Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    ผลการวิจัย กองทุนหมู่บ้าน โดย ศาสตราจารย์โรเบิร์ต เอ็ม. ทาวน์เซนด์

    เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ศาสตราจารย์โรเบิร์ต เอ็ม. ทาวน์เซนด์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา กล่าวปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบจากโครงการกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาทของรัฐบาลไทย

    ศาสตราจารย์ทาวน์เซนด์ระบุว่า ผลการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการกองทุนหมู่บ้านของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ระหว่างปี 2544-2546 ซึ่งตนได้ศึกษาวิจัยร่วมกับนายโจเซฟ คาโบสกี้ นั้น พบว่ากองทุนหมู่บ้านส่งผลกระทบให้ปริมาณของหนี้สินระยะสั้นและหนี้สินโดยรวมของครัวเรือนในแต่ละหมู่บ้านเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมกองทุนหมู่บ้าน ไม่ได้เข้าไปทดแทนหนี้สินจากแหล่งเงินกู้อื่นๆ แต่อย่างใด นอกจากนั้น หนี้สินของกองทุนหมู่บ้านยังส่งผลให้เกิดหนี้สินที่กู้ยืมมาเพื่อบริโภคเพิ่มมากขึ้น โดยทุกๆ 1 บาทของหนี้จะเป็นหนี้เพื่อการบริโภคระหว่าง 0.35-0.81 บาท และยังพบอีกว่ามีการกู้เพื่อนำมาใช้ลงทุนในการเกษตรมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

    "ผู้วิจัยค้นพบด้วยว่า หนี้สินที่กู้ยืมจากกองทุนหมู่บ้านจะทำให้เกิดการกู้ยืมจากแหล่งเงินกู้นอกระบบมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากครัวเรือนในหมู่บ้านจำเป็นต้องนำเงินดังกล่าวมาใช้หนี้คืนกองทุนหมู่บ้าน ผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า เงินกู้ยืมจากกองทุนหมู่บ้านทำให้เกิดการกู้ยืมเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็มีการออมเพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน โดย 38 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ที่กู้ยืมจากกองทุนหมู่บ้านมีแนวโน้มที่จะมีเงินออมเพิ่มมากขึ้น และ 27 เปอร์เซ็นต์ มีแนวโน้มว่าจะมีเงินออมมากกว่าระดับเฉลี่ยทั่วไป" ศาสตราจารย์ทาวน์เซนด์ระบุและว่า ผลการศึกษาชี้ว่า การกู้ยืมเงินจากกองทุนหมู่บ้านทำให้มีการลงทุนด้านเกษตรกรรมมากขึ้น แต่ไม่ก่อให้เกิดการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ ในครัวเรือน ปริมาณธุรกิจที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มจำนวนธุรกิจในครัวเรือนเท่านั้น

    การวิจัยพบว่า เงินกองทุนหมู่บ้านส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ในอนาคตของครัวเรือน ทำให้สินทรัพย์ลดน้อยลง แต่เพิ่มระดับการบริโภคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจตีความได้ว่า ครัวเรือนคาดหวังว่าในอนาคตจะมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงจับจ่ายในปัจจุบันมากขึ้นและลดระดับของสินทรัพย์ในอนาคตลง เพราะถือว่าการกู้ยืมทำได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันก็อาจตีความได้ว่า การที่มีปริมาณสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นทำให้ความเสี่ยงในการบริโภคลดน้อยลง ทำให้ครัวเรือนไม่จำเป็นต้องสะสมสินทรัพย์เพื่อเผื่อเหลือเผื่อขาดมากเหมือนก่อนหน้านี้ นอกจากนั้น ยังอาจตีความได้ด้วยว่า ครัวเรือนนำเอาเงินที่กู้ยืมจากกองทุนหมู่บ้านมาใช้จ่าย(ในส่วนที่ไม่ใช่การลงทุน) และถูกภาวะหนี้สินบังคับให้ต้องขายสินทรัพย์ เพื่อนำมาชำระหนี้คืนได้เช่นเดียวกัน

    "งานวิจัยยังพบด้วยว่าโครงการกองทุนหมู่บ้านก่อให้เกิดหนี้สินสูงเกินขีดความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน และส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยในอนาคต นอกจากนั้น ยังทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการไม่ชำระหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ในกรณีที่เป็นหนี้สินระยะสั้นมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเบี้ยวหนี้เพิ่มขึ้น 19 เปอร์เซ็นต์ และจะเพิ่มเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ หากคิดถึงภาวะหนี้สินโดยรวมทั้งหมด" ศาสตราจารย์ทาวน์เซนด์ระบุ

    มติชนรายวัน วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2547

    จากคุณ : Pom.com - [ 20 ก.ย. 51 00:05:32 A:124.120.228.211 X: ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom