เลือด : สายธารแห่งชีวิต
ในร่างกายของเรามีเลือดอยู่ประมาณ 3.8 - 4.9 ลิตร หรือคิดเป็น 7 % ของน้ำหนักตัว พลาสมาเป็นส่วนประกอบที่มีปริมาณถึง 55 % ของเลือด มีลักษณะเป็นของเหลวสีเหลืองที่ประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ ฮอร์โมน แอนติบอดี และของเสีย ทำหน้าที่ช่วยให้เม็ดเลือดไหลเวียนไปทั่วทุกส่วนของร่างกาย ส่วนเม็ดเลือด ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่ เกร็ดเลือด เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้เลือดจับตัวเป็นลิ่มปิดที่ปากบาดแผล (ไม่อย่างนั้น เลือดอาจจะไหลออกจนหมดตัวได้) เม็ดเลือดขาว ช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และศัตรูต่าง ๆ ของร่างกาย ถือเป็นตัวภูมิคุ้มกันที่มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพ เม็ดเลือดแดง ที่เราเห็นเป็นสีแดงของเลือดนั้นแท้จริงคือฮีโมโกบิน(Hemoglobin) เม็ดสีที่ประกอบด้วยธาตุเหล็กซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของเม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่จับโมเลกุลของออกซิเจน(ฮีโมโกบิน 1 โมเลกุลสามารถจับออกซิเจนได้ถึง 4 โมเลกุล) ช่วยลำเลียงออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่าง ๆ และถ่ายเทคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ว่ากันว่าในร่างกายเรามีเม็ดเลือดแดงอยู่ประมาณ 25 ล้านล้านเม็ดเลยทีเดียว
ในเม็ดเลือดแดงนี้เองมีโปรตีนสำคัญชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แอนติเจน ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้าง แอนติบอดี สารสองตัวนี้มีความสำคัญในการถ่ายเทเลือดจากอีกคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง เพราะหากแอนติเจนกับแอนติบอดีเข้ากันไม่ได้แล้ว ผู้ที่ได้รับการถ่ายเลือดอาจเสียชีวิตได้
เรื่องน่ารู้ของกรุ๊ปเลือด
เลือดของคนเราแบ่งออกเป็น 4 กรุ๊ปตามระบบ เอบีโอ( ABO system) ได้แก่ กรุ๊ป A กรุ๊ป B กรุ๊ป AB และกรุ๊ป O การถ่ายเลือดนั้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อแอนติเจนและแอนติบอดีของเลือดตรงกันหรือเข้ากันได้ หลักเกณฑ์ในการถ่ายเลือดมีอยู่ว่า
* คนที่มีเลือดกรุ๊ป A ซึ่งมีแอนติเจน A และมีแอนติบอดี B สามารถรับเลือดกรุ๊ป A และ O ได้
* คนที่มีเลือดกรุ๊ป B มีแอนติเจน B และแอนติบอดี A สามารถรับเลือดกรุ๊ป B และ O ได้
* คนที่มีเลือดกรุ๊ป AB มีทั้งแอนติเจน A และ B แต่จะไม่มีแอนติบอดี สามารถรับได้ทุกกรุ๊ป แต่ให้ใครไม่ได้เลย
* ส่วนคนที่มีเลือดกรุ๊ป O ไม่มีแอนติเจน แต่มีแอนติบอดีทั้ง A และ B สามารถให้เลือดได้กับทุกกรุ๊ป แต่รับได้เฉพาะเลือดกรุ๊ปเดียวกันเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เลือดกรุ๊ป O จึงได้ชื่อว่าเป็นนักบุญนั่นเอง
กรุ๊ปเลือดเหล่านี้ถูกกำหนดโดยพันธุกรรม ลูกจะมีเลือดอยู่ในกลุ่มที่ตรงกับพ่อหรือแม่อย่างน้อยคนใดคนหนึ่ง การตรวจเลือดจึงมักเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งในการพิสูจน์หาพ่อแม่ที่แท้จริง
นอกจากนี้หลายคนอาจสงสัยว่าเวลาไปตรวจเลือด คุณหมอมักเขียนตัวอักษรภาษาอังกฤษสองตัวต่อจากผลกรุ๊ปเลือดด้วย เช่น กรุ๊ป B Rh+ หรือกรุ๊ป O Rh- เป็นต้น จริง ๆ แล้วเป็นการบอกชนิดของแอนติเจนที่พบในเลือดอีกชนิดหนึ่งนอกจากแอนติเจน A และ B เรียกว่า อาร์เอชแฟกเตอร์(Rh factor)
แอนติเจนชนิดนี้มีอยู่ในพลเมืองโลกประมาณ 85 % ส่วนที่เหลือไม่มี ดังนั้นใครที่ตรวจพบว่ามีอาร์เอชแฟกเตอร์อยู่ คุณหมอก็จะเขียนต่อท้ายกรุ๊ปเลือดว่า Rh+ แต่สำหรับคนที่ไม่มีแอนติเจนชนิดนี้ ก็จะถูกระบุว่า Rh-
ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราควรต้องรู้ไว้อย่างยิ่ง หากผู้หญิงที่มีกรุ๊ปเลือด Rh- แต่งงานกับผู้ชายกรุ๊ปเลือด Rh+ จะทำให้ทารกในครรภ์ได้รับอันตราย เพราะแอนติบอดีในเลือดของแม่อาจถ่ายผ่านไปยังเลือดของทารกที่มีอาร์เอชแฟกเตอร์ แล้วทำปฏิกิริยาต่อกันอาจถึงกับแท้งได้ ซึ่งหากเกิดกรณีนี้ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ทารกปลอดภัย ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจมีลูก สามี - ภรรยาควรจูงมือกันไปตรวจเลือดเพื่อลดความเสี่ยงนี้
นอกจากนี้คนที่มีกรุ๊ปเลือด Rh- ไม่สามารถรับเลือดที่มี Rh+ ได้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นอันตรายถึงชีวิต และเนื่องจากกรุ๊ปเลือด Rh- หาได้ยากมาก เมื่อมีอุบัติเหตุฉุกเฉินกับคนเหล่านี้ขึ้น จึงต้องขอความช่วยเหลือจากธนาคารเลือด หรือขอบริจาคจากคนที่กรุ๊ปเลือดตรงกัน ที่เราได้ยินบ่อย ๆ ทางสถานีวิทยุ จส.100 นั่นเอง
ไม่เพียงเท่านั้น การศึกษาเกี่ยวกับกรุ๊ปเลือดที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากของ Dr. Peter J. D'Adamo นายแพทย์ด้านธรรมชาติบำบัดชาวสหรัฐอเมริกา ยังค้นพบอีกว่า การกินอาหารและใช้ชีวิตที่เหมาะสมกับคนกรุ๊ปเลือดนั้น ๆ สามารถช่วยให้สุขภาพดีขึ้นได้
Dr. Peter J. D'Adamo เขียนหนังสือออกมาหลายเล่มเพื่อเผยแพร่แนวความคิดเกี่ยวกับการกินอาหารให้เหมาะสมกับกรุ๊ปเลือด เล่มหนึ่งที่โดดเด่นของเขามีชื่อว่า "Eat Right For Your Type" ได้อธิบายว่า เม็ดเลือดทั้ง 4 กรุ๊ปของคนเรามีรายละเอียดที่แตกต่างกัน อาหารของคนแต่ละกรุ๊ปเลือดจึงแตกต่างกันด้วย ดังนี้
จากคุณ :
ฮิปโปสีชมพู
- [
25 พ.ย. 48 13:06:11
]