เรื่อง "แซ่" ของพระราชวงศ์จักรี

    กระทู้นี้แตกประเด็นมาจาก L2630884

    เรื่องแซ่ของพระเจ้าแผ่นดินในพระบรมราชจักรีวงศ์นั้น เริ่มมาแต่เมื่อ
    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษก
    ขึ้นครองราชย์สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงส่งทูตไปเจริญพระราชไมตรี
    กับประเทศจีน ณ กรุงปักกิ่ง ทรงใช้พระนามในพระราชสาส์นว่า “แต้อั้ว” อนุชาแต้เจียว

    “แต้เจียว” คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

    ในบันทึกประวัติศาสตร์ของประเทศจีน จุดเอาไว้ว่า- พ.ศ. ๒๓๒๕ (ค.ศ. ๑๗๘๑)
    พระเจ้าเช็งเคี่ยนล้ง ครองราชย์ปีที่ ๔๗ แต้อั้ว อนุชา แต้เจียว
    ได้เถลิงถวัลยราชย์เป็นกษัตริย์ประเทศสยาม และส่งราชทูต
    ไปเจริญพระราชไมตรีเป็นครั้งแรก- (จากหนังสือเรื่องประวัติการสัมพันธ์
    ระหว่างชาติไทยกันชาติจีน โดย ลิขิต ฮุนตระกูล)
    จึงกลายเป็นราชประเพณี สืบต่อกันมา ถึงราชกาลที่ ๔ แต่เมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ นั้น
    เพียงแต่กำหนดพระนามเอาไว้ว่า “แต้เจี่ย” ทว่ายังไม่ทันจะไดใช้ในพระราชสาส์น
    ส่งไปยังกรุงปักกิ่งเหมือนดังรัชกาลที่แล้วๆ มาเพราะ ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๕
    ยังไม่ทันจะได้มีพระราชสาส์นเจริญพระราชไมตรีเหมือนดังที่ไทย
    เคยทำเมื่อผลัดแผ่นดิน อันเป็นธรรมเนียมเหมือนแจ้งแก่เพื่อนบ้านว่าบัดนี้
    เปลี่ยนกษัตริย์แล้ว ทางจีนเกิดเรียกร้องทวงการ “จิ้มก้อง” เครื่องราชบรรณาการ
    มาก่อน ครั้งนั้นไทยจึงได้ทราบว่าการเจริญพระราชไมตรีโดยการส่ง
    เครื่องราชบรรณาการไปพร้อมพระราชสาส์นนั้น ทางจีนถือว่าเป็นการ
    “จิ้มก้อง” เหมือนเช่นเป็นเมืองขึ้น
    ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาไทยจึงงดการติดต่อ (พระราชสัมพันธ์) กับจีนอย่างเป็นทางการ
    ทว่าบรรดาพ่อค้าวาณิช คนจีนคนไทยก็ยังเป็นเสมือนเดิม
    การรื้อฟื้นสัมพันธไมตรีทางการทูตกับจีน เพิ่งจะเกิดขึ้นมาอีก
    ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒
    เล่านอกเรื่องสักนิดว่า เวลานั้นประเทศจีนยังมิได้แบ่งแยกกันและยังไม่ได้
    เป็นคอมมิวนิสม์ อัครราชทูตจีนคนแรก คือ นายหลีเทียะเจิง
    ยังไม่มีสถานทูตอยู่รัฐบาลจัดให้พักที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนินกลาง
    (ปัจจุบันคือโรงแรมรอแยล ไม่ทราบว่าเปลี่ยนชื่อทำไม
    ชื่อเก่าออกไพเพราะงดงามอย่างยิ่งแล้ว)
    ลูกสาวคนโตของนายหลีเนียะเจิง ขอเข้าเรียนในโรงเรียนเซนต์โยเซฟ
    เมื่อนายหลีเพียะเจิงเข้ามาประจำเป็นเอกอัครราชทูตเรียบร้อยแล้ว
    ทางจีนได้จัดซื้อสถานทูตและบ้านพักที่ถนนเพชรบุรีตอนใกล้ประตูน้ำ
    เลยพลอยฟ้าพลอยฝนได้จับมือกับเอกอัครราชทูตจีนคนแรก
    เพราะลูกสาวของท่านชวนไปเที่ยวบ้านพักในสถานทูตซึ่งมีสระว่ายน้ำเสียด้วย
    นายหลีเพียะเจิงรูปร่างสูงใหญ่ เด็กอายุ ๑๕-๑๖ หัวอยู่สักแค่อกท่านเท่านั้น
    ภรรยารูปร่างเล็กสวยมาก ทั้งๆ รูปร่างเล็กก็มีสว่างดงาม จับตะเกียบสวยที่สุด

    พระเจ้าแผ่นดินไทยห้าพระองค์ พระนาม “แซ่แต้” ของพระองค์ท่าน คือ

    รัชกาลที่ ๑ ทรงใช้ว่า แต้ฮั้ว

    รัชกาลที่ ๒ ว่า แต้หก

    รัชกาลที่ ๓ ว่า แต้ฮุด

    รัชกาลที่ ๔ ว่า แต้เม้ง

    รัชกาลที่ ๕ ซึ่งยังไม่ทันจะมีพระราชสาส์น กำหนดเอาไว้ว่าจะทรงใช้ “แต้เจี่ย”

    ทีนี้เรื่องปี้

    ปี้ก็คือแผ่นโลหะเครื่องหมายผูกข้อมือคนจีน ลักษณะเป็นสตางค์แบบจีน
    ซึ่งก็คล้ายกันกับเหรียญสตางค์ไทย แต่เจาะรูเป็นรูสี่เหลี่ยมไม่ใช่รูกลม
    คนจีนคนใด “ผูกปี้” ที่ข้อมือแสดงว่า ได้เสียภาษีเข้าเมืองเรียบร้อยแล้ว
    ใช้เฉพาะคนจีนที่เข้าเมืองมาใหม่ๆ

    ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ยังมี “ปี้” หลงเหลืออยู่ให้เห็น “ปี้” ในรัชสมัยนั้น
    ปั๊มอักษรจีนเป็นตัวนูนบนด้านทั้ง ๔ ของรูสี่เหลี่ยมนั้นว่า “แต้เม้งเสียมล้อ”
    แปลว่า “พระเจ้าแต้เม้งแห่งกรุงสยาม”

    ในรัชกาลที่ ๔ มีประกาศพระบรมราชโองการว่า ได้ทรงนำเงินผูกปี้ไป
    ใช้ในการสร้างถนนเจริญกรุง และถนนเฟื่องนคร รวมทั้งถนนซึ่งปัจจุบันนี้
    คือ ถนนพาหุรัด เลยข้ามสะพานหันผ่านสำเพ็งด้วย (ถนนในสมัยนั้น
    ยังไม่ได้ลาดยาง คงเป็นถนนที่เรียกกันว่า ถนนลูกรัง บางสายก็โรยกรวดให้แน่น)

    พระบรมราชโองการประกาศนี้มีความสำคัญไม่น้อย เพราะไม่สู้จะมีผู้ทราบ
    ประวัติของถนนนักว่าใช้เงิน “ปี้” อันเป็นเงินค่าธรรมเนียม (หรือภาษี) เข้าเมืองของคนจีน

    “ประกาศเรื่องเงินปี้จีนปีชวดทำถนน

    มีพระบรมราชโองการให้ประกาศแก่จีนทั้งปวง ซึ่งต้องเสียเงินผูกปี้
    เข้ามาช่วยราชการแผ่นดินทั้งปวงให้ทราบว่า เงินผูกปี้รายประกาศตรีศก
    นั้นได้จ่ายทำถนนเจริญกรุง แลถนนหลวงใหญ่ตลอดลงไปสำเพ็งแลคอกกระบือ
    แลออกไปกลางทุ่งทางคลองตรง เปนทางขึ้นได้แล้ว ยังแต่จะต้องจัดซื้อ
    ทรายกรวดเพิ่มเติมให้ทางแข็งดีขึ้นยังจะแก้ไขต่อไปอยู่

    แต่ถนนบำรุงเมือง นั้น ทรงพระราชศรัทธา บริจากพระราชทรัพย์แต่พระคลัง
    ในที่จ้างจีนทำ แลซื้อศิลายาวกระหนาบสองข้างถนน แลได้ซื้อทรายถมแลเพิ่มเติม
    แลจะเพิ่มเติมต่อไป ถนนบำรุงเมืองนี้ไม่ได้ใช้เงินปี้จีนเลย ใช้พระราชทรัพย์พระคลังทั้งสิ้น

    เงินปี้จีนปีชวดฉศกนี้ ได้โปรดให้จ่ายจ้างจีนทำถนนขวาง ตั้งแต่วัดบวรนิเวศวิหาร
    ลงมาจนริมวังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ การได้เริ่มขึ้นบ้างแล้ว
    ถ้าทางนี้เสร็จแล้วจะโปรดให้จ่ายสร้างถนนลงไปต่อหอกลางแลศาล
    เจ้าพระกาฬไชยศรี พระเสื้อเมือง ทรงเมือง ลงไปจนสพานหัน แล้วจะทำถนนสำเพ็ง
    ลงไปจนวัดสัมพันธวงศาราม และวัดประทุมคงคา แลแวะออกประจวบทางใหญ่
    เจริญกรุงในที่ควร การทั้งปวงจะใช้ออกด้วยเงินผูกปี้ในปีชวดฉศกนี้
    ให้จีนทั้งปวงบรรดาซึ่งได้เสียเงินผูกปี้เข้ามาในหลวงทั้งปวงจงยินดีว่า
    ได้เรี่ยรายกันสร้างหนทางถนนเจริญกรุง แลหนทางถนนสำเพ็งขึ้นเปนประโยชน์
    แก่คนทั้งปวงนั้นเถิด อย่าคิดเสียใจว่า ต้องเสียเงินเข้ามาในหลวงเปล่าๆ เลย
    ให้คิดว่าได้เรี่ยรายกันสร้างถนนใหญ่ แล้วจะสร้างขึ้นทำนุบำรุงบ้านเมือง
    ซึ่งเป็นที่อยู่ด้วยกัน จีนต้องเงินเสียเงินเมื่อปีรกาตรีศกแลปีขวดฉศกนี้คนละ ๔ บาท
    ฤาสองคราวรวมกันเปนคนละ ๘ บาท สร้างถนนใหญ่ในหลวงก็ได้เสีย
    พระราชทรัพย์ของพระคลังในที่ สร้างถนนบำรุงเมืองขึ้นเหมือนเข้าเรี่ยราย
    กับจีนฉันนั้นให้จีนทั้งปวงชื่นชมยินดีเถิด”
    “ถนนขวาง” ในพระบรมราชโองการประกาศ คือถนนเฟื่องนคร ซึ่งแต่แรก
    ตัดลงมาจากวัดบวรฯ ลงมาถึงริมวังพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์
    (ในรัชกาลที่ ๕ เลื่อนเป็น กรมพระเทเวศน์วัชรินทร์ พระนามเดิมพระองค์
    เจ้าชายกลาง เป็นต้นราชสกุล “วัชรีวงศ์ ณ อยุธยา” ประสูติแต่
    เจ้าจอมมารดาน้อยระนาด จริงๆ แล้วท่านไม่ได้ชื่อน้อยระนาด
    หากแต่เจ้าจอมที่ชื่อน้อย มีอยู่หลาย่านด้วยกันชาววังจึงออกนาม
    โดยใช้คุณสมบัติพิเศษกำกับ)
    ที่เรียกว่าถนนขวาง เพราะตัดขวางถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง มาแต่ข้างวัดบวรฯ
    ตรงมาเรื่อยจนจดถนนจักรเพชร (ถนนที่ผ่านหน้าลานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ)


    จาก : สกุลไทย ฉบับที่ 2406 ปีที่ 47 ประจำวันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน 2543

     
     

    จากคุณ : ตะเกียงลาน - [ 22 ม.ค. 47 21:07:10 ]