เมื่อคลังเอาตัวรอด ทอดทิ้งประชาชน
เมื่อวานนี้ ผมเพิ่งเขียนเรื่อง "จี้คลังกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านแบงก์" ซึ่งเป็นข้อเสนอของ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ให้รัฐเอาเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไปปล่อยกู้ผ่านธนาคาร ผมเห็นด้วยว่าเป็นช่องทางที่ดีที่สุด ไปถึงผู้ต้องการเงินได้ดีที่สุด และกระจายเงินไปได้กว้างที่สุด ดีกว่ารัฐบาลทำเอง แค่แจกเงินฟรีคนละ 2 พันบาท ก็ยังทำวุ่นวายแบบขายปลาช่อนไปทั้งระบบ ทั้งคนแจกและคนรับแจก
รุ่งขึ้นเห็นข่าว หน้าเศรษฐกิจไทยรัฐ พาดหัวก็เป็นงง ไม่มีเงินเสียภาษีกู้ได้
ตอนแรกก็คิดว่ามีแบงก์ใจดี ปล่อยกู้ให้คนเอาเงินไปเสียภาษี ที่ไหนได้ กลับเป็นการแถลงข่าวของ คุณกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลัง ที่หมู่นี้ไม่ค่อยอยู่ติดประเทศไทย บินไปเมืองนอกเป็นว่าเล่น บอกว่าไปโรดโชว์ต่างประเทศ ไม่รู้ตอนนี้มีนักลงทุนประเทศไหนหน้ามืดอยากมาลงทุนในเมืองไทยบ้าง
ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศกำลังแย่ รัฐบาลถังแตก เก็บภาษีได้ไม่เข้าเป้า คนในประเทศยากจนลง ธุรกิจต่างๆก็กำลังรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ รัฐมนตรีกรณ์ กลับเอาแต่บินไปโรดโชว์ ปล่อยให้ นายกฯมาร์ค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่โดดเดี่ยวรับมือทั้งวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติการเมือง
ท่านรัฐมนตรีกรณ์ แถลงว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) คํ้าประกันสินเชื่อ 100 เปอร์เซ็นต์ ให้กับธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง เพื่อปล่อยกู้ให้กับ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ที่ต้องการ กู้เงินไปเสียภาษีนิติบุคคล ให้กับ กรมสรรพากร ซึ่งจะต้องเสียภาษีภายในเดือนพฤษภาคมนี้
คุณกรณ์ คุยว่า กระทรวงการคลังคิดวิธีนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ แต่มีเงื่อนไขคือ คิดดอกเบี้ย 4 เปอร์เซ็นต์ ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นรายเดือนเป็นเวลา 1 ปี (ผ่อนส่ง 1 ปีพร้อมดอกเบี้ย) มีระยะปลอดหนี้ 3 เดือน คาดว่าจะมีผู้มาขอใช้สินเชื่อประมาณ10,000 ล้านบาท และสิ้นสุดระยะเวลาการกู้เงินภายในเดือนพฤษภาคมนี้
งานนี้ไม่ว่าจะมองมุมไหน ก็ตีความได้อย่างเดียว คือ กระทรวงการคลังคิดเอาตัวรอดคนเดียว โดยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยํ่าแย่อยู่แล้ว เป็นผู้รับภาระไปเป็นหนี้ธนาคารเพิ่มขึ้น เพื่อเอาหนี้ใหม่ไปจ่ายภาษีให้รัฐบาล โดยรัฐให้ บสย.คํ้าประกันเงินกู้ เพื่อรับประกันให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อ
ไม่น่าเชื่อว่า กระทรวงการคลัง จะคิดวิธี เอาตัวรอดคนเดียว อย่างนี้ออกมาได้
รู้ทั้งรู้ ธุรกิจเอสเอ็มอี ในช่วงนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติเศรษฐกิจการเมืองและการส่งออก สินค้าขายได้น้อยลงที่ขายไม่ได้ก็ต้องปิดกิจการ ยอดขายก็โดนถล่มจากห้างใหญ่ที่ลดราคา แถมด้วย ตลาดนัดธงฟ้า ของ กระทรวงพาณิชย์ ที่ร่วมด้วยช่วยกันถล่มอีก แล้วธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยจะไปรอดได้อย่างไร
แทนที่ กระทรวงการคลัง จะมีเมตตาธรรม เห็นอกเห็นใจธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ขาดทุนป่นปี้จนไม่มีเงินจะเสียภาษี เสนอ ครม. ลดหย่อนภาษีให้ หรือ ยกเว้นภาษีให้สักปี เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นรากฐานเศรษฐกิจสำคัญของประเทศอยู่รอด ผู้คนจะได้ไม่ตกงาน แต่กระทรวงการคลังกลับทำตรงกันข้าม
ทีบ้านหลังละหลายล้าน กระทรวงการคลังลดหย่อนภาษีให้เฉยคนละหลายแสนโดยไม่ต้องร้องขอ แต่ทีธุรกิจเอสเอ็มอี กระทรวงการคลังกลับใจร้าย เสนอแกมบังคับให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยํ่าแย่เหล่านี้ไปสร้างหนี้ก้อนใหม่ กู้เงินมาเสียภาษีให้กระทรวงการคลัง
ผมไม่คิดว่าจะมี เจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอี คนไหน "เสียสติ" ไปทำอย่างนี้ แค่ธุรกิจยํ่าแย่จนไม่มีเงินพอจะเสียภาษี มันก็แย่พออยู่แล้ว ยังจะให้เขาไปกู้หนี้ยืมสินมาเสียภาษีให้รัฐอีก แล้วเขาจะเอาเงินจากไหนไปจ่ายหนี้ก้อนใหม่พร้อมดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เพราะเงินกู้ก้อนนี้ไม่ได้เอาไปทำธุรกิจให้งอกเงย แต่เอาไปจ่ายภาษีให้รัฐบาลที่กำลังถังแตก.
"ลม เปลี่ยนทิศ"
---------------------------------------------------------
งานนี้ นายกร จะใช้กระสุนนัดเดียวได้นกสองตัวหรือไม่ คงต้องจับตาดูกันต่อไป
เนื่องจาก เป็นที่รู้กันว่านายกร นั้นอยู่ในฐานะสุ่มเสี่ยงต่อข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ระหว่างฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้กำหนด และบังคับใช้กฏหมาย เกี่ยวกับการเงินและการคลัง ส่วนอีกฐานะหนึ่งคือตัวแทนของนายทุนสถาบันการเงิน
หากว่า เอานโยบายดังกล่าวมาใช้ ใครคือผู้ได้ประโยชน์???
แล้วจะมีใครคอยดูแลไม่ให้มีใครใช้แนวนโยบายนี้หาผลประโยชน์ให้พวกพ้องหรือไม่???
หากว่า มีคนใช้อำนาจหน้าที่สั่งให้เจ้าหน้าที่สรรพากร ไปบังคับให้ผู้ประกอบการต้องชำระภาษี หากไม่มีเงินชำระ ก็ เสนอทางเลือกให้กู้เพื่อชำระภาษีหรือไม่ก็ถูกดำเนินคดี คุณว่าผู้ประกอบการจะเลือกทางไหน แล้วใครจะได้ประโยชน์ล่ะ ให้กู้มีรัฐบาลค้ำประกัน ความเสี่ยงน้อยกว่าปล่อยกู้ให้ธุรกิจทั่วไปแน่นอน แถมยังได้ตัวเลขการเก็บภาษีมาปั้นแต่งให้เกิดภาพลวงตาว่าเก็บได้ผิดจากเป้าไปไม่เท่าไร
แต่ที่ตัวเลขมันดูเหมือนดีขึ้นหาใช่เพราะเศรษฐกิจดีขึ้นไม่ แต่เป็นเพราะวิธีสร้างภาพลวงตาปั้นตัวเลขซะมากกว่า
สรุป งานนี้ ได้ภาพลวงตาเรื่องเก็บภาษีไม่เข้าเป้า โดยแท้จริงแล้วคือการยึมเงินในอนาคตมาใช้(กรณีผู้ประกอบการไม่ชำระหนี้ รัฐในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องชำระหนี้แทน) แถม ธุรกิจสถาบันการเงินของใครก็ไม่รู้จะได้รับผลประโยชน์ไปด้วย(ปัจจุบันความเสี่ยงสูงจนไม่กล้าปล่อยกู้ แต่กลับกัน ก็ไม่มีช่องทางหารายได้จนตัองกดดอกเบี้ยเงินฝากจนติดดิน) งานนี้ ไม่ว่าประเทศไทยจะล่มจมอย่างไร พวกท่านก็ยังสุขสบายได้ดีอยู่เช่นเคย
จากคุณ :
ขยะสังคม
- [
วันแรงงาน 14:41:12
A:114.128.251.170 X:
]