจุดที่กระดูกทั่วๆซึ่งเป็นของใหม่เข้าได้กับโรคแย่ลง ผมเปิดฟิล์มดูผ่านๆก็เห็นชนิดใครๆก็บอกได้ ผมจำได้ว่าผลอ่านเดิมไม่ได้อธิบายถึงการกระจายไปกระดูกด้วยซ้ำ

ผมนั่งมึนเหมือนติดสตั๊นอยู่ชั่วครู่ในหัวกำลังคิดทบทวนว่ายาสูตรที่สองควรจะใช้อะไรดี ก่อนจะนึกอะไรขึ้นมาได้และลองทำดูก็คือเรียกฟิล์มเก่ามาดูแต่ปรับความเข้มแสงให้มันลดลงเพื่อเน้นการดูกระดูก สิ่งที่พบก็คือหลายๆจุดมันมีอยู่แล้ว แต่บางจุดก็ดูใหม่ขึ้น แต่ที่ทำให้ผมดีใจก็คือบางจุดนั้นเปลี่ยนจากจุดดำเป็นขาวซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณทางอ้อมว่าโรคตอบสนอง (จุดดำก็คือกระดูกสีขาวถูกกัดกิน ส่วนจุดขาวก็เป็นมะเร็งกระจายที่มีการซ่อมแซมสูงๆ แต่ถ้าเจอจุดดำเปลี่ยนเป็นขาวหลังการรักษาที่ตอบสนองอาจเกิดจากการกินกระดูกลดลงการซ่อมกระดูกจึงเริ่มขึ้นได้) ผมยืนยันความคิดนี้กับอาจารย์หมอหลายๆท่านว่า...เป็นไปได้

ในที่สุดเกือบสี่เดือนตั้งแต่พบกันครั้งแรก ผมก็มีโอกาสได้ต้อนรับคุณลุงในรพ.ที่ผมถือได้ว่าเป็นบ้านแห่งหนึ่งของผม ที่จริงแฟนคุณลุงก็มีความรู้ศัพท์ทางการแพทย์อยู่บ้างก็คงกังวลใจกับผลอ่านที่ได้เห็นมาแล้ว ผมเล่าให้ฟังว่าผมเห็นฟิล์มและผลแล้ว และอธิบายในสิ่งที่ผมคิดในหัวว่าโดยรวมน่าจะถือว่าตอบสนองแม้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะบอกมาว่าอย่างนั้น แน่นอนว่าคุณลุงคุณป้าพร้อมจะเชื่อสิ่งที่ผมบอกอยู่แล้ว และรอรับคีโมรอบที่แปดหากว่าได้เตียงที่จองไว้ตั้งแต่เดือนที่แล้ว

แม้ผมจะจองไว้ให้ล่วงหน้าเป็นคิวแรกแต่สุดท้ายก็เอาแน่เอานอนในรพ.นี้ไม่ได้เพราะหากไม่มีคนไข้กลับบ้านในวันนั้นก็ไม่มีเตียงว่างให้คนใหม่เข้าไปนอนให้ยา แต่คุณลุงก็ได้มาให้ยาในที่สุดในวันรุ่งขึ้น ผมคุยกับแฟนคุณลุงไว้แล้วว่าจะขอเจาะ CEA ซ้ำเลยแม้ว่าจะยังไม่ถึงรอบที่อยากจะตรวจทุกสองรอบคีโม ด้วยเหตุว่าผลการตรวจคนละโรงพยาบาลอาจจะมีค่าที่ไม่เท่ากัน การตรวจครั้งนี้จะได้เป็นค่าพื้นฐานใหม่ อย่างไรก็ตามผลที่ได้ 570 คงจะทำให้คุณลุงคุณป้าสบายใจขึ้นแม้ผมจะย้ำว่านี่อาจจะไม่ใช่ผลที่แท้จริงว่าลดลงอาจะเป็นผลจากการตรวจคนละที่ก็ได้

วันพรุ่งนี้การติดตาม CEA ซ้ำคงจะพอบอกอะไรทางอ้อมได้บ้างว่าสิ่งที่ผมคิดเกี่ยวกับรอยโรคที่กระดูกนั้นถูกต้องหรือไม่ แน่นอนว่าทุกคนคงอยากจะหวังให้ผลการรักษาออกมาดีที่สุด สำหรับตอนนี้ก็เกือบ 6 เดือนแล้วตั้งแต่ที่คุณลุงทราบว่าเป็นมะเร็ง

บทสรุป
สิ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นในตอนนี้ก็คือการติดตามผลการรักษานั้นต้องดูให้รอบด้านครับ ทั้งอาการและการตรวจร่างกายคนไข้ ค่าบ่งชี้มะเร็ง การตรวจพิเศษต่างๆ อย่างไรก็ตามการแปลผลนั้นเราต้องรู้บริบทต่างๆ ข้อจำกัดต่างๆเป็นอย่างดี(ซึ่งคุณหมอเอกซเรย์หลายๆท่านจะใส่คำว่า Please correlate with clinical ด้วยเพื่อช่วยเตือนให้หมอที่ส่งตรวจแปลผลโดยคิดถึงข้อมูลคนไข้มากกว่าแค่สิ่งที่ตาเห็น)

ดังนั้นการที่มีการถามคำแปลผลตรวจต่างๆในห้องสวนลุมนี้ การบอกผลอาจจะผิดพลาดจากความเป็นจริงได้ง่ายๆครับ นอกจากนี้การอ่านฟิล์มด้วยตัวเองก็มีความสำคัญเพราะเมื่อหมอเจ้าของไข้รู้อาการต่างๆเป็นอย่างดีย่อมรู้ว่าจะเพ่งเล็งแต่ละส่วนอย่างไร

ปล.หากสังเกตจะเห็นว่าภาคนี้ผมลงเป็น 2A เพราะว่าแน่นอนมันจะมี 2B แต่ 2B นั้นจะไม่ใช่เรื่องของคุณลุงคนนี้ แต่จะเป็นคนไข้คนอื่นๆที่บังเอิญผ่านเข้ามาและเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร(บังเอิญมากที่คนไข้หลายคนมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน) ในภาค 2B จะชี้ให้เห็นว่าผมไม่ใช่หมอเทวดาคนไข้ที่เกิดผลไม่ดีย่อมมีอยู่ และแม้คนไข้จะเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารเหมือนกันแต่การรักษากับแตกต่างกันเพราะอะไร

ปล2. สิ่งต่างๆที่ผมทำหรือคิดไม่ได้เป็นสิ่งที่ใหม่ แปลก หรือแตกต่างจากหมอส่วนใหญ่ทำกันอยู่ นี่คือสิ่งที่เราทุกคนเรียนมาเหมือนกันและทำกันเป็นปกติแค่หมอเหล่านั้นอาจจะไม่ได้มาอธิบายให้คุณรู้หรือเข้าใจไปด้วยเท่านั้นเองครับ ยิ่งเป็นคลีนิคโรคมะเร็งที่คนไข้มากมายแล้วย่อมอาจจะมีเวลาที่น้อยมากในการอธิบายครับ

จากคุณ : oncodog
เขียนเมื่อ : 18 ก.ค. 55 12:51:12




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com