Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    ทักษิณเรียกร้อง ปชต.หรือ ทักษิณาธิปไตย

    ความหมาย ทักษิณาธิปไตย
    อ้างอิง http://board.dserver.org/b/benjamin/00000280.html
    ขอตัดข้อความบางส่วนครับ

    อาจารย์ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงระบอบทักษิณาธิปไตย ว่า มีประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น ประกอบด้วย ระบอบทักษิณาธิปไตย ก่อเกิดได้อย่างไร 2.ระบอบทักษิณาธิปไตย เติบโตได้อย่างไร 3. มีผลต่อการเมืองไทยอย่างไร และ 4.มีผลต่อสื่อมวลชนอย่างไร

    รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ตั้งความหวังที่จะพัฒนาระบอบการเมืองการปกครองของไทยให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากกว่าเดิม แต่การเมืองการปกครองหลังปี 2540 แทนที่จะพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กลับพัฒนาไปสู่ระบอบทักษิณาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบการเมืองการปกครองของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ

    ระบอบทักษิณาธิปไตย ก่อเกิดจากปัจจัยที่ประกอบกัน 3 อย่าง คือ 1.การออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อให้มี Strong Government (รัฐบาลเข้มแข็ง) และ Strong Prime Minister (นายกรัฐมนตรีเข้มแข็ง) และเพื่อให้ระบบการเมืองการปกครองแปรเปลี่ยนจากระบบพหุพรรค เป็นทวิพรรค 2.ความอ่อนแอของกลุ่มทุนการเมืองเดิม ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองเมื่อปี 2540 ที่มีผลในการทำลายกลุ่มทุนทางการเงินและกลุ่มทุนอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ และ 3.ฐานการเงินอันมั่นคงของ พ.ต.ท.ทักษิณเอง

    ศาสตราจารย์รังสรรค์ กล่าวว่า ระบอบทักษิณาธิปไตยเติบโตจากยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีที่สำคัญ 6 ประการ คือ 1.การสร้างและขยายฐานการเมือง โดยเริ่มต้นด้วยการสถาปนาพรรคไทยรักไทย ตามมาด้วยกระบวนการ M&A คือ กระบวนการควบและครอบกลุ่มการเมือง และฐานพรรคการเมืองซึ่งเป็นสิ่งจูงใจที่แฝงเร้นอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และในรัฐธรรมนูญยังมีสิ่งจูงใจในการลงโทษพรรคการเมืองขนาดเล็ก เกื้อกูลการเติบโตของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ โครงสร้างสิ่งจูงใจเหล่านี้ได้เสริมส่งให้พรรคการเมืองเลือกเส้นทางการเติบโตจากภายนอกมากกว่าเลือกการเติบโตจากภายในการสร้าง และการขยายฐานการเมืองยังอาศัยวิธีการตลาดทางการเมืองโดยเฉพาะการสร้างยี่ห้อทางการเมือง การสร้างทักษิณ และไทยรักไทยเป็นยี่ห้อการเมือง การสร้างทักษิโณมิกส์ให้เป็นยี่ห้อการเมืองและพยายามอาศัยวิธีการตลาดในการทำให้ประชาชนมีความภักดีต่อยี่ห้อ รวมทั้งการหมั่นตรวจสอบคะแนนนิยมของประชาชนด้วยการทำโพล และการประชาสัมพันธ์ทางการเมือง

    สำหรับ ข้อ 2.การนำเสนอเมนูนโยบายประชานิยม ซึ่งมีผลในการเพิ่มพูนคะแนนนิยมในทางการเมืองและมีผลในการขยายฐานทางการเมืองของพรรคไทยรักไทย 3. เกิดจากการเกื้อหนุนของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีบทบาท ในการเสริมส่ง การเติบโตของระบบทักษิณาธิปไตย โดยมีส่วนส่งเสริม 3 ส่วนคือ ประการแรก คือ การบังคับให้ผู้สมัครส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง ประการที่สอง มีอคติเกี่ยวกับขนาดของพรรค รัฐธรรมนูญปี 2540 มีอคติในการเกื้อกูลพรรคการเมืองขนาดใหญ่ และลงโทษพรรคการเมืองขนาดเล็ก และ ประการสุดท้ายส่งเสริมให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ในการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรี ทำให้นายกรัฐมนตรี เป็น Strong Prime Minister

    ข้อ 4.การครอบงำตลาดการเมืองทั้งตลาดพรรคการเมือง และนักการเมือง ครอบงำวุฒิสภา และครอบงำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งการครอบงำตลาดนักการเมืองส่วนหนึ่งเกิดจากรัฐธรรมนูญบังคับให้ส.ส.ต้องสังกัดพรรค จึงทำให้ตลาดนักการเมือง เป็นตลาดของผู้ซื้อไม่ใช่ตลาดของผู้ขายหรือไม่ใช่ตลาดของตัวนักการเมืองเอง และการที่พรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จในการสร้างยี่ห้อพรรคไทยรักไทยและสามารถทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีความภักดีต่อยี่ห้อ ก็มีส่วนทำให้นักการเมืองมีความต้องการที่จะตบเท้าเข้าพรรคไทยรักไทย ด้วยเหตุนี้ พรรคไทยรักไทย และพ.ต.ท.ทักษิณ จึงมีอำนาจครอบงำตลาดนักการเมือง ส่วนในตลาดพรรคการเมือง พรรคไทยรักไทยได้อาศัยยุทธวิธีให้การเข้าควบและครอบกลุ่มพรรคการเมืองต่างๆ จนทำให้พรรคการเมืองที่มีชีวิตลดน้อยลง

    ศาสตราจารย์รังสรรค์ กล่าวว่า จะเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคไทยรักไทย ประสบความสำเร็จในการครอบงำตลาดนักการเมืองและตลาดพรรคการเมือง และยังรุกคืบเข้าไปยึดพื้นที่ของวุฒิสภาและพยายามยึดพื้นที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเห็นได้จากการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทักษิณเปิดเสรีให้ผู้สมัครสามารถใช้ยี่ห้อของพรรคไทยรักไทยได้ คนที่ชนะในที่สุดก็เป็นคนของพรรคไทยรักไทยที่แท้จริง
    5.การครอบงำองค์กรรัฐธรรมนูญาภิบาล เป็นการรุกคืบเข้าไปครอบงำองค์กรที่กำกับสังคมการเมืองไทย เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช., ปปง., สตง., กกต., กทช. และการครอบงำกระบวนการนโยบาย

    “พรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จในการครอบงำกระบวนการกำหนดนโยบาย ซึ่งเดิมผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการครอบงำคือ กลุ่มขุนนางนักวิชาการ แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2540 บทบาทของเทคโนแครตก็เสื่อมสลายลดน้อยลง เทคโนแครตซึ่งมีภาพของความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นภาพของขุนนางข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถถูกทำลายไปโดยวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 ภาพของความซื่อสัตย์ สุจริต ถูกบั่นทอนไปเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ และเทคโนแครตเข้าไปหาประโยชน์จากการเก็งกำไรซื้อขายหลักทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์การเงินปี 2540 ประชาสังคมไทยเริ่มตั้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความสามารถในทางวิชาการของเทคโนแครตไทย ความจริงบทบาทของเทคโนแครตไทย ถูกบั่นทอนตั้งแต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์แต่พอมาถึงรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เทคโนแครตไม่รู้หายไปไหน"

    สำหรับข้อ 6.ระบอบทักษิณาธิปไตย นายรังสรรค์กล่าวว่า มีผลต่อสังคมการเมืองไทยอย่างไร สังคมการเมืองไทยไม่สามารถพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยั่งยืน และถาวรได้ หากแต่จะพัฒนาไปสู่ระบอบเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยเสมอไป การเลือกตั้งเป็นเพียงมรรควิถี ของการขึ้นสู่อำนาจระบบประชาธิปไตยไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการขึ้นสู่อำนาจเพียงส่วนเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับประเด็นการใช้อำนาจ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หากใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ได้ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของราษฎร แต่เป็นการใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เครือญาติ พวกพ้องและบริวาร รัฐบาลนั้นมิอาจได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย

    “ระบอบทักษิณาธิปไตย เป็นระบอบการเมืองการปกครองที่ปราศจาก Check & Balance (ตรวจสอบและถ่วงดุล) โอกาสที่จะใช้อำนาจในการฉ้อฉลและฉ้อราษฎร์บังหลวงมีมาก การแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากกระบวนการกำหนดและบริหารนโยบายมีปรากฏทั่วไป การกำหนดนโยบายในทางเกื้อกูลผลประโยชน์ทั้งธุรกิจ และการเมืองของตนเองและพวกพ้องเป็นสามัญกรณี ในฐานะที่เป็น Democratic Oligarchy (การปกครองระบอบคณาธิปไตย) ผู้ทรงอำนาจภายใต้ระบอบนี้จึงไม่ต้องการความเป็นธรรมาภิบาล”

    ศาสตราจารย์รังสรรค์ กล่าวต่อว่า ระบอบทักษิณาธิปไตยจะมีผลต่อสื่อมวลชนอย่างไร ผู้ทรงอำนาจภายใต้ระบอบทักษิณาธิปไตยไม่ต้องการให้ผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองมีความเห็นต่างจากผู้ปกครอง หากผู้ปกครองชี้นำว่าระบบเศรษฐกิจต้องโต 7 เปอร์เซ็นต์ ผู้อยู่ใต้ปกครองก็ต้องยอมรับตัวเลข 7 เปอร์เซ็นต์ หากผู้ที่อยู่ใต้การปกครองมีความเห็นเป็นอย่างอื่นผู้ปกครอง จะหาวิธีการทำให้ผู้ที่อยู่ใต้ปกครองหุบปากและจงอย่าได้เอื้อนเอ่ยถึงการหลุดพ้นจากกับดักจีดีพี หรือหากผู้ปกครองชี้นำว่าไม่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงในกรณีสนามบินสุวรรณภูมิก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่อยู่ใต้ปกครองต้องเชื่อฟังผู้ปกครอง เพราะผู้ปกครองได้มีผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าให้สินบนมายืนยันว่าไม่ได้ให้สินบนแต่ประการใด

    “ระบอบทักษิณาธิปไตย มีวิธีการควบคุมกำกับและตรวจสอบสื่อได้หลายวิธี ประการที่ 1.คือกลุ่มทุนทักษิณาธิปไตย รุกคืบเข้าไปยึดพื้นที่ในธุรกิจสื่อสารมวลชน 2.กลุ่มทุนทักษิณาธิปไตย ผนึกกำลังไม่ใช้จ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสื่อที่มีความคิดเป็นปรปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย 3. ผู้ทรงอำนาจในระบอบทักษิณาธิปไตย ควบคุมและกำกับการใช้จ่ายงบประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานราชการให้เฉพาะแต่สื่อที่เป็นเด็กดี และไม่ให้งบประชาสัมพันธ์กับสื่อที่เกเร 4.กลุ่มทุนสื่อสารมวลชน และนักหนังสือพิมพ์ต้องถูกตรวจสอบการเสียภาษีและการฟอกเงิน 5.ผู้ทรงอำนาจในระบอบทักษิณาธิปไตย ใช้กลไกการประชาสัมพันธ์ของรัฐตอบโต้สื่อที่มีพฤติกรรมที่ไม่เป็นไทยรักไทย 6.การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเป็นเครื่องมือ”

    ศาสตราจารย์รังสรรค์ กล่าวว่า ในประการสุดท้าย คือ Mc Journalism ภายใต้ระบอบทักษิณาธิปไตย หาก Mc Journalism ยังคงขยายตัวภายใต้ระบอบทักษิณาธิปไตย สิ่งที่จะเกิดกับสังคมไทยคือจะไม่มีพื้นที่สาธารณะสำหรับสาธารณประโยชน์ด้วยกระบวนการเปลี่ยนแปลงสื่อมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ให้เป็น Mc Journalism 2.การขยายตัวของ Mc Journalism จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของระบอบเผด็จการจากการเลือกตั้งในนามระบอบทักษิณาธิปไตย

    "เมื่ออิศรา อมันตกุล เขียนเรื่องสั้นเรื่อง เค้าตะโกนถามนายกรัฐมนตรี ในทศวรรษ 2490 ท่านให้คำตอบว่าเสียงตะโกนนั้นไร้ความหมาย ภายใต้ระบอบทักษิณาธิปไตย เสียงตะโกนถามนายกรัฐมนตรี ยิ่งไร้ความหมายได้จริง เพราะแม้จะได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง"นายรังสรรค์กล่าว

    จากคุณ : หมอหุ้น - [ 18 เม.ย. 52 20:46:46 A:125.25.3.187 X: ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป


Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com