Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    เตือนย้อนรอยวิกฤติการเงิน! ประณาม 'อุ๋ย' ประเคน อำนาจให้ ธปท.อันตราย

    เตือนย้อนรอยวิกฤติการเงิน! ประณาม 'อุ๋ย' ประเคน อำนาจให้ ธปท.อันตราย

    ไทยรัฐ [29 พ.ย. 49 - 04:18]

    ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า  ครม.เห็นชอบ  ร่าง  พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน ฉบับใหม่  โดยสาระสำคัญให้อำนาจในการจัดตั้งและออกใบอนุญาตธุรกิจสถาบันการเงินเป็นของ รมว.คลังโดยคำแนะนำของ ธปท.ส่วนการขอเลิกกิจการและการเพิกถอนใบอนุญาต และการควบ การโอนกิจการต้องได้รับความเห็นชอบจาก ธปท.รวมทั้งการเลิกหรือหยุดกิจการชั่วคราว หรือลดทุนต้องได้รับอนุญาตจาก ธปท.ก่อนแล้ว และให้รายงาน รมว.คลังทราบโดยไม่ชักช้า   และหากปริมาณธุรกิจของสถาบันการเงินไม่เป็นไปตามที่ ธปท.เห็นควรในช่วง 2 ปี ธปท.จะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก็ได้และ  ธปท.ต้องรายงานต่อ  รมว.คลัง  

    ส่วนมาตรการการแก้ปัญหาสถาบันการเงิน กรณีพบปัญหาขาดสภาพคล่อง ธปท.มีอำนาจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งทันที หากเห็นว่าจะก่อความเสียหายกับประชาชน โดยเฉพาะกรณีที่เงินกองทุนต่อสินทรัพย์ต่ำกว่าที่กำหนด จะต้องเสนอโครงการเพื่อแก้ไขฐานะและการดำเนินการต่อ  ธปท. และถ้าเงินกองทุนลดลงต่ำกว่า 60% ของเงินกองทุนเดิม ธปท. ต้องดำเนินการตามกฎหมาย จากเดิมที่ต้องรอให้เงินกองทุนลดลงต่ำกว่า 30% และหากเงินกองทุนลดลงต่ำกว่า 35% ให้ ธปท.สั่งถอนใบอนุญาตทันที จากเดิมที่ต้องรอให้เงินกองทุนลดลงเป็นศูนย์ “0”  

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ข้าราชการกระทรวงการคลังกลุ่มหนึ่งในนาม “คนที่ไม่ลืมวิกฤติปี 2540” ที่ทนพฤติกรรมของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ไม่ได้ ในการเสนอร่าง  พ.ร.บ.สถาบันการเงินดังกล่าวโดยไม่ฟังความคิดเห็นของกระทรวงการคลังแม้แต่น้อย ได้ร่วมกันออกหนังสือ หัวข้อ “10 ปีผ่านไป เราเรียนรู้บทเรียนจากวิกฤติสถาบันการเงินแค่ไหน  ประชาชนได้อะไรจากกฎหมายสถาบันการเงินฉบับใหม่”  

    โดยมีเนื้อหาว่า หลังวิกฤติปี 40 รัฐบาลยุคต่อๆมา  ได้ตั้งคณะกรรมการระดับประเทศขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ 3 ชุด ได้แก่ 1. คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) หรือ ศปร.1, 2. คณะกรรมการศึกษารายงาน ศปร.เพื่อชี้มูลความผิดและหาผู้กระทำความผิด (ศศปร.) หรือ ศปร.2 และ 3. คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ เพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ (ศสปร.) หรือ ศปร.3 เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิกฤติปี 40 อย่างเป็นระบบ และป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดซ้ำขึ้นอีก  

    ดังนี้  1.  แยกงานตรวจสอบและแก้ปัญหาสถาบันการเงินออกจาก  ธปท.เพื่อแก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน และทำให้มีการถ่วงดุลอำนาจมากขึ้น  โดยตั้งองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่กำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน เพราะวิกฤติสถาบันการเงินครั้งนั้น มีสาเหตุจากงานนโยบายการเงิน งานกำกับตรวจสอบ และงานแก้ปัญหาสถาบันการเงิน ที่รวมกันอยู่ที่ ธปท. จึงมีเป้าหมายที่ขัดกันแต่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในองค์กรเดียวกัน ทำให้วิสัยทัศน์และความเด็ดขาดของ ธปท.หายไป โดยเฉพาะความผิดพลาดของ ธปท.ช่วงก่อนวิกฤติ ที่ไม่พยายามลดความร้อนแรงของระบบเศรษฐกิจ มีการผูกค่าเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐฯ และปกป้องค่าเงินบาทให้แข็งค่าเกินกว่าที่ควร  และยังเปิดเสรีการเงินในขณะที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศยังไม่พร้อม โดยไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และ ธปท. ก็ผ่อนคลายการควบคุมสถาบันการเงิน และอัดฉีดเงินเพื่อสนับสนุนกิจการของสถาบันการเงินอย่างไม่เหมาะสม  จนนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อ ธปท. โดยเฉพาะกรณีธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ

    และ 2. ศปร.มีข้อสังเกตว่า กระทรวงการคลังน่าจะมีบทบาทในการแก้ปัญหาสถาบันการเงินมากขึ้น เพราะที่ผ่านมากฎหมายไม่ได้ให้อำนาจกระทรวงการคลังอย่างเต็มที่ ทำให้ไม่ได้รับข้อมูลครบถ้วนหรือถ้าได้ข้อมูลก็สายเกินไป เช่น การสั่งปิด 56 สถาบันการเงิน ดังนั้น ร่างกฎหมายสถาบันการเงินฉบับนี้ที่ให้อำนาจ ธปท.ในการกำกับตรวจสอบสถาบันการเงินเต็มที่และไม่ให้มีการถ่วงดุลอำนาจใดๆ จึงไม่น่าเป็นผลดีต่อสถาบันการเงินและประชาชน แม้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรและนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท.ปัจจุบัน จะยังไม่ได้ทำความเสียหาย แต่งานของ ธปท.ที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประเทศมากเช่นนี้ ต้องมีระบบการคานอำนาจและถ่วงดุลให้เพียงพอ ธปท.อาจมีแต่คนดี แต่คนดีก็ทำความเสียหายหรือทำงานผิดพลาดได้ เพราะมีอำนาจในมือมากเกินไป จึงไม่มีใครแน่ใจว่า ธปท.จะไม่เหลิงอำนาจ หรือได้รับผลประโยชน์จากกลุ่มธุรกิจ โดยสรุปแล้วประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรจากกฎหมายฉบับนี้ เพราะไม่ได้แก้ไขข้อบกพร่องที่เป็นต้นตอของวิกฤติเศรษฐกิจการเงิน และยังได้รับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากกรณีที่  ธปท.มีอำนาจเบ็ดเสร็จ   ที่ถูกรวมไว้ในองค์กรเดียวกัน และยังมีผลประโยชน์ทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องมากจนเกินไปด้วย.

    จากคุณ : Kiama - [ 29 พ.ย. 49 05:44:16 A:218.215.19.203 X: ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom