ขอดำน้ำนั่งเทียนเขียนให้ดูแล้วกันนะเพื่อนลี่ ว่าจะโชว์โง่ซะหน่อย
เรื่องการเมือง
การปฏิรูปการเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องปฏิรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป ผมต้องการเสนอวิธีการแบบนุ่มนวลดังนี้
1. การขจัดความขัดแย้งทางการเมือง ต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมควบคู่ไปกับครรลองการปกครองแบบประชาธิปไตย อย่างกรณีเสื้อแดงก่อการจลาจล รัฐบาลจับแล้ว อย่างน้อยกรณีของเสื้อเหลืองที่กำลังอยู่ในขั้นรวบรวมหลักฐาน ก็ต้องมีความคืบหน้ามากกว่านี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย มิฉะนั้นจะมีการตั้งคำถามจากทั้งฝ่ายเสื้อแดงและสังคมว่ารัฐบาลเลือกปฏิบัติหรือไม่ และอยู่ข้างเสื้อเหลืองหรือเปล่า
2. การใช้อำนาจปกครอง ต้องมีการกระจายอำนาจในการปกครองมากกว่าเดิม ที่ผมเน้นคือ การปกครองส่วนภูมิภาค ต้องมีการวางแผนระยะยาวในการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาค โดยผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ เดิมที่ใช้การแต่งตั้งจากส่วนกลางไปประจำจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ใช่คนที่มีความรู้ความเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้การบริหารงานมีปัญหามาตลอด และการพัฒนาไม่ถึงไหน อีกทั้งเข้าลักษณะ อัตตาณานิคม (Auto-Colonialism) ซึ่งเป็นลักษณะการปกครองแบบอาณานิคมในประเทศตนเอง ซึ่งเข้าลักษณะการตั้งข้าหลวงไปปกครองแทนที่จะให้สิทธิคนในจังหวัดทำการเลือก ถ้ามีการเลือกตั้งผู้ว่าฯทั่วปท. ตอนแรกอาจจะมีปัญหาขลุกขลัก แต่ระยะยาวจะดีกว่าเดิม เพราะทำให้ประชาชนเรียนรู้การปกครองประชาธิปไตยมากกว่าที่เป็นอยู่
3. ส่งเสริมให้นักการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชน ไม่ใช่เป็นคนกินบ้านกินเมืองและมีอิทธิพล
4. ขจัดการคอร์รัปชั่นให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อที่เงินภาษีประชาชนจะได้นำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการต่าง ๆ หรือเม็ดเงินอัดฉีดยามที่เศรษฐกิจมีปัญหา
5. เมื่อการคอร์รัปชั่นน้อยลง เงินเหลือมากขึ้น ก็ต้องมีการขึ้นเงินเดือนข้าราชการให้มากขึ้น เพื่อจูงใจคนมีความสามารถเข้ามาทำงาน ต้องไม่ลืมว่าในประเทศเจริญ ๆ อย่างเช่น เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลี ข้าราช/รัฐการเป็นคนหัวกะทิเพราะว่ารัฐให้เงินเดือนสูง
6. ศึกษาเรื่องการเมืองประชาธิปไตยให้จริงจังมากขึ้น ดูแบบอย่างของประเทศต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จมากกว่าเรา ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษในเรื่องของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและวิวัฒนาการ ฝรั่งเศสในส่วนของการลดชนชั้น เยอรมันและญี่ปุ่นในส่วนของบทเรียนเกี่ยวกับชาตินิยม อินเดียในส่วนที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ประชาธิปไตยก้าวหน้าทั้ง ๆ ที่ประชาชนการศึกษาด้อยกว่าเราอันเป็นแบบอย่างที่ดีในการเปรียบเทียบกับคนในภาคเหนือและอิสานของไทยที่พื้นฐานการศึกษาด้อย ทั้งหมดนี้ต้องทำวิจัยอย่างเข้มข้นกว่าเดิมแล้วเอามาใช้ ยิ่งกว่านั้นต้องดูวัฒนธรรมทางการเมืองทั้งในส่วนของภาครัฐบาลและภาคประชาชนด้วย ซึ่งอย่างน้อย ต้องเน้นการให้เหตุผลในที่สาธารณะ การโต้แย้งหาเหตุผลที่เหมาะสม ไม่ใช้อารมณ์เป็นฐานหลัก ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จในระบอบประชาธิปไตยนั้น ต่างก็มีวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่เข้มข้นแบบนี้
เศรษฐกิจ
1. นโยบายประชานิยมของเดิมที่เละ ต้องเอามาบริหารให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม มีการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบ ต้องวางเงื่อนไขในการกู้มากกว่าเดิม เพราะเงินที่กระจายไป จะต้องมีการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด อีกทั้งมีการให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างจริงจังถึงการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่รัดกุม มีวินัยทางการเงิน และบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจพอเพียงอีกรูปแบบหนึ่ง
2. อาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของระดับภูมิภาค สินค้าโอทอปเดิมนั้น ไม่ควรให้นายทุนมารับซื้อต่อไป เพราะจะไม่ต่างจากพ่อค้าคนกลางกดขี่ชาวนา ต้องส่งเสริมให้ท้องถิ่นได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง และริเริ่มกิจการเอง
3. วางมาตรการในการประกันราคาสินค้าเกษตรกรนอกเหนือจากการรับซื้อสินค้าเกษตร อย่างน้อยก็ต้องทบทวนเรื่องต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร และกำหนดมาตรการในการรับซื้อของพ่อค้าให้สมเหตุสมผลกับต้นทุนและกำไร รวมถึงวางมาตรการเรื่องราคาขายให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร พ่อค้าคนกลาง รัฐบาล ต้องเข้าร่วมการเจรจา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
4. ส่งเสริมสหกรณ์การเกษตร
5. รถประจำชาติ ขอเป็นรถเพื่อการพาณิชย์ ตลาดในประเทศไทยไม่เอื้อต่อการจำหน่ายรถนั่งประจำชาติ เนื่องจากตลาดในประเทศอิ่มแล้ว และกำลังซื้อไม่พอ ไม่เหมือนเยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย มาเลเซียที่กำลังซื้อเหลือเฟือจากประชากรที่เยอะและบางประเทศนั้นออกแนวชาตินิยม ต้องใช้รถของประเทศตัวเองเท่านั้น แต่รถเพื่อการพาณิชย์นั้นยังพอมีกำลังซื้อบ้าง ผมเน้นว่าต้องเป็นรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปครับ เพราะไทยยังพอมีโนวฮาวในการผลิตอยู่บ้าง อย่างน้อย มีบางบริษัทที่มีความพร้อมที่จะร่วมลงทุนกับไทย ก็คืออีซูซุที่มีศูนย์อาร์แอนด์ดีในเมืองไทยด้วย เราสามารถใช้ข้อได้เปรียบในจุดนี้ สร้างรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ราคาถูกขึ้นมาได้ ผลก็คือ ต้นทุนสินค้าจะต่ำลง ราคาสินค้าต่ำลง และสร้างกำไรได้มากขึ้น
5. เน้นการเป็นประเทศเกษตรกรรมใหม่ นำเอาผลิตภัณฑ์จากการเกษตรมาแปรรูป พัฒนาเป็นรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาด ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความต้องการตลาด รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ หีบห่อ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการวิจัยอย่างจริงจัง อุตสาหกรรมหนัก ควรมีความเกี่ยวข้องกับการผลิตและขนส่งสินค้าเกษตร ไม่ควรเน้นอุตสาหกรรมหนักอย่างอื่นมาก เพราะพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยไม่เอื้อกับอุตสาหกรรมหนัก อยู่ปลายสายแร่ของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งมาเลเซีย พม่า ลาว และกัมพูชา แต่ไทยมีข้อได้เปรียบคือมีแม่น้ำหลายสาย ที่ราบลุ่มน้ำกว้างใหญ่ อาณาเขตติดทะเล ทำให้สินค้าเกษตรเป็นสินค้าหลัก ถ้ามองถึงความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบแล้ว ยังไงก็ต้องคำนึงถึงเกษตรกรรมเป็นหลัก โครงการหลวงเกี่ยวกับการเกษตรกรรม ต้องมีการนำมาพัฒนาต่อยอดอย่างจริงจังด้วย
6. เก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า โดยเฉพาะนักการเมือง ต้องเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าทุกกรณีเพื่อให้มีการใช้ที่ดินทำประโยชน์
7. ทบทวนแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงใหม่ เพราะหลายฝ่ายยังเข้าใจผิด จริง ๆ แล้วเศรษฐกิจพอเพียงคือแนวคิดในการบริหารจัดการทรัพยากรที่รัดกุม มีวินัย รายจ่ายต้องไม่มากกว่ารายได้ มีการออมที่สูงขึ้น อย่างน้อยต้องมีพื้นฐานจากความรู้จักประมาณตนในการใช้จ่ายในระดับหนึ่งเพื่อประโยชน์ในระยะยาว
8. เน้นการศึกษารากฐานทางวิทยาศาสตร์และวิทยาการ มาช่วยในการผลิต จะต้องมีการอาร์แอนด์ดีให้ลึกซึ้งกว่าเดิมโดยดูแบบอย่างประเทศเยอรมันในศตวรรษที่ 19 เพราะทุกสิ่งมันมีการอาศัยหลักวิชาเข้ามาประยุต์ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ขึ้นอยู่กับว่าจะเน้นหรือไม่ และงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอื่น ๆ นั้นก็มีพร้อม ที่เยอรมันในสมัยนั้น ภาคการผลิตอุตสาหกรรมกับมหาวิทยาลัยมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้ง ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นระบบ ไม่บิดเบี้ยว อีกทั้ง ดูแนวทางของอินเดียด้วย เพราะทุกวันนี้ อินเดียเศรษฐกิจเจริญแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร็วพรวดพราด แต่ต้องเข้าใจว่า อินเดียมีหลากหลายชนเผ่า ระบอบการปกครองเอื้อต่อการรับฟังมากกว่าสั่งด้วยอำนาจ จึงค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็มั่นคง เป็นระบบ เศรษฐกิจตกต่ำไม่มาก แต่เจริญต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นประเทศเขตร้อน ผู้คนทำงานน้อยแต่มีเวลาว่างทบทวนความผิดพลาดของตัวเองมากขึ้น เมื่อเข้าใจข้อผิดพลาดมากขึ้น ก็ยิ่งหาทางออกได้ง่ายกว่าเดิม และเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะก้าวขึ้นมาได้เอง
9. ส่งเสริมเอสเอ็มอี เพราะถือเป็นพื้นฐานในการผลิตของทุนขนาดใหญ่ อีกทั้งเป็นการลดการผูกขาด ส่งเสริมการจ้างงานระยะยาว ผมเชื่อว่าไทยก็ไม่ต่างจากอินเดียในทัศนะของมหาตมะ คานธี นั่นคือ จะต้องอยู่ได้ด้วยการผลิตของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่การผลิตขนาดใหญ่ อย่างน้อยถ้าเศรษฐกิจประเทศตกต่ำ ทุนขนาดใหญ่เลิกจ้างงาน ก็ยังมีกิจการขนาดเล็กช่วยพยุง
แก้ไขเมื่อ 30 เม.ย. 52 03:01:22
แก้ไขเมื่อ 30 เม.ย. 52 02:55:11
แก้ไขเมื่อ 30 เม.ย. 52 02:49:59
แก้ไขเมื่อ 30 เม.ย. 52 02:31:54