Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ข่าวเก่าที่ข้อเท็จจริงยังไม่เปลี่ยนแปลงและยังไม่มีคนรับผิดชอบ เปิดรายงาน90ศพ"กระชับพื้นที่" ยิงไม่เลือกเป้า-ละเมิดกฎสากล  

 

เปิดรายงาน90ศพ"กระชับพื้นที่" ยิงไม่เลือกเป้า-ละเมิดกฎสากล

การสลายการชุมนุมเสื้อแดง ของ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นับตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 2553 และวันที่ 14-20 พ.ค. 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 90 ราย บาดเจ็บนับ 2,000 คน

ขณะที่ข้อเท็จจริงการบาดเจ็บและล้มตาย ยังถูกอำพราง-กลบซ่อน นักวิชาการกลุ่มเล็กๆในนาม กลุ่มสันติประชาธรรม ได้พยายามตรวจสอบเปิดเผยข้อเท็จจริงที่ถูกปิดบังซ่อนอำพรางนั้นเพื่อเรียกหาความยุติธรรมให้แก่ผู้สูญเสีย

ดร.กฤตยา อาชวนิชกุล ศูนย์สิทธิมนุษยชน มหิดล ได้นำข้อมูลการตายจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติมาวิเคราะห์ พบว่าผู้ตาย 90 ราย นับตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 2553 นั้นข้อมูลของผู้เสียชีวิตครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ข้อมูลการเสียชีวิตในวันที 14-19 พ.ค. เป็นข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนทำให้ภาพการตายในช่วงเหตุการณ์นั้นพร่าเลือน ไม่ชัดเจน

ผู้เสียชีวิตทั้ง 90 ราย เป็นหญิง 4 ราย, อายุส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน, มีเยาวชน 2 ราย อายุ 14 ปี (ชาย 1 หญิง 1) เจ้าหน้าที่รัฐ 10 ราย , นักข่าวต่างชาติเสียชีวิต 2 ราย สาเหตุของการเสียชีวิตประมาณ 3 ใน 4 ถูกยิง สันนิษฐานได้ว่าเป็นปืนที่ใช้ในสงคราม

" ตั้งใจยิงใส่หัว 23 ราย หน้าอก 24 ราย และมีหลายรายมีการถูกยิงมากกว่า 1 ตำแหน่ง หรือถูกยิงหลายนัดจำนวนหลายราย โดยรายที่ชัดเจนที่สุด คือ นางสาวกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตที่วัดปทุมวนารามฯ

ส่วนปัญหาของการชันสูตรพลิกศพ ดร.กฤตยา กล่าวข้อมูลการชันสูตรศพที่ควรจะต้องเปิดเผย แต่เหตุการณ์ปี 2553 ข้อมูลไม่ได้รับการเปิดเผยและหลายกรณีญาติผู้เสียชีวิตประท้วงเพราะแพทย์ชันสูตรแล้วระบุว่า “ถูกของแข็งกระแทก” ทั้งที่เห็นอย่างชัดเจนว่าถูกยิง

ข้อมูลผู้เสียชีวิต 90 ราย ที่ส่วนใหญ่ถูกยิงศีรษะทำให้ตั้งคำถามว่า รัฐสลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุละเมิดหลักสากลหรือไม่...ซึ่งในประเด็นนี้ ขวัญระวี วังอุดม นักสิทธิมนุษยชน ได้ตรวจสอบเทียบเคียงปฏิบัติการตามประกาศของ ศอฉ. ใน 3 กรณี คือ 1.เพื่อยิงข่มขวัญขึ้นฟ้า 2.เพื่อยิงต่อเป้าหมายเมื่อสามารถตรวจสอบได้ว่ามีกลุ่มก่อการร้าย หรือกลุ่มผู้ชุมนุมคนหนึ่งคนใดที่ถืออาวุธร้ายแรง อาวุธสงคราม ลูกระเบิดที่จะสามารถทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และประชาชนผู้บริสุทธิ์ 3.ยิงเพื่อป้องกันชีวิตของเจ้าหน้าที่เมื่อจะถูกทำร้ายถึงแก่ชีวิตและไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่นได้

แต่ในทางปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหาร ข้อมูลเกี่ยวกับบาดแผลของผู้เสียชีวิต 54 ราย จากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหารในเหตุการณ์ “กระชับวงล้อม” ตั้งแต่วันที่ 14-19 พ.ค. แสดงการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ทหารในทางตรงกันข้าม เพราะข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิตและบริเวณของบาดแผลของผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นจำนวน 54 ราย โดย 40 รายเสียชีวิตจากกระสุนปืน ในขณะที่มากกว่าครึ่งพบบาดแผลบริเวณช่วงบนของลำตัว เช่น ใบหน้า/ศีรษะ หน้าอก ท้อง ปอด และลำคอ

"ข้อมูลบาดแผลและสาเหตุการเสียชีวิตแสดงให้เห็นถึงภาพรวมการปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลไทยอันขัดต่อกฎการใช้กำลัง 3 ข้อที่ศอฉ.ประกาศไว้แล้ว ยังชวนให้ตั้งข้อสงสัยว่า หากผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มีอาวุธสงครามจริง หรือหากมี “ผู้ก่อการร้าย” แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมจริง เหตุใดตัวเลขผู้เสียชีวิตจึงเป็นผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ไม่มีอาวุธมากกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เป็นทหารหลายเท่าตัว" ขวัญระวี กล่าว

นอกจากนี้ เธอได้ยกตัวอย่างเหยื่อการใช้กำลังทหารเกินขอบเขตกรณีนายสมาพันธ์ ศรีเทพ อายุ 17 ปี หนึ่งในผู้เสียชีวิตโดยเจ้าหน้าที่ทหารระหว่างการปะทะบริเวณซอยรางน้ำ วันที่ 15 พ.ค. เวลาประมาณ 08.30 น. ไม่พบอาวุธใดๆ ในตัวนายสมาพันธ์และผู้ชุมนุมที่ถูกยิงศีรษะเสียชีวิตบริเวณใกล้เคียงทั้งหมด

"การเสียชีวิตของนายสมาพันธ์สะท้อนปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารอันขัดกฎการใช้กำลังหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการยิงผู้ชุมนุมมือเปล่าซึ่งไม่สามารถคุกคามชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหาร การยิงระดับเหนือหัวเข่าให้ถึงแก่ชีวิต (fatal shot) ซึ่งไม่ใช่การยิงเพื่อเตือนหรือสกัดกั้น (warning shot) เท่ากับเป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ " ขวัญระวี กล่าว

นอกจากนี้ยังรวมถึงกฎการควบคุมการใช้อาวุธอย่างระมัดระวัง ซึ่งทหารก็ละเมิด เช่นกัน ยกตัวอย่าง กรณี การยิง นายสรายุทธ อำพันธ์ เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพร่วมกตัญญู อายุ 22 ปี ใน วันที่ 14 พ.ค. เวลา 16.00 น. ก่อนเกิดเหตุเขา พร้อมด้วยนายธีรภัทร กลมเกลี้ยง หัวหน้าทีมหน่วยกู้ชีพ และเจ้าหน้าที่หญิงอีกหนึ่งรายได้จอดรถไว้ที่ลานจอดรถโรงแรมพินนาเคิล ซอยงามดูพลี เพื่อเตรียมให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ชุมนุมเสื้อแดง

หลังจากนั้นมีผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งวิ่งหนีทหารที่วิ่งไล่กวดมาก่อนหนีออกไปยังท้ายซอย เมื่อทหารตามมาถึงบริเวณที่รถของหน่วยกู้ชีพจอดอยู่ นายสรายุทธและเจ้าหน้าที่ผู้หญิงได้เข้าไปหลบอันตรายอยู่ในรถ ส่วนนายธีรภัทรซึ่งยืนอยู่ข้างๆ รถให้ข้อมูลว่า ทหารนายหนึ่งซึ่งแต่งกายคล้ายหัวหน้าหน่วยบังคับบัญชาตะโกนใส่เขาว่า

“...เกี่ยวข้อง (กับผู้ชุมนุม) ด้วยรึเปล่า?” หัวหน้าทีมจึงตอบไปว่า “ไม่เกี่ยว เราเป็นหน่วยกู้ชีพ” พร้อมกับชี้ไปยังเครื่องแบบสีขาวและยกมือทั้งสองข้างขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีอาวุธ แต่ทันทีหลังการเจรจาสิ้นสุดลง ทหารอีกนายซึ่งอยู่ห่างกันไม่เกิน 10 เมตร ได้ยิงปืนเข้าไปในรถของหน่วยกู้ชีพ เป็นเหตุให้กระสุนปืนยิงทะลุเส้นเลือดบริเวณข้อมือซ้ายของนายสรายุทธขณะเอื้อมมือไปเปิดสวิตช์ไฟ เพื่อให้ภายในรถสว่าง

จากการปฏิบัติการดังกล่าว จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้กำลังของรัฐบาลจึงละเมิดหลักสากล ยิงโดยไม่เลือกเป้าหมาย ใช้สัดส่วนการใช้กำลังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงการใช้กำลังเกินขอบเขตจากการยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง สั่งปฏิบัติการในเวลาค่ำขาดการควบคุมการใช้อาวุธ และขาดความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติการที่ละเมิดกฎการใช้กำลังของ ศอฉ. เอง

ทีมข่าวคุณภาพชีวิต-การศึกษา

http://www.bangkokbiznews.com/2010/06/27/news_31127418.php?news_id=31127418

จากคุณ : ผีน่ารัก
เขียนเมื่อ : 31 ส.ค. 53 15:50:38 A:180.183.4.199 X:



ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com