บทความพิเศษ:ใคร?จะพานายพลทายาทอำนาจคมช.รุ่นแล้วรุ่นเล่าออกไปจากการเมือง
|
|
ทหารในการเมืองไทย: ใครจะพานายพลพวกนี้ออกไป
โดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
ทหารมีบทบาทสำคัญในการเมืองไทยเสมอมานับแต่การปฏิวัติ 2475 จนถึงปัจจุบัน มีช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียงสามช่วงเท่านั้นในประวัติศาสตร์ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ทหารลดบทบาททางการเมืองลงไป กล่าวคือ ช่วงปี 2487-2490 ช่วงปี 2516-2519 และ 2535-2549 เพราะพลังของกลุ่มอื่นๆในสังคมประสบความสำเร็จในการแทรกตัวเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองมากขึ้น และเกิดการต่อสู้กันก่อนที่ฝ่ายทหารจะสามารถตีโต้เอาคืนมาได้ในที่สุด
ในประวัติศาสตร์ 77 ปีที่ผ่านมานั้น มีช่วงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้นที่ทหารจำต้องถอยห่างออกไปจากการเมือง แต่เราก็ไม่อาจจะพูดได้เต็มปากว่า ทหารไม่ได้มีบทบาททางการเมืองเอาเสียเลย แม้แต่ในช่วงระยะเวลาค่อนข้างนานหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่ทหารไม่ปรากฏตัวอย่างชัดเจนในเวทีการเมือง จนนักสังเกตการณ์ทางการเมืองจำนวนมากพากันประกาศว่า เป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่ทหารจะกลับมาทำการรัฐประหารยึดอำนาจทางการเมือง แต่ในความเป็นจริงนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทหารได้ออกไปจากการเมืองหรือถูกทำให้ปลอดการเมือง (de-politicalization) อย่างสิ้นเชิง หากแต่ Duncan McCargo และ อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ ได้ชี้ให้เห็นว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นระยะเวลาการปรับฐานะและตำแหน่งทางการเมืองของทหารต่างหาก [1] และสุดท้ายเราก็ได้เห็นทหารกลับเข้ามาในการเมืองอีกครั้งอย่างเต็มรูปแบบหลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 และยังคงสืบทอดอำนาจเพื่อแสดงฐานะและบทบาททางการเมืองอยู่ในจนถึงปัจจุบัน
แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วเราจะยังเห็น รัฐบาลพลเรือนอยู่ในอำนาจ มีนักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งได้มาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม แต่ในความเป็นจริงยุคสมัยปัจจุบันรัฐบาลพลเรือนที่ว่านั้นก็ไม่สามารถใช้อำนาจในฐานะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้อย่างเต็มที่ ตรงกันข้ามเราจะได้เห็นบทบาทของกองทัพค่อนข้างจะชัดเจนในหลายๆ เรื่อง และในหลายๆส่วนของการเมือง
มีวิธีการมากมายที่จะศึกษาบทบาทของทหารในการเมือง มีนักวิชาการจำนวนมากพยายามที่จะค้นหาคำตอบว่า มีปัจจัยและเงื่อนไขอะไรเป็นตัวกำหนดให้ทหารเข้ายึดอำนาจทางการเมือง ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ศึกษาข้ออ้างในการทำปฏิวัติ-รัฐประหาร [2] แล้วพบว่ามีข้ออ้างซ้ำไปซ้ำมาประมาณ 9 เรื่องที่ทหารไทยใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร เช่นเรื่องรัฐบาลและรัฐมนตรี เรื่องพระมหากษัตริย์ เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องเสถียรภาพและความมั่นคง เรื่องทหารและกองทัพ เรื่องการแตกความสามัคคีของคนในชาติ เป็นต้น แต่ข้ออ้างพวกนี้ก็ไม่ได้บอกอะไรมากนักว่าทำไมและเมื่อไหร่ทหารจะเข้ามาสู่การเมือง เพราะเอาเข้าจริงทหารสามารถอ้างปัญหาทุกปัญหาเพื่อสร้างความชอบธรรมเข้ามายึดอำนาจทางการเมือง แต่โดยหลักๆแล้วทหารจะเข้ายึดอำนาจทางการเมืองเมื่อเกิดความยุ่งยากภายในประเทศ เมื่อทหารกับพลเรือนขัดแย้งกัน เมื่อทหารขัดแย้งกันเอง และ เมื่อทหารต้องการมีอำนาจมากขึ้นหรือพูดง่ายๆต้องการบริหารประเทศเสียเอง สรุปแล้วทหารจะยึดอำนาจเมื่อไหร่ก็ได้ ด้วยเงื่อนไขและปัจจัยอะไรก็ได้ การยึดอำนาจสองครั้งล่าสุดในประวัติศาสตร์คือในปี 2534 และ 2549 นั้นเป็นที่แน่ชัดว่า หากผู้นำเหล่าทัพประสงค์จะยึดอำนาจเป็นอันว่าทำได้โดยที่ไม่มีใครต้านทานได้ (หรือจริงๆแล้วไม่มีใครอยากจะต้านทาน) พอล แชมเบอร์ส นักวิชาการชาวอเมริกัน ผู้ศึกษาบทบาททหารในการเมืองไทยคนหนึ่ง ได้เสนองานของเขา เรื่อง U-Turn to the Past?: The Resurgence of the Military in Contemporary Thai Politics ในการสัมมนาของสถาบันศึกษานานาชาติและความมั่นคง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนกันยายน 2552 ได้เสนอกรอบในการวิเคราะห์บทบาททหารในการเมืองเอาไว้อย่างน่าสนใจ บทวิเคราะห์ขนาด 100 หน้า กระดาษ A4 เริ่มต้นด้วยการพิจารณาความเป็นเอกภาพของทหารในกองทัพไทย แล้วจากนั้นได้เสนอกรอบในการวิเคราะห์ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างทหารและพลเรือน ซึ่งเป็นหัวใจของงานของเขาที่จะแสดงให้เห็นว่า ทหารไทยนั้นแตกต่างจากทหารพม่าอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อทหารไทยยึดอำนาจแล้วไม่สามารถที่จะแสดงบทบาทผ่านสภาทหาร (junta) ไม่ว่าในชื่อใดๆ จะเป็นสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คณะมนตรีความมั่นคง ก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะปรากฏตัวในรูปแบบนี้ได้นานนัก จะต้องสลายตัวไปแล้วไปชักใยควบคุมการเมืองอยู่เบื้องหลัง [3] ในแง่ความเป็นเอกภาพของทหารนั้น แชมเบอร์ส ชี้ว่า กองทัพไทยสมัยใหม่นั้นตั้งขึ้นมาในสมัยรัชการที่ 5 ได้นำเอาอุดมการณ์ในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นแกนกลางในการรักษาความเป็นเอกภาพ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 กองทัพได้เปลี่ยนอุดมการณ์มาปกป้องมาตุภูมิจากอริราชศัตรูที่หมายจะยึดครองประเทศให้เป็นอาณานิคม แต่นับจากปี 2490 จนถึงยุคสิ้นสุดสงครามเย็นทหารทำหน้าที่ในการต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งช่วงนี้เองที่ทหารได้เปลี่ยนแกนกลางของอุดมการณ์มาเป็นผู้พิทักษ์ราชบัลลังก์อีกครั้ง เพราะคอมมิวนิสต์นั้นเป็นภัยโดยตรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และอีกประการหนึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ประสบความสำเร็จในการยึดคืนพื้นที่ทางการเมืองโดยความช่วยเหลืออย่างเข้มแข็งของกองทัพในสมัย สฤษดิ์ ธนะรัชต์ [4] ทหารจึงได้ยึดเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นแกนกลางทางอุดมการณ์เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพมาได้จนทุกวันนี้ นอกจากเรื่องอุดมการณ์แล้ว แชมเบอร์ส เห็นว่าบุคลากรในกองทัพสามารถเชื่อมโยงกันอยู่ได้ด้วย การแต่งงาน สายสัมพันธ์ทางเครือญาติและการเป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นในบางกรณี บารมีส่วนบุคคลก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเชื่อมโยงบุคลากรในกองทัพเอาไว้ด้วยกัน ตัวอย่างของจอมพล ป พิบูลสงคราม จอมพล สฤษดิ์ และในยุคปัจจุบันนี้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กำลังใช้บารมีส่วนตัวในการสร้างเอกภาพในกองทัพเอาไว้ เครือข่ายของ ลูกป๋า มีส่วนอย่างสำคัญในการยึดโยงบุคคลากรจำนวนหนึ่งของกองทัพเอาไว้ด้วยกัน ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือนซึ่งแชมเบอร์สใช้เป็นกรอบในการวิเคราะห์บทบาทของทหารในการเมืองไทยนั้นจะพิจารณาว่าระหว่างทหารกับพลเรือนใครจะมีอำนาจในการควบคุม ตัดสินใจ และ กำหนด ทิศทางการเมืองได้มากกว่ากัน เขาได้แบ่งพื้นที่สำหรับการพิจารณาอำนาจการตัดสินระหว่างทหารและพลเรือนใน 5 ส่วนสำคัญคือ การคัดเลือกผู้นำ (elite recruitment) นโยบายสาธารณะ (public policy) ความมั่นคงภายใน (internal security) การป้องกันประเทศ (national defense) และองค์กรทางทหาร (military organization)
สำหรับผู้สนใจกรุณาอ่านต่อทางเวปลิงค์ เพราะพื้นที่ในพันทิปไม่พอ ขออภัยในความไม่สะดวก http://www.internetfreedom.us/showthread.php?tid=2269
จากคุณ |
:
อายุธ
|
เขียนเมื่อ |
:
4 ส.ค. 53 21:21:02
A:125.25.161.176 X:
|
|
|
|