CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangGameRoom


    ~~ตัวไรขนบนผิวหนัง~~

    เกร็ดความรู้ : x-ray สุขภาพ : ตัวไรบนผิวหนัง 8 ขาดูน่าเกลียด ก่อปัญหาต่อผิวหน้าจริงหรือ

    ถ้าพูดถึงตัวไรที่อาศัยอยู่บนผิวหนังของคนเรา โดยเฉพาะใบหน้า เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านมีความรู้ในเรื่องนี้ไม่มากนัก และไม่น่าจะเคยเห็นด้วยซ้ำว่าหน้าตาของมันเป็นอย่างไร

    ผู้เขียนก็เช่นกัน นอกจากเคยเห็นภาพทางอินเทอร์เน็ต ก็เพิ่งมีโอกาสเห็นตัวไรจริง ๆ จากกล้องจุลทรรศน์ ที่ รศ.พ.ญ.พรทิพย์ ภูวบัณฑิตสิน สาขาตจวิทยา (ผิวหนัง) ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำตัวอย่างจากคนไข้บางคนที่มีปัญหาผื่นผิวหนังบริเวณใบหน้ามาตรวจดู

    ก่อนอื่นต้องขอเรียนว่า ในการนำเสนอเรื่องนี้มิได้มุ่งหวังให้ทุกคนตกอกตกใจเรื่องของตัวไรบนผิวหน้า หรือผิวหนังของเรา แต่อยากให้ทุกท่านได้รับความรู้ เพื่อใช้วิจารณ ญาณประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ การเข้ารับการรักษา ตลอดจนการกำจัดตัวไรออกจากร่างกายว่าสมควรหรือไม่เพียงใด โดยในเบื้องต้นเราควรที่จะรู้ก่อนว่าตัวไรที่อยู่บนผิวหนังของคนเรานั้นมันเป็นอันตราย หรือทำให้เกิดโรคผิวหนังจริงหรือไม่

    รศ.พ.ญ. พรทิพย์  เท้าความ ว่า อันที่จริงแล้วโรคผิวหนังที่เกิดจากตัวไร พบมากว่า  200 ปีแล้ว โดย หิด ตัวไรหิด เป็นแมงขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า  ต้องขยายด้วยกล้อง  จุลทรรศน์ หิดจะขุดอุโมงค์อยู่ในชั้นหนังกำพร้า รอยโรคครั้งแรกพบที่บริเวณซอกนิ้วมือ ต่อมามีการเคลื่อนตัวไปยังบริเวณที่อบอุ่น  เช่น ด้านข้างของนิ้วมือ ข้อมือด้านใน ข้อศอก รักแร้  หัวนม รอบสะดือ ตะโพก และอวัยวะเพศชาย  

    คนที่เป็นหิดจะมีอาการคันอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในตอนกลางคืน และเป็นโรคที่ติดต่อกันง่าย จึงทำให้พบสมาชิกในครอบครัวมีอาการหลายคน ยาที่ใชัรักษา คือ ยาทาเบนซิลเบนโซเอท(benzyl benzoate)  ยาทาเบนซีน  แกมมา  เฮกซ่าคลอไรด์ (benzene gamma hexachloride) และขี้ผึ้งกำมะถัน แต่ยาที่ได้ผลดีและผลข้างเคียงต่ำกว่า คือ  เพอร์มิธริน (permithrin)  และไอเวอร์เมคติน (ivermectin) แต่ยาทั้ง 2 ชนิดยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย การรักษาหิดจะต้องรักษาพร้อมกันทั้งครอบครัวและต้องทำลายตัวและไข่ซึ่งอยู่ในเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องนอนในวันถัดมา  เพื่อไม่ให้เป็นซ้ำอีก

    แต่ในปัจจุบันนี้ได้มีการกล่าวขวัญถึงตัวไร ของผิวหนังอีกชนิดหนึ่ง นั่นก็คือ  ตัวไรในต่อมขน  หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Demodex  folliculorum  และตัวไรของต่อมไขมัน (Demodex  brevis) ซึ่งตัว ไรทั้ง 2 ชนิดนี้พบมานานกว่า 150 ปีแล้ว

    ตัวไรชนิดนี้จะเคลื่อนตัวช้า ๆ ไป  ตามแต่ละต่อมขน อาจพบตัวไร 2-6 ตัวในแต่  ละต่อมขน โดยส่วนหัวจะฝังลงในต่อมขน และ ลำตัวจะวางตามแนวเส้นขน ตัวไรมีขนาดเล็ก มากประมาณ 0.1-0.4 มิลลิเมตร ส่วนหัวมีขา สั้น ๆ 4 คู่ (8 ขา) และมีลำตัวยาวคล้ายหนอน แต่ก็ยังไม่ทราบว่าไรนี้มาจากไหนจะมีโทษหรือก่อให้เกิดปัญหากับผิวหนังหรือไม่ เพราะสามารถพบตัวไรนี้ได้ทั้งในภาวะปกติ หรืออาจพบร่วมกับโรคผิวหนังบางโรค และพบว่าเมื่อรักษาโรคผิวหนังหายแต่ก็ยังคงพบตัวไรเหมือนเดิม

    ดังนั้นตัวไรบนผิวหนังที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น อาจเป็นผลจากรอยโรคผิวหนังมากกว่าตัวไรทำให้เกิดโรคผิวหนัง ซึ่งเมื่อวัยสูงขึ้นจะพบตัวไรเพิ่มขึ้นแต่ไม่พบผื่นผิวหนัง และพบว่าในภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง อาจพบตัวไรเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจำนวนของไรอาจบ่งชี้ภูมิคุ้มกันของร่างกาย

    รศ.พ.ญ.พรทิพย์ บอกว่า บริเวณใบหน้าและหนังศีรษะมีต่อมขนและต่อมไขมันหนาแน่น เมื่อมีผื่นเกิดขึ้นและ ถ้าขูดขุยบริเวณผื่นมาตรวจอาจพบตัวไร Demodex  โดยตัวไรมีรูปร่างน่าเกลียดมากเมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งอาจทำให้หลายท่านเกิดความวิตกกังวล ทั้ง ๆ ที่ตัวไรอาจอาศัยอยู่บนผิวหนังของคนเราอย่างเพื่อนมานานหลายสิบปีแล้วก็ตาม เพียงแต่เราไม่ทราบมาก่อนเท่านั้นเอง แต่พอหลาย ๆ คนทราบก็พยายามกำจัดตัวไรนี้ออกจากผิวหนังด้วยยาขนานต่าง ๆ  ทั้งที่ยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าตัวไรนั้นอาจเป็นความปกติของผิวหนังของบุคคลนั้นก็ได้

    แต่ปัจจุบันในงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์สุขภาพของบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด จะมีการตรวจขรุยจากหนังศีรษะเมื่อพบว่ามีตัวไรในขุยก็จะอธิบายทำนองว่าตัวไรทำให้ศีรษะล้านควรหาทางกำจัดตัวไรออกไปเสีย

    ผู้บริโภคบางคนที่ไม่มีความรู้และเกิดความวิตก ก็ต่างพากันซื้อผลิตภัณฑ์ซึ่งแนะนำให้ใช้ในราคาแพง ซึ่งข้อมูลที่ได้จากบุคลากรซึ่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้นไม่ถูกต้อง เพราะศีรษะล้านหรือ รังแคไม่ได้เกิดจากตัวไร การรักษารังแคควรใช้แชมพูรักษารังแคซึ่งมีจำหน่ายทั่วไป หรือถ้าต้องการความมั่นใจควรไปพบแพทย์จะปลอดภัยกว่า ส่วนศีรษะล้านเป็นเรื่องธรรมชาติ

    อย่างไรก็ตามที่ผ่านมายังมีความเห็นที่ไม่ตรงกันของแพทย์ผิวหนังต่อตัวไร Demodex เพราะแพทย์ผิวหนังส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าตัวไร Demodex ก่อให้เกิดโรคผิวหนัง เมื่อตรวจพบตัวไรในผื่นผิวหนัง  แพทย์ก็จะรักษาโรคผิวหนังโดยไม่ใส่ใจเรื่องตัวไร ผื่นผิวหนังก็จะหายได้ อาจมีความเข้าใจไขว้เขวว่า ไร Demodex ของผิวคนจะเหมือนไรที่ทำให้เกิดขนร่วงในสุนัข (Demodex  canis)

    โดยความเป็นจริงแล้วไรอาจมีชื่อที่คล้ายกัน  แต่ไรของสุนัขจะไม่ทำให้เกิดโรคในคน จึงอย่าวิตกกังวล เพราะไร Demodex  folliculorum  หรือ  Demodex  brevis นี้อาศัยอยู่ในชั้นผิวหนังมานานกว่าร้อยปี โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาแต่อย่างใด มีผู้ป่วยน้อยรายมากที่พบว่าไรนี้อาจก่อให้เกิดผื่นสิว หน้าแดงบริเวณจมูกร่วมด้วย และผื่นชนิดนี้สามารถรักษาได้

    เพราะฉะนั้นการที่มีคลินิกบางแห่งมีการตรวจหาตัวไรบนผิวหน้าหรือผิวหนังของคนไข้อาจทำให้ผู้บริโภคสับสน หรือตื่นกลัวจนเกินเหตุ เพราะข้อมูลเรื่องตัวไรชนิดนี้ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ จึงไม่ควรนำออกมาเผยแพร่ให้ประชาชนสับสนเพราะแพทย์ผิวหนังเองก็ยังไม่รู้เช่นกัน

    ท้ายนี้ “X-RAY สุขภาพ” หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะได้รับความรู้ไปพอสมควร แม้ว่าภาพของตัวไรดูแล้วจะน่าเกลียดน่ากลัว แต่อย่างที่ รศ.พ.ญ.พรทิพย์ ท่านบอกเอาไว้ตัวไรมันอาศัยอยู่กับเรามานาน การจะไปตรวจหาหรือกำจัดออกจึงขึ้นอยู่ที่วิจารณญาณและความพึงพอใจของแต่ละคน คงไม่มีใครไปชี้นำใครได้.  

    http://www.dailynews.co.th/col/each.asp?columnid=8639

    เอาบทความน่าสนใจมาฝากค่ะ

    จากคุณ : แอ่นแอ๊น - [ 18 มี.ค. 48 12:05:32 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป