ใครๆ ก็วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งซ่อมที่สกลนครและศรีสะเกษว่าเงินและอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำให้ใครชนะการเลือกตั้งได้ ปัจจัยชี้ขาดกลับไปอยู่ที่ "กระแส"
คำนี้แปลว่าอะไรไม่สู้จะชัดนัก ส่วนหนึ่งคงหมายถึงความนิยมชมชอบคุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีมาแต่เดิม อีกส่วนหนึ่งน่าจะหมายถึงการตอบโต้ "กระแส" ของรัฐ ที่พยายามจะปลุกเร้าให้เกิดความเกลียดชังคุณทักษิณ ชินวัตร
(แปลว่าฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะโฆษกส่วนตัวของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีส่วนช่วยให้ความนิยมคุณทักษิณยิ่งมีพลังไม่เสื่อมคลายไปตามกาลเวลา)
ความนิยมชมชอบคุณทักษิณในหมู่ประชาชนภาคอีสานมาจากอะไร คำตอบที่มักจะพูดกันเสมอก็คือนโยบายประชานิยมของพรรค ทรท.
เขาลือกันว่า เมื่อตอนที่คุณอภิสิทธิ์และคุณเนวินกอดกันนั้น คุณเนวินปลอบประโลมคุณอภิสิทธิ์ว่าไม่ต้องกลัว "กระแส" คุณทักษิณ อัดงบประมาณลงไปที่ภาคอีสานสัก 2-3 แสนล้านบาท ทำนโยบายประชานิยมบ้าง สักพักเดียวคนอีสานก็จะลืมคุณทักษิณไปเอง
ผมคิดว่าคุณเนวินพูดถูก อย่างน้อยก็ถูกครึ่งหนึ่ง กล่าวคือคนอีสานคงไม่ได้นิยมบุคคลที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร เท่ากับสิ่งที่คุณทักษิณหยิบยื่นให้ ฉะนั้นหากบุคคลอื่นหยิบยื่นสิ่งเดียวกันให้บ้าง คนอีสาน (หรือคนในภาคอื่นๆ ที่นิยมคุณทักษิณ) ก็น่าจะหันมานิยมบุคคลผู้นั้นแทน
และสิ่งที่หยิบยื่นให้นี้ เรียกกันว่านโยบายประชานิยม
แต่อีกครึ่งหนึ่งที่คุณเนวินและคงรวมคุณอภิสิทธิ์ไม่เข้าใจคือ "ประชานิยม" นี่เอง
"ประชานิยม" ในความหมายที่ไม่ดี คือการ "แจก" สิ่งของ แก่ประชาชนกลุ่มที่ถูกผลักไปอยู่ชายขอบ (ซึ่งมักมีปริมาณมากกว่าคนกลุ่มอื่น) แต่ไม่กระจาย "โอกาส" การพัฒนาให้แก่ประชาชนกลุ่มนี้ ในท่ามกลางโครงสร้างที่ไม่เปิดโอกาสการพัฒนาแก่คนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน รัฐบาลประชานิยมจึงได้แต่ "แจก" สิ่งของหรือเงินตรา โดยไม่แตะต้องโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่ให้อำนาจต่อรองแก่ประชาชนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอำนาจต่อรองในตลาด การเมือง หรือการบริหาร ฉะนั้น ถึงจะรับสิ่งของไปมากมายเท่าใด ประชาชนก็ยังอ่อนแอเท่าเดิม และไม่มีโอกาส "พัฒนา" เหมือนเขาอื่นอยู่นั่นเอง
ตัวอย่าง "ประชานิยม" ในความหมายนี้ซึ่งกล่าวขวัญกันทั่วไปก็เช่น ประธานาธิบดีเอสตราดาแห่งฟิลิปปินส์ แจกแปรงสีฟันและยาสีฟันแก่คนจน แต่ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนจนเข้าถึงบริการทันตกรรมได้เพิ่มขึ้น หรือทำมาหาได้เพิ่มขึ้นพอจะซื้อแปรงสีฟันด้ามใหม่หรือยาสีฟันหลอดใหม่ใช้
"ประชานิยม" ในความหมายที่ไม่ดีนี้ พบได้มากในบรรดารัฐบาลของละตินอเมริกาสมัยก่อน ในท่ามกลางโครงสร้างการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรม สภาพการทำงานของแรงงานที่เลวร้าย ราคาแรงงานที่ถูกกดอย่างหนักเพราะผู้อพยพเข้าจากต่างจังหวัด ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำต่อเนื่อง ฯลฯ รัฐบาลได้แต่ "แจก" นับตั้งแต่อาหาร, ขึ้นรถเมล์ฟรี ใช้น้ำประปาฟรี (แต่คนจนเข้าไม่ถึงน้ำประปาเป็นส่วนใหญ่), ฯลฯ โดยรัฐบาลไม่ต้องแตะปัญหาเชิงโครงสร้างเลย ทั้งหมดนี้เพื่อแลกกับคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง
แต่ "ประชานิยม" ในละตินอเมริกาปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว มีนโยบายของรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ได้รับความนิยมหลายรัฐบาลด้วยกัน เข้าไปปรับปรุงแก้ไขเชิงโครงสร้าง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนชั้นล่างสุดเข้าถึงทรัพยากรได้มากขึ้น และก่อให้เกิดความตึงเครียดในสังคมอย่างสูง ระหว่างรัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ และคนชั้นกลางในเมือง
"ประชานิยม" ของคุณทักษิณเป็นถึงขนาดละตินอเมริกาสมัยก่อนหรือไม่? ผมคิดว่าตอบยากมาก ในขณะที่ "ประชานิยม" ของรัฐบาลอภิสิทธิ์นั้นเป็นแน่ เพราะตราบจนถึงเวลานี้ รัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรนอกจาก "แจก" อีกทั้งพยายาม "แจก" ผ่านระบบราชการเสียด้วย ซึ่งก็พบกันมานานแล้วว่าเป็นเครื่องมือการ "แจก" ที่ล้มเหลวตลอดมา
หากพิจารณากันด้วยความเป็นธรรม ผมคิดว่าเราปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชานิยมของคุณทักษิณหลายอย่างด้วยกัน แม้ไม่กระทบต่อโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม แต่ก็ถือว่าเป็นการ "แจก" ที่มีผลยั่งยืนกว่าแจกวัสดุสิ่งของซึ่งใช้หมดเปลืองไปเฉยๆ แต่ข้อเสียอยู่ที่ว่า 1/ เพื่อจะทำให้การ "แจก" นั้นได้ผลจริง จำเป็นต้องกระทบต่อโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คุณทักษิณจะขีดเส้นไว้ไม่ให้ล่วงเข้าไปสู่การปรับผลประโยชน์เชิงโครงสร้าง เพื่อรักษาฐานคะแนนเสียงของผู้ที่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างนั้นอยู่ และ 2/ คุณทักษิณหวังผลทางการเมืองจากการ "แจก" อย่างทันตาเห็นเกินไป จึงไม่มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้การ "แจก" นั้นให้ผลดีในระยะยาวแก่ผู้ที่ได้รับแจก
ผมขอยกตัวอย่างโครงการประชานิยมของคุณทักษิณให้เห็นเป็นตัวอย่างสักสองโครงการ
30 บาทรักษาทุกโรคนั้น ที่จริงคือการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยอย่างใหญ่ และคงไม่มีใครปฏิเสธว่าก่อให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพในระยะยาวแก่ประชาชนจำนวนมาก ซึ่งไม่เคยเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ได้ถึงขนาดนี้มาก่อน แต่เพื่อจะทำให้บังเกิดผลจริงจัง จำเป็นต้องประสานระบบประกันสุขภาพที่มีอยู่ (ราชการ, ประกันสังคม, และการซื้อขายหลักประกันสุขภาพ) ให้เข้ามาไว้ในระบบเดียวกัน อย่างน้อยต้องมีหลักประกันพื้นฐานเดียวกัน แต่อาจจะได้รับบริการที่ต่างกันเพราะกำลังซื้อที่สูงกว่าได้ แต่คุณทักษิณเลือกที่จะไม่เสี่ยงทางการเมืองพอจะไปเผชิญการต่อต้านของกลุ่มที่ได้หลักประกันสุขภาพทางอื่นอยู่แล้ว จึงหยุดบัตรทองไว้ที่คนซึ่งไม่มีหลักประกันสุขภาพทางอื่น
ผลก็คือเสียงบ่นของประชาชนว่า ไม่ได้รับบริการทางการแพทย์ที่เท่าเทียมหรือเพียงพอต่อปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นกับตนก็ตาม หรือหนี้สินของโรงพยาบาลที่เพิ่มพูนขึ้นก็ตาม ฯลฯ จึงยังมีอยู่ต่อไป แม้ว่ารัฐบาล ทรท.จะเพิ่มงบประมาณให้แก่คนไข้เป็นรายหัวในโครงการ แต่ก็ไม่ได้ยกระดับการปฏิรูปให้กว้างไปกว่าเดิม
กองทุนหมู่บ้านและเอสเอมอี ตอบสนองปัญหาที่มีอยู่จริงในหมู่ประชาชนระดับล่าง เพราะคนเหล่านี้เข้าไม่ถึงเงินกู้ในระบบ ในขณะที่ความจำเป็นของชีวิตทำให้เขาต้องมีทุนสำหรับการสร้างอาชีพใหม่ (ทั้งในและนอกภาคเกษตร) แต่การเข้าสู่การทำธุรกิจนั้น ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ด้วย ไม่ใช่ทุนเพียงอย่างเดียว อย่างที่ธนาคารกรามีนของบังกลาเทศให้เงินกู้พร้อมทั้งการประคองแนะนำให้ผู้กู้สามารถทำธุรกิจได้จริง จนสามารถใช้เงินคืนแก่ธนาคารได้
ลองคิดดูเถิดครับว่า จะขายก๋วยเตี๋ยวในหมู่บ้านซึ่งมีตลาด ควรเริ่มต้นด้วยการซื้อเส้นสักกี่กิโลดี ควรเตรียมเครื่องก๋วยเตี๋ยวสักเท่าไร สัดส่วนของก๋วยเตี๋ยวถุงกับที่กินหน้าหาบเป็นอย่างไร ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์และความรู้ซึ่งผู้ริเริ่มขายก๋วยเตี๋ยวต้องมี เพื่อจะได้ไม่ต้องขาดทุน หรือเอาทุนไปแช่ไว้ในสิ่งที่ไม่จำเป็น ธนาคารกรามีนให้เงินกู้พร้อมทั้งความรู้ซึ่งเกิดจากการสำรวจและวิจัยไปพร้อมกัน อีกทั้งยังคอยประคับประคองให้ธุรกิจก๋วยเตี๋ยวดำเนินต่อไปได้โดยมีกำไรด้วย โครงการของคุณทักษิณไม่มีอะไรให้สักอย่างนอกจากเงินทุน จึงไม่แปลกประหลาดอันใดที่จำนวนไม่น้อยของผู้กู้ไม่สามารถเริ่มธุรกิจอะไรได้ เอาเงินไปต่อวงจรหนี้ให้ยาวขึ้นเท่านั้น แม้กระนั้นคุณทักษิณก็ได้ตอบสนองความต้องการของชาวบ้านทั่วไปแล้ว ถึงไม่มีผลอะไรต่อการกระจายรายได้ของประชากรก็ตาม ฉะนั้นคุณทักษิณจึงเป็นที่นิยมรักใคร่
"ประชานิยม" ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ตามคำแนะนำของคุณเนวิน (อย่างที่เขาลือกัน) เป็นแต่เพียงการ "แจก" เฉยๆ เกือบไม่ต่างอะไรจากการ "ซื้อ" และคิดได้ไม่ไกลไปถึงโครงสร้าง เช่นที่กำลังเป็นปัญหาอยู่เวลานี้ คือจะเพิ่มค่าครองชีพให้พนักงานรัฐวิสาหกิจหรือไม่ ที่เถียงกันอยู่ก็คือเพิ่มเป็นบางรัฐวิสาหกิจที่ทำกำไร หรือเพิ่มให้หมด แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เงินเดือนของพนักงานเท่านั้น ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ สัดส่วนเงินเดือนของผู้บริหารและพนักงานต่างกันมากเกินไป ทั้งในรัฐวิสาหกิจ, ราชการ และเอกชน ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่สัดส่วนความแตกต่างนี้สูงอย่างน่าตกใจ
ปัญหานี้ไม่ได้ส่งผลต่อความเป็นธรรมในสังคมเท่านั้น ยังส่งผลให้ประสิทธิภาพในการผลิตของไทยต่ำลงอย่างมากด้วย ฉะนั้นหากจะเถียงกันเรื่องเงินค่าครองชีพ ไม่ว่าจะให้หรือไม่ให้ หรือจะให้ใคร ก็ต้องคิดจากเป้าหมายใหญ่ที่ว่าจะปรับให้ความต่างของเงินเดือนที่กว้างขนาดนี้ลดลงได้อย่างไร แต่ข้อถกเถียงใน ครม.อภิสิทธิ์ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับเป้าหมายเชิงโครงสร้างในเรื่องการ "แจก" เอาเลย
แม้แต่การเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ก็พูดกันแต่เรื่องจะต้องรีดเอาเงินมาจุนเจือความพร่อง ไม่ได้พูดกันถึงนโยบายน้ำมันซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างเงื่อนไขให้แก่การลดการนำเข้าน้ำมัน ซึ่งจะมีผลต่อการผลิตแอลกอฮอล์จากพืช หรือการทำไบโอดีเซล รวมทั้งการวางนโยบายเกี่ยวกับการผลิตรถยนต์ การขนส่งสาธารณะ โลจิสติคส์ ฯลฯ อีกมากมาย
ผมคิดว่ามีเหตุผลที่อธิบายได้ (แต่ไม่ใช่ที่นี่เพราะเนื้อที่ไม่พอ) ว่าเหตุใด รัฐบาลประชาธิปัตย์จึงเป็นรัฐบาลที่ขาดวิสัยทัศน์เช่นนี้เสมอ "ประชานิยม" ของคุณอภิสิทธิ์-เนวินนั้นขาดวิสัยทัศน์ ในขณะที่ "ประชานิยม" ของคุณทักษิณนั้นมีวิสัยทัศน์กว่ากันมาก แม้จะมีจุดมุ่งหมายแคบๆ แต่เพียงเรียกคะแนนนิยมจากคูหาเลือกตั้งก็ตาม
การเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยชนะอย่างท่วมท้นทั้งที่สกลนครและศรีสะเกษ ชี้ให้เห็นว่าหากจะแข่งกันเรื่องประชานิยมแล้ว ไม่ได้อยู่ที่ปริมาณของของแจก แต่อยู่ที่วิสัยทัศน์ของการแจกมากกว่า
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act04060752§ionid=0130&day=2009-07-06
จากคุณ :
sao..เหลือ..noi
- [
6 ก.ค. 52 09:43:40
A:58.8.168.106 X:
]