ความคิดเห็นที่ 16

หินอัคนี หินอัคนีเป็นหินที่เกิดจากการเย็นตัวแข็งของหินหนืดลาวา (magma and lava) มีกำเนิดมาจากการหลอมเหลว ของหินชนิดต่างๆที่อยู่ลึกลงไปใต้ผิวโลก หินอัคนีที่เย็นตัวแข็ง ก่อนที่จะแทรกดันขึ้นถึงเปลือกโลก มักมีผลึกของแร่ขนาดใหญ่ เรียกว่าหินอัคนีแทรกซอน (intrusive or plutonic rocks) ส่วนหินอัคนีที่ประทุขึ้นมาสู่ผิวโลกก่อน แล้วจึงเย็นตัวแข็ง มักมีขนาดของผลึกแร่ที่เล็กกว่ารียกว่าหินอัคนีพุ (extrusive or volcanic rocks) นอกจากนี้แล้วยังมีหินอัคนีพ ุที่เกิดการเย็นตัวแข็ง อย่างรวดเร็วมากทำให้เกิดเป็นหินที่มีเนื้อเป็นแก้ว (obsidian) หินอัคนีชนิดต่างๆที่พบในประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 8 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นหินอัคนีแทรกซอน ประเภทหินแกรนิต (granite) เป็นส่วนใหญ่ มีหินไดออไรต์ (diorite) หินแกบโบร (gabbro) และหินอัลตราเมฟิก บ้างเล็กน้อย นอกจากนั้นก็มีหินอัคนีพุประเภทบะซอลต์ (basalt) หินแอนดีไซต์ (andesite) และไรโอไรต์ (rhyolite) เป็นส่วนใหญ่ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงหินอัคนีที่พบในประเทศไทยอย่างย่อดังต่อไปนี้ หินอัคนีแทรกซอน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าหินอัคนีแทรกซอนที่พบในประเทศไทยมีหลายประเภทได้แก่ หินแกรนิต หินแกรนิต เป็นหินที่พบมากในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเปรียบเทียบกับหินอัคนีอื่นด้วยกัน การแผ่กระจายตัว ของหินแกรนิตในประเทศไทยแสดงไว้ในรูปที่ 8.1 จากการศึกษาถึงลักษณะเนื้อหิน รายละเอียดด้านศิลาวรรณนา ส่วนประกอบทางเคมีของแร่ประกอบหิน และการวัดอายุด้วยวิธีการไอโซไทปเช่น Rb/Sr, U/Pb, K/Ar, Ar/Ar และ Fission track และการเทียบความสัมพันธ์กับหินข้างเคียง สามารถแบ่งหินแกรนิตเป็นแนวต่างๆ ตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ ได้ดังนี้ หินแกรนิตแนวตะวันออก (Eastern belt or eastern province granites) ส่วนใหญ่เกิดเป็นมวลหินขนาดเล็ก (small pluton) แต่บางแห่งก็พบเป็นหินที่มีลักษณะเป็นมวลขนาดใหญ่ (batholith) ซึ่งเกิดจากการแทรกทับ และซ้อนกันอยู่ ของมวลหินขนาดเล็ก นอกจากนั้นบางแห่งยังมีลักษณะเป็นโซน (zoned plutons) และบางแห่งยังพบหินแปลกปลอม ที่เป็นหินอัคนีสีเข้ม นอกนี้ยังพบว่าหินแกรนิตแนวตะวันออกตัดและแทรกเข้าไปในหินตะกอนมหายุคพาลีโอโซอิกตอนบน หินแกรนิตแนวตะวันออกนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการเย็นตัวจากหินหนืดจากใต้ผิวโลก (I-Type granites) ตัวอย่างเช่น หินแกรนิตที่บริเวณจังหวัดตาก หินแกรนิตแนวตอนกลาง (Central belt or central province granites) มักเกิดเป็นมวลหินขนาดใหญ่ (batholith) มีลักษณะเป็นแนวยาวติดต่อกัน บางแห่งมีการเรียงตัวของเม็ดแร่ที่มีขนาดใหญ่และแร่ที่มีลักษณะเป็นแผ่น หินแกรนิตนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการหลอมละลายของหินตะกอน (S-Type granites) หินแกรนิตที่เป็นตัวแทน ของหินแกรนิต แนวตอนกลางได้แก่หินแกรนิตอุทัยธานี หินแกรนิตแนวตะวันตก (Western belt or western belt granites) ส่วนมากมักเกิดเป็นมวลหินขนาดเล็ก ที่แทรกซอนทับกันเป็นแนวยาว (composite plutons) ส่วนใหญ่จะแทรกตัดเข้าไปในหินตะกอน มหายุคพาลีโอโซอิก ตอนบน หินแกรนิตแนวตะวันตกนี้ส่วนใหญ่เกิดจากหินตะกอนที่หลอมละลายเช่นเดียวกับหินแกรนิตแนวตอนกลาง และหินแกรนิตที่เป็นตัวแทนหินแกรนิตแนวตะวันตก ได้แก่หินแกรนิตเกาะภูเก็ต หินอัคนีแทรกซอนเมฟิกและ อัลตราเมฟิก หินผาซ่อมอัลตราเมฟิก (Pha Som Ultramafic belt) โผล่ให้เห็นตามแนวแม่น้ำน่าน และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ประกอบด้วยหินแกบโบร (gabbro) หินเพอริโดไทต์ (peridotite) หินไพร็อกซีไนต์ (pyroxenie) หินเซอร์เพนทิไนต์ (Serpentinite) และ หินดันไนต์ (dunnite) สระแก้วอัลตราเมฟิก (Sra Kaeo Ultramafic) พบบริเวณจังหวัดสระแก้วค่อนไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ต่อเนื่องเป็นแนวยาว ส่วนใหญ่เป็นหินเซอร์เพนทิไนต์ ฮอร์น เบลนไดต์ (hornblendite) และเพอริโดไทต์ นราธิวาสอัลตราเมฟิก (Narathiwat Ultramafic) พบอยู่บริเวณบริเวณจังหวัดนราธิวาสค่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยหินแกบโบรและหินเพอริโดไทต์ เป็นส่วนใหญ่ หินอัคนีพุ หินอัคนีพุหรือหินภูเขาไฟพบอยู่ในบริเวณต่างๆ หลายแห่ง แหล่งใหญ่ที่พบได้แก่ บริเวณภาคเหนือ ที่ราบภาคกลาง แนวเขาเพชรบูรณ์ ชายฝั่งทะเลตะวันออก และที่ราบสูงโคราช หินเหล่านี้มีลักษณะต่างๆ ตั้งแต่เป็นหินเมฟิกหรือสีดำเข้ม ไปจนถึงเป็นหินเฟลสิกสีจาง หินอัคนีพุนี้สามารถแบ่งย่อยตามช่วงอายุที่หินดังกล่าวเกิดการประทุเป็น 4 ช่วง ได้แก่ (1) ยุคไซลูเรียน ถึง ยุคเพอร์เมียนตอนต้น (2) ยุคเพอร์เมียนตอนปลายถึงยุคไทรแอสซิกตอนต้น (3) ยุคไทรแอสซิกตอนปลาย และ (4) อายุปลายมหายุคซีโนโซอิก แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้สะดวกแก่การอธิบาย ในที่นี้จะแบ่งหินอัคนีพุเป็น 2 ช่วงอายุ คือ หินอัคนีพุก่อนมหายุคซีโนโซอิก แบ่งตามบริเวณที่พบหินอัคนีพุได้แก่ บริเวณที่สูงภาคเหนือและภาคตะวันตก พบหินอัคนีพุที่มีอายุตั้งแต่ ช่วงยุคไซลูเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหินแอนดีไซต์ (andesite) และหินไรโอไลต์ (rhyolite) เรื่อยมาจนถึงยุคคาร์บอนิเฟอรัส ซึ่งประกอบด้วยหินแอนดีไซต์ หินไรโอไลต์ หินกรวดภูเขาไฟ (agglomerate) และหินทัฟฟ์หรือหินเถ้าภูเขาไฟ (tuff) ยุคเพอร์เมียนตอนต้นส่วนใหญ่เป็นหินไรโอไลติกทัฟฟ์ (rhyolitic tuff) ยุคเพอร์เมียนตอนปลายถึงไทรแอสซิกตอนต้น ได้แก่หินไรโอไลต์ และทัฟฟ์ เป็นส่วนใหญ่ มีหินแอนดีไซต์บ้างเล็กน้อย ยุคไทรแอสซิกตอนปลาย และจูแรสซิกตอนต้น ประกอบด้วยหินแอนดีไซต์ หินไรโอไลต์ และทัฟฟ์เป็นส่วนใหญ่ บริเวณที่ราบภาคกลาง พบเป็นบริเวณแคบทางด้านตะวันตกตั้งแต่ด้านตะวันตกของจังหวัดอุทัยธานี จนถึงด้านตะวันออกของจังหวัดนครสวรรค์ อายุการเกิดน่าจะมีอายุอ่อนกว่ายุคไทรแอสซิกตอนลาง ประกอบด้วยหินแอนดีไซต์ หินเดไซต์ หินไรโอไลต์ และหินทัฟฟ์ เป็นส่วนใหญ่ และพบว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหินอัคนีแทรกซอนอีกด้วย บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ ได้แก่หินอัคนีพุที่พบวางตัวเป็นแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่จังหวัดเพชรบูรณ์ต่อเนื่องไปถึงจังหวัดนครนายก มักเกิดร่วมกับหินตะกอนอายุเพอร์เมียน และหินในกลุ่มหินโคราช ประกอบด้วยหินบะซอลติกแอนดีไซต์ (basaltic andesite) หินแอนดีไซต์ หินไรโอไลต์ หินทัฟฟ์ และหินกรวดภูเขาไฟ บริเวณฝั่งทะเลภาคตะวันออก ได้แก่หินอัคนีพุที่พบบริเวณจังหวัดตราด จันทบุรี และต่อเนื่องขึ้นไปถึงบริเวณจังหวัดสระแก้ว อายุการเกิดอยู่ในช่วงยุคเพอร์เมียนตอนปลายถึงไทรแอสซิกตอนต้น ประกอบด้วยหินบะซอลต์รูปหมอน หินไดอะเบส (diabase) หินแอนดีไซต์ หินกรวดภูเขาไฟ หินทัฟฟ์ และหินไรโอไลต์ เป็นส่วนใหญ่ บริเวณที่ราบสูงโคราช ได้แก่หินอัคนีพุที่พบในพื้นที่จังหวัดเลยและจังหวัดอุดร ส่วนใหญ่วางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ มีอายุการเกิดตั้งแต่ยุคดีโวเนียน-คาร์บอนิเฟอรัส ประกอบด้วยหินไรโอไลต์และบะซอลต์รูปหมอน และที่เกิดในยุคเพอร์เมียน ตอนบน ถึงไทรแอสซิกตอนล่าง ที่ประกอบด้วยหินแอนดิซิติกทัฟฟ์ (andesitic tuffs) และหินกรวดภูไฟ หินอัคนีพุมหายุคซีโนโซอิก ส่วนใหญ่ที่พบเป็นหินบะซอลต์ที่เกิดเป็นบริเวณพื้นที่เล็กๆ แบ่งตามบริเวณที่พบได้แก่ บริเวณภาคเหนือ ได้แก่หน่วยหินบะซอลต์เชียงราย พบบริเวณอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย หน่วยหินบะซอลต์ลำปาง พบในพื้นที่จังหวัดลำปาง แบ่งย่อยเป็น 2 หน่วยย่อยได้แก่ หน่วยหินย่อยบะซอลต์แม่ทะ พบที่อำเภอแม่ทะ และหน่วยหินย่อย บะซอลต์สบปราบ พบในพื้นที่อำเภอสบปราบ หน่วยหินบะซอลต์เด่นชัย พบบริเวณพื้นที่อำเภอเด่นชัย อำเภอลอง และอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ หน่วยหินบะซอลต์แม่ลามา พบที่บริเวณบ้านแม่ลามา จังหวัดแม่ฮ่องสอน บริเวณภาคตะวันตก ได้แก่หน่วยหินบะซอลต์บ่อพลอย พบที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ ได้แก่หน่วยหินบะซอลต์ ลำนารายณ์ พบที่บริเวณใกล้เคียงกับบ้านลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และหน่วยหินบะซอลต์วิเชียรบุรี พบที่อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ บริเวณภาคตะวันออก ได้แก่หินบะซอลต์ที่พบในพื้นที่จังหวัดตราด และ จันทบุรี แบ่งย่อยออกเป็นหน่วยหิน บะซอลต์จันทบุรี ประกอบด้วยหน่วยหินย่อย 2 หน่วย ได้แก่หินบะซอลต์สะพานหิน และหินบะซอลต์คลองอีตัก ที่อยู่ในบริเวณพื้นที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี หน่วยหินบะซอลต์โป่งน้ำร้อน พบที่อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี หน่วยหินบะซอลต์ตราด พบที่อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด หน่วยหินบะซอลต์เกาะกูด อยู่ทางด้านใต้ของจังหวัดตราด และหน่วยหินบะซอลต์บ้านแซออ พบที่บ้านแซออ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว บริเวณที่ราบสูงโคราช ได้แก่หินบะซอลต์ที่พบบริเวณอีสานใต้ ได้แก่จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ซึ่งได้แบ่งชื่อหน่วยหินตามชื่อของจังหวัดที่พบ หินอัคนีของประเทศไทยที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด มีความสำคัญคือเป็นตัวนำพาแร่หรือน้ำแร่ชนิดต่างๆ เช่น ดีบุก ทังสะเตน เฟลด์สปาร์ ฟลูออไรต์ พลอยชนิดต่างๆ และแร่อื่นๆอีกมากมาย นอกจากนั้นยังสามารถนำหินอัคนีบางประเภท มาทำเป็นหินประดับได้อีกด้วย มีเอกสารภาษาอังกฤษเป็น PDF file หากต้องการ กรุณาแจ้ง e-mail Address มา จะส่งไปให้
แก้ไขเมื่อ 27 ม.ค. 52 22:49:33
แก้ไขเมื่อ 26 ม.ค. 52 19:04:10
แก้ไขเมื่อ 26 ม.ค. 52 19:02:42
จากคุณ :
tudong
- [
11 ม.ค. 52 11:04:34
A:125.27.213.218 X:
]
|
|
|