จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
เหมือนจะเป็นชะตากรรมของกิจการ ร่วมค้าไทยโมบาย ที่ต้องพบกับปัญหาอุปสรรคและความทุลักทุเลมาตลอด นับแต่ก่อตั้งเมื่อ 5 ปีก่อน ในขณะนั้นก็ต้อง เร่งเปิดบริการอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 25 มี.ค.2545 ก่อนหน้าเส้นตายที่จะต้องโดนยึดคลื่นความถี่คืนเพียง 2 วัน จากนั้นก็พบปัญหาการติดตั้งเครือข่ายล่าช้าทำให้การเปิดตัว เชิงพาณิชย์ต้องเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ตามมาด้วยความไม่ลงตัวทั้งโครงสร้างผู้ถือหุ้นระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม, ทีโอที และวิทยุการบิน ผู้ก่อตั้งร่วมในขณะนั้น ซึ่งกระทบไปถึงแผนการบริหารงานและแผนการเพิ่มทุน
ในอดีตเคยพยายามที่จะให้กิจการร่วมค้า ไทยโมบายเพิ่มทุนอีก 2 หมื่นล้านบาทเพื่อติดตั้งโครงข่ายและสถานีฐานเพิ่มเพื่อให้รองรับการ ใช้งานถึง 2 ล้านเลขหมาย ทั้งยังคิดไกลไปถึงพัฒนาโครงข่ายให้มีความพร้อมสำหรับการให้บริการโทรศัพท์มือถือระบบ 3 จี (third generation) ด้วยซ้ำไป แต่สุดท้ายก็เป็นหมัน
แม้กระทั่งหนทางล่าสุดที่เชื่อว่าจะทำให้ "ไทยโมบาย" เดินหน้าไปสู่อนาคตที่สวยงามได้ ด้วยการให้ "ทีโอที" ซื้อหุ้นคืนจาก "กสทฯ" เพื่อให้การบริหารงานมีความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและคล่องตัวขึ้น เอาเข้าจริงกว่าจะตกลงราคากันได้ก็ผ่านมาเป็นปีๆ ไม่เพียงเท่านั้น แม้จะเคาะราคากันที่ 2,400 ล้านบาทได้แล้ว แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ครบปีพอดี
ทุกอย่างก็ยังไม่มีอะไรชัดเจนว่ากระบวนการซื้อขายหุ้นจะเริ่มและเสร็จเมื่อใด
ปัญหาเดิมยังคาราคาซังอยู่
ปัญหาใหม่ก็ถาโถมเข้ามาอีกโดยไม่ทันตั้งตัว อันเป็นผลพวงของสัญญาจ้างบริหารการให้บริการลูกค้าสัมพันธ์ และการจัดทำระบบเก็บเงินโทรศัพท์มือถือ 1900 MHz หรือ "ไทยโมบาย" ระหว่าง บมจ.ทีโอทีผู้ลงนามในฐานะผู้แทนกิจการร่วมค้าไทยโมบายกับ บมจ.สามารถ ไอ-โมบาย
ปัจจุบันหนี้สินจากสัญญาจ้างดังกล่าวพอกพูนมากถึง 1,123 ล้านบาท !!!
เป็นเหตุให้ "สามารถ ไอ-โมบาย" ตัดสินใจปิดการให้บริการดังกล่าวอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2550 ที่ผ่านมา
มีผลให้ลูกค้าราว 7 หมื่นรายของไทยโมบายไม่สามารถติดต่อไปยังศูนย์บริการผ่านเลขหมาย 1777 และเคาน์เตอร์บริการ ณ ร้านไอโมบายทั่วประเทศได้ รวมถึงจะไม่มีการออกใบแจ้งหนี้และรับชำระเงินค่าบริการให้แก่ลูกค้าด้วย
และนี่ไม่ใช่การปิดระบบครั้งแรก แต่เกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่บอร์ดทีโอทีได้ร้องขอให้เปิดระบบพร้อม ยืนยันกับสามารถฯว่าจะแก้ไขปัญหา หนี้สินที่มีต่อกันให้ จึงมีเปิดระบบเมื่อ วันที่ 9 พ.ค.
"จง ดิลกสมบัติ" กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่บอร์ดรับปากจะแก้ไขปัญหาให้จนวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งที่บริษัทส่งหนังสือทวงถาม และแจ้งว่าจะปิดระบบในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ไปแล้วถึง 3 ครั้งด้วยกัน
"นับจากวันที่มีการปิดระบบ (26 มิ.ย.) หากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ภายใน 2 สัปดาห์เราจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เว้นแต่ไทยโมบายหรือทีโอทีจะทำให้เรามั่นใจได้ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและมีกำหนดเวลาที่ชัดเจน"
สัญญาระหว่างสามารถ ไอ-โมบายกับ "ไทยโมบาย" มีระยะเวลา 5 ปี โดยเริ่มนับตั้งแต่วันเริ่มให้บริการ คือ ปลายเดือน พ.ย.2545 ดังนั้นจึงจะครบอายุสัญญาใน วันที่ 31 ต.ค.ที่จะถึงนี้ โดยเงื่อนไขของสัญญาเฉพาะระบบจัดเก็บเงินได้กำหนดรายได้ขั้นต่ำไว้ที่ 24 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนระบบลูกค้าสัมพันธ์ มีค่าบริการขั้นต่ำที่ 10 ล้านบาทต่อเดือน
เท่ากับว่า "ไทยโมบาย" ต้องจ่ายเงินให้ "สามารถฯ" เดือนละ 34 ล้านบาท แม้ว่าจะมีลูกค้าเพียง 7 หมื่นรายเท่านั้น
เงื่อนไขดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงทีโอทีเมื่อ วันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ทีโอที ส่งสำเนาหลักฐานเกี่ยวกับขั้นตอน การทำสัญญาดังกล่าวมาให้ สตง. ตรวจสอบด้วย
การตรวจสอบของ สตง.ส่งผลกระทบต่อ บมจ.ทีโอทีโดยตรงด้วย
เพราะ "บอร์ดทีโอที" มีคำสั่งเปลี่ยน แปลงอำนาจหน้าที่ของ นายสมควร บรูมินเหนทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เหลือเพียงอำนาจหน้าที่เฉพาะงานด้านวิชาการ เนื่องจากในอดีตเคยเป็น ผู้บริหารบริษัท เอ ซี ที โมบาย จำกัด ที่มีความเกี่ยวข้องกับกิจการร่วมค้า ไทยโมบาย
เช่นเดียวกับ นายวาสุกรี กล้าไพรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงาน การขาย และการบริหารลูกค้าภูมิภาค ซึ่งดูแลรับผิดชอบกิจการร่วมค้า "ไทยโมบาย" ด้วย ก็มีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งพร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวว่าก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐหรือไม่
กับปัญหาล่าสุด "ชิต เหล่าวัฒนา" กรรมการและโฆษกบอร์ดทีโอทีกล่าวว่า ทีโอทีจะส่งตัวแทนไปเจรจากับสามารถ ไอ-โมบาย พร้อมให้ฝ่ายกฎหมายดูแลส่วนที่เอกชนอาจฟ้องร้อง ส่วนการปิดระบบลูกค้าสัมพันธ์และจัดเก็บเงินของสามารถฯในขณะนี้จะไม่มีผลกระทบต่อลูกค้า เนื่องจากเตรียมมาตรการชั่วคราวไว้รองรับแล้ว โดยรวมระบบเข้ากับระบบของทีโอที
ภารกิจพลิกฟื้น "ไทยโมบาย" จึงเป็นอีกการบ้านข้อใหญ่สำหรับบอร์ด "ทีโอที" ซึ่งมี "พลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร" นั่งหัวโต๊ะในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร
ที่สุดแล้ว "ไทยโมบาย" จะเป็นกิจการไร้อนาคตต่อไปเหมือนที่เคยเป็นมาตลอด 5 ปีหรือไม่ อีกไม่นานก็รู้
และน่าเสียดายทรัพยากรความถี่ โดยเฉพาะ "3 จี" ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายเดียวในเมืองไทยที่มีอยู่ในมือจริงๆ
จากคุณ :
title_rbac
- [
2 ก.ค. 50 09:27:19
]