Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    กระบวนการสมานฉันท์ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ .....เก็บตกจาก "มติชน" วันนี้

    นักปราชญ์กรีกท่านหนึ่งกล่าวว่า กฎหมายทุกฉบับย่อมเพิ่มอาชญากรขึ้น แต่นักปราชญ์ท่านนั้นจะต้องหน้าหงาย เมื่อเผชิญกับกฎหมายฉบับใหม่ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะกฎหมายฉบับนี้จะลดอาชญากรลง

    เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่คนไทยและเทศทั่วโลกว่า สนามบินในเมืองไทยจะไม่ถูกฝูงชนยึดและปิดอีกอย่างแน่นอน คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายใหม่ ซึ่งจะให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสนามบิน ในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ก่อปัญหาในเขตสนามบินไว้ เพื่อส่งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจภายใน 24 ชั่วโมง และบุคคลผู้นั้นจะถูกปรับเป็นเงิน 500-10,000 บาท แล้วแต่กรณี

    ความไม่เชื่อมั่นต่อความปลอดภัยของสนามบินในเมืองไทยของผู้คนทั้งโลก ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะไม่มีกฎหมายปกป้องดูแลสนามบินในเมืองไทย แต่เกิดขึ้นเพราะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายจำนวนมากมายหลายฉบับเหล่านั้นกับกลุ่มคนบางหมู่บางเหล่าต่างหาก

    ซ้ำร้ายกว่านั้น เมื่อสุวรรณภูมิและดอนเมืองถูกยึดและปิด เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย ก็ป้องกันและจัดการการยึดและปิดสนามบินอย่างไร้ประสิทธิภาพ หรือเจ้าพนักงานบางหน่วยขัดคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรมอันดีของผู้บังคับบัญชา ในการให้ความร่วมมือกับตำรวจในการป้องกันมิให้สนามบินถูกยึด

    จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีการสอบสวนเพื่อเรียนรู้ว่า มาตรการเพื่อป้องกันสนามบินผิดพลาดตรงไหนและอย่างไร และไม่มีการสอบสวนเพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาล

    ในสภาพอนาธิปไตยเพราะกฎหมายกลายเป็นเศษกระดาษ ฝูงชนจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อยึดทำเนียบรัฐบาลหรือสนามบินเมื่อใดอีกก็ได้ หากการวางแผนลับทางการเมืองของกลุ่มชนชั้นนำตกลงกัน ที่จะนำเอาสภาพอนาธิปไตยกลับคืนมาเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตน

    จะมีบุคคลที่มีเหตุผล (sensible) คนใดในโลกนี้เชื่อมั่นว่าสนามบินในประเทศไทยปลอดภัย เหตุใดกฎหมายใหม่จึงจะปลอดพ้นจากการถูกย่ำยีเหมือนกฎหมายที่มีอยู่แล้ว

    ทั้งรัฐบาลนี้และรัฐบาลที่ผ่านมาแล้วชอบพูดถึงความปรองดองและความสมานฉันท์ แต่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่สู้จะให้ความสำคัญ ขอแต่ได้พูดถึงเท่านั้นก็เหมือนว่าอาจเกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ

    ความสมานฉันท์นั้นเกิดขึ้นได้ด้วยความเจ็บปวดของทุกฝ่าย ถ้าไม่อยากหรือไม่กล้าผ่านความเจ็บปวด ไม่มีสังคมใดบรรลุความสมานฉันท์ได้จริง

    การเอาผิดผู้กระทำผิด ทั้งแกนนำที่ยึดสนามบินและเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่เพื่อให้สังคมได้แก้แค้นคนเหล่านั้น แต่การดำเนินคดีอย่างจริงจังก็เพื่อจะทำให้ความจริงปรากฏ สมานฉันท์เริ่มต้นที่ความจริง ไม่ใช่การลืม ฉะนั้นต้องไม่พยายามกลบเกลื่อนความจริง และกระบวนการกฎหมายที่เป็นธรรมเท่านั้น ที่จะนำความจริงให้ปรากฏว่าใครทำและไม่ทำอะไรบ้าง ด้วยเหตุผลอะไร

    ก่อนจะมาถึงการให้อภัย ผู้ผิดยังต้องสำนึกผิดก่อน โดยปราศจากความจริงที่ปรากฏชัดเจน ผู้กระทำผิดจะไม่สำนึกผิด และต้องเน้นเป็นพิเศษคือสำนึกผิดไม่ใช่การแก้ตัว เพราะสำนึกผิดคือยอมรับว่าความผิดอยู่ที่ตัว ในขณะที่การแก้ตัวคือการผลักให้ความผิดเป็นของคนอื่น ตราบเท่าที่ยังเต็มไปด้วยการแก้ตัว กระบวนการก็ไม่นำไปสู่การให้อภัย และแน่นอนย่อมไปไม่ถึงสมานฉันท์

    กระบวนการสำนึกผิด ไม่ได้จำกัดแต่เพียงฝ่ายใดฝ่ายเดียว ความผิดที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใหญ่โตซับซ้อนเกินกว่าฝ่ายเดียวจะทำให้เกิดขึ้นได้ แต่มีฝ่ายที่อยู่เบื้องหลังอีกมากที่ร่วมในการทำความผิด ซึ่งต้องดึงมาร่วมสำนึกผิดด้วย ใช่แต่เท่านั้น คู่ตรงข้ามของฝ่ายที่ทำผิดด้วยการยึดสนามบินก็ใช่จะปลอดพ้นจากการร่วมในความผิดโดยทางอ้อมด้วย หากการเสาะหาความจริง กระทำอย่างกว้างขวางและซับซ้อน แต่เป็นธรรมเพียงพอ ก็จะพบว่าสิ่งที่เกิดในประเทศไทยในสามปีที่ผ่านมา มีผู้ที่ร่วมรับผิดชอบหลากหลายกลุ่ม รวมทั้งมีต้นตอทางสังคมที่อยู่นอกเหนือการกระทำของบุคคลด้วย (ซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้า)

    หากสองขั้นตอนในกระบวนการสมานฉันท์ดังกล่าวดำเนินมาอย่างถูกต้องเช่นนี้ การให้อภัยเป็นเรื่องง่าย เพราะถึงอย่างไรเราก็เป็นพลเมืองร่วมสังคมเดียวกัน มีอะไรที่เหมือนกันมากกว่า (หรือไม่น้อยไปกว่า) อะไรที่ต่างกัน และที่สุดถึงที่สุด เราแยกกันอยู่ไม่ได้

    แต่การเรียกร้องสมานฉันท์ด้วยการลืม, การแก้ตัว และการให้อภัย เป็นแต่เพียงการเยาะเย้ยเหยียดหยันความสมานฉันท์เท่านั้น เพราะตราบเท่าที่ยังไม่อยากหรือไม่กล้าเผชิญความเจ็บปวด กระบวนการสมานฉันท์ที่แท้จริงย่อมเกิดขึ้นไม่ได้

    กระบวนการสมานฉันท์ต้องนำมาซึ่งสติปัญญาที่จะทำให้มองเห็นรอยร้าวที่ฝังลึกอยู่ในสังคม-เศรษฐกิจไทยด้วย ตราบเท่าที่รอยร้าวนี้ยังดำรงอยู่ ความแตกร้าวถึงขั้นแบ่งฝักแบ่งฝ่ายออกสัปประยุทธ์กันด้วยคมหอกคมดาบ ย่อมต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    และรอยร้าวที่สำคัญซึ่งต้องสมานให้ได้ ก็คือความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจของประชากร ซึ่งนับวันก็ยิ่งถ่างห่างกันมากขึ้นทุกที (แม้แต่ในความแตกร้าวที่ผ่านมา ก็พอมองเห็นผลของความไม่เท่าเทียมนี้ในหลายลักษณะ) นโยบายพัฒนาของไทยเองที่ล้มเหลวในการพัฒนาคนและการกระจายรายได้ จนทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ (แม้ได้กลายเป็นคนชั้นกลางระดับล่างไปแล้ว) ขาดโอกาสที่เท่าเทียมทางการเมืองและการพัฒนา

    อดีตรองศาสตราจารย์สมบูรณ์ ศิริประชัย สรุปความไม่เท่าเทียมทางการเมืองไว้ได้กระชับและตรงจุดที่สุดว่า

    "รัฐไทยถูกคุมโดยสิ้นเชิงอยู่ภายใต้ชนชั้นปกครอง, ทหาร, กลุ่มผลประโยชน์ปลูกฝัง (ส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายจีน) และข้าราชการ ซึ่งล้วนดูจะปล้นสะดมทรัพยากรไปถือครองโดยไม่ได้แบ่งส่วนกำไรพอสมควรให้แก่พลเมือง ในแง่การศึกษา, การดูแลสุขภาพอนามัย, การจัดหาน้ำสะอาดหรือการอนามัย"

    กระบวนการสมานฉันท์ที่แท้จริง ย่อมนำมาซึ่งความจริงข้อนี้ให้สังคมไทยได้ประจักษ์อย่างชัดเจน และสร้างแรงกดดันผู้ปกครองทั้งในปัจจุบันและอนาคต ให้วางมาตรการที่มีผลจริงในการบรรเทาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจดังกล่าว

    แน่นอนว่าโอกาสเท่าเทียมทางการเมือง ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพราะความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจได้รับการบรรเทาลงเท่านั้น การประจักษ์ความจริงข้อนี้ของสังคมย่อมนำมาซึ่งการกดดันให้เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กว้างพอแก่ผู้ด้อยโอกาสด้วย

    พื้นที่สำคัญสามอย่างซึ่งต้องเปิดขึ้นแก่คนส่วนใหญ่เหล่านั้นคือ

    1/ สื่อ ต้องสามารถนำมุมมอง, จุดยืน, ผลประโยชน์, และวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ให้เป็นที่รับรู้ของสังคม การวางนโยบายสาธารณะจึงจะสามารถตอบสนองต่อสิ่งเหล่านั้นได้ ตราบเท่าที่สื่อเชิงธุรกิจยังมุ่งแต่จะตอบสนองต่อ"ลูกค้า"ของตน (ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยนิดเดียวของสังคม) โดยไม่ใส่ใจคนที่อยู่นอกตลาดสื่อเช่นนี้ สังคมไทยก็ไม่มีโอกาสเรียนรู้ว่า พี่น้องร่วมสังคมของตนมีชีวิตอยู่ในเงื่อนไขอะไร และโอกาสที่เท่าเทียมทางการเมืองจะช่วยเขาได้อย่างไร

    ในที่สุดผู้คนในตลาดของสื่อก็ได้แต่มองเห็นพี่น้องร่วมสังคมเหล่านั้นว่าเป็นผู้ไร้การศึกษา, โง่, จน และพร้อมจะขายเสียง จนเห็นว่าไม่ควรได้สิทธิประชาธิปไตยเท่าเทียมกับตน

    2/ พรรคการเมืองไม่เป็นพื้นที่สาธารณะที่คนไทยทุกคนอาจเข้าถึงได้ พรรคการเมืองทุกพรรคเป็นของบุคคลคนเดียวหรือกลุ่มเดียวทั้งนั้น ในบางพรรคเจ้าของพรรคอาจปรากฏตัวให้เห็น ในบางพรรคก็ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง ประชาชนไทยจึงไม่อาจใช้พรรคการเมืองผลักดันนโยบายสาธารณะได้ "ไทยรัฐ" เป็นพื้นที่เปิดทางการเมืองให้แก่ประชาชนได้มากกว่าและกว้างกว่าพรรคการเมืองทุกพรรค

    เรายังไม่เคยมีพรรคการเมืองจริง มีแต่แก๊งการเมือง (จะยุบทิ้งเสียบ้างจึงไม่เป็นไร โดยเฉพาะถ้ายุบอย่างเป็นธรรม) จะต้องแก้รัฐธรรมนูญหรือแก้กฎหมายอย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดพรรคการเมืองที่แท้จริงขึ้นให้ได้

    3/ พื้นที่อื่นๆ ซึ่งอาจใช้เป็นพื้นที่ทางการเมืองแก่คนส่วนใหญ่ได้ ก็ต้องขยายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสมาคม, องค์กร, สหภาพ, วัด, โรงเรียน, และการจัดองค์กรในหลายรูปลักษณ์

    กระบวนการสมานฉันท์ไม่ใช่การบ้วนน้ำลายเล่น หากกล้าทำได้จริงจะเกิดผลดีตามมามากมาย ไม่แต่เพียงความปรองดองของคนในชาติ แต่รวมไปถึงการมองเห็นจุดอ่อนของสังคมตนเอง และมาตรการที่จะแก้ไขจุดอ่อนเหล่านั้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

    ที่มา:http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act01160252&sectionid=0130&day=2009-02-16

    จากคุณ : sao..เหลือ..noi - [ 16 ก.พ. 52 05:34:17 A:58.8.166.84 X: ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป


Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com