นับเป็นข่าวที่สร้างความตกตะลึงให้กับคนทั้งโลกเลยทีเดียวกับการเสียชีวิตของนางเบนาซีร์ บุตโต อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถานสองสมัย(1988-1996) และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคประชาชนแห่งปากีสถาน(Pakistani Peoples party) ที่ถูกลอบสังหารด้วยระเบิดพลีชีพขณะที่เธอและลูกพรรคออกปราศรัยหาเสียงที่เมืองราวันปินดีเขตการทหารใกล้กับกรุงอิสลามาบัด เมืองหลวง สำหรับการเลือกตั้งรัฐสภาที่จะมีขึ้นวันที่ 8 มกราคมนี้
การเสียชีวิตของนางบุตโตในครั้งนี้นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของปากีสถาน นับเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการผลักดันประชาธิปไตยในปากีสถานให้เดินหน้าต่อไป นับเป็นการสูญเสียผู้นำคนสำคัญที่จะมีบทบาทในการต่อต้านการก่อการร้ายในปากีสถานครั้งยิ่งใหญ่เลยทีเดียว เพราะเหลืออีกเพียงอาทิตย์กว่าๆก็จะมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากเผด็จการทหารไปสู่ประชาธิปไตยโดยผ่านระบบการเลือกตั้ง
ซึ่งขณะนี้ความนิยมของบุตโตในหมู่มุสลิมสายกลางที่เบื่อหน่ายกับการปกครองของทหารและการก่อการร้ายในปากีสถานพุ่งสูงขึ้นเป็นลำดับ บุตโตจึงถือได้ว่าเป็นเต็งหนึ่งที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของปากีสถานในการเลือกตั้งทั่วประเทศที่จะมีขึ้นต้นเดือนมกราคมศกหน้า
บุตโตเดินทางกลับมายังปากีสถานหลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้กดดันให้ประธานาธิบดีมูชาราฟเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่เธอ เพื่อแลกกับการแบ่งปันอำนาจในประเทศแก่กันและกัน
ก่อนหน้านี้บุตโตก็ตกเป็นเป้าการลอบสังหารของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในปากีสถานที่นิยมตาลีบันและอัลไคด้ามาแล้วเมื่อกลางเดือนตุลาคมแต่เธอก็รอดจากระเบิดพลีชีพครั้งนั้นมาได้อย่างหวุดหวิด ปฏิบัติการลอบสังหารบุตโตในครั้งแรกก็เหมือนกับครั้งนี้ที่ผู้วางแผนและผู้ลงมือได้รับการอบรมและฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ยุทธวธีที่ใช้ในการโจมตีก็คล้ายกับการปฏิบัติการของทหาร เหตุระเบิดครั้งแรกนั้นชี้ให้เห็นชัดเจนว่า นักแม่นปืน(snipers),มือระเบิดพลีชีพ และคาร์บอมบ์ต่างประสานการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่น การลอบสังหารบุตโตในครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 132 คนและมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 500 คน
ผลจากการลอบสังหารบุตโตในครั้งนี้ทำให้การเมืองของปากีสถานที่ไร้เสถียรภาพอยู่แล้ว ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายลงกว่าเดิมเมื่อฝ่ายสนับสนุนบุตโตออกมาประท้วงตามท้องถนนด้วยความโกรธแค้นเพื่อตอบโต้การลอบสังหารผู้นำของเขาซึ่งเสียชีวิตขณะเดินทางกลับจากการปราศรัยที่เมืองราวัลปินดี
กลุ่มผู้สนับสนุนบุตโตกล่าวโทษประธานาธิบดีมูชาราฟที่รัฐบาลของเขาไม่ให้ความคุ้มครองความปลอดภัยให้กับบุตโตได้อย่างเพียงพอและปฏิบัติการการลอบสังหารด้วยระเบิดพลีชีพในครั้งนี้ก็ล้ำหน้ามาก อีกทั้งสถานที่เกิดเหตุก็เป็นเขตที่อยู่ในความรับผิดชอบของทหาร ซึ่งก่อนหน้านี้ หัวหน้าที่ปรึกษาทางด้านความปลอดภัยของบุตโตได้เตือนไปยังมูชาราฟว่ามาตราการรักษาความปลอดภัยของรัฐบาลนั้นไม่เพียงพอและหย่อนประสิทธิภาพ เครื่องตัดสัญญานการจุดระเบิดด้วยคลื่นความถี่วิทยุ(Jammer) ที่รัฐบาลให้มาก็ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเปิดโอกาสให้ผู้ก่อการร้ายเร่งโจมตีครั้งที่สองได้ง่ายขึ้น พวกเขากล่าวว่า หากไม่ใช่มูชาราฟที่ต้องมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองความปลอดภัยกับบุตโตแล้ว จะเป็นใครอื่นที่รับผิดชอบเรื่องนี้
ซึ่งเหตุระเบิดที่มีขึ้นในเมืองราวันปินดีในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 5 แล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาแม้ราวันปินดีจะเป็นเขตที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทหารและเป้าหมายของการโจมตีทุกครั้งก็อยู่ที่การมุ่งสังหารนายทหารคนสำคัญในกองทัพและผู้นำทางการเมืองของปากีสถาน ตัวของมูชาราฟเองก็ถูกลอบสังหารมาถึง 9 ครั้งแต่ที่เขารอดมาได้เพราะเขาเป็นผู้กุมอำนาจทางทหารเองเขาจึงให้ความคุ้มครองกับตัวเองได้อย่างเต็มที่ หากพูดกันตามความจริงแล้วการป้องกันระเบิดพลีชีพนี่มันก็ทำได้ยากมากเพราะฝ่ายหนึ่งอยู่ในที่ลับอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ในที่แจ้ง
ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยของตัวเขาเองนี่แหละที่มูชาราฟถึงไม่ต้องการสละเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบก เพราะในกองทัพของปากีสถานเองก็ถูกกลุ่มนิยมตาลีบันและอัลไคด้าแทรกซึมเข้ามาในกองทัพอย่างต่อเนื่องรวมไปถึงหน่วยสืบราชการลับ(ไอเอสไอ.)ของปากีสถานด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่การกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายอัลไคด้าและตาลีบันของมูชาราฟจะด้อยประสิทธิภาพลงทุกวัน เพราะทหารส่วนหนึ่งในกองทัพของปากีสถานไม่ได้สวามิภักดิ์ต่อมูชาราฟแต่ยืนอยู่ข้างศัตรูของเขา ด้วยเหตุนี้ปฏิบัติการลอบสังหารบุตโตทั้งสองครั้งที่ผ่านมาการวางแผนและขั้นตอนการลงมือจึงถอดแบบมาจากปฏิบัติการทางทหารเพราะค่ายฝึกฝนการก่อการร้ายของตาลีบันและอัลไคด้าในปากีสถานมีครูฝึกที่มาจากกองทัพของปากีสถาน
ล่าสุด มุสตาฟา อาบู อัลยาซิดโฆษกของกลุ่มก่อการร้ายอัลไคด้าได้ออกมาประกาศความรับผิดชอบต่อการสังหารเบนาซีร์ บุตโตในครั้งนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้วซึ่งก่อนหน้านี้ Baitullah Mehsud ผู้นำกลุ่ม Tehrik-i-Taliban Pakistan ได้ออกมาข่มขู่บุตโตว่าเขาจะสังหารนางทันทีที่บุตโตเดินเหยียบแผ่นดินปากีสถาน
ความสำเร็จในการลอบสังหารเบนาซีร์ บุตโตในครั้งนี้นับว่ามีนัยยะสำคัญทางการเมืองในปากีสถานและสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐเป็นอย่างมาก เพราะฝ่ายที่ได้ประโยชน์ที่สุดจากการตายของบุตโตในครั้งนี้ก็คงหนีไม่พ้นกลุ่ม Islamic militant movements ที่สนับสนุนอัลไคด้าและตาลีบันเพราะ
1.ชั่วโมงนี้ต้องถือว่าปากีสถานเป็น Short Cut ของกลุ่มก่อการร้ายอัลไคด้าและพันธมิตรของพวกเขาในการเข้าครอบครองอาวุธทำลายล้างสูงอย่างระเบิดนิวเคลียร์เลยทีเดียวเมื่อเทียบกับเส้นทางการเข้าครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ผ่านทางเกาหลีเหนือและอิหร่าน เพราะปากีสถานมีระเบิดนิวเคลียร์เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นยิ่งทำให้สถานการณ์การเมืองในปากีสถานวุ่นวายมากขึ้นเท่าใดพวกเขายิ่งส่งคนเข้าไปแทรกซึมในองค์กรระดับสูงของปากีสถานอย่างรัฐสภา กองทัพและหน่วยสืบราชการลับได้ง่ายมากยิ่งขึ้นเท่านั้น การประกาศภาวะฉุกเฉินของมูชาราฟเมื่อเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมาจึงถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่ฉลาดเพราะยิ่งเป็นการผลักให้ฝ่ายที่นิยมบุตโตไปยืนอยู่ข้างเดียวกับกลุ่ม Islamic militant movements มากขึ้น
2.เป็นการดิสเครดิตและลดทอนประสิทธิภาพสงครามต่อต้านก่อการร้ายของอเมริกาทางอ้อมเพราะ กลุ่มก่อการร้ายอัลไคด้าและพันธมิตรของพวกเขารู้ดีว่า ปากีสถานภายใต้การนำของประธานาธิบดีเพอร์เวซ มูชาราฟเป็นพันธมิตรที่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ดังนั้นการสังหารบุตโตจึงเปรียบเสมือนการยิงทีเดียวได้นกสองตัวโดยจะก่อให้เกิดผลที่ตามมาก็คือ
2.1 ฝ่ายที่สนับสนุนบุตโตโกรธแค้นมูชาราฟหรืออาจคิดไปว่ามูชาราฟอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารในครั้งนี้เพราะทั้งบุตโตและมูชาราฟต่างเป็นคู่แข่งขันกันทางการเมือง ดังที่เราเห็นฝ่ายที่สนับสนุนบุตโตออกมาเดินประท้วงมูชาราฟและกล่าวว่าบุตโตเป็นภัยคุกคามหลักของมูชาราฟ
2.2 เพิ่มความเกลียดชังอเมริกามากขึ้นในหมู่ประชาชนที่นิยมบุตโตเพราะถือว่าอเมริกาสนับสนุนมูชาราฟซึ่งเป็นพันธมิตรของอเมริกาในการกวาดล้างกลุ่มตาลีบันและอัลไคด้าในอาฟกานิสถานและปากีสถาน
3.เป็นการกำจัดเสี้ยนหนามของการก่อตั้งรัฐเทวนิยมในปากีสถานอย่างที่ตาลีบันเคยทำในอาฟกานิสถานไปอีกหนึ่ง เพราะเบนาซีร์ บุตโตอดีตผู้นำของปากีสถานคนนี้เธอเชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่ามีเพียงประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะสามารถเอาชนะการก่อการร้ายในปากีสถาน อาฟกานิสถานและทั่วทั้งภูมิภาคของโลกได้ เธอได้ให้สัญญาว่าหากเธอได้รับเลือกเป็นผู้นำของปากีสถานอีกครั้งเธอจะกวาดล้างกลุ่มตาลีบันและอัลไคด้าที่ฝังตัวอยู่ทางแคว้นนอร์ท-เวสต์ฟรอนเทียร์ และ แคว้นบาลูจิสถาน ของปากีสถานให้หมดสิ้นไป และด้วยการที่เธอมีความสัมพันธ์อันดีกับประธานาธิบดีบุชจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยที่เธอจะตกเป็นเป้าการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายที่นิยมตาลีบันและอัลไคด้ามาถึงสองครั้งหลังจากที่เธอเดินทางกลับมายังปากีสถาน
ดังที่ Baitullah ได้พูดผ่านสื่อว่า เรายินดีต้อนรับการกลับมาของบุตโต แต่เราไม่ยอมรับประธานาธิบดีมูชาราฟและเบนาซีร์ บุตโตเพราะเขาทั้งสองทำหน้าที่เพียงปกป้องผลประโยชน์ให้กับอเมริกา
ซึ่งก็ตรงกับคำพูดของมุสตาฟา อาบู อัลยาซิดโฆษกของกลุ่มก่อการร้ายอัลไคด้าที่กล่าวว่า เบนาซี บุตโตเป็นทรัพย์สมบัติอันล้ำค่าที่สุดของอเมริกา มือระเบิดพลีชีพที่สังหารบุตโตในครั้งนี้เป็นสมาชิกของกลุ่ม Lashkar i Jhangvi ซึ่งเป็นกลุ่มวะฮาบีห์หัวรุนแรงที่มีความเชื่อมโยงกับอัลไคด้าและเป็นกลุ่มเดียวกับที่ได้เคยพยายามลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีนาวาซ ชารีฟมาแล้วเมื่อปี 1999
จากคุณ :
เอื้องอัยราวัณ
- [
29 ธ.ค. 50 11:51:50
A:71.7.214.219 X:
]