วันนี้ขอเว้นวรรค เสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อน้ำเงิน สักวัน
เห็นข่าววันนี้ ปลัดกระทรวงการคลังจะถูกไล่ออก แล้วอดไม่ได้
ขอลำดับความ
๑. ในรัฐบาลชวน๒ สำนักงาน ก.พ. ได้นำเสนอเรื่องระบบนักบริหารระดับสูงต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบและอนุมัติให้นำระบบดังกล่าวมาใช้ในราชการพลเรือนไทย โดยกำหนดให้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมนักบริหารระดับสูง(นบส.)เท่านั้น ที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองอธิบดีได้ ซึ่งในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2543 มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน ก.พ. นำระบบนักบริหารระดับสูงดังกล่าวมาใช้ในราชการพลเรือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544
๒. รัฐบาลชวน๒ มีมติเรื่องนี้ไม่กี่เดือน ก็เปลี่ยนเป็นรัฐบาลทักษิณ ซึ่งพบว่ามติครม.ดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะโควต้าการเรียน นบส.มีจำกัดมาก กรมหนึ่งโดยเฉลี่ยมีโอกาสส่งคนเข้าเรียน ๑ ถึง ๒ คน ต่อปี แม้จะมีหลักสูตรที่เทียบเท่า นบส. ให้ใช้แทนได้ แต่หลักสูตรเหล่านั้นโอกาสได้เข้าเรียนยิ่งยากกว่า เช่น วปอ. ขณะที่แคนดิเดตรองอธิบดีมีหลายสิบคน ทำให้การคัดเลือกรองอธิบดีไม่มีประสิทธิภาพ คนเก่งๆหลายคนไม่มีโอกาสเรียน นบส. ด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ถูกกีดกันจากผู้บังคับบัญชา มีภาระงานที่สำคัญมากไม่สามารถลาเรียนได้ และว่าไปแล้วไม่ควรมีหลักสูตรใดๆ ที่ควรจะให้ความสำคัญถึงกับว่าถ้าไม่ได้เรียนก็ไม่สมควรเป็นรองอธิบดี
๓. ด้วยเหตุดังกล่าว กพ.จึงได้ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นใหม่เวียนแจ้งส่วนราชการต่าง ๆ โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับ 9 เพิ่มเติม นอกเหนือจากหลักการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ถ้าจำไม่ผิดคือหลักเกณฑ์ที่ว่าถ้าไม่เคยเรียน นบส. ก็ให้เป็นรองอธิบดีได้ เมื่อเป็นแล้วให้เรียนภายหลังได้
๔. ต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีของกระทรวงการคลัง ซึ่งหนึ่งในนั้นประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลัง (ตอนนั้นเป็นแค่อธิบดี) กรรมการชุดดังกล่าวได้ดำเนินการคัดเลือกข้าราชการที่ไม่ได้ผ่าน นบส. เป็นรองอธิบดี
๕. ต่อมาอดีตข้าราชการที่เป็นผู้สมัครเป็นรองอธิบดีรายหนึ่ง (ผ่าน นบส. แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นรองอธิบดี) ได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง จนในที่สุดศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาว่า การที่สำนักงาน ก.พ. กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมไม่ชอบด้วยมติคณะรัฐมนตรี จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
๖. ล่าสุด ป.ป.ช.ยืนยันชี้มูลว่าปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเคยแต่งตั้งรองอธิบดีตามหลักเกณฑ์ใหม่ของ กพ. มีความผิดร้ายแรงเกี่ยวข้องกับกรณีการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญ เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากร โดยมิชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของราชการ หรือมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้น คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงการคลัง ต้องมีมติให้ไล่ออกหรือปลดออกจากราชการ
สรุป
๑. เป็นกรรมของปลัดกระทรวงการคลัง ทำตามหลักเกณฑ์ของ กพ. ก็ถูกไล่ออก ควรนิรโทษกรรม
๒. ตราบาปของ ปชป. ต่อระบบราชการไทย ที่กำหนดให้ใครจะเป็นรองอธิบดีต้องผ่านหลักสูตร นบส. ควรยกเลิกโดยสิ้นเชิง การผ่านหลักสูตรใดๆควรเป็นเพียงแต้มบวกของข้าราชการรายนั้นในการพิจารณาเท่านั้น
เวลานี้การสมัครรองอธิบดีของหลายกรม คนที่อยู่ในข่ายเป็นผู้มีสิทธิ์สมัคร(ผอ.ระดับ ๙) มีหลายสิบ แต่ผู้ผ่าน นบส. มีเพียง ๑ ถึง ๒ คน (ผู้ที่ผ่านการเรียนส่วนหนึ่งเกษียณไปก่อน) กฎข้อนี้เป็นช่องทางวางคนในตำแหน่ง เล่นพรรคเล่นพวกได้สบาย ระบบราชการไทยเสื่อมถอยลงทุกวัน รองอธิบดีเป็นทางผ่านสู่ตำแหน่งอื่นๆที่สำคัญ ไม่ว่า ผู้ตรวจราชการ อธิบดี รองปลัดกระทรวง ปลัดกระทรวง ได้รองอธิบดีไม่เก่ง อนาคตราชการล่มจม
แก้ไขเมื่อ 22 เม.ย. 52 00:47:12
แก้ไขเมื่อ 22 เม.ย. 52 00:44:59
จากคุณ :
Pom.com
- [
22 เม.ย. 52 00:38:06
A:124.120.227.51 X:
]