Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ปาฐกถา วรเจตน์ ภาคีรัตน์: นิติรัฐกับความยุติธรรมในสังคมไทย อ่านแล้วมาวิเคราะห์กันครับ...  

เช็คระดับ ‘นิติรัฐ’

เราอาจพอสรุปว่า รัฐที่เป็นนิติรัฐหรือรัฐที่เป็นประชาธิปไตยอาจมีข้อเรียกร้องบางประการ และหากรัฐๆ นั้นไม่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องบางประการนี้ได้ เราคงบอกไม่ได้ว่ารัฐๆ นั้นเป็นรัฐที่เป็นนิติรัฐ

ประการแรก คือ ข้อเรียกร้องว่าด้วยความเสมอภาคในทางกฎหมาย หมายความว่าคนทุกคนต้องมีสิทธิ หน้าที่เท่าเทียมกัน ซึ่งต้องกำหนดโดยกฎหมายที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่ขึ้นกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และการบังคับใช้กฎหมายต้องกระทำโดยไม่คำนึงถึงหน้าของบุคคล

อาจเป็นไปได้ที่มีการบังคับใช้กฎหมายกับบุคคลอย่างไม่เท่าเทียมกัน หากมีเหตุผลพิเศษที่ยอมรับได้ แต่แม้มีเหตุผลพิเศษ ก็ไม่สามารถกำหนดเป็นกรณีๆ ไป แต่ต้องกำหนดขึ้นเป็นกฎหมายเหมือนกัน ต้องยกระดับประเด็นนั้นให้เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่คำนึงถึงตัวบุคคล

ประการที่สอง คือ ข้อเรียกร้องว่าด้วยเสรีภาพของพลเมือง คนทุกคนต้องมีเสรีภาพเท่าเทียมกันในการดำเนินวิถีชีวิตตามที่ตนเห็นว่าถูกต้องโดยมีข้อจำกัดทางสังคมน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย ตราบเท่าที่อยู่ในระเบียบขอบเขตที่สังคมกำหนดขึ้นอย่างมีเหตุผล การจำกัดเสรีภาพของบุคคลก็ต้องบัญญัติเป็นกฎหมายเป็นการทั่วไป กำหนดล่วงหน้า ไม่เจาะจงตัวบุคคล

เสรีภาพของพลเมืองที่เป็นเสรีภาพที่สำคัญ ต้องมีการประกันโดยไม่มีข้อจำกัด ถ้ามีข้อจำกัดก็ต้องมีเหตุผลพิเศษอย่างยิ่ง เช่น เสรีภาพในร่างกาย ในเคหสถาน ในความเชื่อและมโนสำนึก ในการแสดงความคิดเห็น การรวมกลุ่ม การชุมนุม เสรีภาพในกรรมสิทธิ์

ประการที่สาม เป็นประเด็นที่สำคัญมากของนิติรัฐและเชื่อมโยงกับประชาธิปไตยด้วย ก็คือ ข้อเรียกร้องในการมีส่วนร่วมในทางประชาธิปไตย และประเด็นนี้ดูเหมือนเรามีปัญหามากที่สุดในเวลานี้ ข้อเรียกร้องข้อนี้เรียกร้องว่า พลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการสร้างเจตจำนงทางมหาชน เกี่ยวกับเรื่องราวสาธารณะที่กระทบกับตนเอง ทีนี้มันเป็นไปไม่ได้ที่การตัดสินใจนั้นจะเป็นไปอย่างเอกฉันท์จากสมาชิกในสังคม จึงต้องเป็นการตัดสินใจของเสียงข้างมากตามหลักประชาธิปไตย ไม่ว่าเสียงข้างมากนั้นจะเป็นไปโดยทางตรงหรือทางอ้อม และในการตัดสินใจทุกคนต้องมีคะแนนเสียงเท่ากัน และบางกรณียังเรียกร้องว่าน้ำหนักของเสียงต้องเท่ากันด้วย เป็นเรื่องการออกแบบระบบเลือกตั้งนั่นเอง

ถามว่า แล้วการตัดสินใจของเสียงข้างมากใช้บังคับในทุกกรณีไม่มีข้อยกเว้นหรือเปล่า ตามหลักแล้วการตัดสินใจโดยเสียงข้างมากตามหลักประชาธิปไตยย่อมมีปัญหาหรืออาจใช้ไม่ได้ หากการตัดสินใจนั้นไปละเมิดแก่นแห่งสิทธิของบุคคล เช่น สิทธิในความเสมอภาค หมายความว่า เสียงข้างมากไม่อาจอ้างประชาธิปไตยไปตัดสินโดยกระทบกับความเสมอภาค แต่ถ้าการตัดสินใจนั้นเป็นไปโดยปกติทั่วไป ก็ต้องเคารพ เช่น การตัดสินใจทางการเมืองผ่านระบบการเลือกตั้ง ผ่านกระบวนการที่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ต้องถือเป็นยุติ เพื่อให้นิติรัฐดำเนินต่อไปได้

ข้อจำกัดของประชาธิปไตยมีอยู่ แต่เวลาอ้างข้อจำกัดต้องเข้าเหตุแห่งข้อจำกัดนั้นจริงๆ ไม่ใช่อ้างเพื่อปฏิเสธเสียงข้างมาก

ประการที่สี่ ข้อเรียกร้องว่าด้วยความเท่าเทียมกันทางสังคม ดังที่พูดไปแล้วเรื่องการกำหนดสถานะของบุคคลทางสังคม (ดู IV ความสัมพันธ์ของความยุติธรรมกับนิติรัฐ) อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญคือสมาชิกที่มีสถานะทางสังคมต่ำกว่าต้องมีโอกาสเสมอในการเลื่อนระดับทางสังคมอย่างเท่าเทียมกัน

ประการที่ห้า การแบ่งปันประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาที่สุด ในเบื้องต้นเราอาจกล่าวได้ว่าการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน เช่น รายได้ ทรัพย์สิน เป็นไปได้เฉพาะการสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างการจัดการของการอยู่ร่วมกันทางเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพ และต้องมองในระยะยาวด้วยว่าจะทำให้สมาชิกได้รับประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งการแบ่งปันไม่เท่ากันนี้ต้องมีเหตุผลบางอย่าง เช่น ผลงานของคนนั้น


ที่เหลือค่อนข้างยาว อ่านต่อได้ที่...

http://www.prachatai.com/journal/2009/11/26652

จากคุณ : SaVor
เขียนเมื่อ : 19 พ.ย. 52 00:14:18 A:124.121.245.217 X:




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com