ความคิดเห็นที่ 16
วิกฤติเงินบาทแข็งค่า
วิกฤติค่าเงินบาทแข็งเป็นอีกปัญหาหนึ่งภายใต้ขวบปีหลังการปฏิวัติ และสร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล อีกทั้งส่งผลร้ายอย่างรุนแรงต่อภาคการส่งออก ลุกลามสร้างความเปราะบางไปสู่ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตรของประเทศ
ขณะที่มาตรการในการแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งของรัฐบาลขิงแก่และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลับกลายเป็นยาพิษที่ทำลายการลงทุนในตลาดหุ้นไทย และความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างประเทศ
ตั้งแต่ต้นปี 2549 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้ว 23% และ 1 ปีที่ผ่านมา แข็งค่าขึ้น 8.5% และมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดย ธปท.ไม่สามารถทำอะไรได้
แม้ว่าการแข็งค่าของเงินบาทจะเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปี 2549 แต่กระแสเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว เพื่อโจมตีและเก็งกำไรค่าเงินบาท เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติ 19 ก.ย.2549 และเริ่มรุนแรงมากขึ้นในเดือน พ.ย. ต่อเนื่องถึง ธ.ค.2549
เห็นได้ว่าภายใน 2 สัปดาห์ กลางเดือน ธ.ค.2549 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 1.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จนผู้ส่งออกจำนวนมากออกมาร้องเรียนและเสนอแนวทางต่างๆให้ ธปท. เร่งแก้ปัญหา
ขณะที่นักวิชาการและกูรูทางเศรษฐกิจ อาทิ นายวีรพงษ์ รามางกูร แนะนำให้ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อลดกระแสเงินไหลเข้าจากต่างประเทศและรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท แต่ ธปท.ปฏิเสธที่จะทำตาม
ในที่สุด ธปท.ตัดสินใจใช้ยาแรง ออกมาตรการสำรองเงินทุนนำเข้า 30% ในเย็นวันที่ 18 ธ.ค.2549 ด้วยความหวังที่จะเปลี่ยนทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นให้อ่อนลง
เพราะมีข้อกำหนดให้เงินทุนต่างชาติทุกบาททุกสตางค์ที่เข้ามาในประเทศไทย ต้องกันเงินออกมา 30% เพื่อสำรองไว้ที่ ธปท. แต่ผลที่ออกมาตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 19 ธ.ค.2549 นักลงทุนต่างชาติต่างร่วมใจกันเทขายหุ้นทุกตัวที่ถืออยู่ในตลาดหุ้นไทย โดยไม่สนใจว่าจะได้กำไรหรือขาดทุน
จนดัชนีหุ้นไทยถล่มทลายลงถึง 108 จุด ส่งผลให้มูลค่าตลาดรวมลดลงภายในวันเดียวกว่า 820,000 ล้านบาท
นอกจากนั้น ยังส่งผลให้ค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศ (off shore) แยกตัวออกจากตลาดเงินบาทในประเทศ (on shore) มากถึง 4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ สร้างความเสียเปรียบต่อผู้ส่งออกไทยที่ไม่รู้ว่าจะโค้ดราคาจากตลาดไหน โดยที่ ธปท.ไม่สนใจที่จะแก้ไข
ประเด็นที่สำคัญที่สุดต่อการออกมาตรการดังกล่าว ได้ทำลายความเชื่อมั่นจนถึงปัจจุบันนี้ นักลงทุนต่างประเทศยังหยุดการลงทุนจริงในเศรษฐกิจไทย เพราะไม่มั่นใจว่าภายใต้รัฐบาลที่ไม่ประสาในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ จะมีมาตรการใดออกมาช็อกตลาดอีก!!
สุวรรณภูมิวุ่นวายไม่รู้จบ
นับตั้งแต่เปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อ 28 ก.ย. 2549 ถึงวันนี้เกือบจะครบ 1 ปี ซึ่งเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เมื่อ พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รมว.คมนาคม ได้เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือบอร์ด ทอท. โดยมี พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร เข้ามานั่งแท่นประธาน
แถมไม่ได้มาคนเดียว พกเพื่อนคู่ใจ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการคมนาคมมาร่วมสร้างปัญหาด้วย
บอร์ด ทอท.ชุดนี้เข้ามาสร้างความวุ่นวายไม่รู้จบ เริ่มจาก พล.ร.อ.บรรณวิทย์ และนายต่อตระกูล ยมนาค ในฐานะบอร์ด ทอท. ต่างออกมาเปิดฉากความผิดปกติของรันเวย์และแท็กซี่เวย์เกิดรอยแตกร้าวทรุดตัวเป็นทางยาว ถึงขนาดที่ว่าอาจจะต้องปิดสนามบินสุวรรณภูมิที่ลงทุนกว่า 120,000 ล้านบาท แล้วหันไปใช้สนามบินดอนเมืองแทน
แต่เมื่อมีการตรวจสอบจากสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ปรากฏออกมาว่าเกิดจากปัญหาน้ำใต้ดินในชั้นดินทรุดตัว และทำให้น้ำเข้าไปแทรกในชั้นแอสฟัลต์คอนกรีตด้านบนจึงเกิดรอยแยก และสรุปว่ายังใช้งานได้ โดยปิดซ่อมแซมควบคู่ไปกับให้บริการทางการบินขึ้น-ลง โดยไม่เป็นอันตราย
จากนั้นบอร์ด ทอท.ก็ได้ฤกษ์เดินเรื่องใหม่ไล่บี้กับ บริษัท คิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ดำเนินการในสัญญาสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีและร้านค้าในเชิงพาณิชย์ในทันที
โดยมีมติเมื่อ 22 มี.ค.2550 ว่า สัญญาที่ ทอท.ดำเนินการทั้ง 2 สัญญาเป็นโมฆะ เพราะมีมูลค่าลงทุนเกินกว่า 1,000 ล้านบาท จึงต้องผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 เสียก่อน จากนั้นวันที่ 3 พ.ค.2550 ทอท.ได้ทำหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการไปยังคิงเพาเวอร์ว่า ทอท.ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน
ทอท.ก็ยอมตัดหม้อข้าวของตัวเองทิ้ง โดยไม่รับเงินค่าน้ำ-ค่าไฟเดือนละกว่า 30 ล้านบาท และค่าส่วนแบ่งรายได้ 15% จากยอดขาย หรือกว่า 250-300 ล้านบาท/เดือน รวมปีละกว่า 3,000 ล้านบาท ทำให้คิงเพาเวอร์ต้องฟ้องร้องต่อศาลแพ่งเพื่อขอความเป็นธรรม และเรียกร้องค่าเสียหายจาก ทอท.กว่า 68,000 ล้านบาท
แต่ก่อนที่จะรู้ว่าคดีที่ฟ้องร้องจะลงเอยอย่างไร บอร์ด ทอท.ยังพยายามดันสุดลิ่มให้ คิงเพาเวอร์ออกไปจากสนามบินสุวรรณภูมิให้ได้ โดยมีมติให้ ทอท.ไปดำเนินการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มิชอบ และให้แจ้งคิงเพาเวอร์ขนย้ายร้านค้าปลอดภาษีออกจากพื้นที่ไป
ความยุ่งวุ่นวายทั้งหลายนี้ทำให้มีข่าวแว่วออกมาว่า มีการล็อบบี้และพานักลงทุนร้านค้าปลอดภาษีรายใหญ่จากฮ่องกง และสิงคโปร์เข้ามาเดินวัดพื้นที่หมดแล้ว
ถ้าเรื่องนี้เป็นจริงก็ไม่รู้ว่าผลประโยชน์ตกที่ใคร แต่ไม่ใช่ประชาชนแน่นอน!!
เจ้ามือหวยฟันกำไรแทนรัฐ
ถือเป็นความเสียหายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ภายหลังจากมติ ครม. เมื่อ 21 พ.ย.2549 ให้ยกเลิกการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว หรือหวยบนดินของรัฐบาลชุดที่แล้ว ตามข้อเสนอของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง
ในเบื้องต้นที่คิดว่าเป็นการยุติการจำหน่ายหวยบนดินชั่วคราว ภายหลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าการจำหน่ายหวยบนดินขัดกับ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 โดยตั้งความหวังว่า รัฐบาลจะแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ และเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 3 วาระรวด เพื่อเปิดจำหน่ายหวยบนดินให้ได้ภายในกลางเดือน ธ.ค.2549
แต่ผ่านพ้นไปนานเกือบ 11 เดือนแล้ว หวยบนดินที่ถูกสั่งระงับชั่วคราวดูท่าที่เหมือนถูกระงับไปถาวร ขณะที่เจ้ามือหวยใต้ดินผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เนื่องจากมีเม็ดเงินของนักเล่นหวยทุ่มแทงเลขเด็ดเลขดังมากนับแสนล้านบาท
คำนวณได้ว่าการหยุดจำหน่ายงวดหวยบนดินมาแล้ว 11 เดือน รวม 22 งวด ได้ ทำให้รัฐบาลสูญเสียโอกาสดึงเงินจากใต้ดินให้มาอยู่บนดิน งวดละ 2,000 ล้านบาท รวมแล้วมากถึง 44,000 ล้านบาท แต่เจ้ามือหวยใต้ดินทั่วประเทศกลับได้ประโยชน์เป็นกอบเป็นกำ
ส่วนสถิติยอดจำหน่ายและรายได้ของหวยบนดิน ตั้งแต่งวดแรก 1 ส.ค.2546 จนถึงงวดสุดท้าย 16 พ.ย.2549 รวม 80 งวด มียอดจำหน่ายรวม 130,000 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 29,000 ล้านบาท และยังมีเงินสะสมอยู่ในกองทุนรางวัลอีก 10,000 ล้านบาท
ทอดทิ้งนโยบายประชานิยม
โครงการประชานิยมที่เติบโตมาจากรัฐบาลชุดที่แล้วเป็นอันต้องหงอยไปทันที จากทัศนคติการบริหารงานของรัฐบาลนี้ที่เห็นแตกต่างออกไปจากเดิม ที่ถูกสั่งปิดไปแล้ว คือ โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน
ที่นิยมกันมากอีกคือ การเปลี่ยนชื่อของโครงการที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลชุดเดิม เช่น โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือโอทอป ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น ส่วนชื่อย่อใช้ โอทอปเช่นเดิม และยังถูกดองการทำงานไว้เนิ่นนาน เพิ่งมาเริ่มขับเคลื่อนบ้างไม่นานมานี้ แต่ยังขาดความจริงจังในการส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตและจำหน่ายสินค้า
สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้าน/ชุมชน หรือหมู่บ้านเอสเอ็มแอล ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และยุทธศาสตร์ผู้ว่าซีอีโอ เปลี่ยนเป็นยุทธศาสตร์ อยู่ดีมีสุข ทั้งสองโครงการหลังนี้มีการจัดงบประมาณให้ชัดเจน แต่การเบิกจ่ายกลับไม่มีความคืบหน้า
ด้านกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองแห่งชาติ ถูกทอดทิ้งการสานต่อนโยบายไปนานหลายเดือน จนเมื่อมีการเปลี่ยนผู้ดูแลจากนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ มาเป็นนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี ถึงออกมายืนยันว่าจะทำโครงการนี้ต่อ ช่วงนี้จึงอยู่ระหว่างการจัดระบบบัญชีของทุกกองทุนให้เข้าที่เข้าทาง และเร่งการจดทะเบียนให้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่กำหนดให้ดำเนินการให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้
ยังมีนโยบายอื่นๆอีกที่ถูกทิ้งขวางจากรัฐบาลนี้ อาทิ การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่รัฐบาลก่อนเน้นให้เป็นอีกธุรกิจที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่บัดนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีปิดตัวลงมากมาย โดยที่รัฐบาลนี้มองว่าเป็นวัฏจักรปกติ ที่แต่ละปีจะมีทั้งที่เปิดกิจการใหม่และปิดตัวลง เพราะเป็นธุรกิจที่ตั้งขึ้นง่ายก็ย่อมล้มลงง่ายเช่นกัน
ด้านการเจรจาเอฟทีเอ ระหว่างไทย-สหรัฐฯ หยุดชะงักสิ้นเชิงจนกว่าไทยจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทางสหรัฐฯถึงจะยอมเจรจาต่อ ขณะที่เอฟทีเอไทย-เอฟตา (สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป) ต้องหยุดการเจรจา นายเกริกไกร จีระแพทย์ หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย มารับตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ และรัฐบาลก็ไม่ได้แต่งตั้งบุคคลใดแทน
ส่วนเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น หรือเจเทปา ต้องเริ่มผูกพันกันวันที่ 1 พ.ย.2550 ต้องนำมาพิจารณาใหม่ว่าจะติดมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ต้องให้รัฐสภาเห็นชอบก่อนหรือไม่ ด้านเอฟทีเอไทย-อินเดีย มีแนวโน้มจะหยุดการเจรจาแน่นอน
สำหรับโครงการบ้านเอื้ออาทรเพื่อประชาชนผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลชุดก่อนให้ก่อสร้าง 601,727 หน่วย มาตอนนี้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ชี้ว่าคงทำเพียง 300,000 หน่วย เพราะสำรวจแล้วว่าไม่ได้มีความต้องการจริง อีกทั้งสารพัดปัญหาเข้าถาโถม ทั้งความล่าช้าในการก่อสร้าง ทำเลที่อยู่ห่างการคมนาคม ธนาคารไม่ยอมอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ซื้อถึง 50% และผู้ที่ซื้อไปแล้วขาดส่งค่างวด
ด้าน กคช.ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยวันละ 1.5 ล้านบาท จนถึงเดือน ส.ค.2550 จ่ายดอกเบี้ยไปแล้วไม่น้อยกว่า 1,400-1,500 ล้านบาท จากโครงการสร้างเสร็จแล้วไม่มีคนซื้อ และผู้รับเหมาทิ้งงาน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลนี้กล่าวหารัฐบาลก่อนทุจริตเพียงอย่างเดียว แต่การบริหารจัดการในปัจจุบันเชื่องช้าด้วย
นอกจากนี้ ผลงานชิ้นโบดำของรัฐบาลชุดนี้ได้ทำให้นักศึกษาตายไปแล้ว 1 คน คือ น.ส.เสาวภา ประชุม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เมื่อรัฐบาลได้สั่งยุบกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลชุดที่แล้ว เพื่อประหยัดเงินงบประมาณ โดยไม่สนใจว่านักศึกษาจะตกอยู่ในสภาพใด
ยังมีนักศึกษาอีกกว่า 300,000 คน ต้องคอยลุ้นว่าจะได้รับเงินกู้จาก กรอ.ต่อไปหรือไม่ เพราะจะต้องมีการปรับเปลี่ยนสัญญาเพื่อเข้าสู่ระบบของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แทน
ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นชัดว่าผลจากการปฏิวัติรัฐประหารครั้งนี้ประเทศชาติสูญเปล่าจริงๆ!!!
จากคุณ :
Sky
- [
6 พ.ค. 51 10:45:35
A:124.121.173.156 X:
]
|
|
|