หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ลงดาบมีมติว่า 16 สมาชิกวุฒิสภา(สว.)พ้นจากสมาชิกภาพเนื่องจากถือหุ้นสัมปทานรัฐ หรือถือหุ้นในกิจการที่เกี่ยวข้องกับกิจการด้านสื่อ หรือกิจการโทรคมนาคมซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 265 และ มาตรา 48 โดยเตรียมส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดต่อไป ขณะที่มี สส. อีก 25 คน เข้าข่ายที่จะพ้นสมาชิกภาพในลักษณะเดียวกัน โดยกกต.จะ มีมติชี้ขาดในสัปดาห์นี้กำลังเป็นระเบิดเวลาทางการเมืองลูกใหญ่ที่ถูกจับตาว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่
ทั้งนี้ในบรรดาสส. 25 คน ที่เข้าข่ายจะถูก กกต.ชี้ขาดว่าพ้นสมาชิกภาพ ในจำนวนนี้ข่าวแจ้งว่าเป็นสส.พรรครัฐบาล 18 คน โดยเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ถึง 16 คน ซึ่งรวมทั้ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้จัดการรัฐบาล ส่วนสส.ที่เหลืออีก 7 คน ที่อยู่ในข่ายพ้นสมาชิกภาพสังกัดพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายค้าน
นอกจาก นายสุเทพ แล้วสส.ซึ่งเป็นรัฐมนตรีและแกนนำสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ที่อาจพ้นสมาชิกภาพ อาทิ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วิทยาศาสตร์ฯ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี นายจุติ ไกรฤกษ์ นายสัมพันธ์ ทองสมัคร
สำหรับการพ้นสมาชิกภาพการเป็นสส.ตามมาตรา 265 และ มาตรา 48 นั้นคงต้องทำความเข้าใจกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญสองมาตราดังกล่าว โดยมาตรา 265 (2) บัญญัติว่า ห้ามสส.และสว.เข้าไปเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการที่ได้รับสัมทปานของรัฐ หรือเป็นคู่สัญญากับรัฐ
ส่วนมาตรา 48 บัญญัติว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคมมิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้หากกกต.จะมีมติ สส.ทั้ง 25 คน พ้นสมาชิกภาพ แต่ก็ยังต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดซึ่งมติของศาลรัฐธรรมนูญจึงถือเป็นที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นคงต้องรอลุ้นด้วยความระทึกว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ชะตาอนาคตของบรรดาสว.และสส.อย่างไร
แต่ขณะที่รอศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา อดีตรองประธานสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)เมื่อปี 2550 คือ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ซึ่งเป็นนักกฎหมายผู้มีชื่อเสียงออกมาให้ความเห็นอย่างน่าสนใจและน่าหวั่นวิตกต่อแนวโน้มสถานการณ์ทางการเมือง โดย นายเสรี ชี้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่า สส.ทั้ง 25 คน พ้นสมาชิกภาพจะเกิดปัญหาใหญ่ทางการเมืองตามมาทันทีเพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 93 บัญญัติว่า หากจำนวน สส.มีไม่ถึงร้อยละ 95 จะถือว่าไม่ครบองค์ประกอบการเป็นสภา
ทั้งนี้ ปัจจุบันสส.ทั้งหมด 480 คน ซึ่งร้อยละ 95 ก็คือต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 456 คน แต่หากสส.ต้องพ้นสมาชิกภาพไป 25 คน จะทำให้เหลือสส.อยู่เพียง 455 คน ซึ่ง นายเสรี ชี้ว่าภาวะเช่นนี้จะเกิดสุญญากาศของสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นทันที โดยสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถทำกิจกรรมใดๆได้เลย จนกว่าจะมีการเลือกตั้งซ่อม สส.เข้ามาแทนที่ผู้ที่พ้นจากสมาชิกภาพภายใน 45 วัน
เช่นเดียวกับกับ สว. ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่าพ้นสมาชิกภาพไปเพียง 8 คน ก็จะทำให้ สัดส่วนจำนวนสว.ไม่ถึงร้อยละ 95 ของจำนวน สว.ทั้งหมด ทำให้วุฒิสภาเกิดสุญญากาศไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งหรือสรรหาสว.ใหม่เข้ามาทำหน้าที่
นอกจากปัญหาข้อกฎหมายที่อาจทำให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมืองแล้ว ผลการชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญอาจส่งผลเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะในบรรดา สส.ที่เข้าข่ายพ้นสมาชิกภาพเป็นฝ่ายรัฐบาลเกือบทั้งหมด ทำให้ช่องว่างจำนวนเสียงระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านซึ่งปกติมีส่วนต่างอยู่ไม่มากแคบลงมาจนใกล้เคียงน่าหวาดเสียวเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนั่นหมายความว่า เวลาลงมติในเรื่องสำคัญ สส.ฝ่ายรัฐบาลทุกคนต้องมาประชุมอย่างพร้อมเพรียงกันห้ามป่วยห้ามลาอย่างเด็ดขาด
เพราะฉะนั้นชะตากรรมของบรรดา สส.และสว. ตลอดจนอนาคตของบ้านเมืองจึงฝากไว้กับการชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้น ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่าการถือหุ้นของบรรดาสส.และสว.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ปัญหาทุกอย่างก็คลี่คลาย รัฐบาลก็โล่งอก แต่หากชี้ขาดว่าขัดรัฐธรรมนูญนั่นหมายถึงระเบิดเวลาทางการเมืองลูกใหญ่จากภาวะสุญญากาศที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ
ทีมข่าวการเมือง
http://www.naewna.com/news.asp?ID=167004
จากคุณ :
sao..เหลือ..noi
- [
22 มิ.ย. 52 08:59:49
A:58.8.168.93 X:
]