Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    ....ลาว ชื่นชมความสำเร็จของ โอท็อป (OTOP) ในประเทศไทย....

    ไทยโอทอป ญี่ปุ่นโอวอป ลาว "โอดอป" ปีนี้เอาจริง

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 ธันวาคม 2549 23:04 น.


    ผู้จัดการรายวัน- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ สปป.ลาว เริ่มเอาจริงกับการผลิตสินค้าแบบ "หนึ่งตำบล-หนึ่งผลิตภัณฑ์" หลังจากศึกษากรณีโครงการโอว็อปในญี่ปุ่น และ เรียนรู้จากความสำเร็จของโครงการโอท็อป (OTOP) ในประเทศไทย ทำให้มองเห็นโอกาสจะประสบความอย่างสูงในลาว ทั้งนี้เป็นรายงานของสื่อทางการ
         
          การผลิตสินค้าที่ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะของท้องถิ่นต่างๆ สำหรับในญี่ปุ่นได้ลงรากลึกถึงระดับหมู่บ้าน ซึ่งเรียกกันว่า "โอว็อป" (OVOP) ที่ย่อมาจากชื่อ One Village- One Product ส่วนในประเทศไทยเป็น "หนึ่งตำบล-หนึ่งผลิตภัณ" หรือ OTOP (One Tambol- One Product)
         
          แต่เมื่ออยู่ใน สปป.ลาว ประเทศที่เริ่มต้นใหม่จะกลายเป็น "หนึ่งอำเภอ (หรือเมือง)-หนึ่งผลิตภัณฑ์" หรือ "โอดอป" (ODOP) ที่ย่อมาจากชื่อ One District- One Product
         
          ระยะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ไปร่วมการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการหลายครั้ง ทั้งในประเทศไทยและในญี่ปุ่นภายใต้โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนในกลุ่มอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง สำหรับ 4 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม
         
          โครงการ นี้ได้เน้นไปที่การศึกษาตัวอย่างของแผนการไคเซ็น (Kaizen) ในญี่ปุ่น ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือในการผลิตในระดับท้องถิ่นของประเทศนั้น ปัจจุบันไคเซ็นได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในองค์การหรือโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างแพร่หลาย รวมทั้งองค์การการผลิตแห่งเอเชีย หรือ APO (Asian Productivity Organization) ด้วย
         
          ที่ผ่ามาลาวได้นำเสนอแผนการพัฒนาสินค้าภายใต้แผนการ ODOP ต่อที่ประชุมสัมมนาต่างๆ หลายแห่ง แผนการนี้ก็เพื่อที่จะส่งเสริมการผลิตสินค้าเพื่อสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจชุมชน ซึ่งลงไปถึงหมู่บ้านต่างๆ แต่ภายในประเทศแล้ว หลายภาคส่วนยังมีความสับสนอยู่มากทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวสารปะเทดลาว (ขปล.)
         
          นายนาม วิยะเกด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าลาว ได้ประกาศนโยบายในเดือน ส.ค.ปีนี้ จะส่งเสิรมการผลิตสินค้าในระดับตัวเมืองภายใต้แผนการโอด็อป รวมทั้งนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนแบบเดียวกันกับที่ใช้มาก่อนในประเทศไทย โดยผ่านเงินกองทุนหลุดผ่อนความยากจน ที่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารโลก
         
          ในเดือน ก.ย. ได้เริ่มมีการสำรวจและวิเคราะห์สภาพแวดล้อมพื้นฐานทั่วไปในการดำเนินแผนการโอด็อปในประเทศต่างๆ ทั้งในแง่ที่เกี่ยวกับสภาพชุมชนและประชากร สำหรับลาวได้วางเป้าหมายของแผนการโอด็อปใน 68 เมือง (อำเภอ) ใน 17 แขวง (จังหวัด) กับนครหลวงเวียงจันทน์
         
          เป้าหมายของการสำรวจก็เพื่อดัดแปลงแผนการโอด็อปให้เข้าสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง มีการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากสถาบันต่างๆ ตลอดจนการปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญอย่างหลากหลาย
         
          "คราวนี้ก็ได้เข้าสู่ขั้นตอนที่สอง" ขปล.กล่าวคำกล่าวของเจ้าหน้าที่คณะกรรมการแห่งชาติเพื่อโอด็อป (National Committee for ODOP) ในวันอังคาร (26 ธ.ค.) ที่ผ่านมา
         
          การศึกษากำลังจะแล้วเสร็จ เพื่อจัดร่างแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการต่างๆ ก่อนจะนำออกเผยแพร่ ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์และเสนอความคิดเห็น ก่อนจะรวบรวมนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยคาดว่าทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.2550 นายเลื่อม ยองวงวิสิด รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ กะทรวงอุตสาหกรรมและการค้า
         
          ปัตจจุบันกำลังมีการรณรงค์การผลิตในรูปแบบของโอว็อปในหลายประเทศ รวมทั้งในจีน เกาหลี ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียด้วย ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จเมื่อได้พัฒนาไปเป็๋นโครงการสินค้าโอท็อป ขปล.อ้างคำกล่าวของนายทาดาชิ อันโดะ (Tadachi Ando) ผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น


    คณะเจ้าหน้าที่จาก สปป.ลาว ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตสินค้าต่างๆ หลายแห่งในเมืองโออิตะ (Oita) และทั่วทั้งจังหวัดดังกล่าว ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของโอว็อป
         
          ระหว่างวันที่ 18-23 ธ.ค. คณะฯ ได้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการในกรุงเทพฯ ได้ศึกษาถึงจุดมุ่งหมายและนโยบาย หน่วยงานหรือองค์กรที่มีส่วนร่วม รวมทั้งการลงทุนในภาคส่วนนี้ คณะฯ ยังได้ไปเยี่ยมชมหมู่บ้านโอท็อปที่ จ.อยุธยาอีกด้วย ขปล.กล่าว
         
          พร้อมๆ กับการประกาศแผนการโอด็อป กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ได้ประกาศ ใช้นโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนในเดือน ส.ค.ปีนี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและนักลงทุนรายย่อยในแขนงต่างๆ หลังจากได้ประกาศตั้ง "กองทุนหลุดผ่อนความยากจน" ที่คล้ายคลึงกับกองทุนเพื่อพัฒนาหมู่บ้านของไทย
         
          ตามรายงานของ ขปล. ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมีความประสงค์ที่จะให้ประชาชนทั่วไปสามารถใช้สินทรัพย์แปลงเป็นทุนเพื่อขอกู้จากสถาบันการเงินได้ เพื่อให้ประชาชนในระดับรากหญ้าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
         
          รัฐบาลได้วางทิศทางหน้าที่ในการส่งเสริมการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต ส่งเสริมการผลิตสินค้า-ตลาดชนบท ส่งเสริมการผลิตสินค้า "1 ตัวเมือง 1 ผลิตภัณฑ์" เพื่อทำให้แขนงอุตสาหกรรม-การค้า กลายเป็นหัวใจการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น เพื่อเปลี่ยนจากระบบกสิกรรมเป็นอุตสาหกรรม
         
          ตามรายงานของ ขปล. รัฐบาลลาวได้เริ่มโครงการกองทุนหลุดผ่อนความยากจนมาตั้งแต่ต้นปี 2546 โดยความช่วยเหลือจากธนาคารโลก เพื่อที่จะกระตุ้นการผลิตเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า ทั้งนี้เพื่อร่วมส่วนทำให้ประเทศได้หลุดพ้นจากความล้าหลังให้ได้ภายในปี 2563
         
          กองทุนหลุดผ่อนความทุกข์ยากของลาวเป็นโครงการ 5 ปี (2546-2551) ดำเนินการในพื้นที่ 24 เมือง (อำเภอ) ของ 5 แขวง รวม 2,700 หมู่บ้านที่ประชาชนมีรายได้น้อยที่สุด ปัจจุบันกำลังอยู่ใน 14 เมืองของ 3 แขวงคือ แขวงหัวพันในภาคเหนือ แขวงสะหวันนะเขตและจำปาสักในภาคใต้ รวมหมู่บ้านในโครงการ 1,914 หมู่บ้าน
         
          สื่อของทางการลาวยังรายงานก่อนหน้านี้ว่า กองทุนหลุดผ่อนฯ จะขยายการดำเนินงานไปยังอีก 2 แขวง คือ แขวงเชียงขวางทางภาคเหนือกับแขวงสาละวันทางภาคใต้ พร้อมๆ กับขยายการปฏิบัติการใน 3 แขวงปัจจุบันออกไปอีก
         
          หลักการสำคัญในการดำเนินการนั้น ก็คือ การให้ชาวบ้านเลือกโครงงานพัฒนาเพื่อขอการสนับสนุนเงินทุนและตัดสินใจเองทั้งหมด โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน เป็นเจ้างาน เป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมด โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นการลงทุนพัฒนาอย่างยั่งยืน.

    จากคุณ : Kiama - [ 27 ธ.ค. 49 00:22:25 A:218.215.30.60 X: ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom