.... ประวัติความเป็นมาและหน้าที่ขององคมนตรี ที่พวกคุณไม่รู้ +++!!!
ก่อนทีพวกคุณจะกล่าวหาหรือพยายามจาบจ้วง ประธานองคมนตรีและองคมนตรี..
ผมอยากขอให้พวกคุณอ่านประวัติและหน้าที่ของพวกท่านองคมนตรีก่อน จะได้ทราบถึงภาระและหน้าที่ของท่านว่ามีความสำคัญขนาดไหน
ความเป็นมา....
องคมนตรีมีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระยะแรกนั้นยังไม่ได้เรียก องคมนตรี แต่จะใช้คำว่า ปรีวีเคาน์ซิล ปรีวีเคาน์ซิลลอร์ หรือ ที่ปฤกษาในพระองค์ ส่วนคำว่า องคมนตรี เริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน ทั้งนี้ในรายงานการประชุมเสนาบดีเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ร.ศ. ๑๑๑ (พ.ศ. ๒๔๓๕) และใน ประกาศการพระราชพิธีศรีสัจปานกาล พระราชทานพระไชยวัฒน์องค์เล็ก แลเครื่องราชอิศริยาภรณ์ และตั้งองคมนตรี เมื่อ ร.ศ. ๑๑๑ ปรากฏว่ามีการใช้คำว่า องคมนตรี แล้ว ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการตั้งปรีวีเคาน์ซิลหรือที่ปรึกษาในพระองค์หลายครั้ง ทั้งนี้ ...จำนวรที่ปฤกษาในพระองค์นั้น มากน้อยเท่าใดไม่มีกำหนด ตามแต่พระราชประสงค์...แล้วต้องรับตำแหน่งที่อยู่จนสิ้นแผ่นดิน... (พระราชบัญญัติปรีวีเคาน์ซิลคือที่ปฤกษาในพระองค์ ประกาศมา ณ วันอาทิตย์ที่ ๑๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๗, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๑, ปีจอฉศก ๑๒๓๖ แผ่นที่ ๑๗, หน้า ๑๕๘) ต่อเมื่อทรงเห็นว่าผู้ใดมีความเหมาะสมก็จะทรงตั้งเพิ่มเติม และมีการผลัดเปลี่ยนได้ตามแต่จะทรงเห็นสมควร
ในรัชสมัยต่อมา แบบอย่างการแต่งตั้งองคมนตรียังคงเป็นไปตามเดิม ไม่มีการแก้ไขแต่ประการใด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งองคมนตรีขึ้นใหม่ตามพระราชอัธยาศัย แต่ทั้งนี้ ทรงตั้งประเพณีไว้อย่างหนึ่ง คือในเดือนมีนาคมให้กระทรวงมุรธาธรทำบัญชีผู้ได้รับพระราชทานพานทองเครื่องยศ ในคราวพระราชพิธีฉัตรมงคลเดือนพฤศจิกายนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงเลือกเป็นองคมนตรี แล้วจะทรงตั้งเป็นองคมนตรีในวันที่ ๔ เมษายน เนื่องในพระราชพิธีศรีสัจปานกาล ตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการตั้งองคมนตรีเป็นประจำทุกปี เป็นผลให้จำนวนองคมนตรีในรัชกาลนี้มีจำนวนมากถึง ๒๓๓ คน และอยู่ในตำแหน่งไปจนสิ้นรัชกาล ครั้นถึงรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยึดแบบอย่างการแต่งตั้งองคมนตรี ตามแบบประเพณีในสมัยรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ อย่างไรก็ตาม การเลือกสรรองคมนตรีในสมัยนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย คือทรงเลือกผู้ที่ไม่ได้รับพระราชทานเครื่องยศชั้นพานทองด้วย
เนื่องจากองคมนตรีมีจำนวนมากจึงไม่สะดวกในการเรียกประชุม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง สภากรรมการองคมนตรี ขึ้นตามพระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช ๒๔๗๐ และทรงคัดเลือกองคมนตรีที่ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ จำนวน ๔๐ คน เข้ามาเป็นกรรมการองคมนตรี เพื่อทำหน้าที่ ประชุมปรึกษาหารือข้อราชการตามแต่จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานลงมาให้ปรึกษา (พระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช ๒๔๗๐ : คำแปลพระราชบัญญัติภาษาอังกฤษ และข้อบังคับสภากรรมการองคมนตรี พุทธศักราช ๒๔๗๒ ฉบับกรมราชเลขาธิการ, (พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ), ๒๔๗๒, หน้า ๕) นอกจากนี้ยังมีพระราชดำริจะให้สภากรรมการองคมนตรี เป็นที่ประชุมตัวอย่างสำหรับการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างเสรีอีกด้วย
ตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สภากรรมการองคมนตรีได้ปฏิบัติหน้าที่ และทำการประชุมอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงได้มีการประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช ๒๔๗๐ เป็นผลให้องคมนตรีและสภากรรมการองคมนตรีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช ๒๔๗๐ พ้นจากตำแหน่งและหน้าที่ไป
ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๙๐ ในรัชกาลปัจจุบัน ได้มีประกาศแต่งตั้งอภิรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๔๙๐ ซึ่งมีรายละเอียดที่บัญญัติไว้ดังนี้ มาตรา ๙ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอภิรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งสำหรับถวายคำปรึกษาในราชการแผ่นดิน มาตรา ๑๐ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง จะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้แต่งตั้งอภิรัฐมนตรีขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถ้าพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้ง หรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ก็ให้คณะอภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทันที และ มาตรา ๑๓ อภิรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งประจำมีห้านาย เป็นผู้บริหารราชการในพระองค์ และถวายคำปรึกษาแด่พระมหากษัตริย์ อภิรัฐมนตรีจึงเป็นทั้งที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ และเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปในขณะเดียวกัน
ต่อมาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒ ได้บัญญัติถึงบทบาท และหน้าที่ขององคมนตรีไว้ดังนี้ พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีอีกไม่มากกว่าแปดคน ประกอบเป็นคณะองคมนตรี... ...คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวง ที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้... นับเป็นการวางพื้นฐานบทบาท และหน้าที่ขององคมนตรีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
มีข้อที่น่าสังเกตคือ แม้ว่าคณะองคมนตรีปัจจุบันจะมีรากเหง้ามาจากคณะที่ปรึกษาในพระองค์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เรียกว่า ปรีวีเคาน์ซิล (THE PRIVY COUNCIL) อย่างของประเทศอังกฤษก็ตาม แต่โครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะองคมนตรีทั้งสองประเทศนี้ แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คณะองคมนตรีของไทยนั้นพระมหากษัตริย์ทรงเลือก และทรงแต่งตั้งด้วยพระองค์เองทุกคน มีจำนวนไม่เกิน ๑๙ คน และมีอำนาจหน้าที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งตามรัฐธรรมนูญ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ทรงเลือก และทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบแปดคน ประกอบเป็นคณะองคมนตรี (มาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง) การเลือก และแต่งตั้งองคมนตรี หรือการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย (มาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง) องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ต้องไม่ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น ต้องไม่เป็นข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ (มาตรา ๑๔) ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ ต่อพระมหากษัตริย์ (มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง)
หน้าที่ของคณะองคมนตรี
ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
๑. คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ ในพระราชกรณียกิจทั้งปวง ที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ (มาตรา ๑๒ วรรคสอง)
๒. ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งไว้ ในเมื่อจะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ หรือในกรณีที่ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น (มาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง)
๓. ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราว ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราว ในกรณีที่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ (มาตรา ๒๐ วรรคหนึ่งและสอง)
๔. ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็น หรือทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่ง ขึ้นทำหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราว (มาตรา ๒๐ วรรคสาม)
๕. เมื่อมีพระราชดำริประการใด เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ให้คณะองคมนตรีจัดทำร่างกฎมณเฑียรบาล แก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิมขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อมีพระบรมราชวินิจฉัย เมื่อทรงเห็นชอบ และทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประธานองคมนตรี ดำเนินการแจ้งประธานรัฐสภา เพื่อแจ้งรัฐสภาทราบต่อไป (มาตรา ๒๒ วรรคสอง)
๖. ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง และเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อรัฐสภา เพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ (มาตรา ๒๓ วรรคสอง)
งานที่คณะองคมนตรีปฏิบัติถวายเป็นประจำ
๑. พิจารณาและถวายความเห็นประกอบร่างกฎหมายทั้งปวง ที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อขอพระราชทานพระมหากรุณาทรงลงพระปรมาภิไธย
๒. พิจารณาและถวายความเห็นประกอบการกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งและให้พ้นจากตำแหน่ง ของข้าราชการฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า รวมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง ตามที่กฎหมายกำหนด
๓. พิจารณาและถวายความเห็นประกอบเรื่องที่นักโทษ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ภายหลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ถวายความเห็นแล้ว
๔. พิจารณาและถวายความเห็นประกอบเรื่องที่ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานความเป็นธรรมบางเรื่อง ซึ่งสำนักราชเลขาธิการขอให้พิจารณา
๕. ถวายความเห็นสนองพระราชกระแสเรื่องอื่น ๆ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิจารณา
๖. ปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนพระองค์พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศ์ในงานที่เป็นทางการตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เช่น ไปในการบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันมาฆบูชา อาสาฬหบูชา และวิสาขบูชา ไปมอบถ้วยพระราชทาน ในการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ ให้คณะบุคคลเข้าพบในโอกาสต่าง ๆ เป็นต้น
๗. ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เช่น เชิญพวงมาลาหลวง และพวงมาลาของพระบรมวงศ์ ไปวางหน้าโกศศพหรือหีบศพ เชิญดอกไม้หรือสิ่งของพระราชทาน ไปมอบแก่บุคคลในโอกาสต่าง ๆ เป็นต้น
๘. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรีทุกคนเป็นกรรมการบริหารมูลนิธิอานันทมหิดล คณะองคมนตรีจึงปฏิบัติหน้าที่บริหารงานในมูลนิธิฯ ด้วย
๙. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีบางคนเป็นกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา บางคนดูแลโครงการหลวง และบางคนดูแลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านการเกษตร การชลประทาน การพัฒนาชนบท และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม
๑๐. ปฏิบัติสนองพระราชกระแสทุกเรื่องที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวางและหลากหลาย
๑๑. เฝ้าฯ ตามตำแหน่งหน้าที่ในงานพระราชพิธี รัฐพิธี และในโอกาสต่าง ๆ เช่น ในการ พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ในโอกาสที่สถาบัน องค์กร สมาคมต่างประเทศ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สมาชิกภาพ และรางวัลต่าง ๆ เป็นต้น
ภารกิจโดยรวมของคณะองคมนตรีนั้น อาจกล่าวได้ว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นงานกลั่นกรองพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ในเบื้องต้น ถวายแด่พระมหากษัตริย์ เพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการหลวง และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นงานบริหารจัดการ หรือดูแลโครงการต่างพระเนตรพระกรรณ ส่วนการปฏิบัติงานผู้แทนพระองค์ หรือสนองพระราชกระแสเฉพาะเรื่องนั้น เป็นการแบ่งเบาพระราชภารกิจน้อยใหญ่ลงส่วนหนึ่ง
อ้างอิงจาก http://www.ubmthai.com/leksoundsmf3/index.php?topic=9142.msg56863
http://talk.mthai.com/topic/8241-ประวัติความเป็นมาและหน้าที่ขององคมนตรี_ที่พวกคุณไม่รู้
จากคุณ :
NijDoi
- [
30 เม.ย. 51 08:40:00
A:58.8.207.248 X:
]