Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
พฤติกรรมใหม่ในยุคไอที ( ถ่ายรูปอาหารก่อนกิน-เพื่อนในเฟซบุ๊กมาก-กูเกิลเปลี่ยนการจำของสมอง ) ทำให้เกิด!! โรคย้ำคิดย้ำทำ ติดต่อทีมงาน

ประเด็นหลัก


ถ่ายรูปอาหารก่อนกิน จากเทรนด์สู่วิถีชีวิต
ในประเทศไทย มีกลุ่มคนที่ชื่นชอบเทรนด์การถ่ายภาพอาหาร สร้างหน้าแฟนเพจบนเฟซบุ๊กชื่อ ‘ชุมชนคนชอบถ่ายภาพของกินก่อนกิน’ หรือ facebook.com/snap.before.eat  ให้ได้คลิกไลค์และโพสต์รูปอาหาร ที่ปัจจุบัน มีคนกดไลค์ 9,444 คน

อันที่จริง เทรนด์ถ่ายรูปอาหารเป็นพฤติกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 4-5 ปีที่แล้ว หลังกล้องดิจิทัลถูกพัฒนาให้คนกล้าถ่ายรูปมากขึ้น และได้รับความแพร่หลายยิ่งขึ้น เมื่อสมาร์ทโฟนเข้าสู่ตลาด ทำให้กระบวนการถ่ายง่ายขึ้น เพียงแค่ ‘แชะ’ แล้ว ‘แชร์’


เพื่อนในเฟซบุ๊กมาก ขนาดสมองเปลี่ยน?
ผลการศึกษานี้เพียงแสดงให้เห็นว่า นักวิจัยสามารถนำความรู้สมัยใหม่ทางด้านประสาทวิทยามาใช้ตอบคำถามสำคัญได้ว่าอะไรคือผลจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่อสมอง และเมื่อสมองเปลี่ยน มนุษย์ย่อมต้องเปลี่ยนเป็นธรรมดา



พฤติกรรม ‘กูเกิล’ เปลี่ยนการจำของสมอง
สิ่งที่ Sparrow พบจากการทำวิจัยคือ กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งเลือกไม่จำข้อมูล หากรู้ว่าสามารถใช้ Search Engine ค้นหาข้อมูลได้อีกครั้งในอนาคต และเมื่อสุ่มถามกลุ่มตัวอย่างถึงสีธงชาติ คนส่วนใหญ่เลือกที่จะหาผ่านวิธี Search โดยทันที แทนการนึกจากความจำจากสิ่งที่ได้อ่านมา

ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างสามารถจำชื่อโฟลเดอร์หรือกล่องเก็บไฟล์ได้ดีอย่างน่าแปลกใจ เป็นที่มาของข้อสรุปว่า สมองมนุษย์ในยุคดิจิทัลนั้นจดจำแหล่งที่เก็บข้อมูลได้ดีขึ้น


ย้ำคิดย้ำทำ กับสื่อสังคมออนไลน์
โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD เป็นโรคที่ถูกกระตุ้นโดยอาการวิตกกังวล ยิ่งคนคนหนึ่งรู้สึกกระวนกระวาย วิตกกังวลมากเท่าไร เขาก็จะอยากเรียกความเชื่อมั่นให้กับตัวเองมากขึ้นเท่านั้น คนเหล่านี้จะพยายามทำให้ตัวเองมั่นใจโดยการทำกิจกรรมที่พวกเขาคิดว่า ‘ควรจะ’ ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่น บางคนแสดงอาการของโรคนี้โดยคอยตรวจดูว่าตัวเองปิดแก๊สหรือยัง ในขณะที่บางคนอาจจะคอยล้างมือ ชนิดล้างแล้วล้างอีกเพื่อกำจัดเชื้อโรค








_______________________________________





พฤติกรรมใหม่ในยุคไอที

วันนี้เทคโนโลยีเป็นมากกว่าความสะดวกสบาย แต่คือลมหายใจและวิถีชีวิตของผู้คน จนอาจพูดได้ว่า มนุษย์ยุคไอที มีอุปกรณ์ไฮเทคเป็นอวัยวะที่ 33 อยากรู้อะไรก็เปิดกูเกิล อยากเก็บสิ่งประทับใจก็ยกกล้องขึ้นถ่าย อยากติดต่อสื่อสารกับใครก็เข้าโซเชียลเน็ตเวิร์ค หรือแซตผ่านโปรแกรมพูดคุยบนมือถือ

ชีวิตที่แยกไม่ขาดกับเทคโนโลยีเช่นนี้ ทำให้ความสะดวกสบายกลายเป็นสิ่งสามัญธรรมดา เป็นความเคยชินที่ขาดไม่ได้ ด้านหนึ่งของวิวัฒนาการในชีวิตมนุษย์วันนี้จึงถูกกำหนดโดยเทคโนโลยี

นี่คือตัวอย่างของพฤติกรรมใหม่ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นหลังกำเนิดสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่า สมองพฤติกรรมของมนุษย์กำลังถูกเปลี่ยนด้วยเทคโนโลยี

แต่ที่สำคัญคือเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยเราไม่รู้ตัว






ถ่ายรูปอาหารก่อนกิน จากเทรนด์สู่วิถีชีวิต


Mashable.com เปิดเผยผลการวิจัยของ 360i เรื่องพฤติกรรมผู้คนในยุคนี้ ที่อาจเรียกได้ว่าเสพติดการถ่ายรูปอาหารก่อนกิน!

ข้อมูลของผลวิจัยดังกล่าว ที่มีกลุ่มตัวอย่างเป็นชาวอเมริกันที่ชื่นชอบการถ่ายภาพอาหารก่อนทานเป็นชีวิตจิตใจ ระบุว่า เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้เกิดเทรนด์การถ่ายภาพอาหารก่อนทาน คือ ความต้องการจะบอกกล่าวให้รู้ว่า "วันนี้ฉันทานอะไรบ้าง"

บางทีก็เป็นการโชว์อาหารฝีมือของตัวเอง หรือโชว์อาหารที่ทานในวาระและโอกาสพิเศษๆ รวมถึงเหตุผลด้านอื่นๆ อาทิ ความสวยงามด้านสีสันและการจัดวาง การได้ใช้เวลาอยู่กับคนพิเศษ การพูดคุยถึงร้านอาหาร การบอกถึงสูตรเด็ดเคล็ดลับ และอาหารแปลกๆ ที่อาจจะไม่เคยพบเห็นมาก่อน

ผลวิจัยของ 360i ระบุอีกว่า ในช่วงปี 2010 มีภาพอาหารชนิดต่างๆ มากกว่า 80,000,000,000 ภาพจากทั่วทุกมุมโลกอัพโหลดผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค เป็นการถ่ายภาพแล้วอัพโหลดจากโทรศัพท์โดยตรง 52% ถ่ายภาพแล้วอัพโหลดผ่านเว็บต่างๆ อาทิ Facebook, Twitter, Picasa, Flickr อีก 19% โดยเฉพาะ Flickr นั้น มีการตั้งกลุ่ม "I Ate This" ที่ให้คนมาแชร์ภาพอาหารนั้น มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 23,000 คน

ในประเทศไทย มีกลุ่มคนที่ชื่นชอบเทรนด์การถ่ายภาพอาหาร สร้างหน้าแฟนเพจบนเฟซบุ๊กชื่อ ‘ชุมชนคนชอบถ่ายภาพของกินก่อนกิน’ หรือ facebook.com/snap.before.eat  ให้ได้คลิกไลค์และโพสต์รูปอาหาร ที่ปัจจุบัน มีคนกดไลค์ 9,444 คน

อันที่จริง เทรนด์ถ่ายรูปอาหารเป็นพฤติกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 4-5 ปีที่แล้ว หลังกล้องดิจิทัลถูกพัฒนาให้คนกล้าถ่ายรูปมากขึ้น และได้รับความแพร่หลายยิ่งขึ้น เมื่อสมาร์ทโฟนเข้าสู่ตลาด ทำให้กระบวนการถ่ายง่ายขึ้น เพียงแค่ ‘แชะ’ แล้ว ‘แชร์’

ถึงวันนี้พฤติกรรมการถ่ายภาพอาหารกลายเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไปตามร้านอาหารต่างๆ และได้พัฒนาจากเทรนด์สู่วิถีชีวิต เพราะวันนี้ไม่มีใครรู้สึกแล้วว่า การถ่ายภาพอาหารก่อนกินนั้นเป็นเรื่องผิดวิสัย

เมื่อมนุษย์ยังต้องกินอาหาร อาหารคือชีวิต พฤติกรรมถ่ายภาพอาหารก็คงไม่หมดไป






เพื่อนในเฟซบุ๊กมาก ขนาดสมองเปลี่ยน?


วันนี้พฤติกรรมใหม่ในโลกไซเบอร์ส่งผลต่อสมองของมนุษย์ มากบ้างน้อยบ้าง แต่ก็มีผลที่ส่งถึง เมื่อพฤติกรรมเปลี่ยน สมองบางส่วนถูกกระตุ้นให้ทำงาน และเปลี่ยนตาม เรื่องนี้จริงหรือไม่ มีรายงานวิชาการฉบับหนึ่งพูดถึงเรื่องนี้

รายงานความก้าวหน้าทางวิชาการ Proceedings of the Royal Society B ระบุว่า จำนวน ‘เพื่อน’ ในเฟซบุ๊ก สัมพันธ์กับขนาดสมองบางบริเวณ และมีแนวโน้มว่าการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์อาจเปลี่ยนแปลงสมองได้

มีสมอง 4 บริเวณ ที่นักวิทยาศาสตร์พบว่าเกี่ยวข้องกับการเล่นเฟซบุ๊ก ซึ่งประกอบไปด้วยสมองส่วนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ การตอบสนองทางอารมณ์และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

Yota Kanai จากมหาวิทยาลัย University College London (UCL) กล่าวว่า คำถามก็คือ โครงสร้างที่กล่าวถึงนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาหรือไม่ หากทราบคำตอบจะช่วยให้สามารถตอบได้ว่า อินเทอร์เน็ตมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสมองหรือไม่

Kanai และคณะใช้เครื่องสแกนสมอง Magnetic Resonance Imaging (MRI) ศึกษาโครงสร้างสมองเด็กนักเรียนในมหาวิทยาลัยจำนวน 125 คน ที่เป็นกลุ่มติดเฟซบุ๊ก โดยเปรียบเทียบผลการศึกษากับเด็กนักเรียนอีกกลุ่มจำนวน 40 คน

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ปริมาณสมองส่วนบริเวณ Amygdala, Right Superior Temporal Sulcus, Left Middle Temporal Gyrus และบริเวณ Right Entorhinal Cortex สัมพันธ์กับจำนวนเพื่อนในเฟซบุ๊ก โดยสมองส่วนนี้เป็นบริเวณที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางจิตใจ

Kanai พบว่า คนที่มีเพื่อนในโลกแห่งความเป็นจริงมาก จะมีความหนาตัวของสมองส่วน Amygdala มาก ส่วนขนาดของสมองอีก 3 ส่วนนั้นสัมพันธ์กับจำนวนเพื่อนในโลกออนไลน์

ด้าน Geraint Rees จากมหาวิทยาลัย UCL ระบุว่า เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กมีอิทธิพลต่อสังคมอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เรายังไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากเฟซบุ๊กต่อสมอง

ผลการศึกษานี้เพียงแสดงให้เห็นว่า นักวิจัยสามารถนำความรู้สมัยใหม่ทางด้านประสาทวิทยามาใช้ตอบคำถามสำคัญได้ว่าอะไรคือผลจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่อสมอง และเมื่อสมองเปลี่ยน มนุษย์ย่อมต้องเปลี่ยนเป็นธรรมดา






พฤติกรรม ‘กูเกิล’ เปลี่ยนการจำของสมอง


‘นึกอะไรไม่ออก บอกกูเกิ้ล’ พฤติกรรมการหาข้อมูลแบบนี้กำลังเปลี่ยนระบบจำของสมองมนุษย์ไปตลอดกาล พฤติกรรม ‘กูเกิ้ล’ นี้ เป็นพฤติกรรมใหม่ที่ส่งผลต่อมนุษย์อย่างชัดเจน และเป็นผลที่ใครๆ ก็รู้สึกได้ว่า ระบบการจำของตนไม่เหมือนเดิม

เมื่อปีก่อน นักวิจัยอเมริกันพบว่า เครื่องมือค้นหาข้อมูลออนไลน์ หรือ Search Engine อย่างกูเกิล และค่ายอื่นๆ มีผลทำให้กระบวนการจำข้อมูลของสมองมนุษย์เปลี่ยนไป นักวิจัยกลุ่มนี้พบว่า “มนุษย์จะจำข้อมูลน้อยลง แต่จะจำแหล่งที่สามารถค้นหาได้แทน”

รายงานฉบับดังกล่าว ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Science ในหัวข้อ The Google Effect โดย Betsy Sparrow นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

สิ่งที่ Sparrow พบจากการทำวิจัยคือ กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งเลือกไม่จำข้อมูล หากรู้ว่าสามารถใช้ Search Engine ค้นหาข้อมูลได้อีกครั้งในอนาคต และเมื่อสุ่มถามกลุ่มตัวอย่างถึงสีธงชาติ คนส่วนใหญ่เลือกที่จะหาผ่านวิธี Search โดยทันที แทนการนึกจากความจำจากสิ่งที่ได้อ่านมา

ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างสามารถจำชื่อโฟลเดอร์หรือกล่องเก็บไฟล์ได้ดีอย่างน่าแปลกใจ เป็นที่มาของข้อสรุปว่า สมองมนุษย์ในยุคดิจิทัลนั้นจดจำแหล่งที่เก็บข้อมูลได้ดีขึ้น

จากผลการศึกษานี้ อาจสันนิษฐานได้ว่า มนุษย์จะเลือกจำข้อมูลต่างๆ น้อยลง แต่กลับจำว่า เราควรใช้คำอะไรในการหาข้อมูลที่ต้องการ และจะหาได้จากที่ไหน ถ้าไม่ใช่กูเกิล

แล้วคุณรู้สึกไหมว่า เวลาที่เรานึกอะไรไม่ออก เราก็มักบอก ‘google’ จริงๆ






ย้ำคิดย้ำทำ กับสื่อสังคมออนไลน์


น่าแปลกที่มีคนบอกว่า คนที่มีพฤติกรรมชอบสังสรรค์สนทนากับเพื่อนผ่านสังคมออนไลน์ มีสิทธิ์เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) ว่าแต่...สองสิ่งนี้เกี่ยวกันอย่างไร?

โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD เป็นโรคที่ถูกกระตุ้นโดยอาการวิตกกังวล ยิ่งคนคนหนึ่งรู้สึกกระวนกระวาย วิตกกังวลมากเท่าไร เขาก็จะอยากเรียกความเชื่อมั่นให้กับตัวเองมากขึ้นเท่านั้น คนเหล่านี้จะพยายามทำให้ตัวเองมั่นใจโดยการทำกิจกรรมที่พวกเขาคิดว่า ‘ควรจะ’ ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่น บางคนแสดงอาการของโรคนี้โดยคอยตรวจดูว่าตัวเองปิดแก๊สหรือยัง ในขณะที่บางคนอาจจะคอยล้างมือ ชนิดล้างแล้วล้างอีกเพื่อกำจัดเชื้อโรค

Dr. Pam Spurr ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพฤติกรรม กล่าวว่า สื่อสังคมออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์นั้น มีผลต่อพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ เป็นต้นว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่คอยหมั่นเช็กเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ของตนเองว่ามีคนส่งข้อความมาหาหรือไม่ มากจนเกินเหตุ

“การคอยดูโพรไฟล์ตัวเอง โดยที่คุณรู้สึกว่าจำเป็น ‘ต้องดู’ หรือการที่ต้องคอยอัพเดทหน้าเฟซบุ๊กของตัวเองอยู่เสมอนั้นทำให้อาการกระวนกระวาย หรือความวิตกกังวลที่อาจมีอยู่แล้วยิ่งแย่ขึ้นไปอีก”

“และวงจรนี้ก็ใช่ว่าจะจบง่ายๆ เพราะหากใครเริ่มรู้สึกเช่นนี้แล้ว เขาก็จะรู้สึกว่าเขาอัพเดทโพรไฟล์ตัวเองไม่เคยพอสักที จึงต้องทำให้คอยอัพเดทอยู่เรื่อยๆ”

“ความรู้สึกที่ว่าจะต้องอัพเดทเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ของตัวเองตลอดเวลาเป็น ‘ความเครียด’ อย่างหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีความกดดันที่เราจะต้องทวีต หรือเขียนคอมเมนต์แบบโดนๆ ชนิดที่ว่าถ้าจะให้เกิดก็ต้องขำโดนใจ  หรือแสดงความฉลาดหลักแหลมของสติปัญญาเท่านั้น ฉะนั้น ถ้าบางคนไม่มีพรสวรรค์ด้านการเขียนติดตัวมาตั้งแต่เกิด ก็คงต้องนั่งเครียด ใช้เวลาขัดเกลาสรรสร้างคำกันนานอยู่”

“ส่วนคนที่ไม่ชอบทวีตหรือคอมเมนต์ชาวบ้าน ก็อาจมีอาการคอยเช็กว่าเพื่อนในโลกสังคมออนไลน์กำลังทำอะไรอยู่บ้าง คนคนนั้นก็จะกลายเป็นคนที่หมกมุ่นอยู่กับการอ่านว่าชาวบ้านกำลังทำหรือคิดอะไรอยู่ หากไม่คอยตามอ่าน ก็จะรู้สึกโดดเดี่ยว”

เมื่อถามดอกเตอร์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ถึงวิธีแก้อาการนี้ เขาแนะนำว่า หากคุณสามารถสงบสติอารมณ์มากเท่าไร ก็จะยิ่งสามารถควบคุมความรู้สึกที่มีต่อความคิดกระวนกระวาย และพฤติกรรมซ้ำๆ ของคุณได้ และที่สำคัญ วันๆ อย่าจมอยู่กับหน้าจอ เพราะดูเหมือนว่าคนที่ชอบอยู่กับธรรมชาติจะได้เปรียบกับการจัดการกับความเครียด ที่เกิดจากอาการของโรคได้ดีกว่าคนที่ต้องติดอยู่กับโลกออนไลน์ตลอดเวลา

ว่าแต่คุณเป็นคนที่มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำอยู่หรือเปล่า?

ที่ว่ามานี้คือบางส่วนของพฤติกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกยุคไอที เชื่อว่าต่อไปคงมีพฤติกรรมใหม่ๆ อีกมากมายเกิดขึ้นตามมา เพราะโลกวันนี้วิ่งเร็วคล้ายความเร็วแสง เราอาจรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลง แต่ไม่อาจมองเห็น หากไม่เท่าทันและหลงระเริงไปกับเทคโนโลยีจนไม่สังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป มนุษย์อาจกลายเป็นเพียงผู้ถูกกระแสเทคโนโลยีพัดพาไปตามยถากรรม

tjinnovation
www.tjinnovation.com/Section.php?cat=14&id=1931

จากคุณ : So magawn
เขียนเมื่อ : 10 มิ.ย. 55 21:57:29




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com