Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
อำนาจคือดาบสองคม ...ไทยรัฐ วันนี้  

ถึงแม้ว่าร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการ ออกคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ในขั้นรับหลักการไปแล้ว แต่ก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา เนื่องจากเป็นร่างกฎหมาย ที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และได้ผ่านความเห็นชอบของสภาล่างอย่างเงียบเชียบ จนอาจกล่าวได้ว่าแทบจะไม่ให้ประชาชนแสดงความเห็น

หลักการสำคัญของร่างกฎหมายนี้ เป็นการติดตามให้คณะกรรมาธิการของรัฐสภา มีอำนาจออกคำสั่งเรียกบุคคลใดๆ มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ และมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นร่างกฎหมายที่จะออกมาแก้ปัญหา เรื่องที่คนไม่ยอมไปชี้แจงคำสั่งเรียก ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของ กมธ. ด้อยประสิทธิภาพ

อาจจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์รัฐสภาไทย ที่จะมีกฎหมายให้ลงโทษทางอาญา ถึงขั้นจำคุก แก่ข้าราชการการเมือง เจ้าหน้าที่อื่นๆของรัฐ และเอกชน ที่ไม่ยอมมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ เพราะว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แม้รัฐมนตรี ข้าราชการ หรือเอกชน จะไม่ยอมมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ ก็ไม่ต้องรับโทษ แต่มีคำถามว่าการเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมาธิการถูกต้องเหมาะสมหรือไม่?

โดยปกติคณะกรรมาธิการในประเทศประชาธิปไตย ที่ใช้ระบบรัฐสภา เช่น อังกฤษ หรือประเทศไทย ไม่มีอำนาจในลักษณะดังกล่าว มีแต่ประเทศประชาธิปไตยที่ใช้ระบบประธานาธิบดี จึงจะมีอำนาจค่อนข้างมาก เพราะมีการแบ่งแยกอำนาจกันเด็ดขาด ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร จึงให้อำนาจคณะกรรมาธิการของฝ่ายนิติบัญญัติ ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารอย่างเข้มข้น

สำหรับประเทศไทยที่ใช้ระบบรัฐสภา ถึงแม้ว่าในทางทฤษฎี รัฐสภาจะเป็นผู้ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลแต่ในทางปฏิบัติมักจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าทั้งรัฐบาลคือคณะรัฐมนตรี และเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ก็มาจากพรรคหรือกลุ่มการเมืองเดียวกันนั่นเอง การที่จะให้ ส.ส. ตรวจสอบหรือควบคุมรัฐมนตรี จึงเป็นไปได้ยาก เพราะรัฐมนตรีคือระดับผู้นำในพรรค

การเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมาธิการของสภา จึงอาจกลายเป็นดาบสองคม เพราะเราจะต้องยอมรับความจริงว่า ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. แม้จะเป็น "สมาชิกผู้ทรงเกียรติ" แต่ก็ไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่องไปเสียทุกคน บางคนอาจใช้อำนาจแสวงประโยชน์ส่วนตัว ดังที่เคยมีเรื่องร้องเรียนในอดีตกล่าวหาว่ากรรมาธิการของรัฐสภาบางคนใช้อำนาจแสวงประโยชน์ทั้งจากเอกชนและหน่วยงานของรัฐ

วิธีการที่คณะกรรมาธิการจะได้รับความร่วมมือจากข้าราชการการเมือง และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ของรัฐ น่าจะขอความร่วมมือจากผู้บังคับบัญชา ผู้ฝ่าฝืนอาจต้องรับโทษทางวินัย แต่ไม่ใช่โทษทางอาญา ส่วนความร่วมมือจากเอกชนก็อาจดีขึ้น ถ้าคณะกรรมาธิการของรัฐสภาปฏิบัติตัวให้น่าเชื่อถือไม่ทำตัว "กร่าง" กับผู้มาชี้แจง และไม่ใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ.

http://www.thairath.co.th/column/pol/editor/50540

ประเด็นนี้น่าสนใจมาก  นักสิทธิมนุษยฯไปไหนกันหมด

เหมือนออกมาเพื่อไว้เล่นงานใคร  

เตือนไว้ ระวังดาบนั้นคืนสนอง นะครับท่านผู้ชม

จากคุณ : Tan_my
เขียนเมื่อ : 3 ธ.ค. 52 22:18:54 A:110.49.145.159 X:




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com