ความคิดเห็นที่ 2

เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๑ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้มีหนังสือร้องเรียนต่อประธานกรรมการการเลือกตั้งว่า ผู้ถูกร้องขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมเป็นพิธีกรในรายการ ชิมไป บ่นไป และรายการอื่น ๆ ของบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด อันเป็นบริษัทของเอกชนที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน ซึ่งปรากฏต่อสาธารณชนหลายครั้งทางสื่อมวลชน อันเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามมาตรา ๒๖๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๘๒ (๗) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ นับแต่วันที่กระทำการอันต้องห้าม ผู้ร้องที่ ๒ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ความว่า บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ก่อตั้งในปี ๒๕๓๗ มีนายศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล เป็นกรรมการผู้จัดการ โดยมีวัตถุประสงค์รับจ้างจัดทำรายการต่าง ๆ เพื่อการโฆษณา การบันเทิง ประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมการขายทางสถานีวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ สิ่งตีพิมพ์ และสื่อโฆษณาทุกชนิด ในปี ๒๕๔๓ นายศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล ได้เชิญผู้ถูกร้องเข้าทำหน้าที่พิธีกรในรายการ ชิมไป บ่นไป ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ซึ่งผู้ถูกร้องได้รับทำหน้าที่พิธีกรดังกล่าวเรื่อยมา โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นพิธีกรครั้งละ ๕,๐๐๐ บาท และบางครั้งได้รับเงินเพิ่มซึ่งเป็นค่าจัดซื้อวัตถุดิบในการทำอาหารที่ออกรายการประมาณครั้งละ ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ บาท และในขณะที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรียังได้รับทำหน้าที่เป็นพิธีกรในรายการ ชิมไป บ่นไป และรายการยกโขยง ๖ โมงเช้า ให้แก่บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด แต่ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า ผู้ถูกร้องได้รับเงินค่าตอบแทนจากบริษัทหรือไม่ สำหรับรายการ ชิมไป บ่นไป ได้มีการนำรูปใบหน้านายกรัฐมนตรีและรูปจมูกชมพู่ โดยเขียนชื่อผู้ถูกต้องลงโฆษณาเป็นสัญลักษณ์ทางการค้ารูปการ์ตูน ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำรายการที่มีผลในการจดจำของผู้ชมโดยทั่วไป ทั้งนี้รูปการ์ตูนดังกล่าวจะมีปรากฏในรายการเป็นระยะ ๆ อยู่ตลอด ต่อมานายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้พบเห็นการทำหน้าที่พิธีกรในรายการดังกล่าวของผู้ถูกร้อง จึงได้ใช้สิทธิตามมาตรา ๖๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า ผู้ถูกร้องในฐานะนายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมเป็นพิธีกรในรายการ ชิมไป บ่นไป และรายการ ยกโขยง ๖ โมงเช้า ที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด ซึ่งทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ส่วนผู้ถูกร้องได้มีหนังสือชี้แจงว่า การรับเป็นพิธีกรให้แก่ บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าน้ำมันรถในการไปถ่ายทำรายการ แต่เมื่อผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ขอรับค่าตอบแทนใด ๆ จาก บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด และยืนยันว่าไม่เคยทำสัญญาการเป็นลูกจ้างใด ๆ กับทางบริษัท และในปี ๒๕๕๐ บริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด. ๓) ปรากฏว่ามีการจ่ายเงินค่าจ้างแสดงให้ผู้ถูกร้องดังนี้
(๑) ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๐ จำนวน ๒ ยอด เป็นเงิน ๑๔๗,๓๖๘.๔๒ บาท หักภาษี ณ ที่จ่าย ๗,๓๖๘.๔๒ บาท และเป็นเงิน ๑๐๕,๒๖๓.๑๖ บาท หักภาษี ณ ที่จ่าย ๕,๒๖๓.๑๖ บาท
(๒) เดือนมิถุนายน ๒๕๕๐ เป็นเงิน ๑๐๕,๒๖๓.๑๖ บาท หักภาษี ณ ที่จ่าย ๕,๒๖๓.๑๖ บาท
(๓) เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๐ เป็นเงิน ๑๔๗,๒๖๘.๔๒ บาท หักภาษี ณ ที่จ่าย ๗,๓๖๘.๔๒ บาท
ส่วนรายการแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ด. ๓ ของบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๕๑ ถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังไม่ได้รับเอกสารหลักฐานจากกรมสรรพากร
คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเสียงข้างมาก จึงเห็นควรส่งเรื่องที่ผู้ถูกร้องเข้าไปทำหน้าที่เป็นพิธีกรในรายการ ชิมไป บ่นไป และรายการยกโขยง ๖ โมงเช้า ของบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า การเป็นพิธีกรในรายการดังกล่าวเป็นการดำรงตำแหน่งในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินการโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน อันจะทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในมาตรา ๑๘๒ (๗) และมาตรา ๒๖๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ หรือไม่
จากคุณ :
น้ำมิตร
- [
15 มิ.ย. 52 12:48:56
A:58.137.113.2 X:
]
|
|
|