พ.ร.ก.ฉุกเฉิน "กทม.- 5จว." การใช้อำนาจที่ขัดกฎหมาย?
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบเมื่อวันที่ 17 เมษายน ว่า รัฐบาลยังไม่ยกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ได้ประกาศให้กรุงเทพฯและอีก 5 จังหวัดปริมณฑลเป็นพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ร้ายแรง
นั่นหมายความว่ากรุงเทพฯและ 5 จังหวัดปริมณฑลยังเป็นพื้นที่ที่ไม่น่าไว้วางใจ จำเป็นต้องมีตำรวจ ทหารคอยควบคุมดูแล และรัฐบาลมีอำนาจพิเศษหลายประการ
แต่ข้อที่น่าพิจารณาก็คือการใช้อำนาจพิเศษของรัฐบาลโดยอาศัย พ.ร.ก.ฉุกเฉินกระทำได้หรือไม่ ?
ในเมื่อนายอภิสิทธิ์แถลงข่าวที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อเวลาประมาณบ่ายสองของวันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน เรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ร้ายแรงในกรุงเทพฯและ 5 จังหวัดปริมณฑลได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม พระนครศรีอยุธยาและสมุทรปราการ จนมาถึงบ่ายสองของวันพุธที่ 15 เมษายน ซึ่งครบ 3 วันพอดี ครม.ยังไม่มีการประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบกับการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของนายกฯ ซึ่งน่าจะขัดต่อกฎหมายในมาตรา 5
มาตรา 5 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บัญญัติว่า
"เมื่อปรากฏว่ามีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น และนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรใช้กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารร่วมกันป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้ง ฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักร หรือในบางเขตบางท้องที่ได้ตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ ในกรณีที่ไม่อาจขอความเห็นชอบจาก ครม.ได้ทันท่วงที นายกรัฐมนตรีอาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปก่อน แล้วดำเนินการให้ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ภายในสามวัน หากมิได้ดำเนินการขอความเห็นชอบจาก ครม.ภายในเวลาที่กำหนด หรือ ครม.ไม่ให้ความเห็นชอบ ให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุดลง"
ตีความจากมาตรา 5 อย่างง่ายๆ ได้ว่า ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินพื้นที่ใด เป็นหน้าที่ของ ครม.ที่ต้องประชุมกันแล้วให้ความเห็นชอบ โดยนายกฯเป็นผู้เสนอ แต่ถ้าทำไม่ทัน (ไม่สามารถเรียกประชุม ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบ) นายกฯอาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปก่อน แล้วค่อยมาให้ ครม.เห็นชอบภายหลัง แต่ทั้งนี้ต้องภายในสามวัน
ข้อเท็จจริงคือ หลังจากนายอภิสิทธิ์ถูกคนเสื้อแดงรุมล้อม ทุบรถ ขว้างปาไม้ เก้าอี้ ฯลฯ ในกระทรวงมหาดไทยในวันแถลงข่าวจนมาถึงบ่ายสองของวันที่ 15 เมษายน ไม่ปรากฏว่ามีการประชุมคณะรัฐมนตรี ทำให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.
ดังนั้น กรุงเทพฯและ 5 จังหวัดปริมณฑลจะกลับสู่การเป็นพื้นที่ปกติเหมือนจังหวัดอื่นทั่วประเทศตั้งแต่บ่ายสองวันที่ 15 เมษายน นายกฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและข้าราชการพลเรือนไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะกระทำการ หากได้กระทำการใดลงไปก็เท่ากับฝ่าฝืนกฎหมาย
สิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการ อาทิ การจับกุมดำเนินคดี การควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมเกิน 48 ชั่วโมง การเข้าตรวจค้นและการปิดโทรทัศน์ดาวเทียมดี สเตชั่น การสั่งให้ทหารไปประจำตามจุดต่างๆ ของกรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นต้น
หากเป็นเช่นนี้ ผู้ใช้อำนาจโดยที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและขัดต่อกฎหมายอาจถูกยื่นเรื่องให้มีการถอดถอนจากตำแหน่งและผู้เสียหายอาจฟ้องร้องดำเนินคดีหรือค่าเสียหายได้
เมื่อประเด็นอันเป็นที่ข้องใจสงสัยของหลายฝ่ายว่า ภายใน 3 วัน ครม.ไม่ได้ให้ความเห็นชอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นับแต่บ่ายสองของวันที่ 15 เมษายนมาถึงวันนี้ รัฐบาลไม่มีอำนาจตามกฎหมาย รวมไปถึง การที่ ครม.ประชุมเป็นครั้งแรกในทำเนียบเมื่อวันที่ 17 เมษายน ให้ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปย่อมเป็นการมิชอบด้วย
ดังนั้นรัฐบาลจึงควรชี้แจงเพื่อความกระจ่างต่อสาธารณชนและต่อผู้ที่เสียสิทธิจากการที่รัฐบาลใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้...ว่าใช้ อำนาจไปตามมาตรา 5 อย่างถูกต้องอย่างไร
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pol01180452§ionid=0133&day=2009-04-18
แก้ไขเมื่อ 19 เม.ย. 52 09:00:58
แก้ไขเมื่อ 19 เม.ย. 52 09:00:21
จากคุณ :
มองข้ามช็อต
- [
19 เม.ย. 52 08:56:00
A:58.9.138.114 X:
]