Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
10 คำถามเปิดใจ 'CEO Dtac' กับทิศทางอุตสาหกรรม ICT ติดต่อทีมงาน

10 คำถามเปิดใจ 'ซีอีโอดีแทค' กับทิศทางอุตฯไอซีที
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 5 กันยายน 2554 09:06 น.

การเปิดให้บริการ 3G ของ 3 โอเปอเรเตอร์หลักในตลาดบนความถี่เดิมทั้ง 850 MHz และ 900 MHz ถึงแม้ยังไม่ใช่ความถี่มาตรฐาน 2.1 GHz แต่ก็สร้างความรับรู้และประสบการณ์ใหม่ให้ผู้บริโภคได้สัมผัสบริการสื่อสารข้อมูลไร้สายความเร็วสูงหรือโมบายล์ บรอดแบนด์ รวมทั้งสร้างความคาดหวังในอนาคต
     
      ในช่วงสัปดาห์นี้ มีเหตุการณ์สำคัญในอุตสาหกรรมไอซีทีเกิดขึ้น คือการคัดเลือกกรรมการกสทช. ที่จะมีบทบาทในการกำกับดูแลกำหนดทิศทางอุตสาหกรรม ในแวดวงโทรคมนาคม สิ่งที่เฝ้ารอมานาน หนีไม่พ้นการประมูลความถี่ 2.1 GHz เพื่อให้บริการ 3G แบบมาตรฐาน
     
      จอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค ให้สัมภาษณ์พิเศษ ถึงผลตอบรับหลังเปิดให้บริการ 3G ภาพรวมการแข่งขันในตลาดต่อจากนี้ และทิศทางที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ควรต้องก้าวไปอย่างการให้บริการ 4G พร้อมเสนอไอเดียแก้ปัญหาสัญญาสัมปทาน
     
      ในเมื่อตลาดพร้อม อุปกรณ์พร้อม โอเปอเรเตอร์พร้อม กสทช.ก็ใกล้จะพร้อมแล้ว ดูเหมือนไม่น่าจะมีเหตุผล หรือไม่น่าจะมีใคร มาขัดขวางกระบวนการที่ควรจะเป็นไปตั้งนานแล้ว เพื่อผลประโยชน์ภาพรวมของประเทศ
     
      1.กระแสตอบรับหลังเปิดให้บริการ 3G ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา
     
      ลูกค้าให้การตอบรับดีมาก จากจำนวนผู้ใช้งาน 3G ในระบบกว่า 400,000 ราย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี แน่นอนว่าหลังเปิดให้บริการก็มีปัญหาเล็กน้อยจากการระบบการสับเปลี่ยนลูกค้า ให้เข้าไปใช้งานในเครือข่าย 3G ซึ่งต้องระวังเรื่องการสับเปลี่ยนเครือข่ายไม่ให้มีสายหลุด แต่ก็แก้ไขเสร็จภายในไม่เกิน 1 ชั่วโมง
     
      ซึ่งถ้ามองในแง่ของเทคนิคแล้วถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ เนื่องจากสามารถให้ประสิทธิภาพความเร็วตามที่สัญญาไว้ และเรามีทีมที่คอยดูแลโซเชียลมีเดีย บล็อกเกอร์ เพื่อดูถึงกระแสตอบรับหลังเปิดใช้งาน ซึ่งข้อมูลที่ได้คือลูกค้ารู้สึกดีมาก
     
      สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือดีแทควางแผนที่จะขยายสถานีฐานเพิ่มอีก 800 สถานี เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่เพิ่มให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพในการให้บริการเครือข่าย 3G ในปัจจุบัน ในแง่ของความเร็วในการใช้งาน รองรับจำนวนผู้ใช้งานที่มากขึ้น เรื่องเหล่านี้คือเรื่องใหญ่ที่ต้องทำเพื่อตอบสนองลูกค้า
     
      จุดที่ทำให้ดีแทค เหนือกว่าผู้ให้บริการ 3G รายอื่นคือพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุม ในขณะเดียวกันยังมาพร้อมกับความเร็ว และคาปาซิตีที่จะรองรับลูกค้าจำนวนมากได้ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ผู้บริโภค
     
      แต่ทั้งนี้จำนวนสถานีฐานเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น คีย์หลักของการให้บริการ 3G คือการตั้งค่ากล่องที่เสาส่งสัญญาณ ให้รองรับจำนวนผู้ใช้ที่มากขึ้น และครอบคลุมไปยังแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่เพียงแต่มีสถานีฐานเพียงอย่างเดียว อีกจุดหนึ่งคือ ดีแทคให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2 ช่วง ทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่าคู่แข่งที่เปิดใช้เพียงช่วงเดียว
     
      2.มองจุดแข็งของแต่ละโอเปอเรเตอร์อย่างไร
     
      ไม่อยากมองว่าใครได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ต้องบอกว่า การลงทุนให้บริการ 3G ของแต่ละค่ายในปัจจุบันเป็นการลงทุนเพื่อรอในสิ่งที่ควรจะเป็นในอนาคต และแน่นอนว่าการลงทุนตอนนี้ไม่ใช่รูปแบบการลงทุนที่ดีที่สุด
     
      อย่างเอไอเอส ที่ให้บริการบนคลื่นความถี่ 900 MHz ที่มีช่วงคลื่นเพียงแค่ 5 MHz ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ในการสับเปลี่ยนการให้บริการ 2G ไปยัง 3G บนคลื่นความถี่เดียวกัน
     
      ขณะที่ดีแทคที่มีความถี่ทั้ง 1800 MHz และ 850 MHz ซึ่งมีช่วงคลื่น 10 MHz จึงช่วยให้สามารถรองรับลูกค้าได้มากกว่า ขณะที่ทรูมูฟปัจจุบันใช้คลื่นความถี่ 850 MHz เหมือนกัน แต่ใช้ช่วงคลื่นในการให้บริการ 3G เพียงแค่ 5 MHz ซึ่งอาจจะมีการปรับใช้คู่กันไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้เช่นเดียวกัน
     
      แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การให้บริการตอนนี้เหมือนเปิดโลก 3G ให้ลูกค้าได้ลองใช้ สิ่งที่ควรจะต้องทำหลังจากนี้ และเป็นทางออกเดียวที่เห็นว่ายุติธรรมกับทุกฝ่ายมากที่สุดคือการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz เพื่อให้แต่ละค่ายแข่งขันกันและผู้บริโภคได้ประโยชน์ บนพื้นฐานที่ทุกอย่างเท่าเทียมกัน
     
      พื้นฐานที่เท่าเทียมกันคือทั้งใน เรื่องของช่วงคลื่นความถี่ เงื่อนไข สัญญาสัมปทาน ในแนวเดียวกัน เสร็จแล้วพอแต่ละค่ายให้บริการอยู่บน 3G เหมือนกัน ก็จะเกิดการแข่งขัน ส่งผลให้ลูกค้าได้รับผลประโยชน์มากที่สุด
     
      3.มองข้ามไปถึงการประมูล 2.1 GHz ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้
     
      ผมคิดว่าปัจจัยต่างๆในปัจจุบันถือว่าเป็นบวก เพราะถ้ามองถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมแล้ว จะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งาน 3G อยู่แล้วเป็นจำนวนมาก และเชื่อว่าจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนจะเพิ่มขึ้นไปอีกเรื่อยๆแบบก้าวกระโดด
     
      ถัดมาคือการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันไปแล้ว ดังนั้นผู้บริโภคจึงต้องการรูปแบบการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้น เพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนธุรกิจต่อไป
     
      ประกอบกับหลังจากมีรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) ที่มีนโยบายในการผลักดันให้เกิดการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ เพื่อนำเข้าไปใช้ในโรงเรียน และผลักดันให้ประเทศเดินไปข้างหน้า
     
      ผู้บริโภคต้องการอินเทอร์เน็ต รัฐบาลเองก็ต้องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และแน่นอนว่า 3G คือคำตอบ
     
      ดังนั้น เมื่อ กสทช. จัดตั้งขึ้นมาแล้วทำแผนแม่บทเพื่อประมูลคลื่นความถี่ ให้สอดคล้องกับนโยบายการขยายบรอดแบนด์ของรัฐบาล ทุกอย่างจึงกลายเป็นทิศทางที่ดี คาดว่าภายในปีหน้าจะได้เห็นการให้บริการ 3G บนคลื่น 2.1 GHz แต่จุดที่สำคัญที่สุดคือความต้องการของประชาชน
     
      4.รูปแบบการประมูลที่ควรจะเกิดขึ้น ควรจะเป็นเหมือนครั้งที่ผ่านมาหรือมีมุมองอื่นอย่างไร
     
      ผมได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการประมูลมาในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ลงในรายละเอียดลึกเนื่องจากการประมูลถูกล้มไป แต่เชื่อว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะมีรูปแบบการประมูลเช่นเดิม
     
      ทั้งนี้ ต้องมองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองการประมูลคลื่น 2.1 GHz ไว้อย่างไร ถ้ามองว่าต้องการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศให้เร็วที่สุด และเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพื่อให้ประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว เงินแรกเข้าควรจะต่ำ เพื่อให้โอเปอเรเตอร์สามารถนำเงินส่วนที่เหลือจากการประมูลไปพัฒนาเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
     
      แต่ถ้ารัฐบาลต้องการกำไรจากการประมูล เพื่อไปทำอะไรบางอย่าง ราคาของไลเซนต์ก็จะสูงขึ้น และผู้ที่เข้าประมูลซึ่งมีงบประมาณจำกัด ก็จะไม่สามารถลงทุนเพื่อขยายพื้นที่การให้บริการออกไปได้
     
      ในมุมมองของดีแทคคือน่าจะหาจุดตรงกลางที่ให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด และภาครัฐได้เงินเพื่อที่จะนำไปใช้ ซึ่งทางออกที่เป็นไปได้คือ อาจจะมีค่าแรกเข้าที่ต่ำ แต่มีส่วนแบ่งรายได้หรือค่าธรรมเนียมที่สูงเพิ่มขึ้นตามเงื่อนไข
     
      ดังนั้นสูตรการประมูล n-1 ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะผู้เล่น 3 รายหลักต้องการให้บริการ 3G และมีลูกค้าที่มีความต้องการเหมือนกัน ดังนั้น n-1 จึงไม่ยุติธรรมกับทุกฝ่าย เพราะทั้ง 3 ค่ายควรมีสิทธิที่จะให้บริการ
     
      ทุกฝ่ายควรเข้ามานั่งคุยกัน ให้รัฐบาลตั้งค่าแรกเข้าที่เป็นมาตรฐาน และไปปรับเพิ่มเงื่อนไขตามสัดส่วนจำนวนผู้ใช้บริการในแง่ของส่วนแบ่งรายได้ เพื่อให้ยุติธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ว่ารายหนึ่งให้บริการลูกค้าน้อยกว่าแต่ต้องจ่ายเท่ากัน
     
      คลิกอ่านหน้าถัดไปกับอีก 5 คำถามอุตสาหกรรมโทรคมฯ ถ้าไม่เกิดการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz ความร่วมมือกับกระทรวงไอซีที การผลักดัน 4G และรูปแบบสงครามโทเทิลโซลูชัน

5.ถ้าไม่เกิดการประมูล 2.1GHz คิดว่าจะเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่
     
      ไม่คิดว่าจะเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม แต่ทุกค่ายมีเงินทุนที่ต่างกัน ถ้าปล่อยให้เวลาถูกยืดออกไป ความเสียหายจะเกิดขึ้นกับประเทศมากกว่า เวลาจึงเป็นจุดสำคัญ ถ้าลงทุนตรง 850MHz มาก พอถึงเวลาต้องลงทุน 2.1 GHz ก็อาจจะทำได้ไม่เต็มที่
     
      และปัญหาจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคที่อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากกว่า เพราะว่าคลื่นมาตรฐานที่อยู่ในทุกอุปกรณ์ที่รองรับ 3G คือ 2.1 GHz ดังนั้น 2.1 GHz จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และผู้บริโภคก็ไม่จำเป็นต้องมานั่งหาเครื่องที่รองรับ 850 MHz หรือ 900 MHz
     
      6.สิ่งที่จะทำร่วมกับกระทรวงไอซีที
     
      พร้อมที่จะเข้าไปหารือถึงแนวทางในการดำเนินงานกับกระทรวงไอซีที เพื่อดูว่าทางดีแทคจะช่วยผลักดันภาครัฐกับกระทรวงไอซีทีซีอย่างไร เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฯ ร่วมกับนโยบายของภาครัฐ
     
      หลักๆคงเป็นเรื่องของสัญญาสัมปทานที่ต้องการความชัดเจนหลังหมดสัญญา ความต้องการของประชาชนในการใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายแต่โครงข่ายจำกัด ทำให้ต้องมีการเดินหน้าพัฒนา และยังมองไปถึงการพัฒนา 4G ที่สามารถทำควบคู่ไปกับ 3G ได้
     
      ประเทศไทยมีคลื่นความถี่ที่ยังไม่ได้มีการจัดสรรอีกจำนวนมาก ดังนั้นถ้ามองข้ามไปถึงการลงทุนเรื่อง 4G จะเป็นสิ่งที่ดีอย่างน่าเหลือเชื่อ ซึ่งไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินไป
     
      7.วิธีการที่จะต้องทำ เพื่อให้เกิด 4G
     
      ต้องมองข้ามไปที่ปี 2013 ซึ่งสัญญาสัมปทานของทรูและดีพีซี (บริษัทในเครือเอไอเอส) จะหมดลง ทำให้ช่วงคลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 12.5 MHz ของทั้ง 2 รายต้องคืนให้กับทางกสท เมื่อรวมกับของดีแทคที่ 25 MHz ถึงแม้ว่ายังไม่หมดสัมปทานแต่ก็ยินดีที่จะคุย
     
      ถ้ากสทช. เปิดประมูล 2.1 GHz แต่ช่วงความถี่ 1800 MHz ดังกล่าวสามารถนำมาทำ 4G ได้ และนำ 2.1 GHz ในการให้บริการ 3G ซึ่งในมุมของโอเปอเรเตอร์ เมื่อสามารถลงทุนพร้อมกัน จะสามารถบริหารจัดการในแง่ของการลงทุนได้ว่า จะลงทุน 4G 1800 MHz ที่ใด และลงทุน 2.1 GHz ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ไหน สุดท้ายก็จะได้ไวร์เลสบรอดแบนด์ทั่วประเทศ
     
      ทั้งนี้ ผู้ให้บริการรายอื่นก็ไม่จำเป็นต้องนำคลื่น 1800 MHz มาใช้เพื่อให้บริการ 4G เพียงอย่างเดียว แต่สามารถนำไปให้บริการ 2G เหมือนเดิมก็ได้ เป็นไปตามกลยุทธ์ของโอเปอเรเตอร์แต่ละรายที่จะนำไปให้บริการ
     
      สิ่งต่างๆเหล่านี้ จะช่วยเข้ามาแก้ปัญหาหลังสัมปทานหมดอายุ เพราะดีแทคยินดีที่จะคืนคลื่นถึง 25 MHz ในขณะที่รายอื่นคืนเพียง 12.5 MHz เพื่อให้เกิดการจัดสรรใหม่ ทุกราย รวมถึงทีโอที และกสท ก็สามารถนำคลื่นเหล่านี้ไปบริหารจัดการได้
     
      โมเดลนี้น่าจะใสสะอาดที่สุด เพราะทำให้ กสทช. สามารถกำกับดูแลไลเซนต์ที่ออกไป คลื่นความถี่ที่จัดสรรใหม่อย่างถูกต้อง ก็จะช่วยให้แต่ละค่ายสามารถใช้ทรัพยากรของประเทศได้ดีกว่านี้
     
      และเมื่อถึงปี 2013 ทั้งทีโอที และ กสท ก็จะไม่มีส่วนแบ่งรายได้จากสัญญาสัมปทาน ดังนั้นจึงต้องหาแนวทางธุรกิจเพื่อรักษาองค์กรต่อไป อย่างเช่นการขอคลื่นความถี่ไปให้บริการเอง
     
      8.การที่ทรูมูฟ ขอเจรจาซื้อโครงข่ายคืนจาก กสท
     
      การซื้อขายที่เกิดขึ้นจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในอุตสาหกรรม เพราะเป็นการตั้งบรรทัดฐานราคาให้แก่ผู้ให้บริการรายอื่น เพราะถ้าทรูสามารถต่อรองราคาได้ถูก ก็จะเป็นบรรทัดฐานให้แก่ทางดีแทคต่อไป ซึ่งสุดท้ายก็ยังต้องรอดู
     
      เมื่อคืนคลื่นความถี่ แต่ยังมีลูกค้าใช้บริการอยู่บนโครงข่ายเดิม ก็ต้องหาวิธีที่จะรักษาลูกค้า ไม่ใช่เริ่มใหม่จากศูนย์ วิธีนี้ก็คือการซื้อโครงข่ายมาเพื่อให้บริการลูกค้าเอง
     
      9.แผนการลงทุน Wi-Fi
     
      กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ เพราะโมเดลธุรกิจนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ลูกค้าในการออฟโหลดการเชื่อมต่อระหว่าง 3G หรือแม้กระทั่ง 4G มายัง Wi-Fi
     
      ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถืออย่างในสยาม พารากอน ไม่สามารถใช้งานบนเครือข่าย 3G หรือ 4G พร้อมกันทั้งหมดได้ การออฟโหลดผู้ใช้งานมายัง Wi-Fi ที่ได้ความเร็วสูงกว่า บนต้นทุนที่ถูกกว่า จึงเป็นทางออกสำคัญในการให้บริการ
     
      ก่อนหน้านี้ดีแทคมีการออกแคมเปญ "Life Network" ที่ประกอบไปด้วย 1.การให้บริการ 3G หรือ 4G ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายความเร็วสูง 2.การพัฒนาโครงข่าย EDGE เป็นเทคโนโลยีใหม่ทั้งหมด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบางพื้นที่ ให้ความเสถียรมากขึ้น และ 3.การเชื่อมต่อ Wi-Fi ในแต่ละจุด
     
      งบประมาณในการลงทุน Wi-Fi ของดีแทคอยู่ที่หลักร้อยล้านบาท ส่วนที่นอกเหนือจากนี้จะเป็นความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในการให้บริการ โดยดีแทคจะลงทุนเองในพื้นที่ ที่มีปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูง บนอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ
      ไตรมาส 4 จะเป็นสงครามโทเทิล โซลูชัน หลักจาก 3G เริ่มดำเนินการไปแล้ว
     
      10. 3G จะทำให้นัมเบอร์พอร์ต(การคงสิทธิเลขหมาย) มีการเปลี่ยนแปลงไหม
     
      ถ้าผู้เล่นรายใดรายหนึ่งไม่มี 3G อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด แต่ในปัจจุบันเมื่อผู้เล่นทั้ง 3 รายหลักสามารถให้บริการ 3G ได้หมดแล้ว แม้จะช้ากว่ากันทีละ 2-3 สัปดาห์
     
      ปล่อยให้ลูกค้าเป็นผู้ตัดสินใจ ว่าลูกค้าจะเลือกรายใด ตามพื้นที่ให้บริการ ตามโปรโมชัน แต่เมื่อมองโดยรวมมีการย้ายเข้า ย้ายออกตามตามปกติ
     
URL : http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9540000112004

 
 

จากคุณ : netiharn
เขียนเมื่อ : 5 ก.ย. 54 13:04:52




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com