 |
กอบกู้วิกฤติการบินไทย พันธกิจ "ปิยสวัสดิ์" นำองค์กรสู่เป้าหมายสูงสุด...สกู๊ปเศรษฐกิจ..ไทยรัฐ..วันนี้
|
|
นานมาแล้วที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่มีบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพียงพอจะนำพาองค์กรไปสู่การเป็นสายการบินแห่งชาติที่มีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จสูงสุดได้
แม้จะมีความพยายามแปรรูปองค์กรไปสู่การเป็นบริษัทมหาชนถึง 2 ครั้ง เพื่อให้การ บริหารงานมีความเป็นสากล และสร้างข้อกำหนดในเรื่องของ Key Performance Index (KPI) หรือดัชนีชี้วัดความสามารถและประสิทธิภาพการทำงานเอาไว้ในการคัดสรรผู้เสนอตัวเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) ก็ตาม
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) คนใหม่ บอกกับพนักงานในวันแถลงนโยบาย ณ วันที่เขาเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 ต.ค. หลังจากที่ผ่านคุณสมบัติการคัดสรรมาเป็นเวลาพอสมควรว่า เขายื่นใบสมัครเข้ามาเป็นดีดีการบินไทย ก็เพราะมีความรู้สึกเหมือนๆ กับคนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งก็คือมีความรัก หวงแหนและผูกพันกับองค์กรแห่งนี้
ดร.ปิยสวัสดิ์ยังกล่าวถึงคุณภาพของการบริการ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่เขาต้องเข้ามาสะสางว่า ระยะหลังชื่อเสียงด้านบริการของการบินไทยตกต่ำลงไปมาก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะขวัญและกำลังใจของพนักงานที่ลดลง อันเนื่องมาจากระบบเส้นสาย
"การประเมินผลที่ไม่มีมาตรฐานชัดเจน การโยกย้าย แต่งตั้งที่ใช้เส้นสายรุนแรงมาก ทำให้คนเก่ง คนดีท้อแท้ นำไปสู่คุณภาพและบริการที่แย่ลง การบินไทยถูกร้องเรียนเรื่องวัฒนธรรมเด็กฝากมาตลอด แค่ผมเข้ามานั่งทำงานได้ไม่เท่าไร ก็มีคนเอาเด็กมาฝากแล้ว การบินไทยถูกแทรกแซงจากคนทุกกลุ่ม ทุกวงการ ไม่เฉพาะนักการเมืองเท่านั้น เมื่อมีการแทรกแซง คนดีก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม"
เขาบอกว่า ถ้าจะพยายามหยุดยั้งระบบเส้นสาย ก็จำเป็นต้องมีมาตรฐานการประเมินผลที่ชัดเจน น่าประหลาดใจมากที่การบินไทยไม่มีดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพการทำงาน KPI สำหรับพนักงานมาก่อน มีเพียงตำแหน่งดีดีเท่านั้น ที่มี KPI ชี้วัด ซึ่งเขาได้เริ่มต้นใช้ KPI วัดประสิทธิภาพการทำงานผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้อำนวยการ (EVP) แล้ว และคงเริ่มกับพนักงานระดับรองลงมาได้ต่อไป รวมทั้งพนักงานต้อนรับบนเครื่อง ซึ่งถือเป็นด่านหน้าที่ต้องเน้นการบริการเป็นสำคัญ
นอกจากนั้น พนักงาน ฝ่ายบริหาร และบอร์ดยังต้องยอมรับกับการถูกปรับลดสิทธิประโยชน์ลง โดยเฉพาะเรื่องตั๋ว เพื่อที่จะนำกลับมาขายให้ลูกค้ามากขึ้น
"เริ่มตั้งแต่ตัวผมเอง EVP ผู้บริหารที่เกษียณไปแล้ว จากเดิมให้ใช้บริการเฟิร์สคลาส ลดลงมาเหลือบิซิเนสคลาส ส่วนบอร์ดลดตั๋วฟรีจากปีละ 15 ใบ เหลือ 7 ใบ และจะลดสิทธิ ประโยชน์ตั๋วฟรีในส่วนอื่นลงอีก เราแจกตั๋วฟรีสูงถึงปีละ 180,000 ใบ คิดเฉลี่ยตั๋วใบละ 10,000 บาท คิดเป็นรายได้ที่เสียไปปีละตั้ง 1,800 ล้านบาท"
เขาฝากไว้ว่า หากรักเขา รักการบินไทย ก็ขอให้เห็นใจ อย่านำเด็กมาฝากทำงาน หรือแม้แต่ขอปรับระดับชั้นที่นั่ง (อัพเกรด) จากชั้นอีโคโนมีเป็นบิซิเนส หรือจากบิซิเนสเป็นเฟิร์สคลาส ก็ขออย่าทำ เพราะนั่นคือการแทรกแซงอย่างหนึ่งเหมือนกัน
http://www.thairath.co.th/column/eco/ecoscoop/42118
จากคุณ |
:
sao..เหลือ..noi
|
เขียนเมื่อ |
:
29 ต.ค. 52 14:22:19
A:58.8.166.169 X:
|
|
|
|  |