กระแสความปั่นป่วนทางการเมือง อันเกิดจากการเรียกร้องบางประการของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บทความนี้จึงขอนำหลักวิชาการบริสุทธิ์ ซึ่งศาสตราจารย์ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้บรรยายลักษณะของความเป็นประชาธิปไตย ที่เกี่ยวข้องสอดรับกับกระแสความวุ่นวายในปัจจุบัน ไว้อย่างน่ารับฟัง ในเรื่องประชามติ มติมหาชน และ กฎหมู่ ความดังนี้
ในระบอบประชาธิปไตยนั้น วิธีการที่จะทำให้รัฐบาลทราบเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชนทั้งประเทศได้ คือ ประชามติ และมติมหาชน สำหรับประชามตินั้นเป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดให้รัฐบาลจัดให้มีการลงคะแนนโดยประชาชนทั้งประเทศ จึงไม่มีปัญหาแต่ประการใด แต่ที่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตยก็คือ มติมหาชน และ กฎหมู่
อย่างไรก็ตาม แม้มติมหาชนจะไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองไว้โดยชัดแจ้งก็ตาม แต่เป็นสิ่งที่กฎหมายรับรองไว้โดยปริยาย นั่นคือการแสดงความคิดเห็น อภิปราย ถกเถียง และเสนอแนะโดยมีเหตุผล จนรัฐบาลหรือประชาชนส่วนใหญ่มีความเห็นคล้อยตามด้วย และในการรวบรวมมติมหาชนนี้ จะต้องไม่มีลักษณะเป็นการละเมิดกฎหมาย อาทิ ไม่มีการชุมนุมโดยมีอาวุธ หรือ ไม่มีการปลุกระดมมวลชน โดยมุ่งหมายจะก่อให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมือง
มติมหาชนที่ปรากฏออกมาจากประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศนั้น ย่อมมีลักษณะเป็นเครื่องชี้แนะทางให้รัฐบาลและรัฐสภา ดำเนินการเท่านั้น หาได้มีลักษณะบีบบังคับหรือกดดันให้รัฐบาลหรือรัฐสภาจำต้องกระทำตามไม่
ส่วนกฎหมู่นั้น เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับประชามติ และ มติมหาชนอย่างชัดแจ้ง เพราะกฎหมู่นั้นเอง ย่อมมีลักษณะเป็นการละเมิดกฎหมาย ซึ่งเป็นหลักในการปกครองประเทศ เพื่อความสงบสุขของประชาชนอยู่ในตัว อาทิ มีอาวุธในการชุมนุม หรือมีเจตนาพิเศษในการชุมนุม เช่น มีเจตนาก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือเรียกร้องให้ล้มเลิกกฎหมาย หรือให้ถอดถอนตัวบุคคลในคณะรัฐบาล หรือ รัฐสภา อันเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา
ที่สำคัญที่สุดก็คือ การยกข้ออ้างในเรื่องคนที่มาชุมนุม ซึ่งอาจมาร่วมโดยความเห็นด้วยหรือต้องการมาดูเหตุการณ์ แล้วอ้างว่า เป็นมติมหาชนที่รัฐบาลและรัฐสภาจะต้องปฏิบัติตาม อันเป็นลักษณะของการบีบบังคับรัฐบาลหรือรัฐสภาไม่ให้ใช้ดุลยพินิจโดยอิสระในการวินิจฉัยปัญหานั้นได้
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น การชุมนุมนั้นเอง อาจมีการข่มขู่รัฐบาลโดยจำนวนคน หรือโดยวิธีการอันมิชอบด้วยกฎหมาย แสดงความอาฆาตมาดร้ายบุคคลบางคนในรัฐบาลหรือรัฐสภา สร้างความวุ่นวายยุ่งเหยิงขึ้นในบ้านเมือง พอเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ก็พยายามบิดเบือนให้เห็นว่า นั่นเป็นการใช้อำนาจรัฐคุกคามและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
ซ้ำยังอ้างว่า การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ เป็นการใช้อำนาจเผด็จการของรัฐบาล
จริงอยู่ การชุมนุมกันแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เป็นสิ่งที่กระทำได้และพึงกระทำในระบอบประชาธิปไตย และจะทำให้รัฐบาลได้รับทราบความคิดเห็น และความต้องการของประชาชนได้ทางหนึ่ง อันจะทำให้เกิดประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า อำนาจ หน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินนั้น ตกอยู่กับรัฐบาลซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนทั้งประเทศ จึงต้องปล่อยให้อยู่ในดุลยพินิจของรัฐบาล ในการวินิจฉัยปัญหานั้น ๆ การยื่นคำขาดก็ดี การบีบบังคับก็ดี เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตย
อ้างอิง : ธานินทร์ กรัยวิเชียร , ระบอบประชาธิปไตย , พิมพ์ครั้งที่ ๔ (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว) , ๒๕๒๐ , หน้า ๖๙ ๗๐ .
จากคุณ :
ราษฎร์สยาม
- [
11 ก.ย. 51 20:19:55
A:124.120.124.34 X:
]