Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เมื่อไหร่พ.อ.เปรม ...จะพูดความจริง!!  

เมื่อไหร่ พล.อ.เปรม จะพูดความจริง?
by : ภูมิวัฒน์ นุกิจ


ดูเหมือนการออกมาโฆษณาชวนเชื่อ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2551 ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ผู้ซึ่งรับเงินเดือนภาษีประชาชนรายเดือน เดือนละ 243,980 บาท (พลเมืองภิวัฒน์ร้องศาลปกครองค้าน พรฎ.เพิ่มเงินองคมนตรีและรัฐบุรุษ, ประชาไท วันที่ : 29/1/2551) ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการ "สานใจไทยสู่ใจใต้" รุ่นที่ 8 ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี ถึงกรณีที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า "ไม่ขอตอบ เพราะมีความรู้ในเรื่องนี้น้อยมาก" ส่วนที่ผ่านมาหลายคนเป็นห่วงว่า พล.อ.เปรม หายไปไหน พล.อ.เปรม กล่าวว่า "ไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่ทุกวัน แต่อยู่เงียบๆ ตามปกติ"

เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า กลัวหรือไม่ที่การเมืองเปลี่ยนขั้วและอาจเกิดผลกระทบต่อตัวเอง เพราะถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหาร พล.อ.เปรม ได้กล่าวว่า "พวกคุณคิดกันไปเอง ผมไม่ได้ไปทำอะไร" เมื่อถามย้ำว่า ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติรัฐประหารใช่หรือไม่ พล.อ.เปรม กล่าวว่า "ผู้สื่อข่าวน่าจะรู้ดีว่าผมไม่เกี่ยวข้อง ทุกคนต้องรู้อย่างนั้นว่าผมไม่ได้เกี่ยวข้อง ผมไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง หรือเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการเมือง" พล.อ.เปรม กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลัวหรือไม่ว่าคนจะเข้าใจผิด และถูกเช็กบิลภายหลัง พล.อ.เปรม "ได้แต่ยิ้ม ไม่ตอบคำถาม" จากนั้นก็ไม่ยอมตอบคำถามอื่นๆ ของผู้สื่อข่าวอีก โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล (หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 27 มีนาคม 2551,16:24 น.)

ที่ยกมาข้างต้น จะขออนุญาตเปรียบเทียบให้เห็นความชัดเจนดังต่อไปนี้

1. พล.อ.เปรม บอกว่า "ไม่ขอตอบ เพราะมีความรู้ในเรื่องรัฐธรรมนูญน้อยมาก"

- หลังจากที่พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยคนที่ 16 (ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) ซึ่งเป็น นายกรัฐมนตรีถึง 3 สมัย คือระหว่างปี พ.ศ. 2523 - พ.ศ. 2531 โดยเป็นนายกรัฐมนตรีตามคำเชิญของรัฐสภาที่ครองอำนาจยาวนานที่สุด ทั้งนี้เพราะกฎหมายไทยในสมัยนั้นไม่ได้กำหนดให้รัฐสภาต้องเลือกนายกรัฐมนตรี จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และต่อมาภายในปีพ.ศ.2528 พล.อ.เปรม ได้มีการทูลเกล้าขอให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2521 โดยได้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2521 ไปเป็น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2528 และ พล.อ.ป. (ตามเอกสารเอกสารอิง) ติณสูลานนท์ ยังเป็นผู้ลงลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกด้วย (เว็บไซด์สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร์) รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้เริ่มวางแนวทางประชาธิปไตยแบบไทยๆ โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธ์ (อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เป็นเนติบริกรผู้ช่วยคนสำคัญ

- เมื่อวันที่ 19 กันยา 2549 พล.อ.เปรมได้กล่าวถึง Model (แบบแผน) ประชาธิปไตยของไทยอย่างชัดเจนว่าควรเป็นอย่างไร และได้ให้สัมภาษณ์กับ นักข่าวต่างประเทศรายหนึ่งความว่า "ประชาธิปไตย? ใช่สิ คุณมีรัฐธรรมนูญของคุณและเรามีรัฐธรรมนูญของเรา" (รัฐประหาร 19 กันยา รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข : ฟ้าเดียวกัน หน้า 257)

เห็นได้ชัดเจนว่า พล.อ.เปรม ได้พูดขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง โดยพยายามให้ตัวเองอยู่เหนือการเมือง โดย แถไปข้างๆ คูๆ ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา เพราะตลอดระยะเวลา ก่อนการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้ง นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ได้กล่าวคำว่า "มือที่มองไม่เห็น" เป็นหอกข้างแคร่ เพื่อวิจารณ์อีกฝ่ายเช่นกัน และในแวดวงสื่อมวลชนและสังคมได้ตระหนักว่ามีมือที่มองไม่เห็นเกิดขึ้นจริง

2. พล.อ.เปรม ได้กล่าวต่ออีกว่า "พวกคุณคิดกันไปเอง ผมไม่ได้ไปทำอะไร" เมื่อมีผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติรัฐประหารใช่หรือไม่ พล.อ.เปรม กล่าวว่า "ผู้สื่อข่าวน่าจะรู้ดีว่าผมไม่เกี่ยวข้อง ทุกคนต้องรู้อย่างนั้นว่าผมไม่ได้เกี่ยวข้อง ผมไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง หรือเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการเมือง"

- เมื่อกลางเดือนกรกฏาคม 2549 พล.อ.เปรม ได้เดินทางไปบรรยายพิเศษให้กับนักเรียนนายฯ ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (ร.ร.จปร.) ต่อหน้า อนาคตนายทหารประมาณ 950 คน โดยมีบรรดา "ลูกป๋า" อาทิ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พล.อ อู๊ด เบื้องบน พล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป อยู่ด้วย โดย พล.อ.เปรม กล่าวตรงไปตรงมาว่า

"อยากจะยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ว่าทำไมเราถึงพูดว่าเป็นทหารของชาติ เป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นักเรียนสมัยใหม่คงเล่นม้าไม่เป็น อาจจะเป็นการพนันอย่างอื่นที่ใช้คอมพิวเตอร์ ใช้เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย อยากจะเล่าให้ฟังตรงนี้ เปรียบเทียบให้ฟัง คนนี้ (พล.อ.เปรม) เป็นทหารม้า ถึงรู้เรื่องม้าดี รู้เรื่องการแข่งม้า ถ้าจะแข่งม้า เจ้าของม้าจะเริ่มมีคอกก่อน คอกก็มีม้าหลายตัว 5 ตัว 10 ตัว 20 ตัวก็ได้ เจ้าของคอกก็เป็นเจ้าของม้า เวลาจะแข่ง เขาก็เอาไป เด็กที่เราเรียกว่า jockey คือเด็กขี่ม้า ไปจ้างให้เขามาขี่ม้า เขาจะขี่ม้า พอเสร็จจากขี่ม้าเขาก็กลับไปทำงานอย่างอื่น วันนี้เขาขี่ม้าคอกนี้ วันพรุ่งนี้เขาก็ไปขี่ม้าอีกคอกหนึ่ง เขาไม่ได้เป็นเจ้าของม้าหรอก เขาเป็นคนขี่ม้า รัฐบาลก็เหมือน jockey คือเข้ามาดูแลทหาร ไม่ใช่เจ้าของทหาร เจ้าของทหารคือชาติ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลเข้ามาดูแล แต่กำหนดใช้พวกเราตามที่ประกาศนโยบายไว้ต่อรัฐสภา เด็กขี่ม้าบางคนก็ขี่ดี ขี่เก่ง บางคนก็ขี่ไม่ดี ขี่ไม่เก่ง รัฐบาลก็เหมือนกัน บางรัฐบาลก็ทำงานดี ทำงานเก่ง บางรัฐบาลทำงานไม่ดี ไม่เก่งก็มี นี่เป็นเรื่องจริง! ที่พูดนี่เพื่อให้นักเรียนเข้าใจว่าเราเป็นทหารของชาติเป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่รัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องอื่นของพวกเรา"


เพียงสัปดาห์เดียวหลังการอุปมาเรื่องจ๊อกกี้ของพล.อ.เปรม ได้มีคำสั่งกองทัพบกที่ 423/2549 "เรื่องให้นายทหารรับราชการจำนวน 129 นาย" โดยคำสั่งดังกล่าวเป้นคำสั่งปรับย้ายนายทหารระดับผู้บังคับกองพัน หรือตำแหน่งผู้พัน ซึ่งการจัดทำครั้งนี้ถือว่าเป้นการจัดทำที่เร่งด่วน เพราะฤดูกาลปรับย้ายนายทหารระดับผู้พัน จะทำกันหลังการสวนสนามรักษาพระองค์ ครั้งนี้ถือว่าเป็นคำสั่งนอกฤดูกาล เพราะในคำสั่งได้ระบุให้รับเงินประจำตำแหน่งตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 การโยกย้ายครั้งนี้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนในภายหลังว่า เป็นการโยกย้ายเพื่อรัฐประหาร แต่สำหรับผู่ใกล้ชิดกับทหารบางส่วนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็น่าจะทราบดี จึงไม่แปลกที่ว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ถึงกล้าประกาศออกมาว่าการต่อสู้กับระบอบทักษิณได้ถึงจุดแตกหักแล้ว (โดยนัดชุมนุมครั้งใหญ่สุดท้ายที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นเขตพระราชฐาน ประกาศแตกหักทันที 20 กันยายน 2549) (อ้างแล้ว หน้า 312-313, หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่15,20 กรฏาคม 2549)


ตามภาพ คนผมสีขาว หันหลังคือ พล.อ.เปรม
- มีหลายคนให้น้ำหนักร่วมกันว่าพล.อ.เปรมมีบทบาทอย่างมากต่อการรัฐประหาร 19 กันยา 2549อาทิ คุณธนาพล อิ๋วสกุล, ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดย ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "พล.อ.เปรมเป็นบุคคลที่มีบทบาททางการเมือง ในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2549" นอกจากนี้ยังมีบทวิเคราะห์จากสำนักข่าว XFN-ASIA ระบุในเว็บไซต์ นิตยสารฟอร์บ ว่า "พล.อ.เปรมเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทย พร้อมทั้งได้สนับสนุนให้ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน จากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

- กลางดึกในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 พล.อ.เปรมได้พา พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัริตย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และคณะเข้าเฝ้า กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ และสมเด็จพระนางเจ้าราชินี

จากวันนั้นถึงวันนี้ พล.อ.เปรมและบรรดาลูกป๋าและคณะปฏิกูล ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อย่างไรก็ ได้ย้ำว่า"พลเอกเปรมไม่เคยมีบทบาททางการเมือง หรือเกี่ยวข้องเลย ท่านเป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรมเสมอ"

สารานุกรมที่เกี่ยวข้อง
1. สำนักราชเลขาธิการแถลงชี้แจงการประชุมองคมนตรี,ประชาไท วันที่ : 15/3/2549
2. ด่วน ! ปธ.องคมนตรีแถลงสั้นการแก้ปัญหาบ้านเมือง, ประชาไท วันที่ : 15/3/2549
3. ตีความด้วยคน : ถอดรหัสป๋า เปิดปาก 3 ฝ่ายต้องคุยกันเอง, ประชาไท วันที่ : 16/3/2549
4. เพลงทหารพระราชา, นายยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาวแดง)
5. หลังฉากพันธมิตร หลังวันรัฐประหาร และหลังรัฐบาลสุรยุทธ์ กับ สุริยะใส กตะศิลา, onopem
6. พันธมิตรประชาชนเพื่อ ?ประชาธิปไตย? กับ นปก.: ความเหมือนอันน่าเป็นห่วง:ประวิตร โรจนพฤกษ์ , ประชาไท วันที่ : 12/3/2551

 
 

จากคุณ : createTshirt
เขียนเมื่อ : 13 ธ.ค. 52 18:53:23 A:124.120.247.113 X:




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com