Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
"บริจาคโลหิต" ไม่ใช่แฟชั่น แค่อยาก มันไม่พอ... ติดต่อทีมงาน

จั่วหัวได้ล่อเป้ามาก เพราะอยากล่อเป้า แต่ไม่อยากดราม่ากับคนกลุ่มไหน ถ้าผมจะดราม่าก็ดราม่าได้ทุกเหตุผล

แต่กระทู้นี้จะมาบอกเล่าให้ฟังเฉยๆละกันว่า
"การจะบริจาคโลหิตนั้นต้องรู้อะไรไว้เป็นพื้นฐานบ้าง"

ไม่ได้มาอวดฉลาดอะไร แต่อยากให้รู้ไว้ว่าต้องรู้อะไรก่อนไปบริจาคบ้าง


1. สภากาชาด ไม่ได้เป็นหน่วยงานเดียวในประเทศไทยที่เปิดรับบริจาคโลหิต
ผู้คนมากมายก่ายกอง มักนึกถึงสภากาชาดเป็นอันดับแรกเมื่ออยากบริจาคโลหิต หรือ พูดถึงการบริจาคโลหิต นั่นเพราะการบริจาคโลหิตเหมือนเป็นอัตลักษณ์นึงของหน่วยงานนี้ไปแล้ว แต่ทว่าในประเทศไทยยังคงมีอีกหลายหน่วยงานที่เปิดรับบริจาคโลหิตอีก เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลรามาธิบดี รวมถึงหน่วยบริการในต่างจังหวัดด้วย ซึ่งเป็นหน่วยขนาดใหญ่ ไม่ใช่หน่วยเคลื่อนที่ มีความพร้อมในการให้บริการ

สิ่งหนึ่งที่ผู้บริจาคโลหิตต้องทำการบ้านก่อนบริจาคคือ "เราจะไปบริจาคที่ไหนดี" เลือกแค่เพียงแห่งเดียวใกล้บ้านก็พอ หลีกเลี่ยงการไปยังสภากาชาดถนนอังรีดูนังต์ เพราะที่นั่นจะเป็นที่ที่คนเยอะที่สุด


2. หน่วยบริการเคลื่อนที่ คืออะไร
หน่วยบริการเคลื่อนที่คือ กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ออกไปตามจุดต่างๆ ชุมชนต่างๆ ซึ่งมีรูปแบบการทำงานที่ชัดเจน ไม่ใช่ว่าจะไปหรือไม่ไปก็ตามใจสภากาชาด

ทางสภากาชาดมีปฎิทินการออกหน่วยงานชัดเจนตลอดเกือบทั้งปี ว่าใน 1 วันนั้น จะมีหน่วยเคลื่อนที่ออกไปที่ไหน เวลาใดบ้าง ซึ่งถ้าไปแล้วพบว่าประเมินผู้ที่มาบริจาคคลาดเคลื่อนจะมากไปหรือน้อยไป ในครั้งต่อไปจะมีการปรับจำนวนของที่เตรียมให้พอดี เพื่อรองรับผู้ที่จะมาบริจาค

สิ่งที่ผู้บริจาคไม่อาจรู้ได้คือ แล้วหน่วยบริการเคลื่อนที่จะไปที่ไหนบ้าง
ผู้บริจาคสามารถโทรไปสอบถามที่สภากาชาดว่า ย่านที่อยู่อาศัยของตนมีหน่วยบริการเคลื่อนที่มาหรือไม่
และ เมื่อคุณเข้าสู่ครอบครัวสภากาชาดแล้ว จะมีการส่งไปรษณียบัตร หรือ SMS ไปให้กับผู้บริจาคก่อนวันที่หน่วยงานจะลงพื้นที่ 5-7 วัน หรือ ผู้บริจาคเองก็ประมาณเวลาได้เลยว่า 3 เดือน เขาจะมาใหม่อีกครั้ง


3. ทำไมต้องนอนให้พอ กินให้อิ่ม ดื่มน้ำเยอะๆ
ในแบบสอบถามจะมีระบุไว้ชัดเจนว่าต้องนอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง รับประทานอาหารครบถ้วน ดื่มน้ำมากๆ ซึ่งไม่มีอะไรมากนอกจากต้องการให้ร่างกายแข็งแรงพร้อมบริจาคโลหิต นั่นคือผู้บริจาคไม่จำเป็นต้องนอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ไม่ต้องรับประทานอาหารมา หรือ ไม่ต้องดื่มน้ำเลยก็ได้ ถ้าไม่กลัวตายหรือกลัวช็อค

เพราะว่าการบริจาคโลหิตหนึ่งครั้งจะมีโลหิตออกไปจากร่างกายเรามากถึง 350 หรือ 450cc ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากอยู่ นึกภาพไม่ออกก็คือประมาณ 1 กระ๋ป๋องน้ำอัดลมนั่นเอง

แต่ทางที่ดีที่สุดคือ เตรียมร่างกายให้พร้อมเสียดีกว่า เพราะร่างกายเราเองพร้อมไม่พร้อมก็มีผลต่อคุณภาพโลหิตที่บริจาคไปด้วย หากร่างกายไม่พร้อมแต่บริจาคไป โลหิตไม่ได้คุณภาพทางสภากาชาดก็ต้องคัดทิ้งอยู่ดี


4. รู้หรือไม่ เมื่อคัดคุณสมบัติต้องห้ามออกไปแล้ว เหลือคนที่บริจาคโลหิตได้ไม่ถึง 20 ล้านคน
เมื่อตัดผู้คนที่อายุต่ำกว่า 18 ขวบ และ มากกว่า 60 ปีออกไป , ตัดกลุ่มคนที่เป็นโรคต้องห้าม เช่น ซิฟิลีส ไวรัสตับอักเสบบี โรคอ้วน พิษสุรา ออกไป จะเหลือคนที่เข้าคุณสมบัติไม่ถึง 20 ล้านคน ซึ่งยังไม่ได้ตัดกลุ่มคนรักร่วมเพศ , กลุ่มที่น้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์ และ กลุ่มเสี่ยงอื่นๆออกไป ซึ่งคาดว่าหากตัดเบ็ดเสร็จจะเหลือคนที่บริจาคโลหิตได้ไม่ถึง 15 ล้านคนด้วยซ้ำไป

ปัญหาอีกอย่างคือ ในจำนวนผู้บริจาคโลหิตทั้งหมดของสภากาชาดมีผู้ที่บริจาคปีละ 1 ครั้งมากถึงประมาณ 65% และ บริจาคสม่ำเสมอ 4 ครั้งประมาณ 6-7% เท่านั้น

5. หนึ่งคนให้ สี่คนรับ
อ่านไม่ผิดหรอก "หนึ่งคนให้ สี่คนรับ"
นั่นเพราะ โลหิตหนึ่งถุง จะถูกนำไปเข้ากระบวนการแยกส่วนประกอบเสียก่อน ที่จะนำไปแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยต่างๆ โดยเจ้าถุงโลหิตที่บริจาคไปนั้น ทางสภากาชาดจะเรียกว่า "Whole Blood"

เจ้า Whole Blood นี้ จะถูกนำไปแยกส่วนประกอบออกมาเป็นสี่ส่วนคือ
- เกล็ดเลือด
- เม็ดเลือดแดง
- เม็ดเลือดขาว
- พลาสม่าหรือน้ำเลือด
โดยทั้ง 4 ส่วนประกอบนี้มีการนำไปใช้ประโยชน์ที่ต่างกันออกไป เช่น การนำเม็ดเลือดแดงไปให้กับผู้ป่วยธาลัสซีเมีย การนำเกล็ดเลือดหรือพลาสมาไปให้กับผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย เป็นต้น

ฉะนั้นคงไม่ผิดถ้าจะบอกว่าโลหิตหนึ่งถึงนำไปให้ผู้คนต่อๆไปได้ถึง 4 คน


6. บริจาคเลือดก็เหมือนได้ตรวจสุขภาพเบื้องต้น
นั่นเพราะในกระบวนการของการบริจาคโลหิต ไปจนกระทั่งปั่นแยกส่วนประกอบนั้น ข้อมูลบุคคลที่ได้คือ ความดันที่จะทราบในหน่วยบริจาคในทันที และ นอกเหนือจากนั้นในกระบวนตรวจคุณภาพเลือด จะมีการตรวจไขมันปนเปื้อน ปริมาณน้ำตาลปนเปื้อน รวมถึงค่าต่างๆที่เป็นข้อกำหนดโดยสภากาชาดสากล

หากผู้บริจาคโลหิตคนไหนมีปัญหาเรื่องโลหิต หน่วยงานจะแจ้งผลกลับไปให้ทราบว่ามีปัญหาในเรื่องใด เพื่อให้ปรับร่างกายพร้อมบริจาคในครั้งต่อๆไป

แต่ขอให้งดเว้นว่าอยากบริจาคเพราะอยากตรวจร่างกาย เพราะยังไงแล้วทางสภากาชาดหรือหน่วยที่รับผิดชอบ เขาไม่ได้ส่งตารางค่าต่างๆให้กับผู้บริจาคหรอก ถ้าปกติดีเขาก็แค่บอกว่าปกติดี ไม่มีค่าตัวเลขใดๆแจ้งมา




หวังว่าน่าจะพอเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการวางแผนเพื่อบริจาคโลหิตกันได้นะครับ

จากคุณ : Cocopok
เขียนเมื่อ : 22 พ.ย. 55 14:20:08




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com