Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    ห้องราชดำเนินที่เต็มไปด้วย Bias และ Selective Perception

    ขอบคุณห้องราชดำเนินที่ทำให้ดิฉันได้สติ และเกิดปัญญา
    เข้าใจในความลำเอียง (Bias) ของคน และ การวิธีรับรู้ (Perception) ของคนในสังคมไทย

    มีบทความน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันมาก
    เผื่อใครอ่านแล้วจะมีสติ และเกิดปัญญา บ้างค่ะ

    เครดิตจากที่นี่นะคะ ขอบคุณผู้เขียนบทความนี้มากค่ะ

    http://www.oknation.net/blog/print.php?id=55730

    ***************************************

    รู้จักกับตัวตนของความลำเอียง
     
    บ้านเมืองที่วุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความลำเอียง แบ่งพรรคแบ่งพวกของคนไทย

    ความลำเอียง หรืออคติ หรือ Bias นั้น  มีมาคู่กับสังคมมนุษย์ตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว พระพุทธองค์ทรงแบ่งแยกความลำเอียงออกเป็น 4 ชนิดตามสาเหตุ ได้แก่

    - ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักใคร่  คนพิศวาสกัน ทำอะไรก็ถูกใจไปหมด

    - โทสาคติ ลำเอียงเพราะโกรธ ไม่ชอบขี้หน้าลูกน้อง ทำดีแค่ไหนก็ไม่ขึ้น

    - โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง อันนี้น่าจะรวมอคติเพราะความโง่ไว้ด้วยแล้ว

    - ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัวภัยจะมาถึงตน

    สี่ข้อนี้ชัดเจนมากเลยครับ แทบไม่ต้องอธิบายอะไร เชื่อว่าในบางเวลา เกือบทุกคนก็มีบางข้อ อย่างผมนี่สองข้อแรกจะมาบ่อยมาก

    ในเชิงการจัดการ วิชาพฤติกรรมองค์กร (Organization Behavior) จะมีคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องความลำเอียงนี้  เริ่มต้นด้วยการที่คนมักจะใช้ทางลัด (shortcut) ในการตัดสินผู้อื่น  ทางลัดที่พบบ่อย เช่น

    - Selective Perception ความสามารถในการประมวลผลของมนุษย์มีจำกัด เราจึงเลือกที่จะรับรู้ และไม่รับรู้อะไร  พวกนักลงทุนสาย Technical Analysis เป็นตัวอย่างที่ดี  เวลา signal ที่ออกมาไม่ตรงกับความเป็นจริง ยังมีหน้ามาตะแบง ว่าเป็น fault signal  ใครชอบอะไร ก็จะเชื่อตามนั้น

    - Halo Effect คุณสมบัติบางอย่างของคนเรามักจะล้ำหน้าคุณสมบัติข้ออื่นๆ เวลาคนมองคนนี้ก็จะถูกเจ้ารัศมีทั้งทางดีและไม่ดีนี้กลบหมด ตัวอย่างที่ใกล้ที่สุดคือ กรณีของอดีตนายกรัฐมนตรีที่แกทำอะไรมาบ้างตลอด 5 ปี ก็ไม่มีใครจำได้แล้วล่ะ ตอนนี้ Halo เรื่องทุจริตบดบังคุณสมบัติอื่นๆของเค้าจนหมด

    - Contrast Effect เราไม่ได้ตัดสินคนอย่างเป็นอิสระ แต่มักจะเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ที่คุ้นเคยหรือเพิ่งจะผ่านมา เช่นในการสัมภาษณ์งาน คนที่ถูกสัมภาษณ์ถัดจากคนบุคลิกดี หน้าตาดี พูดจาแคล่วคล่อง นับว่าซวยมาก เพราะคะแนนจะออกมาแย่กว่าที่ควรจะเป็น

    - Projection คนมักจะเอาคุณสมบัติของตนเองไปประเมินผู้อื่น ผมเองก็เป็นข้อนี้บ่อย เช่น เวลามีน้องๆทำงานผิดพลาด ไม่ตั้งใจทำ ผมก็มักจะพูดทำนองว่า ถ้าเป็นผมจะทำอย่างนั้นอย่างนี้  หากเราไม่สามารถสลัดเจ้า projection นี้ออกไปจากหัวได้ ก็จะทำให้ขาดความเข้าใจในความแตกต่างของคน

    - Stereotyping บ่อยครั้งที่คนเราชอบจัดกลุ่มคนอื่น พยายามจะมองว่า คนนั้นคล้ายๆคนนี้ หรืออยู่ในกลุ่มนั้นกลุ่มนี้  ดังนั้นต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แน่นอน เช่น เรามักจะมองว่านักร้องผู้หญิงตามร้านอาหารกลางคืนเป็นคนไม่ดี แต่ก็คงไม่ใช่ทั้งหมด หรือคนเกิดเดือนสิงหาเป็นคนเย่อหยิ่งจองหอง

    สำหรับ Common Bias และ Error หรือความลำเอียงโดยทั่วไป ในเชิงการจัดการสามารถแบ่งออกได้เป็น

    - Overconfidence Bias มั่นใจเกินไป จนขาดความรอบคอบ

    - Anchoring Bias ความโน้มเอียงที่จะใช้ข้อมูลเริ่มต้นในการตัดสินใจ  บางทีคนเราชอบยึดติด ไม่ศึกษาข้อมูลทั้งหมดให้ละเอียดเสียก่อน ไปดูรถคันแรกก็ชอบเสียแล้ว ไม่ยอมเก็บข้อมูลเอาไปเปรียบเทียบกับคันอื่นๆ

    - Confirmation Bias  เราเลือกใช้ข้อมูลที่สนับสนุนการตัดสินใจที่ทำไปแล้ว ซื้อ CR-V มาคันนึงกินน้ำมันมาก บอกว่านั่งสบายดี บรรทุกของได้เยอะ (ใครล่ะเนี่ย คุ้นๆ)

    - Availability Bias การตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลเท่าที่มีอยู่ เป็นความมักง่าย ข้อมูลไม่พอก็ไม่ไปขวนขวายหามา

    - Representative Bias  บางทีเราก็ตัดสินใจโดยดูจากตัวอย่าง เช่น การที่เด็กๆอยากจะเป็นนักร้อง เป็นดารา เพราะเห็นว่าเท่และได้เงิน หรือรับสมัครนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสิงขรมาทำงาน ไม่ถูกใจเลย คราวหน้าจะไม่รับอีกแล้ว

    - Escalation of Commitment Error หรือการยืนกระต่ายขาเดียว ยันอยู่กับสิ่งผิดๆจนกว่า หลักฐานจะชัดจนโต้แย้งไม่ได้แล้ว ศัพท์วัยรุ่นก็เค้าว่า เกรียน  คงจะคุ้นกันดีนะครับ

    - Randomness Error ในโลกแห่งความเป็นจริงมีเหตุการณ์เยอะแยะที่เกิดขึ้นแบบสุ่ม มันเกิดขึ้นของมันอย่างนั้นเอง ไม่ได้มีรูปแบบที่จะอธิบายเป็นตรรกะได้ หากเราพยายามจะให้เหตุผลกับสิ่งเหล่านี้ นั่นก็จะกลายเป็นความผิดพลาด ตัวอย่างของ bias ประเภทนี้ที่ผมพอจะนึกออกคือ พวกมองน้ำตาเทียน เปลือกไม้ หรือปลีกล้วยเป็นตัวเลข

    - Hindsight Bias เคยเห็นคนพูดว่า “ว่าแล้วเชียว” หรือ “ชั้นนึกแล้ว” มั้ยครับ นี่เป็นสัญญาณของพวกที่ชอบคิดว่าตัวเองทำนายถูกต่อเมื่อเหตุการณ์ได้ผ่านไปแล้ว  ลองถ้าเกิดอะไรที่ตรงข้ามพวกนี้ก็จะเงียบกริบเลย เมื่อก่อนมีคนแก่ๆ ใส่แว่น หน้ากลมๆ ชอบชี้นิ้ว ออกทีวีช่องหนึ่งตอนดึกๆ แกชอบพูดประโยคประมาณนี้  มีสำนวนไทยที่คล้ายๆแต่ไม่ตรงซะทีเดียวสำหรับ Hindsight Bias คือ เห่าข้างกระดาน

    ลองไปซักไซ้ไล่เลียงพฤติกรรมของพวกเราดูนะครับ ว่าเคยมีความลำเอียงชนิดไหนเกินหน้าออกมาบ้างหรือเปล่า  ขึ้นชื่อว่า มนุษย์ ล่ะนะ ก็คงจะต้องมีบ้าง  แต่อย่าให้มันมีบ่อยนัก ที่สำคัญคือเมื่อมันเกิดขึ้น ต้องระบุได้ว่า เรากำลังมีอคติชนิดไหน เมื่อรู้แล้วการกำจัดมันก็จะทำได้ง่ายครับ

    มาช่วยกันกำจัดความลำเอียงกันเถอะ บ้านเราจะได้น่าอยู่

    ******************************************

    จากคุณ : Health - [ 23 เม.ย. 52 15:20:21 A:10.13.105.245 X:202.28.179.13 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป


Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com