Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    ลำดับเหตุการณ์ “สงกรานต์วิปโยค” ตอนที่ ๑. โดย “รศ. ดร. วรพล พรหมิกบุตร”

    “สงครามอำมหิตยาธิปไตย vs. ประชาธิปไตยเสื้อแดง”


    รองศาสตราจารย์ ดร. วรพล พรหมิกบุตร *

    ชื่อบทความเดิม: สงครามอำมหิตยาธิปไตย vs ประชาธิปไตยเสื้อแดง บทวิเคราะห์ประมวลพลวัตรเหตุการณ์ 8 – 14 เมษายน 2552 กรุงเทพฯ – พัทยา – กรุงเทพฯ

    “การที่จะมีประชาชนจะหนึ่งคนหรือแสนคนลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบ ทบทวนตัวเอง พิจารณาตัวเอง ไม่ได้ขัดกับหลักประชาธิปไตยครับ ……. แต่ท่านดูเถอะครับ ทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนั้น ส่วนใหญ่เค้าไม่รอให้กฎหมายจัดการครับ มันจะมีสิ่งที่เรียกว่าสำนึกหรือความรับผิดชอบของนักการเมืองที่เค้าบอกว่า มันต้องสูงกว่าคนธรรมดา มีเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่ง ท่านยกตัวอย่างกรณีของเกาหลี เช่น แค่คิดนโยบายนะครับว่าจะต้องเปิดการค้าเสรีเอาเนื้อวัวจากอีกประเทศเข้ามา คนลุกฮือขึ้นมาเป็นแสน เค้าลาออกทั้งคณะ” (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อภิปรายในรัฐสภา วันที่ 31 สิงหาคม 2551 ขณะดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แนะนำแนวทางให้รัฐบาลพรรคพลังประชาชน นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากตำแหน่งท่ามกลางสถานการณ์ชุมนุมยืดเยื้อของกลุ่มมวลชนที่เรียกตนเองว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”)

    “วันที่ 8 เมษายน 2552 ประชาชนจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศนับจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าสองแสนห้าหมื่นคนเดินทางมาร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนอกจากไม่ลาออกทั้งคณะแล้วยังดำเนินมาตรการทางทหารตอบโต้ส่งผลนำพาประเทศเข้าสู่สถานการณ์สังหารหมู่ประชาชน” (บันทึกประมวลสรุปรายงานข้อมูลภาคสนามและการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมโดยนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี, วันที่ 18 เมษายน 2552)


    000
    ตอนที่ 1 : พัทยา

    วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2552

    นักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธีและคณะ แถลงบทวิเคราะห์ต่อสาธารณชนผ่านเวทีชุมนุม นปช. (“คนเสื้อแดง”) ว่าการบริหารประเทศของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาได้นำพาประเทศไปสู่ภาวะ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” เช่น นอกเหนือจากไม่สามารถทำให้เกิดความสมานฉันท์ภายในประเทศได้ตามที่คาดหวังกันก่อนรับตำแหน่งแล้วยังมีประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองการทหารกับประเทศกัมพูชาเพิ่มขึ้น นักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธีอ่านคำแถลงผ่านสื่อมวลชน (แต่สื่อมวลชนกระแสหลักในประเทศส่วนใหญ่ไม่เผยแพร่สู่สาธารณชนไทย) แนะนำให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ลาออกเพื่อเปิดทางให้จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ไม่มีทั้งพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมรัฐบาล และให้รัฐบาลเสียงข้างน้อยดังกล่าวดำเนินภารกิจเฉพาะหน้าเร่งด่วนในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คปพร.” ที่มีวาระบรรจุอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรแล้วเป็นฐานเริ่มต้นการพิจารณา แปรญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 หลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วจึงประกาศยุบสภาจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ภายใน พ.ศ. 2552 วิกฤตจะคลี่คลายในทางสมานฉันท์มากขึ้นกว่าสภาพที่เป็นอยู่ขณะนั้น

    แต่หากรัฐบาลดึงดันจะอยู่ในอำนาจต่อไปจะเกิดภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤตรุนแรงยิ่งขึ้น



    วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2552

    การจัดชุมนุมประชาชนโดยใช้สิทธิการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล (กรุงเทพมหานคร) ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องความมีส่วนร่วมของกลุ่มพลังมวลชนจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศพร้อมใจกันสวมใส่ “เสื้อแดง” เดินทางหลั่งไหลเข้าสู่ที่ชุมนุมตลอดคืนวันที่ 8 ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 9 เมษายน 2552 จนมีประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมรวมกันมากกว่า 250,000 คนจนอาจกล่าวอย่างไม่เป็นทางการขณะนี้ว่าเป็น “การชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย” เท่าที่เคยปรากฏ โดยเป็นการชุมนุมที่มีสาธารณชนไทยเข้าร่วมมากที่สุดไม่ว่าจะพิจารณาจากจำนวนรวมของผู้เข้าร่วมชุมนุม หรือความหลากหลายทางดัชนีสังคมของประชาชนที่ร่วมชุมนุม เช่น อาชีพ ฐานะทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษา อายุ การกระจายภูมิลำเนา เป็นต้น


    วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2552

    แกนนำประชาชนที่ร่วมชุมนุม (นปช. นำโดยนาย วีระ มุสิกพงศ์และคณะ) แสดงพลังการชุมนุมที่มีประชาชนเข้าร่วมมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งดังกล่าวโดยจัดการเดินขบวนประกาศการประท้วงรัฐบาลไปตามถนนสายต่าง ๆ ที่มุ่งหน้าจากบริเวณทำเนียบรัฐบาลและลานพระบรมรูปทรงม้าสู่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

    จนเป็นที่ปรากฏต่อสายตาประชาชนกรุงเทพฯ สื่อมวลชนในประเทศ และสื่อมวลชนต่างประเทศว่าบนถนนกรุงเทพฯจากลานชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเนืองแน่นไปด้วย “คนเสื้อแดง” ขณะที่ประชาชนที่เฝ้ามองการเดินขบวนดังกล่าวแสดงความรู้สึกปะปนกันทั้งสนับสนุนด้วยความพึงพอใจและหงุดหงิดที่เกิดปัญหาอุปสรรคการจราจรบนท้องถนน

    ในคืนวันที่ 9 เมษายน หลังจากแกนนำ นปช. ประเมินผลสำเร็จของการเดินขบวนประท้วงนำประชาชนจำนวนมากไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิโดยแกนนำการชุมนุมสามารถควบคุมอารมณ์มวลชนให้อยู่ในความสงบตามแนวทางสันติวิธีรวมทั้งป้องกันความพยายามแทรกแซงก่อเหตุวุ่นวายจากบุคคลภายนอกและบุคคลที่แฝงตัวแต่งกายเสื้อแดงเข้ามาในที่ชุมนุมได้หลายระดับ รวมทั้งสามารถควบคุมอารมณ์มวลชนไม่ให้พลุ่งพล่านเดือดดาลไปตามการยั่วยุโดยข่าวสารข้อมูลของสื่อโทรทัศน์กระแสหลักที่ลำเอียงเป็นปฏิปักษ์กับมวลชนเสื้อแดงมาโดยต่อเนื่อง แกนนำนปช. ได้ตกลงใจให้นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรองและคณะนำประชาชนจำนวนหนึ่ง (เบื้องต้นประมาณ 500 คนจากกรุงเทพฯ แต่ต่อมาได้เชิญชวนประชาชนในจังหวัดชลบุรี ระยองหรือใกล้เคียงเข้าร่วม) เดินทางไปยังพัทยาเพื่อประกาศการประท้วงรัฐบาลไทยต่อที่ประชุมอาเซียนซัมมิตซึ่งรัฐบาลนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะกำหนดจะเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการที่พัทยาในวันที่ 10 เมษายน 2552 (ขณะนั้นยังไม่มีการประกาศพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่พัทยา)
    นอกเหนือจากประชาชนเสื้อแดงจากกรุงเทพฯและต่างจังหวัดใกล้เคียงจะอาสากันเดินทางไปร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่พัทยาแล้วยังปรากฏว่ามีกลุ่มบุคคล “เสื้อสีน้ำเงิน” จำนวนหนึ่ง ติดอาวุธและเครื่องมือทำลาย เช่น อาวุธปืน ตะปูเรือใบ ระเบิดปิงปองและระเบิดควัน) เดินทางไปพัทยาโดยได้รับการอำนวยความสะดวกจากยานพาหนะของหน่วยราชการ (อ้างอิงภาพและรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศรวมทั้งการสัมภาษณ์ผู้ประสบเหตุการณ์โดยตรง)

    ระหว่างช่วงเวลารอยต่อของคืนวันที่ 9 และเช้าตรู่วันที่ 10 เมษายน 2552 มีการก่อสถานการณ์ตึงเครียดโดยการสาดตะปูเรือใบดักไว้บนถนนสายต่างๆ ที่มวลชนเสื้อแดงใช้เดินทางมุ่งสู่พัทยารวมทั้งการขว้างปาก้อนหินขนาดต่าง ๆ และการลอบยิงปืนเข้าใส่รถที่คนเสื้อแดงจากกรุงเทพฯใช้เดินทางไปประท้วงรัฐบาลที่พัทยา ข้อมูลภาคสนามจากการสัมภาษณ์ผู้ร่วมเดินทางไปกับขบวนรถแท็กซี่จากกรุงเทพฯกลุ่มหนึ่งมุ่งหน้าไปตามทางหลวงแผ่นดินถึงบริเวณใกล้แหลมฉบังถูกกลุ่มคนแอบซุ่มยิงปืนเข้าใส่จนมีผู้บาดเจ็บสาหัสถูกยิงเข้าที่หน้าอกต้องนำส่งโรงพยาบาล (ผู้รายงานข้อมูลพยายามสอบถามชื่อนามสกุลผู้บาดเจ็บรายดังกล่าว จำได้ชัดเจนว่าเป็นชายวัยหนุ่ม สอบถามจากแหล่งข้อมูลรอบข้างเท่าที่สอบถามได้ว่าผู้บาดเจ็บชื่อ นายสมพงษ์ จำปาชื่น (หมายเหตุผู้วิเคราะห์: ชื่อนามสกุลที่ถูกต้องครบถ้วนตามทะเบียนราษฎร์หรือเวชระเบียนของโรงพยาบาลที่รับตัวผู้บาดเจ็บรายดังกล่าวเข้ารักษาพยาบาลอาจตรงตามนี้หรือคลาดเคลื่อนไปบ้างจากชื่อนามสกุลตัวสะกดที่ปรากฏในรายงานการวิเคราะห์นี้ตามธรรมชาติขีดจำกัดความจำของแหล่งข้อมูล)

    (ต่อ คห. 1)

    จากคุณ : จำปีเขียว - [ 23 เม.ย. 52 20:41:18 A:125.25.41.223 X: ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป


Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com