Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์”มอง“รัฐบาลเหลวสร้างสมานฉันท์”เห็น“ประชาชนเป็นศัตรู” ชี้“สงกรานต์เลือด”คือ“รัฐประหารรอบสอง”

    เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยจัดการอภิปรายสาธารณะเรื่อง “สลายการชุมนุมด้วยกำลัง : แก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา” ณ ห้องประชุม 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว โดยมีวิทยากร ได้แก่ อ. ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ   มล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล พิธีกรข่าว  พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ


    “การสลายการชุมนุมคือ รัฐประหาร 19 ก.ย. รอบสอง”

    ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การชุมนุมของเสื้อแดงที่ผ่านมาไม่สามารถแยกออกจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้ โดยเมื่อย้อนกลับไป จะพบว่า เกิดสิ่งที่ อ.ทามาดะ นักวิชาการชาวญี่ปุ่นกล่าวว่า ชนชั้นนำทางการเมืองที่ปฏิเสธประชาธิปไตยพยายามใช้วิธีต่างๆ จนรัฐบาลอยู่ไม่ได้ มาโดยตลอด ทั้งการเผชิญหน้าทางการเมืองจนการเลือกตั้งเป็นโมฆะ การเลือกตั้งเป็นโมฆะจากการตั้งคูหาไม่ดี การกดดันให้นายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ คือ ทักษิณ ประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ และมีการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม 49 แต่ก่อนหน้านั้นสองสัปดาห์ก็เกิดรัฐประหาร  

    และต่อมาเกิดการชุมนุมต้านรัฐประหาร เพื่อต่อต้านอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และเกิดขึ้นอย่างเต็มที่นับแต่วันที่ 19 กันยาเป็นต้นมา จากนั้นเมื่อมีการเลือกตั้ง ฝ่ายเดิมก็ชนะอีก ทั้งที่ฉีกรัฐธรรมนูญก็แล้ว อะไรก็แล้ว มันแสดงให้เห็นว่าเราอยู่ในประเทศที่มีคนจำนวนหนึ่งยืนยันว่าเขาสนับสนุนฝ่ายนั้น ไม่ว่าจะมีการรีแบรนดิ้งพรรคอย่างไรก็ตาม

    หลังจากมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ก็มีการทำสถานการณ์ที่เหมือนสมัย 48-49 โดยใช้วาทกรรมหลักของชาติ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นปี 50-51 ก็คือการทำซ้ำ และมีความพยายามทำให้รัฐบาลสมชายมีอันเป็นไป สิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดคือ คนจำนวนมากที่สนับสนุนอีกฝ่ายพบว่าไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งกี่ครั้ง การรณรงค์ทางการเมืองกี่หน แต่นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งก็จะถูกอีกฝ่ายใช้พลังต่างๆ โค่นล้ม นี่เป็นสิ่งที่เราต้องมองการชุมนุม ว่าเป็นปฏิกิริยาของความไม่พอใจอำนาจเหล่านั้น

    การชุมนุมของคนเสื้อแดงจึงเป็นกระบวนการต้านรัฐประหารอย่างแน่นอน เพราะสิ่งต่างๆ ที่คนเหล่านี้พูดเป็นการโจมตีอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน ดังนั้น ก่อนที่จะมองว่าการชุมนุมสร้างปัญหาหรือไม่ ก็ต้องมองก่อนว่าปัญหาการเมืองไทยเป็นอย่างไร

    ดังนั้น การสลายการชุมนุมจึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้แก้ปัญหา แต่สร้างปัญหา คือ ทำสิ่งที่เป็นการรัฐประหาร 19  กันยาขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้พลังฝ่ายนี้มารวมในที่ชุมนุมแล้วจัดการให้สิ้นไป ทำให้ล้มละลายทางการเมืองไป เมื่อมองแบบนี้ การสลายการชุมนุมจึงเป็นปัญหาเพราะใช้กำลังทหารมายุติความขัดแย้งในชาติ เช่นเดียวกับสมัย 19  กันยาที่ใช้ข้ออ้างว่ามีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมาจัดการปัญหาในชาติ

    สอง การทำความเข้าใจว่าการควบคุมความสงบเรียบร้อยในชาติเป็นคนละเรื่องกับการกำราบคนในชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นมีสองด้าน ด้านแรกคือการใช้กำลังทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ ในด้านนี้การสลายการชุมนุมมีข้อบกพร่อง

    นอกจากนี้ การสลายการชุมนุมยังมีด้านที่น่าจะถูกตั้งคำถามมากกว่านั้น คือการใช้การสลายการชุมนุมเป็นจังหวะ เป็นโอกาส ในการควบคุมความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ในวันที่มีการสลายการชุมนุมมีสองส่วนใหญ่ หนึ่งคือส่วนที่กระจายไปตามจุดต่างๆ แต่ส่วนใหญ่ที่สุดของผู้ชุมนุมซึ่งเป็นผู้หญิงอยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นคือรัฐบาลใช้เหตุจากการไม่สามารถควบคุมกลุ่มย่อยต่างๆ มาส่งกำลังไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ปัญหาคือ คนที่ชุมนุมที่หน้าทำเนียบผิดอะไร ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ไม่มีอาวุธ และต้องกล่าวว่า การ์ด นปช. เรียกได้ว่าก๊องแก๊ง รัฐบาลใช้เหตุจากการมีกลุ่มย่อยเป็นข้ออ้างส่งทหารติดอาวุธมาที่หน้าทำเนียบ สองเรื่องนี้เป็นคนละเรื่อง แต่ใช้เป็นเหตุในการบีบให้ยุติการชุมนุม

    การสลายนี้เป็นการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือใช้ความไม่สงบมาสลายการชุมนุมของคนที่คิดตรงข้ามกับรัฐบาล หากเป็นเช่นนั้นนี่เป็นความผิดขั้นรุนแรง เพราะเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย

    สาม เกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงในการสลายการชุมนุม ตั้งแต่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีนักวิชาการไม่น้อย สื่อไม่น้อย พยายามบอกกับคนในสังคมไทยว่า การสลายการชุมนุมที่ผ่านมาเป็นความสำเร็จเพราะไม่มีคนตาย จะมีคนตายหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ต้องสืบสวนต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีคนตาย การสลายการชุมนุมก็เป็นการใช้ความรุนแรงอยู่ดี เพราะมันเท่ากับการบอกว่า ต่อไปในอนาคต รัฐบาลสามารถใช้อาวุธ ใช้กองกำลังทหาร ยุติการชุมนุมได้

    ในแง่วิชาการ ปัญหาเรื่องความรุนแรงเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลชุดนี้พยายามบอกว่ารุนแรงคือมีคนตาย แต่ก็มีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่บอกว่า ความรุนแรงไม่จำเป็นต้องมีคนตาย ต่อให้ไม่มีความบาดเจ็บ แต่ถ้ามีการใช้กำลังคุกคามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหยุดทำหยุดคิด นั่นก็คือความรุนแรง สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในวันนั้นคือ มีการใช้กองกำลังทหารหลายกองร้อย ข้อที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือมีการใช้อาวุธสงครามจริงๆ แม้จะบอกว่าใช้กระสุนปลอมก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ในแง่วิชาการนี่คือความรุนแรงชนิดหนึ่งเพราะใช้อาวุธบังคับจิตใจให้คนยุติการกระทำ

    หากบ้านท่านมีโจรเข้าบ้าน เอาปืนมาจ่อหัว แล้วบอกว่าเอาเงินมาให้หมด นั่นคือความรุนแรงหรือไม่ เมื่อวานนี้นายกฯ บอกว่ารถท่านถูกทุบ ว่าเป็นความรุนแรงจากผู้ชุมนุม แต่ที่หน้าทำเนียบ การสลายการชุมนุมที่ไม่มีคนตายนั้นไม่เป็นความรุนแรง ในแง่นี้คือการใช้สองมาตรฐานของตรรกะหรือเปล่า

    ใครที่อยู่ในที่ชุมนุม ก็ล้วนรู้สึกถึงความหวาดกลัวว่าจะถูกปราบได้ตลอดเวลา ในวันสุดท้าย บริเวณผ่านฟ้า มีทหารติดอาวุธ ประชาชนไม่มีทางรู้ว่าใช้กระสุนจริงหรือปลอม มีรถฮัมวี่มาที่ผ่านฟ้า ผู้ชุมนุมก็มาถ่ายรูปรถ และท้ายที่สุดก็ปีนรถไป ในสถานการณ์แบบนั้น ท้ายที่สุดก็มีผู้ชุมนุมที่รู้สึกว่าไม่กลัวแล้ว ในแง่นี้ การตัดสินใจของรัฐบาลเรียกได้ว่า คิดผิด และมีผลต่อการตัดสินใจของรัฐที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

    สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการสลายการชุมนุมมีสองแบบ แบบแรกคือ ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ รู้สึกว่าเป็นความสำเร็จ แล้วฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารหมดพลังไปจริงหรือ

    ผลจากการสลายการชุมนุม ได้แก่ หนึ่ง รัฐบาลชุดนี้ทำให้การเผชิญหน้าระหว่างมวลชนจำนวนมากในประเทศยกระดับมาเรื่อยๆ สิ่งที่รัฐบาลทำอย่างแน่นอนเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา คือ รัฐบาลทำให้การเผชิญหน้าของสองฝั่งเป็นนโยบายรัฐ ด้วยการบอกว่ารัฐอยู่ฝ่ายไหนโดยใช้ทหารมาจัดการ รัฐบาลดึงทหารมาจัดการพลเรือน ขณะที่สิ่งที่เหตุการณ์พฤษภา 35 พยายามทำคือความพยายามกันทหารออกไปจากการเมือง การสลายการชุมนุมครั้งนี้เป็นการดึงกำลังทหารมาค้ำอำนาจของรัฐบาลพลเรือน

    ในอดีต ทหารค้ำรัฐบาลหลายชุดจริง แต่การค้ำรัฐบาลโดยทหารในอดีต เกิดในเงื่อนไขที่นายกฯ ซึ่งก็เป็นทหาร ทหารค้ำทหารด้วยกัน แต่ในรอบนี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพยายามเอาทหารมาเป็นฐานในการค้ำอำนาจ ในประวัติศาสตร์โลกมีรัฐบาลพลเรือนที่ไหนบ้างที่เอาทหารมาค้ำอำนาจตัวเองแล้วไม่ถูกทหารขี่คอ

    สอง การสลายการชุมนุมครั้งนี้ทำให้รัฐบาลประกาศตัวเองอย่างเปิดเผยว่าได้เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนอีกฝ่ายอย่างเต็มที่ ถ้ามันมีการต่อสู้ทางความคิดแบ่งฝ่าย สิ่งที่รัฐบาลที่ดีคือหยุดความขัดแย้งนั้น หยุดเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมือง สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำ คือ แทนที่รัฐบาลจะเป็นองค์กรทางการเมืองเพื่อลดทอนความขัดแย้งในสังคม กลายเป็นว่ารัฐบาลดำเนินตัวเองเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ไม่ว่ารัฐบาลจะมองการสลายชุมนุมไว้อย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปะวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลได้เข้ามาในสนามความขัดแย้งโดยตรง ผลที่จะเกิดขึ้นคือ ความสมานฉันท์เกิดไม่ได้ง่ายๆ ทุกคนในที่ชุมนุมย่อมรู้ว่าทันทีที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินคือ รัฐบาลมองเราเป็นศัตรูถึงขั้นออกกฎหมายฉุกเฉินเพื่อให้ทหารใช้กำลังได้ คนจะยิ่งรู้สึกอย่างชัดเจนมากขึ้นว่ารัฐบาลเข้าสนามความขัดแย้งโดยตรง เป็นผู้เล่นโดยตรง ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ความเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลจะหมดไป ความขัดแย้งของคนในชาติจะเพิ่มขึ้น

    ที่ผ่านมา ไม่ว่าคนในชาติจะขัดแย้งกันอย่างไร แต่ก็จะมีองค์กรที่เป็นกลาง แต่เมื่อรัฐบาลทำเช่นนี้แล้ว คนกลุ่มหนึ่งก็จะมองได้ว่ารัฐบาลทำกับฝั่งหนึ่งไว้แบบหนึ่ง แต่ทำอีกอย่างกับคนอีกฝั่ง ในแง่การเมืองในโลกที่สาม มันคงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่รัฐบาลจะคุมทหารได้

    สาม ความขัดแย้งระหว่างคนในสังคมสูงขึ้น ในการบรรจบกันของ 3 เงื่อนไขจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือความรู้สึกว่า รัฐบาลไม่ใช่รัฐบาลของประชาชนอีกต่อไป เมื่อคนจำนวนมากเห็นนายกฯ ก็คงรู้สึกว่านี่ไม่ใช่นายกฯของเรา รัฐบาลชุดนี้เลือกวิธีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้เผชิญหน้ากับคนอีกฝ่าย ซึ่งไม่ควร รัฐบาลที่คิดถึงส่วนร่วม คิดถึงอนาคตชาติบ้านเมือง คือควรจะเป็นกันชนระหว่างคู่ขัดแย้งต่างๆ ไม่ใช่มาเล่นเอง สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือความสมานฉันท์จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย และเราอาจจะพูดได้ด้วยซ้ำว่า รัฐบาลชุดนี้ อาจจะไม่ได้อยู่ในสถานภาพที่จะสร้างความสมานฉันท์ได้ด้วยซ้ำเมื่อได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งโดยตรง โอกาสของการปรองดองก็มีน้อยลง

    ศิโรตม์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดในวันสงกรานต์นั้น ไม่ว่ารัฐบาลจะมองว่าเป็นความสำเร็จอย่างไร แต่เมื่อเรามองการเมืองไทย เหตุการณ์วันสงกรานต์ที่ผ่านมาได้ดึงความขัดแย้งในสังคมไทย ยกระดับไปรุนแรงขึ้น อาจจะพูดว่าเป็น 19 กันยาภาคสอง ที่กำลังทหารเคยยุติการเลือกตั้ง มาเป็นทหารยุติการชุมนุม รัฐบาลซึ่งควรจะเป็นกันชนของทุกฝ่ายตัดสินใจใช้ความรุนแรง นี่ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของสังคมประชาธิปไตยในการยุติํความรุนแรง

    ( ที่มา ประชาไท ,  25/4/2552)

    จากคุณ : จำปีเขียว - [ 26 เม.ย. 52 16:02:00 A:125.25.243.20 X: ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป


Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com