CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    เศรษฐศาสตร์ 6 นาที

    เศรษฐศาสตร์ 6 นาที
    (จากบทบรรณาธิการเรื่อง Economics in Six Minutes โดย Fred E. Foldvary บรรณาธิการอาวุโส The Progress Report May 2000 ที่ http://www.progress.org/archive/fold144.htm)

    เศรษฐศาสตร์คือศาสตร์ที่ว่าด้วยอรรถประโยชน์ ซึ่งรวมทั้งความพึงพอใจ (preferences) ของประชาชน และความพอใจและความสำคัญที่เขาได้รับเชิงอัตวิสัยจากสินค้า ความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด แต่ประชาชนจะได้รับมูลค่าพิเศษ (extra value) น้อยลงจากแต่ละหน่วยที่เพิ่มขึ้นของสินค้าอย่างเดียวกัน

    อุปสงค์คือรายการราคาและปริมาณที่ซื้อตามราคาเหล่านั้น กฎอุปสงค์คือปกติเมื่อราคาต่ำลงคนจะซื้อในปริมาณมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง กฎอุปทานคือถ้าวิธีการผลิตคงเดิม เมื่อต้องเพิ่มปริมาณการผลิตราคาจะสูงขึ้น กฎผลตอบแทนลดน้อยถอยลงกล่าวว่าถ้าเพิ่มปริมาณสิ่งป้อนเข้า (input) จากที่ใช้ตามปกติ ในที่สุดจะได้ผลผลิต (output) น้อยลงต่อหน่วยของสิ่งป้อนเข้าที่เพิ่มขึ้น

    จุดที่เส้นอุปทานตัดกับเส้นอุปสงค์คือจุดที่กำหนดราคาตลาดและปริมาณการซื้อขาย การควบคุมราคาให้สูงกว่าจุดสมดุลนี้ เช่นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จะทำให้เกิดส่วนเกิน และการควบคุมราคาให้ต่ำกว่าจุดสมดุล เช่นการควบคุมค่าเช่าที่ดิน จะทำให้เกิดการขาดแคลน ถ้าไม่มีการควบคุมราคา ส่วนเกินจะทำให้ราคาต่ำลง และการขาดแคลนจะทำให้ราคาสูงขึ้น เสมือนมีมือที่มองไม่เห็นคอยควบคุมราคาให้เข้าสู่จุดสมดุล การยกเลิกข้อจำกัดและภาษีต่างๆ ที่เก็บจากคนงานจะทำให้เกิดการจ้างงานเต็มที่

    ธุรกิจจะได้รับผลกำไรสูงสุดเมื่อปริมาณสินค้าอยู่ที่จุดซึ่งรายได้หน่วยท้ายสุดเท่ากับต้นทุนหน่วยท้ายสุด ในตลาดที่มีการแข่งขันสูงผลกำไรทางเศรษฐกิจที่มีเหนือกว่าต้นทุนปกติจะดึงดูดผู้ผลิตรายอื่นๆ ให้เข้ามาร่วมผลิต ทำให้อุปทานเพิ่มและราคาลดจนผลกำไรลงมาอยู่ที่ระดับปกติ ส่วนการขาดทุนจะทำให้จำนวนผู้ผลิตลด อุปทานของสินค้านั้นก็ลดจนผลกำไรกลับขึ้นมาอยู่ที่ระดับปกติ

    ปัจจัยการผลิต หรือประเภทของสิ่งป้อนเข้าและทรัพยากร คือ ที่ดิน แรงงาน และ สินค้าประเภททุน ซึ่งให้ผลตอบแทนเป็น ค่าเช่าที่ดิน ค่าแรง และค่าเช่าสินค้าประเภททุน ผู้ประกอบการเป็นผู้จัดรวมปัจจัยการผลิตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ดีกว่าด้วยผลิตภัณฑ์และการตลาดที่ดีขึ้นและได้ค่าแรงของเขาในรูปผลกำไรทางเศรษฐกิจ คนงานอื่นๆ ได้รับผลิตภัณฑ์หน่วยท้ายสุดส่วนที่เขาช่วยให้เกิดผลผลิต
    .
    ที่ดินมีคุณภาพแตกต่างกันไป การผลิตในที่ดินที่ดีกว่าเปรียบเทียบกับที่ดินหน่วยท้ายสุดซึ่งมีผลิตภาพต่ำสุดจะทำให้เกิดค่าเช่าแก่ที่ดินซึ่งมีผลิตภาพสูงกว่า การถือครองที่ดินไว้เพื่อเก็งกำไรจะทำให้ขอบริมแห่งการผลิตขยายออกไปยังที่ดินที่มีผลิตภาพต่ำ ค่าเช่าที่ดินสูงขึ้น และค่าแรงต่ำลง

    การให้บริการแก่ราษฎร เช่น สวนสาธารณะ ถนน และความปลอดภัย จะทำให้เกิดความต้องการที่ดินมากขึ้น ค่าเช่าจะสูงขึ้น ถ้าสิ่งเหล่านี้ใช้เงินจากภาษีซึ่งเก็บจากแรงงานและสินค้าประเภททุน ผู้ใช้บริการก็จ่ายทั้งภาษีและค่าเช่าที่สูงขึ้น ถ้าเอาค่าเช่าที่ดินมาจ่ายเป็นค่าสินค้าสาธารณะเหล่านี้ เจ้าของที่ดินก็จะไม่ได้เงินอุดหนุนและก็ไม่ถูกปรับ เพราะสิ่งที่เจ้าของที่ดินจ่ายให้แก่ผู้ให้สินค้าสาธารณะก็คือค่าเช่าซึ่งเกิดจากงานสาธารณะนั้นเอง การจ่ายค่าเช่าที่ดินให้แก่ชุมชนและคิดค่าสาธารณูปโภคตามราคาตลาดยังช่วยกำจัดการขยายตัวอย่างไม่เป็นระเบียบของเมือง (urban sprawl) โดยการใช้ที่ดินในชุมชนเมืองอย่างดีที่สุด

    ภาษ๊ที่เก็บจากแรงงานและสินค้าย่อมจะถูกบวกเข้าไปในต้นทุน ทำให้ราคาสูงขึ้นและปริมาณลดลง ก่อภาระแก่เศรษฐกิจมากเกินกว่าภาษีที่ได้ ที่ดินมีปริมาณคงที่และไม่มีต้นทุนการผลิต ดังนั้นการเก็บภาษีที่ดินจึงไม่ทำให้อุปทานลดหรือค่าเช่าสูงขึ้น การเก็บภาษีที่ดินจะทำให้ค่าแรงสูงและขจัดความยากจนโดย ประการแรก ไม่ต้องเก็บภาษีจากแรงงานทำให้แรงงานได้รับค่าแรงเต็มจำนวน และประการที่สอง ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างได้ผลดีที่สุด

    ประชาชนมักต้องการได้สินค้าวันนี้มากกว่าที่จะรอไปในอนาคตอันไม่แน่นอน ความพึงพอใจด้านเวลานี้และความแตกต่างของราคาปัจจุบันเทียบกับราคาในอนาคตทำให้สินค้าในอนาคตมีส่วนลดและสินค้าที่จะได้รับในปัจจุบันมีราคาสูง ความแตกต่างนี้ทำให้เกิดอัตราดอกเบี้ยตามธรรมชาติ อัตราดอกเบี้ยของตลาดจึงทำให้การออมเท่ากับการลงทุนในขณะที่มีการลงทุนมากขึ้นด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง

    เงินตราคือสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนโดยอาจอ้างอิงอยู่กับโภคภัณฑ์อย่างหนึ่ง เช่น ทองคำ หรืออาจเป็นแบบ fiat คือไม่มีมูลค่าในตัวเอง ไม่อ้างอิงกับสิ่งใดนอกจากกฎหมายและจารีตประเพณีดังเช่นทุกวันนี้ ถ้าการขยายตัวของเงินตรามีมากกว่าการขยายตัวของสินค้าก็เกิดภาวะเงินเฟ้อ (monetary inflation) ซึ่งนำไปสู่การสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของระดับราคาหรือ price inflation  การธนาคารในระบบตลาดเสรีซึ่งใช้เงินตราที่อิงกับโภคภัณฑ์อย่างหนึ่งจะทำให้ปริมาณเงินมีความยืดหยุ่นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายโดยไม่เกิดภาวะเงินเฟ้อ

    วัฏจักรธุรกิจมีสาเหตุจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างที่มีการเก็งกำไร และมีการขยายปริมาณเงินมากเกินไปเป็นตัวเร่ง เราสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้โดยใช้ระบบภาษีที่ดินแทนภาษีอื่นๆ และเมื่อใช้การธนาคารระบบตลาดเสรีด้วยก็จะสามารถหลีกเลี่ยงสาเหตุของวัฏจักรได้ทั้งสาเหตุจริงและสาเหตุทางการเงิน

    ภาวะมลพิษมีสาเหตุจากการนำต้นทุนทางสังคมมาให้เป็นภาระแก่ส่วนรวมแทนที่จะให้ผู้ก่อภาวะมลพิษเป็นผู้จ่าย การให้ผู้ก่อภาวะมลพิษเป็นผู้จ่ายจะทำให้พวกเขาหาทางป้องกันมิให้เกิดมลพิษและถ่ายเทต้นทุนการป้องกันมลพิษมาเป็นภาระแก่ผู้บริโภค ในช่วงเวลาที่การจราจรแออัดมากควรเก็บค่าธรรมเนียมจากรถยนต์และที่จอดรถ การจำกัดการใช้พาหนะส่วนบุคคลและนำภาษีที่ดินมาใช้เพิ่มการขนส่งสาธารณะจะช่วยบรรเทาความแออัดของการจราจร

    การค้าขายก่อประโยชน์ให้แก่ทั้งสองฝ่าย แม้แต่ประเทศที่ต้องใช้ต้นทุนสูงกว่าก็ได้ประโยชน์จากการค้าเสรีด้วยการมุ่งผลิตสินค้าที่ตนมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) คือสินค้าที่ตนมีผลิตภาพสูงสุด การค้าเสรีของโลกซึ่งมีนโยบายสิ่งแวดล้อมร่วมกันจะนำไปสู่ความรุ่งเรืองทั่วโลก

    ทางเลือกของสาธารณชน (public choice) คือสาขาหนึ่งของเศรษฐศาสตร์ซึ่งศึกษาการตกลงใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งและเจ้าหน้าที่ของรัฐ การที่ผลประโยชน์กระจุกตัวในขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายกระจายเฉลี่ยออกไปยังผู้บริโภคและผู้เสียภาษีคนละเล็กละน้อยทำให้เกิดการแสวงหาเอกสิทธิ์ เงินอุดหนุน การคุ้มครองพิเศษ และการถ่ายโอนอื่นๆ ประชาธิปไตยมวลชนและความจำเป็นจะต้องใช้สื่อรณรงค์เป็นเงินมากมายทำให้เกิดการแสวงหาการถ่ายโอนผลประโยชน์เช่นนี้ การเปลี่ยนไปเป็นการลงคะแนนเสียงกลุ่มย่อยในวิธีการปกครองหลายระดับจากล่างสู่บน รวมทั้งการมีเงื่อนไขบังคับโดยรัฐธรรมนูญ จะช่วยลดการฉ้อราษฎร์บังหลวงนี้ได้อย่างมาก

    กลุ่ม Physiocrats ของฝรั่งเศสในยุค ค.ศ.1700 เช่น Quesnay สนับสนุนภาษีเดี่ยวจากที่ดินและการค้าเสรี Adam Smith ในช่วงปลายของศตวรรษเดียวกันกล่าวว่าระบบตลาดเสรีจะเปลี่ยนอัตประโยชน์หรือความนึกถึงประโยชน์ตน (self-interest) เป็นผลประโยชน์ของส่วนรวม แต่การกุศลที่ให้เพิ่มจากนี้เป็นคุณความดี David Ricardo กล่าวถึงขอบริมแห่งการผลิตหรือที่ดินชายขอบ (margin of production) และความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ

    Karl Marx คิดว่าแรงงานเป็นผู้ก่อให้เกิดมูลค่าทั้งสิ้นและถูกขูดรีดเมื่อไม่ได้รับมูลค่าทั้งหมด แต่ Carl Menger นักเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนไม่เห็นด้วยและกล่าวว่ามูลค่าเป็นเรื่องอัตวิสัย Henry George นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันกล่าวว่าส่วนเกินคือค่าเช่าที่ดิน จึงควรเก็บภาษีที่ดิน และควรมีการค้าเสรี Ludwig von Mises นักเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนกล่าวว่าสังคมนิยมแท้ๆ จะไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นหวัง และการแทรกแซงของรัฐบาลทำให้เศรษฐกิจเลวลง Friedrich Hayek กล่าวเช่นเดียวกันเพราะความรู้ได้รับการกระจายออก จึงควรให้ตลาดเป็นตัวกำหนดการผลิตไปเอง

    John Maynard Keynes จากอังกฤษคิดว่ารัฐบาลควรผลิตและใช้จ่ายเงินในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่พวกนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกใหม่ (New Classical) ชี้ให้เห็นว่าเมื่อประชาชนคิดว่าจะเกิดภาวะเงินเฟ้อ การกระตุ้นของรัฐบาลจะไปทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น Milton Friedman จากสหรัฐฯ กล่าวว่าไม่ควรพลิกแพลงเรื่องเงินตราและควรปล่อยให้ประชาชนหาทางเลือกเอง

    จุดสำคัญ (bottom line) ของเรื่องทั้งหมดคือเสรีภาพทางเศรษฐกิจจะทำให้เกิดความรุ่งเรืองมากที่สุด อย่าควบคุมจำกัดแรงงานและทุนนอกจากเพื่อป้องกันการก่ออันตรายโดยบีบบังคับ (coercive harm) แก่ผู้อื่น อย่าเก็บภาษีจากแรงงานหรือการประกอบการ รัฐบาลควรหารายได้ด้วยภาษีที่ดินและค่าก่อมลพิษ ปล่อยให้ระบบตลาดเสรีจัดการเรื่องการเงินและการธนาคาร  การค้าและการประกอบการที่เสรีแท้เป็นสิ่งดี วิธีการปกครอง (governance) ที่ทำงานได้ดีที่สุดคือแบบกระจายอำนาจและระบบตลาดเสรี เศรษฐศาสตร์กับจริยศาสตร์เป็นหนึ่งเดียวดังที่เฮนรี จอร์จกล่าว ภาวะแวดล้อมกับเศรษฐกิจเป็นหนึ่งเดียว วิธีการปกครองที่ดี (ธรรมาภิบาล) กับเศรษฐศาสตร์เป็นหนึ่งเดียว ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในค่าเช่าที่ดิน เก็บค่าก่อให้เกิดความเสียหาย และอย่าขโมยค่าแรง

    นี่คือเศรษฐศาสตร์ 6 นาที และ วิถีสู่ความรุ่งเรือง.

    จากคุณ : สุธน หิญ - [ 23 เม.ย. 49 21:53:45 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป