ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา กลับมาตึงเครียดอีกครั้ง หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการมรดกโลก ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เพื่อคัดค้านการที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกโดยลำพัง เพราะขัดต่อวัตถุประสงค์ของยูเนสโก ที่มุ่งส่งเสริมสันติภาพ แต่กลับกลายเป็นความขัดแย้งถึงขั้นรบกัน
ถึงแม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย จะยืนยันว่า การคัดค้านครั้งนี้เป็นเรื่องระหว่างไทยกับคณะกรรมการมรดกโลก ไม่ใช่ไทยกับกัมพูชา แต่ผู้นำรัฐบาลกัมพูชาก็มีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างแข็งกร้าว ทั้งจากสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรี และนายฮอร์ นัมฮง รมว.ต่างประเทศ ซึ่งกล่าวว่ายินดีต้อนรับไทย ทั้งด้านการทหาร การทูต หรือการเจรจาโดยสันติ และท้าให้ส่งทหารไปสู้รบ
มีเสียงวิจารณ์ว่า ทำไมรัฐบาลไทยจึงตัดสินใจยื่นคัดค้านเรื่องนี้อย่างกะทันหันต่อคณะกรรมการมรดกโลกยูเนสโก ทำไมจึงไม่ เจรจาโดยตรงกับกัมพูชา และทำไมจึงเลือกใช้ วิธีการประจันหน้าทางทหาร รัฐบาลต้องการอะไร ถ้าต้องการให้ยูเนสโกยกเลิกการขึ้นทะเบียน ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก คงจะเป็นไป ได้ยาก เพราะฝ่ายไทยเคยคัดค้านเมื่อปีทีแล้ว แต่ยูเนสโกไม่ฟังเสียง
มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่ารัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ และมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี อาจจะติดกับที่เคยสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ นำเอาปัญหาเขาพระวิหารมาโจมตีรัฐบาลนายสมัครอย่างดุเดือด กล่าวหาว่ามีการทำความตกลงลับ เพื่อยกเขาพระวิหารแลกกับสิทธิประโยชน์อื่นๆในกัมพูชา และในที่สุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต้องลาออก
เขาพระวิหารเป็นดินแดนพิพาท ระหว่างไทยกับกัมพูชา มาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ ต่อมา ศาลโลกได้พิพากษาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ให้ "ปราสาทพระวิหาร" เป็นของกัมพูชา การพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างสองประเทศ ได้สงบระงับไปหลายสิบปี ในขณะที่เกิดสงครามในกัมพูชา จนกระทั่งรัฐบาลกัมพูชาปัจจุบันขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก จึงพิพาทกับไทยอีก
รัฐบาลทั้งสองประเทศมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน ในกรณีเขาพระวิหาร นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ยืนยันว่า ศาลโลกได้ตัดสินให้ ปราสาทพระวิหาร "กับอาณาบริเวณโดยรอบ" แก่กัมพูชา และยูเนสโกก็ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว ส่วนฝ่ายไทยยืนยันว่าศาลโลกตัดสินให้แต่เฉพาะ "ปราสาทพระวิหาร" เป็นของกัมพูชา ส่วนอาณาบริเวณโดยรอบราว 4.5 ตร.กม. เป็นของไทย หรือเป็นพื้นที่พิพาท
การตัดสินใจของรัฐบาลไทย ในการดำเนินการเกี่ยวกับกรณีเขาพระวิหาร และกรณีอื่นใดก็ตาม จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ สูงสุดของประเทศชาติเป็นหลัก คำนึงถึงบูรณ-ภาพของดินแดนความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งสันติภาพ และการอยู่ร่วมกันโดยสันติกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ควรยึดผลประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาลเป็นหลัก และควรจะใช้วิธีการทูตและการเจรจา ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง.
http://www.thairath.co.th/content/pol/15066
จากคุณ :
sao..เหลือ..noi
- [
25 มิ.ย. 52 06:16:46
A:58.8.170.89 X:
]