Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
คลังรุกอีกคุมเข้ม"ป่วยนอก"ขรก. วางแนวให้"เหมาจ่าย"เผยเจอข้อมูลส่อทุจริตเวียนรับยารพ.600ครั้ง/ปี ติดต่อทีมงาน

คลังรุกอีกคุมเข้ม"ป่วยนอก"ขรก. วางแนวให้"เหมาจ่าย"เผยเจอข้อมูลส่อทุจริตเวียนรับยารพ.600ครั้ง/ปี
http://www.thaipost.net/news/291012/64369


กรมบัญชีกลางออกมาตรการควบคุมค่ารักษาพยาบาลปี 56 ต่ออีก พร้อมรุกสร้างระบบ "ผู้ป่วยนอก" ให้เป็นแบบเหมาจ่าย โดยให้ สวรส.ศึกษาแล้ว เผยปี 56 ถูกหั่นงบเหลือ 6 หมื่นล้าน ลดลงจากปีก่อนพันกว่าล้าน ทำให้ต้องรัดเข็มขัดต่อ เอาจริง หมอจ่ายยากลูโคซามีนฯ นอกเกณฑ์เตรียมให้ชดใช้แล้ว เผยเตรียมส่งข้อมูลให้ดีเอสไอ หลังพบผู้ป่วยบางรายเวียนรักษารับยา รพ.สูงถึง 600 ครั้งต่อปี

   นางอภิสมา ชาญสืบกุล นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 สมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา ถึงแนวทางการควบคุมค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการ ว่า ในปีงบประมาณ 2556 นี้ ทางกรมบัญชีกลางยังคงเดินหน้าประกาศใช้อีก 4 มาตรการที่เหลือ จาก 8 มาตรการ เพื่อดำเนินการควบคุมค่ารักษาพยาบาลระบบสวัสดิการข้าราชการ โดยมาตรการคือ

1.กำหนดอัตราเบิกจ่ายค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติกลุ่มเป้าหมายที่มีการเบิกจ่ายจำนวนมาก ซึ่งยังเหลือการดำเนินการอีก 8 กลุ่ม ภายหลังจากที่ได้ดำเนินการห้ามสั่งจ่ายยากลูโคซามีน ซัลเฟต ไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อจัดทำหลักเกณฑ์ รวมไปถึงการเบิกจ่าย

2.จัดทำระบบตรวจสอบก่อนอนุมัติเบิกจ่ายสำหรับยานอกบัญชีที่มีราคาแพง อย่างเช่น ยารักษาโรคมะเร็ง จากแต่เดิมกำหนดตรวจสอบเพียงแค่ 6 รายการ แต่เนื่องจากปัจจุบันยามะเร็งมีเพิ่มขึ้นอีกหลายรายการ จึงต้องมีการจัดทำรายการเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม
   
3.กำหนดเงื่อนไขการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติกลุ่มเป้าหมาย โดยจะมีคณะทำงานเพื่อประสานไปยังราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกำหนดเงื่อนไขการเบิกจ่ายยากลุ่มนี้

4.กำหนดแนวการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยนอกเป็นแบบเหมาจ่าย โดยให้มีการตกลงราคา ซึ่งขณะนี้ได้ให้ทางสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ทำการศึกษา โดยจะใช้เวลา 3 ปี แต่เบื้องต้นในปีแรกต้องมีการสื่อสารไปยังโรงพยาบาล เพื่อที่กรมบัญชีกลางจะได้ทำการตั้งงบประมาณในปี 2557 ได้



   “ประกาศทั้ง 4 ฉบับนี้เป็นสิ่งที่กรมบัญชีกลางทำในปี 2556 รับรองออกแน่นอน เพราะที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้ทำสัญญากับสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ในการควบคุมค่ารักษาพยาบาล” นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าว  

สำหรับมาตรการ 4 ขั้นที่กรมบัญชีกลางได้ดำเนินการไปแล้วในปี 2555 คือ

1.ประกาศให้มีการระบุถึงเหตุผลความจำเป็นในการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ

2.ให้โรงพยาบาลส่งเหตุผลการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ

3.กำหนดให้ใช้ยาสามัญแทนยาต้นแบบ  

4.กำหนดเงื่อนไขการเบิกจ่ายค่ายานอกบัญชียาหลักโดยห้ามไม่ให้มีการเบิกจ่ายตรง



   นางอภิสมากล่าวว่า ที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้ออกประกาศให้ผู้ป่วยลงทะเบียนรักษาโรคเรื้อรังในโรงพยาบาลเพียง 1 แห่งต่อ 1 โรคเรื้อรัง หรือทุกโรค เนื่องจากตรวจสอบพบว่า มีผู้ป่วยเข้ารับบริการรักษายังโรงพยาบาล 3 ครั้งต่อสัปดาห์ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ก็มี และยังมีบางคนเข้ารับบริการถึง 600-700 ครั้งต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนการรับการรักษาที่มีกว่าจำนวนวันใน 1 ปี ซึ่งคนเหล่านี้ทางกรมบัญชีกลางได้ทำการรวบรวมข้อมูลแล้ว พร้อมทั้งขอข้อมูลเวชระเบียนไปยังโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยเหล่านี้เข้ารับบริการ เพื่อดูว่าเขาเป็นโรคอะไร จึงมีการเข้ารับบริการรักษาที่สูงขนาดนี้ ถือเป็นสิ่งผิดปกติ และเตรียมที่จะส่งเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อตรวจสอบ


   “เราไม่ได้ว่าแพทย์ยิงยา แต่แพทย์อาจรู้สึกใจอ่อน เห็นผู้ป่วยมาจึงจัดยาให้ เราจึงสะท้อนปัญหาไปยังผู้บริหารกรมบัญชีกลาง และเห็นว่าผู้ป่วยโรคเรื้อรังจึงควรเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแห่งใดเพียงแห่งเดียว ทั้งยังเป็นไปเพื่อประโยชน์ผู้ป่วยในการรักษาต่อเนื่อง ไม่รับยาซ้ำซ้อน” นางอภิสมากล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้รับการทักท้วงมาตรการนี้จากกระทรวงสาธารณสุข เพราะขัดแย้งต่อนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เนื่องจากผู้ป่วยจะเลือกเข้ารับรักษาแต่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น ดังนั้นทางผู้บริหารกรมบัญชีกลางจึงให้ผ่อนคลายเลื่อนการประกาศบังคับใช้มาตรการนี้ไปก่อน และให้กระทรวงสาธารณสุขปรับระบบเพื่อให้ผู้ป่วยไปรับยาที่ รพ.สต.ได้ แต่ทั้งนี้การเปิดให้ผู้ป่วยลงทะเบียนเลือก 1 โรงพยาบาล 1 โรคเรื้อรัง หรือทุกโรค ยังคงเริ่มในวันที่ 1 ธันวาคม 2555 เช่นเดิม    


   นางอภิสมากล่าวว่า สำหรับยารักษาโรคข้อเข่าเสื่อม หรือกูลโคซามีน ซัลเฟต ที่ทางกรมบัญชีกลางได้ประกาศห้ามเบิกจ่ายไปแล้วนั้น ซึ่งทางกรมบัญชีกลางยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อเรียกเงินคืนจากแพทย์ผู้สั่งจ่ายที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การสั่งจ่ายยากูลโคซามีน ซัลเฟต ตามที่ราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์กำหนด โดยเฉพาะหลักเกณฑ์การสั่งจ่ายให้เฉพาะผู้ป่วยอายุ 56 ปีขึ้นไป แต่พบว่าใบเสร็จที่นำมาเบิกค่ารักษา ร้อยละ 25 เป็นผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 56 ปีลงมาทั้งนั้น นอกจากนี้ยังมีการสั่งจ่ายจำนวนยาเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 6 สัปดาห์ แต่กลับมีการสั่งจ่ายยาสูงถึง 3 เดือน


   “มาตรการทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อควบคุมค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการ โดยในปี 2554 เราได้งบรักษาพยาบาลข้าราชการที่ 62,000 ล้านบาท ใช้ไปถึง 61,844 ล้านบาท และต่อมาในปี 2555 เราได้งบประมาณที่ 61,844 ล้านบาท ขณะนี้กำลังดูว่าจะเกินงบประมาณที่ได้รับหรือไม่ สำหรับในปี 2556 นี้ เราได้รับงบประมาณอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท ซึ่งถูกลดลงไปอีก การควบคุมค่ารักษาพยาบาลจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น” นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าว.

 
 

จากคุณ : หมอหมู
เขียนเมื่อ : 5 พ.ย. 55 14:47:44




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com