Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    เสรีภาพที่ไม่เคยได้มาฟรีกับบทสุดท้ายของอดีตผู้นำอิรัคซัดดัม ฮุสเซ็น

    ข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับวันนี้ คงหนีไม่พ้นข่าวเกี่ยวกับการประหารชีวิตอดีตผู้นำอิรัคด้วยการแขวนคอดังข่าวข้างล่างที่ผู้เขียนเก็บมาจากสำนักข่าวไทยในวันนี้
    __________________________

    อดีตผู้นำอิรักที่ปกครองอิรักด้วยความโหดเหี้ยม ถูกแขวนคอแล้วเมื่อช่วงเช้าตรู่วันนี้ตามเวลาในอิรัก
     
    อดีตผู้นำอิรักที่ปกครองอิรักด้วยความโหดเหี้ยมตลอดระยะเวลาหลายสิบปี ถูกแขวนคอแล้วเมื่อช่วงเช้าตรู่วันนี้ตามเวลาในอิรัก

    ในท้ายที่สุด อดีตผู้นำอิรักที่ถูกสหรัฐโค่นล้มอำนาจก็ถูกแขวนคอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ผู้พิพากษาโคลลิน คอลลาร์-โคตลีย์ ของสหรัฐปฏิเสธที่จะสั่งการให้กองทัพสหรัฐฯ ชะลอการลงโทษประหารชีวิตซัดดัม ฮุสเซน ด้วยการแขวนคอออกไป หลังจากทนายความของเขายื่นอุทธรณ์ในช่วงวินาทีสุดท้าย
    __________________________

    วันนี้เป็นวันที่อดีตผู้นำเผด็จการของอิรัคซัดดัม ฮุสเซ็นได้ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอแล้ว ผู้เขียนจึงอยากจะขอเขียนถึง ประวัติความเป็นมาของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศอิรัคและเส้นทางการเข้าสู่การเมืองของซัดดัมและพรรคบาธพอสังเขปค่ะ

    ไหนๆคนไทยส่วนใหญ่ก็ฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์สงครามอิรัคจากฝ่ายที่ต่อต้านสงครามและต่อต้านท่านประธานาธิบดีบุชจากทั้งนักวิชาการไทยและเทศบางส่วนมานานและจากหลายสื่อแล้วโดยเฉพาะลิเบอร์รัลมีเดีย ลองมาฟังความคิดเห็นจากผู้ที่สนับสนุนนโยบายการสร้างประชาธิปไตยในอิรัคของประธานาธิบดีบุชจากผู้เขียนดูบ้างนะคะถือว่าเป็นมุมมองสงครามอิรัคและอดีตผู้นำเผด็จการอีกด้านหนึ่งก็แล้วกันเพราะเหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ ความคิดเห็นของผู้เขียนอาจจะแตกต่างจากนักคอลัมนิสต์ของไทยหลายๆคนแต่หวังว่าความคิดเห็นของผู้เขียนอาจจะให้มุมมองสงครามอิรัคครั้งนี้อีกมิติหนึ่งบ้างไม่มากก็น้อย กระนั้นก็ตามข้อเขียนในวันนี้จะยังไม่เน้นรายละเอียดของสงครามอิรัคแต่จะขอกล่าวเสริมเพียงเล็กน้อย

    สำหรับจุดยืนของผู้เขียนเองนั้นสนับสนุนการสร้างประชาธิปไตยในตะวันออกกลางครั้งนี้ของประธานาธิบดีบุชและพรรครีพับลิกันค่ะและจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ก็ไม่เปลี่ยนและคิดว่าประธานาธิบดีบุชได้ตัดสินใจอย่างรอบคอบและถูกต้องแล้วและไม่คิดว่าสงครามอิรัคครั้งนี้จะเป็นสงครามที่ผิดพลาดอย่างที่ลิเบอร์รัลมีเดียหรือพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาแต่อย่างใดเพราะทุกวันนี้ก็ยังไม่มีแพลนอะไรใหม่ออกมาแก้ปัญหาความรุนแรงจากการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในอิรัคจากพรรคเดโมแครตแต่อย่างใด

    ในปี 1920 อิรัคตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และได้รับอิสรภาพและประกาศเป็นราชอาณาจักรเมื่อปี 1932 และต่อมาได้มีการปฏิวัติโค่นล้มระบบกษัตริย์ฮุสเซ็นโดยนายพล Abd al Karim Qasim และพันเอก Abd as Salaam Arif และเปลี่ยนสถานะเป็นสาธารณรัฐอิรัคตั้งแต่ปี 1958 มีการปกครองแบบเผด็จการโดยมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำทหาร แต่เส้นทางการขึ้นเป็นผู้นำอิรัคของ Qasim ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเพราะเขาต้องต่อสู้แย่งชิงอำนาจกับพันเอก Arif ในเวลาต่อมาเนื่องจาก Arif นั้นฝักไฝ่นาสเซอร์อดีตผู้นำอียิปต์ในตอนนั้นและได้รับการสนับสนุนจากพรรคบาธขณะที่ Qasim ซึ่งมีประสบการณ์ทางการเมืองสูงกว่า Arif ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้มีตำแหน่งระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์ที่ต่อต้านนาสเซอร์ และมีชัยชนะเหนือ Arif ในที่สุด

    อย่างไรก็ตามการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองและโครงสร้างทางสังคมของประเทศอิรัคในครั้งนี้ได้นำไปสู่ความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาที่เกิดขึ้นมาจนถึงปัจจุบันระหว่างชาวเคิร์ดและชาวอาหรับ และระหว่างซุนหนี่กับชีอะห์

    ประเทศอิรัคก็เหมือนกับประเทศอื่นๆทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สอง(World War II) ทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างมากมายทำให้เกิดสภาวะข้าวยากหมากแพงทั่วประเทศ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็เพิ่มมากขึ้นขณะที่เศรษฐีที่ดินก็ฉกฉวยหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง ในขณะที่เงินเดือนของชนชั้นกลาง เช่น ครู ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ กลับลดลงทุกวันๆ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สองมากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นชาวชนบท ชาวนา ชาวไร่ที่ต้องเช่าที่ดินจากชนชั้นสูงที่มีชีคเป็นผู้ครอบครองที่ดินมากมายเพื่อทำการเพาะปลูกทางการเกษตรทำมาหาเลี้ยงชีพและต้องจำยอมปล่อยให้เจ้าของที่ดินฉกฉวยโอกาสสร้างกำไรจากพวกเขาด้วยการขายพืชผลไร่นาที่ชาวนาเหล่านี้ผลิตได้ไปให้กับกองทัพอังกฤษในขณะนั้นและก็นำเงินเข้ากระเป๋าตัวเองในที่สุด สภาพเศรษฐกิจของอิรัคตกต่ำถึงขีดสุดในช่วงปี 1950s และ 1960s หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง  ด้วยเหตุนี้เอง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งอิรัก (The Iraqi Communist Party) จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นมาภายใต้อุดมการณ์ที่ยึดมั่นว่าทุกคนต้องเท่าเทียมกัน

    ส่วนพรรคบาธ(The Baath Party) ถูกก่อตั้งขึ้นในช่วงต้นปี 1940s โดยนักศึกษาชาวซีเรียสองคนคือ Michel Aflaq และ Salah ad Din al Bitar ซึ่งเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางคริสเตียนออร์โทด็อคอุดมการณ์ของพรรควางอยู่บนพื้นฐานในเรื่อง สังคมนิยม อิสระภาพ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอันสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกที่ทนทุกข์ของชาวอิรักที่ต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันและจากความไม่มีอิสรภาพในด้านการเมืองในช่วงที่ถูกปกครองโดยระบบกษัตริย์ พรรคบาธได้เปลี่ยนผู้นำพรรคมาหลายคนแต่ยุคที่รุ่งเรืองมากที่สุดของพรรคนั้นอยู่ภายใต้ความเป็นผู้นำของ Fuad Rikabi ในปี 1952 แต่หกปีให้หลังต่อมาบทบาทและเป้าหมายของพรรคบาธเริ่มเปลี่ยนไปคือเข้าสู่ยุคนิยมทหารมากขึ้นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดของพรรคบาธภายใต้การนำของ Fuad Rikabi ในเวลานั้นก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งอิรักของนายพล Abd al Karim Qasim ซึ่งนายพล Qasim นี้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารโค่นล้มกษัตริย์ราชวงค์ Hashimite (The Hashimite monarchy) นั่นเองค่ะ (แต่ต่อมาไม่นาน Qasim ก็ถูกโค่นอำนาจลงในที่สุด อย่างไรก็ตามกว่าที่พรรคบาธจะรวมกันได้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอิรักนั้นก็ต้องรอจนถึงยุคภายใต้การนำของ Ali Salih นั่นเองค่ะ)  

    ในปี 1959 Qasim ซึ่งนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ได้สถาปนาความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับมอสโคอีกครั้งมีการลงนามความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ตรงนี้เองค่ะซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความช่วยเหลือทางด้านอาวุธให้กับอิรัคของรัสเซียตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา (และหากผู้อ่านท่านใดได้ติดตามสงครามอิรัคในครั้งนี้อย่างใกล้ชิดจะทราบทันทีค่ะว่าอาวุธร้ายแรงทั้งเก่าและใหม่ที่ทหารอเมริกันและเจ้าหน้าที่ของยูเอ็นพบในอิรัคก่อนที่สงครามอิรัคจะเริ่มขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้วนั้นกว่า 80%  เป็นอาวุธที่ผลิตในรัสเซียและจีน)

    และด้วยความนิยมพรรคคอมมิวนิสต์ในตอนนั้นของ Qasim ได้มีการวางแผนยุทธศาสตร์ทางทหารที่เมือง เคอร์คุก ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของเมืองเคอร์คุกนี้เป็นชาวอิรัคเชื้อสายเคิร์ด(Kurd) และลักษณะภูมิประเทศของเมืองนี้มีแนวพรมแดนทางเหนือติดกับประเทศตุรกีซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนรวย และเหตุการณ์ที่เมืองเคอร์คุก นี้เองที่เป็นจุดเปลี่ยนในเส้นทางการเมืองของ Qasim เนื่องจากชาวเคริดในหลายองค์กรที่นิยมพรรคคอมมิวนิสต์ของ Qasim จำนวนหนึ่งได้เข้าไปทำการปล้นสะดมภ์และสังหารชาวตุรกีไปเป็นจำนวนมาก  Qasim เองเริ่มมองเห็นว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งนี้เริ่มอยู่นอกเหนือการควบคุมของเขา เขาจึงได้ทำการปราบปรามองค์กรเหล่านี้โดยทำการจับกุมสมาชิกที่ทำตัวแข็งกร้าวหลายคนและระงับความช่วยเหลือแก่องค์กรที่มีชื่อว่า “กองกำลังต่อต้านของประชาชน” ชั่วคราว และเหตุการณ์ความรุนแรงแบบเดียวกันนี้ยังได้เกิดขึ้นที่เมืองโมซูลอีกด้วย

    จากการตกที่นั่งลำบากของ Qasimในครั้งนี้ พรรคบาธภายใต้การนำของ Fuad Rikabi ในตอนนั้นจึงมองเห็นโอกาสอันเหมาะสมว่าหนทางเดียวที่จะกำจัดรัฐบาล Qasim ได้ก็คือการสังหาร Qasim เท่านั้น  และผู้ที่ได้รับมอบหมายภาระให้ทำการลอบสังหารผู้นำอิรักในครั้งนั้นก็คือหนุ่มรุ่นกระทงจาก เมืองทีครีท(Tikrit)  ซัดดัม ฮุสเซ็น อดีตผู้นำจอมเผด็จการของอิรัคนั่นเองค่ะแต่โชคร้ายที่ความพยายามในการลอบสังหาร Qasim ของซัดดัมล้มเหลวทำให้ซัดดัมต้องระหกระเหินลี้ภัยหนีไปอยู่ที่ประเทศซีเรียก่อน จากนั้นจึงย้ายไปกบดานอยู่ที่อียิปต์ในเวลาต่อมาซึ่งตัวเขาเองก็ได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงที่ขาด้วย

    ส่วนประธานาธิบดี Qasim นั้นตอบโต้การลอบสังหารในครั้งนี้โดยได้ทำการจับกุมสมาชิกพรรคบาธคนอื่นๆและจองจำพวกเขาในความผิดฐานกบฎ  พรรคบาธถูกบังคับให้กลับไปอยู่ในฐานะองค์กรใต้ดินอีกครั้ง

    จากเหตุการณ์ความแตกร้าวไม่ลงรอยของกลุ่มที่นิยมพรรคคอมมิวนิสต์ในครั้งนี้ ทำให้ประธานาธิบดี  Qasim ได้ลดท่าทีที่ยืนหยัดการสนับสนุนกลุ่มผู้ฝักไฝ่คอมมิวนิสต์น้อยลงและปราบปรามกิจกรรมความเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคบาธและพรรคชาตินิยมอื่นๆมากขึ้นแต่การกลับมารวมตัวกันใหม่อีกครั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ของ Qasim ก็อยู่ได้ไม่นานเนื่องจาก Qasim ใช้ไม้หนักโดยทำการกำจัดสมาชิกพรรคที่เริ่มมีความเห็นไม่ลงรอยกับจุดยืนของพรรค ออกบทลงโทษสมาพันธ์การค้าและสั่งปิดสื่อที่เป็นกระบอกเสียงคอมมิวนิสต์  ไม่นานต่อมา Qasim ก็ได้แยกตัวออกจากกลุ่มที่ฝักไฝ่คอมมิวนิสต์ชาตินิยมด้วยท่าทีที่เหินห่างและการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จของเขานั้นทำให้มีผู้ตั้งฉายาให้กับเขาว่าเป็น "sole leader" โดยธรรมชาติแล้ว Qasim ถือว่าเป็นนักการเมืองที่มีแนวคิดไม่ฝักไฝ่ทั้งซุนหนี่และชีอะห์แต่การกุมอำนาจของเขาจะอยู่ได้อย่างปลอดภัยก็ด้วยการทำให้มีการถ่วงดุลย์อำนาจระหว่างกลุ่มอาหรับชาตินิยมที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆและกลุ่มที่ฝักไฝ่คอมมิวนิสต์บนท้องถนน

    ปัญหาการเมืองภายในประเทศภายใต้รัฐบาลของ Qasim บ่อยครั้งที่มีผลมาจากวิกฤติการด้านนโยบายต่างประเทศที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นกับชาห์ ปาเลวีแห่งอิหร่าน  ถึงแม้ว่า Qasim จะยังคงกุมบังเหียนสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ได้อยู่ก็ตามแต่พวกนิยมซ้ายจัดในพรรคคอมมิวนิสต์ของ Qasim ก็ได้ปลุกระดมให้เกลียดกลัวโลกตะวันตกและหวั่นเกรงการก่อตัวของกลุ่มนิยมคอมมิวนิสต์ในประเทศข้างเคียงโดยยังมองว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้ต้องการครอบครองอิรัคนั่นเอง  Allen Dulles อดีตผู้อำนวยการCIAในสมัยนั้นยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ในอิรัคตอนนั้นว่าเป็น " the most dangerous in the world."

    รัฐบาลที่นิยมตะวันตกของชาห์ ปาเลวีได้ประณามกลุ่มนิยมพรรคคอมมิวนิสต์ของ Qasim และการอ้างสิทธิของเขาเหนือดินแดน Iranian Khuzestan (พื้นที่ๆครอบคลุมจากเมือง Dezful ถึงเมือง Ahvazในอิหร่านที่ประชากรส่วนใหญมี่เชื้อสายอาหรับ) ว่าเป็นเรื่องที่น่าชิงชังยิ่งนัก  ตั้งแต่นั้นมาความสัมพันธ์ระหว่างอิรัคและอิหร่านก็แย่ลงเรื่อยๆเมื่อ Qasim ตอบโต้การเปิดข้อพิพาทเหนือเขตแดนที่เรียกว่า Shatt al-'Arab River ของอิหร่านอีกครั้งโดย Qasim ได้ละทิ้งข้อตกลงที่ทำระหว่างกันเมื่อปี1937และประกาศอำนาจอธิปไตยเหนือเขตแดนที่อยู่ใกล้กับอาบาดาน จากนั้นมา Qasimได้ตีตัวออกห่างจากตะวันตกและรัฐที่นิยมตะวันตกโดยทำการผลักดันประกาศรัฐเอกราชคูเวตขึ้นมาเมื่อสันนิบาติอาหรับลงมติเป็นเอกฉันท์ยอมรับคูเวตเข้าเป็นชาติสมาชิกใหม่อิรัคก็ตอบโต้ด้วยการตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับชาติอาหรับเพื่อนบ้าน ประธานาธิบดี Qasim ก็ถูกโดดเดี่ยวตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

    จากคุณ : เอื้องอัยราวัณ - [ 30 ธ.ค. 49 19:31:46 A:24.224.224.231 X: ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom