 |
"2 ซีอีโอ" ถอดรหัส "3 Win" อภิดีลสายฟ้าแลบ "ทรู-ฮัทช์-กสทฯ"
|
 |
เสร็จสมอารมณ์หมายเรียบร้อยโรงเรียน "ทรู คอร์ปอเรชั่น" ไปแล้ว หลังปิดดีลซื้อ "ฮัทช์" จากฮัทชิสันวัมเปาแล้ว 07.45 น. วันที่ 27 ม.ค. 2554 "ทรู" ก็ขยับตามแผนจดปากกาเซ็นสัญญากับ บมจ.กสท โทรคมนาคม ทั้งเช่าใช้โครงข่ายซีดีเอ็มเอร่วมกัน และขายต่อบริการ 3G บนเทคโนโลยี HSPA จนถึงปี 2569
ท่ามกลางเสียงวิจารณ์อึงมี่จากเพื่อนร่วมสังเวียนธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่พนักงาน และผู้บริหารของ กสทฯเอง โดยมองดีลสายฟ้าแลบนี้จัดมาเพื่อ "ทรู" โดยเฉพาะ
บ่ายวันเดียวกัน "ศุภชัย เจียรวนนท์" ซีอีโอกลุ่มทรู และ "จิรายุทธ รุ่งศรีทอง" ซีอีโอ บมจ.กสท โทรคมนาคม ควงแขนกันมาแจกแจงที่มาที่ไป และข้อ
สงสัยหลายต่อหลายเรื่องเกี่ยวกับดีล
ดังต่อไปนี้
- ที่มาที่ไปของดีลนี้
จิรายุทธ-เริ่มเจรจาตั้งแต่ 4 เดือนก่อน ตั้งแต่ กสทฯมีนโยบายไม่ซื้อ
กิจการซีดีเอ็มเอของฮัทช์ในไทย จึงคิดหาวิธีทำธุรกิจมือถือต่อไป เมื่อซื้อฮัทช์ไม่ได้เราก็ถึงทางตัน เนื่องจากมีสัญญาการตลาดกับฮัทช์อีก 5 ปี ขณะที่เราก็มี
แบรนด์ของเราเอง การทำตลาด 2
แบรนด์มีปัญหา โครงข่ายก็แยกกัน ใน 25 จังหวัดภาคกลางของฮัทช์มีศักยภาพทางธุรกิจสูง แต่อัพเกรดไม่ได้ ปล่อยให้เดินต่อไปถึงจุดจบของธุรกิจมือถือของ กสทฯแน่นอน
ช่วงนั้นมีโอเปอเรเตอร์ต่างประเทศติดต่อมา ทรูก็เข้ามาจึงบอกไปว่าคงต้องไปเจรจากับฮัทช์เอง เพราะ กสทฯไม่สามารถไปบังคับให้ขายกิจการให้ใครได้ ซึ่งการเจรจาธุรกิจรูปแบบใหม่กับ กสทฯก็ดำเนินไปควบคู่กัน
ศุภชัย-ทรูเข้ามาทำธุรกิจร่วมกับ กสทฯ แทนฮัทชิสันฮ่องกง เกิดขึ้นหลังรู้ว่ากระบวนการประมูล 3G จะล่าช้าออกไป ในราวเดือน ต.ค.จึงต้องหาทาง เพราะสัมปทานทรูเองก็ใกล้หมดแล้ว โชคดีที่เรามีความร่วมมือกับฮัทช์ในหลายประเทศ ผ่านทางเครือ ซี.พี. เช่น ในมาเลเซียและจีน ทำให้การเจรจาเป็นไปด้วยดี
จนเราได้ตัดสินใจเข้าซื้อโดยมีเงื่อนไขที่ต้องคุยกับ กสทฯ เรื่องการปรับปรุงสัญญาบางส่วน รวมถึงโครงสร้างสัญญาให้สอดคล้องกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
โครงสร้างที่ปรับปรุงถือว่าสมบูรณ์กว่าที่ฮัทช์ทำไว้มาก ทำให้ กสทฯปรับปรุงโครงข่ายเป็น HSPA ทำให้ทรูดำเนินกิจการไร้สายต่อไปได้อีก 14 ปี ผ่านความร่วมมือกับ กสทฯ ถือเป็นโปรเจ็กต์ win-win-win คือ กสทฯปลดล็อกจากสัญญา CDMA เก่า ทรูก็มองอนาคตด้านรีเซลเลอร์ต่อไปได้ win สุดท้ายคือประเทศไทยมีทางออกในการเข้าสู่เทคโนโลยี 3G เต็มรูปแบบ
- ดูจะเป็นดีลที่เร่งรีบมาก
ศุภชัย-จริง ๆ แล้วช้ามาก ทั้ง ๆ ที่เร่งมาก ฮัทช์กำหนดระยะเวลาการเจรจาไว้ว่าต้องให้จบก่อนสิ้นเดือนนี้ ใจจริงพยายามจะปิดดีลฮัทช์ให้ทันสิ้นปี 2553 แต่ไม่ทันเพราะมีรายละเอียดที่ต้องเจรจากับ กสทฯเยอะมาก ก่อนที่จะมีการลงนามสัญญาได้ในวันนี้
จิรายุทธ-ไม่ได้รีบเลย ทุกอย่างผ่านกระบวนการทาง กม.ถูกต้อง สัญญาที่ลงนามอัยการสูงสุดตรวจสอบแล้ว คุยกันมา 4 เดือน เนื่องจากธุรกิจมีความเป็นไปได้ในหลายรูปแบบ ต้องหาแนวทางที่อยู่ภายในกรอบ กทช.และ กสทช. รวมถึงรูปแบบของต่างประเทศที่เป็นสากล เมื่อได้ข้อยุติ สัญญาผ่านการตรวจสอบก็เซ็นทันทีเพื่อหยุดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสัญญาเดิม ความเสียหายจากสัญญาเดิม กสทฯติดลบกว่าพันล้านบาท แต่โมเดลนี้จะมีรายได้จากโฮลเซลและรีเซลทันทีในปีแรกราว 2 พันล้านบาท
- เซ็นโดยบอร์ดยังไม่อนุมัติ
จิรายุทธ-ไม่ได้เซ็นโดยพลการแน่ การประชุมบอร์ดครั้งที่แล้ว (14 ม.ค.) มีมติรับรองแล้ว หากเป็นการลงนามภายในกรอบที่บอร์ดอนุมัติไว้ไม่จำเป็นต้องนำเข้าที่ประชุมอีก เว้นแต่จะมีการแก้ไขในสาระสำคัญ ซึ่งตามร่างสัญญาที่อัยการสูงสุดส่งกลับมาไม่ได้คอมเมนต์ในประเด็นเหล่านี้
- สาระสำคัญของสัญญานี้คือ
จิรายุทธ-โมเดลนี้โฟกัสที่จุดแข็งของตนเอง คือการเป็นเจ้าของเน็ตเวิร์ก ตัวเสา สถานีฐาน ทรานส์มิสชั่น ไฟเบอร์ออปติกที่เชื่อมโยงแต่ละสถานีฐาน เทคโนโลยีในจุดนี้เปลี่ยนน้อย ไม่ว่าจะเป็น 3G หรือ 4G สอดคล้องกับความเป็นรัฐวิสาหกิจของ กสทฯ ที่มีความคล่องตัวในการลงทุนต่ำ และขาดความเชี่ยวชาญในการทำตลาด
กสทฯจึงจะเป็น net-co (network company) ลงทุนโครงข่ายหลัก ให้ทรูทำ op-co (operation company) ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนตามเทคโนโลยี ส่วนความจุของ net-co กสทฯจะนำไปขายให้โอเปอเรเตอร์ต่าง ๆ นี่คือโมเดลธุรกิจที่ลงนามกัน
สัญญาที่ลงนามร่วมกันมี 4 สัญญา คือส่วนที่เป็น CDMA และ HSPA เนื่องจากช่วง 2 ปีแรกยังต้องมีการดูแลลูกค้า CDMA จึงต้องมีสัญญาดูแลลูกค้าฮัทช์ และสัญญาในการถ่ายโอนลูกค้า CDMA ไปสู่ HSPA ขณะที่สัญญาในส่วน HSPA มี 2 ส่วน คือที่ กสทฯจะเช่าโครงข่ายหลักใน 25 จังหวัดภาคกลางที่เป็นของฮัทช์ กับสัญญาเช่าใช้ op-co จากทรู และสัญญาให้ทรูเป็นรีเซลเลอร์
เรื่องผลตอบแทนส่วน CDMA เหมือนเดิมคือ กสทฯได้ 20% จากส่วนแบ่งค่าบริการ แต่การเช่าอุปกรณ์จากทรู คงไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะเป็นต้นทุนในการทำธุรกิจ จะมีการคำนวณแยกตามชนิดของอุปกรณ์ ปริมาณที่ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกับที่เอไอเอส ดีแทคใช้
ส่วนสัญญารีเซลโฮลเซลจะมีการปรับไปตามสภาพการแข่งขันในตลาด
- เป็นดีลที่เอื้อประโยชน์ทรูโดยเฉพาะ
จิรายุทธ-ไม่ได้มีทรูแค่รายเดียวที่เข้ามายื่นข้อเสนอ แต่เท่าที่เจรจามีทรูที่เหมาะสมในการทำธุรกิจร่วมกัน และมีความคืบหน้าในการเจรจากับฮัทช์มากที่สุด เราคงไม่ดีลกับคนที่ไม่สามารถเจรจาซื้อฮัทช์ได้
ทรูเองเป็นผู้รับสัมปทานจากเรา เป็นบริษัทไทยรายเดียวในบรรดาค่ายมือถือ และมีข้อจำกัดในสัมปทานและการใช้คลื่นความถี่ ต่างกับอีก 2 ราย หากเราไม่ทำอะไร เบอร์ 3-4 ในตลาดอย่าง กสทฯและทรูจะประสบความยากลำบากในการแข่งขัน เมื่อดูทุกปัจจัยแล้ว ดีลนี้จะช่วยให้ธุรกิจของทั้ง 2 ฝ่ายดีขึ้น
- ฮัทช์หนี้เยอะ ทรูจะได้ประโยชน์ยังไง
ศุภชัย-ในกระบวนการซื้อ จะซื้อที่มูลค่า 6,300 ล้านบาทเท่านั้น หนี้สินต่าง ๆ เป็นหนี้ของผู้ถือหุ้นเดิมต้องหักกลบลบไปให้หมดตามวิธีการของเขา ไม่มีหนี้สินพ่วงมาด้วยในการซื้อฮัทช์ ขณะที่สัญญา 2G ยังไม่มีคำตอบ 100% ว่าจะไปอย่างไร ในเบื้องต้นเราได้ขออนุญาตเช่าใช้อีก 5 ปี แต่ไม่มีการันตีว่าจะได้ใช้คลื่นความถี่ต่อ อาจต้องส่งคลื่นคืนให้ กสทฯ ซึ่งเชื่อว่าก่อนหมดสัมปทาน กทช.ต้องมีการนำคลื่นมาประมูลหรือตั้งราคาเบื้องต้น แต่เชื่อว่า 2G จะมีอายุการใช้ไปอีก 8 ปี
- จะพลิกขาดทุนเป็นกำไรได้ยังไง
ศุภชัย-ในช่วงต้นยังต้องมีการลงทุนขยายโครงข่าย การลงทุน co-op ทรูจะลงทุน 5-6 พันล้านบาท ประมาณ 3,000 สถานีฐาน เพื่อให้ครอบคลุมโครงข่าย CDMA เดิมก่อน ทรูมูฟจึงยังขาดทุนอยู่ แต่จะกำไรเมื่อมีลูกค้ามากพอ คาดว่าจะอยู่ในปีที่ 3-4 แต่ทรูจะเริ่มรับรู้รายได้ใน ม.ค.นี้เลย รายได้ฮัทช์ที่ผ่านมา ปีละ 4,300 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 3,500-3,700 ล้านบาท ผลประกอบการฮัทช์เดิมก็เป็นบวก แต่ต้องดูเรื่องค่าเสื่อมของโครงข่าย CDMA ที่จะเลิกใช้ภายในไม่เกิน 2 ปี หลัง HSPA เข้ามา ซึ่งต้องเร่งลงทุนเพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า
เงินทุนเบื้องต้นยังพอ แต่ในระยะยาวต้องวางแผนร่วมกับ กสทฯ ซึ่งมีบทบาทในส่วนที่เป็นเสาและสัญญาณเชื่อมโยงโครงข่ายหลัก ฉะนั้นลักษณะการวางแผนต้องมองร่วมกัน
- ทรูมีเงินลงทุนพอ
ศุภชัย-เงินลงทุนเบื้องต้นเป็นเงินกู้จากไทยพาณิชย์ยังพอ แต่ถ้าจะเร่งสร้างอาจต้องหารือ กสทฯ และต้องหารูปแบบระดมเงินลงทุน
- จะยังประมูลคลื่น 3G
ศุภชัย-ยืนยันว่าจะประมูลคลื่น 3G เพราะไม่ว่าคลื่น 800 ที่มีหรือ 2100 ยังไม่เพียงพอกับการนำมาให้บริการ ยิ่งบ้านเราขาดแคลนบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ยิ่งต้องการคลื่นมาให้บริการโมบายอินเทอร์เน็ต
ตลาด 3G ที่จะเกิดขึ้นเชื่อว่าไม่สามารถรองรับลูกค้า 2G ได้หมดใน 2-3 ปี แม้สัมปทานจะหมดแล้วก็ยังมีลูกค้า 2G เหลือ จะไปบังคับลูกค้าให้เปลี่ยนคงไม่ได้ และจริง ๆ กลุ่มทรูได้รับใบอนุญาตให้บริการจาก กทช.แล้ว แต่ยังไม่ได้รับคลื่น เมื่อสิ้นสุดสัมปทานเข้าใจว่าคลื่นต้องส่งคืนไปยัง กทช. เพื่อให้จัดสรรอีกครั้ง ซึ่งเราจะหารือกับ กทช. เพื่อให้มีความชัดเจนว่าจะให้มีการประมูล หรือตั้งราคาคลื่นให้ดำเนินการต่อไปได้
- มั่นใจว่าสัญญานี้ไม่ขัดกฎหมาย
จิรายุทธ-สัญญารีเซลโฮลเซล เป็นไปตามประกาศ กทช. ซึ่งเดิม กสทฯก็มีการทำสัญญาประเภทนี้ อาทิ การเช่าเคเบิลใต้น้ำแล้วนำไปขายต่อให้ไอเอสพีทำอินเทอร์เน็ต ส่วน op-co กสทฯก็ไม่ได้เช่าโครงข่ายทั้งหมดของทรู แต่เช่าแค่อุปกรณ์บางส่วน โครงข่ายหลักยังเป็นของ กสทฯ และเป็นผู้ขายส่งให้รายอื่นตามระเบียบพัสดุจึงไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุน และไม่ต้องรายงาน ครม.
เงื่อนไขทางพาณิชย์ของสัญญาได้พยายามทำให้ถูกต้องตามกฎกติกาของ กทช. และมีความเสมอภาค ไม่ใช่รูปแบบสัมปทานเดิมที่เอกชนทำธุรกิจไปแล้วแบ่งรายได้ รัฐแค่รอส่วนแบ่ง โมเดลนี้ทั้ง 2 ฝ่ายจะมีบทบาทของตนเอง กสทฯจะเป็นเน็ตเวิร์กโพรไวเดอร์ขายส่ง ส่วนทรูจะลงทุนในส่วน op-co และขายรีเซลด้วย
โมเดลนี้ กสทฯคือคนทำธุรกิจหลัก จึงมั่นใจว่าไม่เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน ได้ให้ที่ปรึกษา กม.มีที่ปรึกษาประธานบอร์ดดูให้แล้ว ตัวสัญญาก็ผ่านการตรวจร่างจากอัยการสูงสุดมาแล้ว ไม่ได้มีคอมเมนต์ในประเด็นนี้เลย ยืนยันว่ารูปแบบสัญญาต่างกันมากกับสัญญาสัมปทานเดิม
ศุภชัย-ก่อนลงนามได้ศึกษาข้อกฎหมาย และ พ.ร.บ.ร่วมทุน ตามความเข้าใจคือการใช้ทรัพย์สินของรัฐเพื่อหาประโยชน์ทั้งเอกชนและรัฐ แต่ในส่วนนี้ไม่ได้ใช้ทรัพย์สินของรัฐ คลื่นความถี่ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่เช่าใช้ โฮลเซลรีเซลเป็นตามประกาศ กทช.
น่าจะเป็นมิติใหม่ของโทรคมนาคมที่เป็นเสรีหลุดจากระบบเดิมที่รัฐผูกขาด
- สรุปว่าโครงข่าย 25 จังหวัดที่ทรูซื้อ ใครเป็นเจ้าของ
ศุภชัย-ตัวเสาสถานีฐาน CDMA เดิมของฮัทช์ เนื่องจาก กสทฯต้องการเป็นเน็ตเวิร์กโพรไวเดอร์ จึงมีออปชั่นให้ กสทฯซื้อ 1,400 เสา ในราคาประเมินของหน่วยงานกลาง แต่ทั้งหมดต้องเจรจาให้จบใน 2 ปีจากนี้ แต่ส่วน co-op คือโมเดลนี้ กสทฯเป็นคนลงทุนเน็ตเวิร์กหลัก เป็นคนประกอบอุปกรณ์โครงข่าย ทรูลงทุนอุปกรณ์โครงข่าย และบำรุงรักษาจนหมดสัญญา 14 ปี เมื่อหมดสัญญา กสทฯมีออปชั่นว่าจะซื้อในราคาตามมูลค่าบัญชี
จิรายุทธ-สุดท้ายต้องดูก่อนว่าเช่าหรือซื้อจะคุ้มค่ากว่ากัน
- ลูกค้าเดิม CDMA ทำอย่างไร
ศุภชัย-ยังใช้ได้เหมือนเดิม โปรโมชั่นฮัทช์ก็ยังใช้ได้ แต่โปรฯต่อไปจะมีโปรฯใหม่ให้ลูกค้าได้ข้ามมาใช้บริการทั้ง 2G HSPA และ 3G ที่ทรูให้บริการอยู่ เพื่อดึงดูดให้เกิดการย้ายมาใช้ HSPA ตามที่ทยอยสร้าง
จิรายุทธ-ส่วน CAT CDMA กสทฯยังดูแลเอง ไม่ได้ให้ทรูทำตลาดให้ แต่จะไม่ได้รุกทำตลาดเพิ่มลูกค้ามากมาย เมื่อโครงข่าย HSPA พร้อมจะย้ายลูกค้ามาทันที เพราะการรันโครงข่าย 2 เทคโนโลยี ต้นทุนสูง เมื่อย้ายลูกค้ามาให้บริการบนโครงข่าย HSPA แล้ว กสทฯก็ยังทำตลาดอยู่ แต่เป็นนิชมาร์เก็ต เพราะไม่มีความยืดหยุ่นจะไปแข่งกับเอกชนได้ อาจเป็นลูกค้าองค์กร ภาครัฐ หรือทำเป็นแพ็กเกจคู่กับเซอร์วิสเดิมของ กสทฯ
- กระบวนการจากนี้
จิรายุทธ-คงต้องมีการวางแผนร่วมกัน กสทฯต้องทำแผนธุรกิจของตัวเอง ทั้งแผนการโอนย้ายลูกค้า แผนลงทุนโครงข่าย และรีเซลโฮลเซล HSPA รวมถึงการเตรียมระบบแบ็กออฟฟิศให้พร้อม คงไม่มีการตั้งบริษัทลูกร่วมกันอีก หุ้น 26% ที่ กสทฯมีในฮัทช์ เมื่อทรูซื้อไป เราก็ยังถือหุ้นเหมือนเดิม ส่วนการลงทุนโครงข่ายหลักยังต้องวางแผนอีกครั้งว่าต้องลงทุนขยายจุดไหนบ้างตามความต้องการของตลาด
ศุภชัย-ต้องหารือกับผู้บริหารฮัทช์ให้ชัดเจนเรื่องบุคลากร เราไม่มีนโยบายเลิกจ้าง ส่วนแบรนดิ้งและยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ต้องหารือทั้งภายในและกับ กสทฯ เนื่องจากเป็นรีเซลเลอร์ของ กสทฯ การทำตลาดต้องทำแบบ co-brand ชื่ออาจเป็นรีเซลเลอร์ บายแคท
- เก้าอี้ซีอีโอ กสทฯสะเทือนจากกรณีนี้
จิรายุทธ-ไม่ทราบ ไม่ได้อยู่ในอำนาจผม แต่ยืนยันว่าไม่ได้ลงนามโดยพลการ กระบวนการต่าง ๆ บอร์ดและรัฐมนตรีไอซีทีทราบเรื่อง ทุกอย่างลงนามไว้หมดแล้ว กว่าจะถึงวันนี้เหนื่อยมาก แต่ กสทฯคุ้ม เพราะสัญญานี้เป็นทางรอดของธุรกิจมือถือ
http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02com01310154§ionid=0209&day=2011-01-31
จากคุณ |
:
OFDMA
|
เขียนเมื่อ |
:
31 ม.ค. 54 10:07:08
|
|
|
|  |