ความคิดเห็นที่ 7
จาก มติชน
เปิดแอล/ซีรถดับเพลิง คตส.บอดหลักฐาน?
มติของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่เห็นชอบให้ชี้มูลความผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดซื้อรถดับเพลิง เรือดับเพลิง และอุปกรณ์ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 5 ราย ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น โดยไม่มีชื่อนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดเสียงครหาว่า คตส. เลือกปฏิบัติ
นายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าฯกทม.ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ผู้ถูก คตส. ชี้มูลความผิดถึงกับโพล่งคำว่า เฮงซวย
ขณะที่หลักฐานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนในคดี รถดับเพลิง ชุดที่แล้วๆ มา ต่างพบข้อมูลที่ชี้ว่า นายอภิรักษ์น่าจะมีส่วนพัวพันกับการกระทำผิด
หนึ่งในหลักฐานชิ้นสำคัญที่บ่งชี้ว่านายอภิรักษ์เข้าไปโยงใยกับคดี นั่นคือ การอนุมัติเปิดเลตเตอร์ ออฟ เครดิต หรือแอล/ซี (Letter of Credit - L/C) อันเป็นหนังสือรับรองทางการเงินสำหรับการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่ออกโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
นายอภิรักษ์อนุมัติให้เปิดแอล/ซีทั้งที่รู้มาก่อนว่า ราคาสินค้าของโครงการนี้แพงเกินจริง แต่อ้างว่า พยายามประชุมต่อรองให้บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์-พุค สเปเซียลฟาห์ซุก แห่งออสเตรีย ลดราคาสินค้าลงถึง 6 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ จำเป็นต้องเซ็นอนุมัติเปิดแอล/ซีให้กับบริษัทสไตเออร์ฯ
ในเมื่อรู้ว่า การเซ็นเปิดแอล/ซีมีผลทำให้สัญญาการซื้อขายสมบูรณ์ครบถ้วน และทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ นายอภิรักษ์ก็ยังยินยอมปฏิบัติตาม
ในคำแถลงของ คตส. ยืนยันไว้ชัดเจนว่า สินค้าของบริษัทสไตเออร์ฯมีราคาแพงเกินจริงถึง 1,900 ล้านบาท
ข้อน่าสงสัยก็คือ ทำไม คตส. จึงให้เหตุผล ป้อง นายอภิรักษ์ทั้งๆ ที่นายอภิรักษ์ทำให้รัฐซื้อของแพง
นายอภิรักษ์อ้างว่าถูกบีบจากกระทรวงมหาดไทย หรือการเปิดแอล/ซี ทำให้ความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศต้องกระทบกระเทือน ดูเหมือนเป็นข้ออ้างน้ำหนักเบาหวิว
เพราะแม้แต่นายมาริโอ มีนาร์ รองประธานบริหารบริษัทสไตเออร์ฯยังให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549 ยืนยันไว้ว่า บริษัทสไตเออร์ฯไม่ได้บังคับให้กรุงเทพมหานครเลือกสไตเออร์ แต่สามารถที่จะเลือกผู้จัดหารายอื่นแทนได้ หากกรุงเทพมหานครเห็นว่าข้อเสนอทางเทคนิคของสไตเออร์ไม่สามารถยอมรับได้และราคาสูงเกินไป
ประการสำคัญคือหลังจากนายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าฯกทม.ในขณะนั้นได้ลงนามในสัญญาซื้อขายแล้ว สัญญาดังกล่าวยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ในทันทีและไม่มีผลผูกพันใดๆ ทั้งสิ้นระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย จนกว่าจะเปิดแอล/ซี ซึ่งได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในข้อ 9 ของสัญญา
ฉะนั้น นายอภิรักษ์ไม่เซ็น บริษัทสไตเออร์ฯก็ทำอะไร กทม. ไม่ได้ ตรงกันข้ามนายอภิรักษ์จะช่วยปกป้องผลประโยชน์ของรัฐอีกต่างหาก
หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า นายอภิรักษ์พัวพันกับคดีรถดับเพลิง นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงข้อความในการขอเปิดแอล/ซี
หนังสือขอเปิดแอล/ซีสมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช ยังเป็นผู้ว่าฯกทม. โดยมอบให้ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ ยื่นต่อธนาคารกรุงไทย เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2547 มีข้อความว่า
สิ่งของตามสัญญานี้จะต้องส่งมาจากท่าเรือหรือสนามบินในยุโรปหรือในประเทศไทย
European portland / or European airport and / or any place in Thailand
ข้อความนี้หมายถึงสินค้าของบริษัทสไตเออร์ฯ ได้แก่ เรือดับเพลิง ซึ่งบริษัทสไตเออร์ฯว่าจ้างให้บริษัทซีทโบ๊ท จากเมืองพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เป็นผู้ผลิต ส่งเรือดับเพลิงจากท่าเรือหรือสนามบินในยุโรปหรือประเทศไทยก็ได้
แต่หนังสือเปิดแอลซีฉบับที่นายสมัครเซ็นอนุมัติถูกยกเลิกไปเมื่อนายอภิรักษ์ เป็นผู้ว่าฯกทม. ในวันที่ 27กันยายน 2547
ต่อมาในวันที่ 1มกราคม 2548 นายอภิรักษ์ มีหนังสือถึงธนาคารกรุงไทยขออนุมัติเปิดแอลซีให้บริษัทสไตเออร์ฯ แต่ไม่มีข้อความ" or any place in Thailand "
ทำให้ความหมายในสัญญาเปลี่ยนไป เพราะบริษัทสไตเออร์ฯจะต้องส่งเรือดับเพลิงจากพัทยากลับไปที่ยุโรปแล้วส่งมอบให้กับไทยอีกรอบ
นั่นจะทำให้บริษัทสไตเออร์ฯต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น
วันที่ 21 มกราคม 2548 เวลา 15.57.34 น. ธนาคารกรุงไทยทำหนังสือไปยังธนาคารเรฟไฟเซน เซ็นทรัลแบงก์ แห่งออสเตรีย (Reiffeisen Zentral Bank Oesterreich) เป็นธนาคารคู่สัญญาของบริษัทสไตเออร์ฯ มีข้อความว่า
PLS INSERT : AND OR ANY PLACE IN THAILAND
ข้อความนี้ทำให้บริษัทสไตเออร์ฯ โล่งอก !
นี่เป็นการเกื้อหนุนเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนต่างประเทศหรือไม่ คตส. น่าไปขบคิดกันเอาเอง หรือยังไม่มองเห็นหลักฐานชิ้นนี้
หน้า 10
จากคุณ :
bookss
- [
28 ก.พ. 50 22:43:42
A:58.10.6.127 X:
]
|
|
|