Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับการชุมนุม และการปิด PTV ครับ  

(ลงไว้เป็น permalink ที่:
http://csirre.wordpress.com/2010/04/10/reddishrajprasong/

ความรู้ทางด้านการเมืองของผมนั้น ผมขอยอมรับว่าอยู่ในระดับที่เรียกได้ว่า “ไก่อ่อน” แต่ด้วยความที่เป็นคนที่ศรัทธาในปรัชญาแห่งเสรีภาพ และได้ติดตามเรื่องราวการชุมนุมเรียกร้องในครั้งนี้อย่างสม่ำเสมอ (แม้จะยังไม่เรียกได้ว่า “ใกล้ชิด” หรือ “เจาะลึก” แต่ก็สม่ำเสมอแน่นอน) ผมจึงขออนุญาตแสดงทรรศนะดังนี้

ข้อแรก การปิดถนนเพื่อเรียกร้องการเลือกตั้ง เป็นการกระที่ “ควร” เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?
การเรียกร้องโดยการกดดันอีกฝ่ายโดยสงบ เป็นอาวุธที่สำคัญยิ่งอันหนึ่งในโลกแห่งสันติภาพ เมื่อคนคนหนึ่งไม่พอใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสังคม คนคนนั้นย่อมต้องยอมรับสิ่งที่ตนไม่พอใจนั้น เพราะนั่นคือกติกาของการอยู่ในสังคมที่สงบสุข อย่างไรก็ตาม การยอมรับในสิ่งที่ตนไม่พอใจนั้น ไม่ได้แปลว่าคนคนนั้นจะไม่สามารถแสดงออกซึ่งความไม่พอใจนั้นของตน รวมไปถึงสิ่งที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ เพราะเพียงการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจเท่านั้น ย่อมไม่เป็นการล่วงเกินสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นแต่อย่างใดเลย การแสดงออกซึ่งความไม่พอใจที่ว่านี้ อาจจะดูไม่มีน้ำหนัก และไม่เป็นสาระ หากเป็นการแสดงออกของคนเพียงหนึ่งคน หรือกลุ่มคนเพียงจำนวนน้อย ทั้งนี้ เพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมยัง “พอใจ” ในสังคมส่วนนั้นอยู่ แต่หากมีคนจำนวนมากเรียกร้องในสิ่งเดียวกัน โดยการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจในสังคมที่เขาเหล่านั้นอยู่ ตรรกะของการอยู่ร่วมกันในสังคมแสดงให้เห็นว่า การแสดงออกทางความคิดดังกล่าวย่อมจะสามารถนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อบ้านเมืองเป็นการถาวร

ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า การแสดงออกทางความคิด (การแสดงออกย่อมต้องกระทำทางกายภาพ เพราะโดยธรรมชาติมนุษย์ปกติไม่สามารถใช้พลังจิตสื่อสารสิ่งที่ตนคิดให้ผู้อื่นรู้ได้ เพราะฉะนั้น การแสดงออก และการออกมาเคลื่อนไหว ผมเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกัน) นั้น ได้กระทำลงโดยกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น “เกินสมควร” หรือไม่?

คำว่า “เกินสมควร” มีความหมายอยู่ในตัวเองว่า เป็นการล่วงละเมิดผู้อื่นในขั้นที่เกินกว่าที่ควรกระทำ ดังนั้น หากการกระทำใดๆ ไม่เกินสมควร ก็ย่อมถือว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้โดยชอบ ทั้งนี้ ผมเห็นว่า การกล่าวว่าการดำเนินการใดๆ ต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้อื่นเลย ย่อมเป็นการกล่าวที่ฝืนตรรกะและธรรมชาติ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ทุกชีวิตบนโลกล้วนเกี่ยวพันกันไม่มากก็น้อย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตั้งแต่เกิน จนตาย การกินวัวหนึ่งตัว ก็ย่อมทำให้คนอื่นไม่ได้กินวัวตัวนั้น การจอดรถหนึ่งที่ ก็ทำให้คนอื่นไม่ได้จอดรถตรงนั้น หรือแม้กระทั่งการหายใจเอาอากาศเข้าไป ก็ทำให้ผู้อื่นไม่ได้อากาศส่วนนั้น ดังนั้น เพียงการใช้ชีวิต ก็เป็นการล่วงเกินสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นเสียแล้ว นับประสาอะไรกับการเรียกร้อง หรือแสดงความไม่พอใจ ที่จะกระทบล่วงเกินผู้อื่นบ้างไม่มากก็น้อย? ดังนั้น การชุมนุมเพื่อกดดันฝ่ายตรงข้ามซึ่งเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสยามประเทศนี้ย่อมจะต้องกระทบต่อบุคคลอื่นไม่มากก็น้อย

แต่ขอบเขตที่สามารถกระทำได้ควรจะกว้างหรือแคบเพียงใด?

ผมมีหลักคิดอยู่สองเรื่องเกี่ยวกับการแสดงออกทางความคิดในทางโต้แย้งนี้ดังนี้ เรื่องแรกคือหลักที่ว่า การแสดงออก ต้องเป็นการส่งข้อความและเจตนา “ไปถึงตัวผู้รับข้อความ” จุดสังเกตุคือ ข้อความ ต้องไปทั้งตัวเนื้อหา และเจตนา แน่นอนที่สุดว่าการชุมนุมริมแม่น้ำโขงย่อมไม่สามารถนำมาซึ่งการยุบสภาได้เป็นแน่แท้ เพราะแม้จะมีคนมากระซิบบอกรัฐบาลว่า “มีคนชุมนุมไล่ท่านอยู่ริมน้ำโขงล้านกว่าคนครับท่าน” ท่านนายกก็คงไม่สนใจเท่าใดนัก เพราะข้อความที่ถูกส่งผ่านมาทางการชุมนุมริมโขง แม้จะเป็นเนื้อความเดียวกันกับที่เวทีราชประสงค์ แต่ก็ขาดไร้ซึ่งความ “จริงจัง” (จะให้แถว่าจริงจังก็น่าจะยาก เพราะท่านนายกก็คงบอกไปว่า “จริงจังแล้วเรอะ.... แล้วไปทำอะไรตรงนั้น... ช่างมันเถอะ เดี๋ยวเค้าเบื่อก็กลับเองแหละ(มั๊ง)”) ข้อสอง การแสดงความไม่พอใจ ต้องเป็นการแสดงออกในรูปแบบที่ “สามารถกดดันฝ่ายตรงข้ามได้” ในประเด็นนี้ ผมเห็นว่า การกดดันไม่ใช่เรื่องชั่วร้าย ระบบการเจรจาระหว่างผู้มีอำนาจเหนือกว่า และผู้มีอำนาจด้อยกว่า ก็ล้วนแล้วแต่ใช้กลไกที่เรียกว่า “การกดดัน” โดยชอบทั้งสิ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็น่าจะเป็นสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะในประเทศเสรีนิยมที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย (รวมทั้งสหรัฐอเมริกา) สหภาพแรงงาน (Labor Union) เป็นการรวมตัวกันของเหล่าลูกจ้างปลาซิวปลาสร้ายเพื่อต่อกรกับนายจ้างที่บางครั้งร่ำรวยพอๆ กับประเทศเล็กๆ เลยทีเดียว การรวมตัวกันเป็นสหภาพนั้น นอกจากจะทำให้ปลาซิวปลาสร้อยค่าแรงขั้นต่ำสามารถยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างมหาอำนาจในนามของสหภาพได้แล้ว กฎหมายยังอนุญาตให้การดำเนินการกดดันนายจ้างในรูปแบบต่างๆ สามารถทำได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการนัดหยุดงาน (Strike) หรือการปิดล้อมสถานที่ของนายจ้าง (Picketing) ซึ่งมองในบางแง่มุมก็จะเห็นได้ว่าเป็นการทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างแน่นอน แต่ในมุมของกฎหมายในเรื่องนี้ สิ่งดังกล่าวสามารถทำได้เพราะ การ “กดดัน” เป็นการ “บังคับ” ให้นายจ้างต้องเร่งลงมาเจรจาหาทางออกร่วมกับลูกจ้างนั้นเอง การแสดงเจตนาโดยไม่มีการกดดัน หรือบังคับอีกฝ่าย (ให้มาเจรจา) ได้เลย ย่อมไม่ทำให้การแสดงเจตนาขัดขืนนั้นมีประสิทธิภาพ แม้จะเป็นการรวมตัวของคนจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมมองไปถึงเรื่องที่ว่าการแสดงเจตนานั้นเป็นไปโดยเปล่าประโยชน์โดยสิ้นเชิงเสียด้วยซ้ำ (เปรียบเทียบได้กับการชุมนุมริมน้ำโขงนั่นเอง)

ข้อต่อไปที่ต้องพิจารณาคือ “การกดดัน” นั้น ควรอนุญาตทำได้เพียงใด? ในทรรศนะของผม ขอตอบสั้นๆ ว่า “ทำได้เท่าที่จำเป็น” ซึ่งแปลว่า “เมื่อไม่มีทางอื่นใดแล้วที่จะสามารถสื่อสารและกดดันฝ่ายตรงข้ามให้เข้ามาเจรจาแก้ปัญหาได้” ในกรณีนี้ เมื่อมาพิจารณาถึงพี่น้องเสื้อแดงชาวไทยของพวกเรา ก็ยังเหลืออีกหลายจุดให้กลับมาคิด เช่น ทำไมถึงไม่เริ่มจากการปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล (ผมเห็นว่าอาจจะเป็นเพราะถึงมีการปิดล้อมทำเนียบ คณะรัฐมนตรีก็ยังสัญจรไปประชุม ไปทำงานกันที่อื่นได้อยู่ดี), ทำไมถึงไม่ปิดล้อมสนามหลวง (น่าจะเพราะปิดล้อมไปก็ไม่เกิดผลกดดันอะไร เพราะรัฐบาลและประชาชนก็ไม่ได้ใช้พื้นที่สนามหลวงไปทำอะไรอย่างมีนัยสำคัญอยู่แล้ว) ถ้าเสื้อแดงตอบคำถามในทำนองนี้ได้ทั้งหมด ผมถือว่าการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เป็นการชุมนุมโดยชอบครับ (ลองคิดเทียบกับการปิดล้อมสนามบินเมื่อสองปีที่แล้วดู แล้วจะเห็นความชัดเจนบางอย่างแน่นอน)

ข้อสอง การปิดกั้นช่องทางสื่อสารของผู้ร่วมชุมนุม “ควร” เป็นการกระทำที่ชอบหรือไม่?
การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น การไหลเวียนของข่าวสารโดยเสรี (Free Flow of Information) เป็นจุดที่เป็นหัวใจของระบอบเลยทีเดียว ทั้งนี้ เพราะการปกครองในระบอบนี้ ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในการดำเนินการใดๆ ในทางการเมือง การตัดสินใจไม่มีทางที่จะตรงตามความต้องการของประชาชนได้เลยหากการตัดสินใจนั้นทำลงโดยขาดข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและครบถ้วน

เรื่องความถูกต้องของข่าวคงไม่ต้องพูดถึง เนื่องจากมันเป็นหัวใจสำคัญของคำว่า “ข่าว” อยู่แล้ว แต่ผมมีข้อสังเกตุอีกข้อหนึ่งคือ ผมใช้คำว่าถูกต้องและ “ครบถ้วน” ไม่ใช่ “เป็นกลาง” เพราะข่าวสารนั้น ผมเห็นว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเป็นกลาง การเสนอข่าวทางการเมืองเรื่องหนึ่งย่อมจะเป็นการแสดงทรรศนะทางการเมืองในเรื่องนั้นๆ ไปในตัวด้วยเสมอ แม้ว่าข่าวนั้นๆ จะไม่มีความคิดเห็นของผู้เสนอข่าวเข้ามาเกี่ยวข้องเลยก็ตาม เช่น การเสนอข่าวนโยบายของรัฐบาล ก็เสมือนเป็นการส่งเสริมความนิยมในนโยบายของรัฐบาล และในขณะเดียวกัน การเสนอข่าวด้านลบของรัฐบาลก็ย่อมจะมีความเป็นไปได้ที่จะถูกมองว่าเป็นการเสนอข่าวของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลนั่นเอง ดังนั้น ข่าวสารที่มีคุณภาพในความคิดของผมคือข่าวที่ครบถ้วน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง ครบถ้วนคือ ครบถ้วนตามข้อเท็จจริงที่มีอยู่ ไม่ปิดบังส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่นำเสนอทั้งหมดทุกส่วนและปล่อยให้ผู้ที่เสพข่าวนั้นเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าตัวละครในข่าวนั้นๆ เป็นเช่นไร ควรได้รับการสนับสนุน หรือการเกลียดชัง

ในโลกของความเป็นจริง ข่าวที่ครบถ้วนจากแหล่งข่าวเดียวกันย่อมจะหาได้ยากยิ่ง เพราะการข่าวเป็นเรื่องทางธุรกิจ เป็นเรื่องความชอบพอส่วนตัวของผู้เขียนข่าว และบรรณาธิการข่าว หากสำนักข่าวใดสามารถเสนอข่าวได้ “ครบถ้วน” จริงๆ นั่นก็ถือเป็นกุศลของผู้ฟัง แต่ถ้ามันไม่เป็นเช่นนั้น ทางแก้คืออะไร? ผมเห็นว่าทางแก้ที่ดีที่สุดคือการ “ไม่แทรงแซงสำนักข่าว” นั่นคือ การปล่อยให้สำนักข่าวแข่งขันกันเสนอข่าวเอง เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ประชาชนก็ย่อมจะได้รับ (หรือมีความเป็นไปได้มากที่จะได้รับ) การเสนอข่าวที่ “ครบถ้วน” อันจะนำไปสู่การตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังเหตุที่กล่าวมา ผมจึงไม่รังเกียจ และไม่รู้สึกอะไรกับสำนักข่าวที่เสนอข่าวเพียงด้านเดียวเลย เพราะผมทราบดีว่าต่อให้มีสำนักข่าวบางสำนักเสนอข่าวแต่ด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว ประเทศไทยก็คงไม่สิ้นคนดีแต่เพียงเท่านั้น มันต้องมีสำนักข่าวอื่นเสนอข่าวด้านอื่นๆ ออกมาด้วยในเวลาเดียวกัน (เปรียบเสมือนหนังสือพิมพ์กีฬาฟุตบอล และหนังสือพิมพ์กีฬามวย ซึ่งคงไม่มีใครที่ไหนมานั่งด่าว่าหนังสือพิมพ์มวยไม่เขียนเรื่องฟุตบอลนั่นเอง) เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การปิดกั้นช่องทางสื่อสารที่รัฐบาลทำกับกลุ่มผู้ชุมนุม หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ชุมนุมกล่าวคำเท็จแล้ว ย่อมเป็นการล้มล้างรากฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างชั่วร้ายที่สุด โดยน้ำมือของตัวรัฐาธิปัตย์เอง (การพิสูจน์ ต้องเป็นการพิสูจน์โดยการแสดงหลักฐานอันน่าเชื่อถือต่อประชาชน การกล่าวอ้างลอยๆ ว่ามีการปลุกปั่น หรือเรียกปลุกให้ประชาชนมาชุมนุม ผมไม่แม้กระทั่งรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ผิดแต่อย่างใด ผมชอบห้างเซ็นทรัล แล้วเพราะเหตุใดผมจึงจะบอกต่อชวนเพื่อนฝูงมาเที่ยวห้างนี้ไม่ได้ และหากแสดงเหตุผลไม่ได้ว่าผมจะชักชวนเพื่อนๆ ของผมมาทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย เป็นผลเสียมากกว่าผลดี ผมย่อมมีสิทธิโดยชอบธรรมตามธรรมชาติที่จะกระทำการนั้นๆ ยิ่งไปกว่านั้น การกล่าวอ้างข้อเท็จจริงลอยๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เปราะบางและตึงเครียดเช่นนี้ ในขณะที่รัฐบาลสามารถแถลงการณ์ผ่านสื่อได้ทุกช่องทาง เป็นการกระทำที่เข้าข่ายคำว่า “เผด็จการ” มากกว่า “ประชาธิปไตย” อย่างแน่นอน)

จากคุณ : csirre
เขียนเมื่อ : 11 เม.ย. 53 02:05:11 A:124.122.98.222 X:




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com