Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
บทสัมภาษณ์“อ.วรเจตน์”:ชี้“มาร์ค”ไร้สำนึกรับผิดชอบ แนะเปลี่ยน“รัฐบาล” หากต้องการให้เกิด“ความปรองดอง”  

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เราซุกระเบิดไว้ใต้พรม มันจะปะทุขึ้นใหม่ !!!


หลังเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือเมื่อ 4 เดือนก่อน "ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์" อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เงียบหายไปนานจากวงวิชาการสาธารณะ

มาวันนี้ อดีตหัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน สำนักท่าพระจันทร์ กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับบทวิพากษ์ว่าด้วยแนวทางการปฏิรูปสังคมไทย ผ่าน "ประชาชาติธุรกิจ" แบบถึงพริกถึงขิง เช่นเดิม รวมถึงความเคลื่อนไหวครั้งใหม่ล่าสุดของกลุ่ม 5 อาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่น่าสนใจ

@ความวุ่นวายเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นบรรยากาศ การคุกคามทางวิชาการหรือเปล่าครับ อาจารย์ถึงได้เงียบหายไป

ไม่ถึงขนาดนั้น (ครับ) เพียงแต่ผมรู้สึกว่ามันไม่มีประโยชน์ที่จะพูดอะไรในช่วงเวลานั้น เพราะว่ามันเป็นเรื่องของการต่อสู้กันแล้วผมก็คิดว่าการที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็มีส่วนเหมือนกัน แต่ไม่มีผลกับผม (นะ) แต่มีผลต่อบรรยากาศทั่วไปในการแสดงออกซึ่งความเห็น

หมายความว่า การแสดงความคิดความอ่านอะไรไปในทิศทางที่ไม่ตรงกับรัฐบาล รัฐบาลก็จะมองว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้ผมไม่พูดในช่วงนั้น แต่ผมเห็นว่า เรื่องที่ผมควรจะพูดก็ได้พูดไปหมดแล้วก่อนหน้านั้น ผมพูดมาหลายปีแล้วในเรื่องสภาพความขัดแย้งในสังคมไทย ซึ่งยังไม่จบและจะดำเนินต่อไปอีก


@แต่บรรยากาศสังคมไทยอาจต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีกช่วงเวลาหนึ่ง ตรงนี้มีผลต่อบรรยากาศทางวิชาการบ้างหรือไม่

ในห้องเรียนผมก็ยังสอนหนังสือปกติ ผมก็ยังวิพากษ์วิจารณ์ พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วย แต่ผมคิดว่าความเซ็นซิทีฟของฝ่ายรัฐแสดงออกมาในหลายลักษณะ ผมยกตัวอย่างเรื่องการที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ส่งหนังสือเวียนไปถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เรื่องขอความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมทางด้านการเมืองของแกนนำนักศึกษา โดยมีเนื้อหาระบุเกี่ยวกับการพิจารณาควบคุมการจัดแสดงละครเวทีทางด้านการเมืองของแกนนำนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากปัจจุบันมีแกนนำนักศึกษาจัดแสดงละครเวทีเพื่อแสดงความคิดเห็นด้านการเมือง โดยทาง สกอ.เห็นว่ามีลักษณะบิดเบือนสถานการณ์ทางการเมืองอันเป็นการปลุกระดมยั่วยุสร้างความแตกแยกในสังคม ซึ่งอาจก่อให้เกิดเหตุความไม่สงบภายในประเทศ การทำหนังสืออย่างนี้ออกมาผมว่ามันกระทบนะในเชิงจิตวิทยา แล้วมันจะทำให้เกิดแรงต้านมากขึ้น คือพอใช้อำนาจกด ก็จะมีการต้านการกดทับนั้น


@ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีเหตุการณ์ระเบิดในหลายพื้นที่ ล่าสุดคือลอบยิงระเบิดหลายแห่งในกรุงเทพฯ

แล้วมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินมันห้ามระเบิดได้หรือ (ครับ) ในทางกลับกัน มันก็ยังระเบิด แล้วเราก็ไม่รู้ด้วยว่าระเบิดเกิดจากสาเหตุใดหรือลักษณะไหนกันแน่ คือมันเป็นไปได้ทุกอย่าง อาจจะเป็นไปได้ที่ฝ่ายสนับสนุนอำนาจรัฐบาลในปัจจุบันทำขึ้นมาเอง เพื่อสร้างความชอบธรรมที่จะทำให้ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ต่อไป หรืออาจจะเป็นฝ่ายตรงข้ามทำขึ้นเพื่อสั่นคลอนอำนาจรัฐบาล คือเราไม่รู้เลยว่าใครทำอันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องใช้ความสามารถในการสืบสวนสอบสวน แล้วจับกุมผู้กระทำความผิด

แต่การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมันกระทบกับส่วนอื่น ๆ ของสังคม แล้วจะทำให้กระบวนการที่จะเปิดให้คนในสังคมที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างแสดงออกโดยที่ไม่ต้องหวาดหวั่นพรั่นพรึงกับอำนาจรัฐเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยาก นี่คือปัญหาใหญ่ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วไม่มีที่ไหนในโลกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแบบที่เราใช้อยู่ขณะนี้หรอก นี่ยังไม่ต้องพูดถึงมาตรฐานการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยนะ ว่าเสมอภาคไหม เห็น ๆ กันอยู่


@เส้นทางในการนำสังคมไทยสู่ความปรองดองของรัฐบาล อาจารย์มีความเชื่อมั่นมากน้อยแค่ไหน

ไม่มีความเชื่อมั่นเลย แล้วผมก็คิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ คนที่พยายามผลักดันการปฏิรูปวันนี้ก็คือ คนที่เคยทำการปฏิรูปเมื่อปี 2540 แล้วยังใช้วิธีคิดแบบช่วงก่อน 2540 อยู่ ทั้ง ๆ ที่สภาพทางการเมืองและความคิดความอ่านของคนเปลี่ยนไปมากแล้วในช่วง 10 กว่าปีมานี้


@อาจารย์กำลังพูดถึงคณะกรรมการชุดคุณอานันท์ (ปันยารชุน) และคุณหมอประเวศ (วะสี)

ถูกต้องครับ แล้วการโยนเรื่องการปฏิรูปต่าง ๆ ออกมา ผมรู้สึกว่าเหมือนรัฐบาลโยนของเล่น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังจัดการกับคนที่เห็นต่าง เดี๋ยวนี้การป้ายสีว่าเป็นพวก "ทักษิณ" ซึ่งเริ่มใช้ไม่ค่อยได้ผลแล้ว เพราะคนไม่สนใจ แล้วก็เริ่มเห็นแล้วว่าคนที่เคลื่อนไหวจำนวนหนึ่งตอนนี้ที่เป็นฝ่ายเสื้อแดงที่มีกิจกรรมอยู่ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณทักษิณเลย

ฉะนั้นคนที่มาทำปฏิรูป ประเด็นหลักของผมอยู่ที่ว่าหลักการที่จะเข้าไปทำ มันจะต้องเริ่มต้นจากฝ่ายที่มีส่วนในความขัดแย้งต้องแสดงความรับผิดชอบก่อน การปฏิรูปมันเป็นไปไม่ได้ ถ้าคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรียังอยู่ในตำแหน่ง หลังจากที่มีเหตุการณ์ปราบผู้ชุมนุม แล้วมีคนตาย ไม่ต้องสนใจว่าคนที่ตายเกิดจากฝั่งไหน แล้วไม่ต้องบอกหรอกว่า เป็นทหารทำ หรือกลุ่มไหนทำ แต่เมื่อเกิดการตายขึ้น ต้องรับผิดชอบก่อนในเบื้องต้น เมื่อรับผิดชอบแล้ว จะต้องเปลี่ยนรัฐบาลซะก่อน ซึ่งยังไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องเปลี่ยนขั้วพลิกข้างเสียทีเดียว อาจจะเป็นรัฐบาลกลุ่มเดิม แต่ว่าคนที่อยู่ในตำแหน่งในเวลาที่ เกิดเรื่องขึ้นต้องรับผิดชอบก่อน นี่เป็นหลักการเบื้องต้น

ไม่ใช่ไม่รับผิดชอบอะไร แล้วตั้งคนโน้นคนนี้เป็นกรรมการ แล้วยังดำรงตำแหน่งต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันเป็นไปได้ยังไง วิธีการคิดแบบนี้ แล้วใครเขาจะสมานฉันท์ด้วย แต่คนที่รับเป็นกรรมการ ผมเข้าใจว่าแต่ละคนก็มีความคิดเห็นแตกต่างกัน ใครตัดสินใจยังไง ก็รับผิดชอบการตัดสินใจไปเอง แต่ผมว่าหลักการตรงนี้เป็นหลักการสำคัญ เป็นมโนธรรมสำนึกขั้นพื้นฐาน ถ้าคุณรับผิดชอบเสียก่อนในเบื้องต้น อันนี้ยังพอว่า อาจจะยังพอมีคนคิดว่ายังพอมองหน้ากัน พอที่จะคุยกันได้


@แต่ถ้าคนในฟากรัฐบาลมองอีกแบบหนึ่งว่า เขาเป็นผู้รักษาบ้านเมืองไว้ไม่ให้ถูกเผาจากกลุ่มคนที่บ้าคลั่ง

ต้องการพิสูจน์ทางข้อเท็จจริงก่อน แต่ต้องเปิดให้มีการ พิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ ในสภาพที่ไม่ใช่คนที่เป็นคู่กรณีเป็นผู้กุมอำนาจรัฐยึดกุมกระบวนการของการพิสูจน์ แต่ในเรื่องการเผาห้างในกรุงเทพฯนั้น รัฐบาลเองในมุมหนึ่งคุณก็ไม่สามารถรักษาตึกรามบ้านช่องไว้ได้ คุณปล่อยให้เกิดการเผา คุณก็ต้องรับผิดชอบเหมือนกัน แล้วก็เป็นความรับผิดชอบทางการเมือง

เหมือนรถไฟตกรางมีคนตาย ผู้ว่าการการรถไฟหรือคนที่เป็นรัฐมนตรีในบางประเทศเขาก็ลาออก เขาไม่ต้องถามว่า ใครเป็นคนทำ นี่คือความรับผิดชอบทางการเมือง เรื่องที่เกิดขึ้นนี้รุนแรงกว่าเรื่องรถไฟตกรางไม่รู้กี่สิบเท่า วันนี้เราลืมถามประเด็นนี้ไป เพราะเราไปพูดถึงเรื่องคืนความสุข กลายเป็นว่าคนมาชุมนุมสร้างความทุกข์ คนที่คิดอย่างนี้ไม่รู้ว่าคนที่มาชุมนุมจำนวนไม่น้อยเขาทุกข์กว่าพวกคุณไม่รู้กี่เท่า แล้วก็ไม่เคยมีความสุขอย่างที่พวกคุณมี ภายใต้โครงสร้างของสังคมที่เป็นอยู่นี้ หลายคนก็รู้สึกโล่งใจว่าจบสักทีหนึ่ง แต่หารู้ไม่ว่า นี่คือการสร้างปัญหาใหม่ซึ่งมันจะแก้ยากกว่าเดิม


@แล้วสังคมที่ร้าวลึกกว่าเดิมจะนำไปสู่อะไรได้บ้าง

คาดการณ์ยาก แต่ก็คาดได้อย่างหนึ่งว่า สังคมก็จะไม่สงบ ความสุขที่ปรารถนาไม่มีทาง อาจจะได้ความสุขกลับมาชั่วครั้งชั่วคราว ได้ไปเดินช็อปปิ้ง แต่เรากำลังซุกขยะหรืออาจจะไม่ใช่ขยะแต่เป็นระเบิดไว้ใต้พรม กลบเกลื่อนไว้ชั่วคราว เดี๋ยวมันก็จะปะทุขึ้นมาใหม่


@แล้วโจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปประเทศไทยที่ควรจะทำจริง ๆ คืออะไร

ต้องทำหลายเรื่องครับ แต่ในความเห็นผม เราพูดเสมอว่า เราอยากได้รัฐซึ่งดูแลประชาชน พูดเรื่องรัฐสวัสดิการ ขจัดความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกัน เรื่องปฏิรูปที่ดิน เรื่องโครงสร้างภาษี ประเด็นพวกนี้มันจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ มันจะต้องมาทีหลังความยุติธรรมในทางการเมือง ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ ต้องทำตรงนี้ก่อน

ถามว่า ถ้าไม่ทำตรงนี้ในทางพื้นฐาน แล้วไปทำอย่างอื่น มันไม่มีทางสำเร็จ เพราะก่อนจะไปถึงจุดนั้น ฐานต้องมาจากประชาธิปไตยที่แท้จริงเสียก่อน ถามว่า แล้วคุณจะทำอะไร ก็ต้องมาตั้งคำถามว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมามีสถาบันไหนบ้างเข้ามาพัวพันกับความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งต้องตั้งคำถามตรงไปตรงมา แล้วก็ต้องตอบกันอย่างตรง ๆ และมีการรีฟอร์มตัวระบบการเมืองทั้งหมด

สถาบันทุกสถาบันจะต้องมีตำแหน่งแห่งที่ของตัว และอยู่ในที่ที่ตัวจะต้องอยู่ ถ้าเริ่มต้นจากตรงนี้ ผมคิดว่ามันจะไปได้ แต่ปัญหาวันนี้คือ มันไม่เป็นแบบนั้นครับ บางกรณีการพูดถึงสถาบันบางสถาบันแค่จะพูดยังไม่ได้เลย ทั้ง ๆ ที่ความจริงความรู้สึกของคนจำนวนไม่น้อยเขารู้สึกว่ามันต้องมีการพูดถึงในความเป็นจริง มีการวิพากษ์วิจารณ์ แล้วคนที่คิดอย่างนี้ เขาหวังดีกับประเทศชาติบ้านเมืองอย่างมากด้วย เขาต้องการให้มีการพูดคุยกัน แล้วจัดวางสมดุลในทางการเมืองให้ได้


@รวมถึงสถาบันกองทัพด้วย

ผมหมายถึงทุกสถาบันเลย กองทัพอาจจะมาทีหลัง ผมอาจจะพูดเลยไปกว่านั้นอีก จำได้มั้ยครับว่า ผมเคยเสนอเรื่ององคมนตรี แล้วผมคิดว่าเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ต้องพูดด้วย เราควรจะตั้งคำถามในทุกเรื่อง สมมติมีคนตั้งคำถามว่าในช่วงเวลาของ ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา สถาบันในทาง รัฐธรรมนูญสถาบันใดเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง การเข้ามาเกี่ยวข้องนั้นถูกต้องตรงตามหลักการที่ควรจะเป็นหรือไม่ ก็ต้องถกเถียงกันได้ว่า ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่พอเริ่มต้น ก็ห้ามพูดเสียแล้ว แล้วจะแก้ปัญหาได้ยังไง สถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมถามว่า ถูกนำมาใช้ทางการเมืองมั้ย คำตอบก็คือใช่ ถ้าพูดกันตรง ๆ บางทีก็มีการชูสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อทำลายปรปักษ์ทางการเมือง นี่ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องอื่นเลยนะ ผมถามว่า อย่างนี้ ถ้าไม่นำมาพูดกันให้มันหมดเปลือกตรงไปตรงมา เราจะแก้ปัญหาได้หรือ

@ ทราบว่า อาจารย์จะทำเว็บไซต์ เรื่องนี้เป็นมาอย่างไร

จริง ๆ ไม่ได้มีอะไรมาก คือคุยกันกับเพื่อนอาจารย์ในกลุ่มว่า มีกลุ่มคนในสังคมที่ตามความคิดของกลุ่ม 5 อาจารย์ บัดนี้มากกว่า 5 อาจารย์แล้ว ซึ่งได้แสดงจุดยืนและทรรศนะในทางกฎหมายในแต่ละเรื่อง แล้วก็เปิดเผยต่อสาธารณะ ที่ผ่านมาก็พิสูจน์ได้ว่ากลุ่ม 5 อาจารย์ไม่ได้มีประโยชน์ได้เสีย หรือเกี่ยวข้องในทางทรัพย์สิน เงินทอง หรือการได้ประโยชน์จากฝ่ายใด

ก็เลยมีความคิดขึ้นมาว่า น่าจะทำเว็บขึ้นมา รวบรวมข้อมูลเรื่องที่เราได้ทำ ๆ ขึ้นไปรวมไว้ เอกสารเหล่านั้นซึ่งเป็นสาธารณะไปแล้วก็จะได้มีหลักแหล่งพอให้อ้างอิงได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าใครจะนำไปใช้ทำอะไรก็ขอให้อ้างอิง ไม่เอาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ก็ใช้ได้หมด

อาจจะไม่ใช่แถลงการณ์อย่างเดียว แต่จะมีเรื่องบทความทาง วิชาการของผมเอง และของอาจารย์ในกลุ่มไปใส่เอาไว้ เพื่อให้คน ที่เขาตามมาค้นเข้าถึงได้ง่ายขึ้น อาจจะรวมถึงบทสัมภาษณ์ต่าง ๆ ก็จะเอามารวมไว้ด้วย

แต่มากที่สุดและเป็นประเด็นหลักเลยก็คือกลุ่ม 5 อาจารย์และอาจารย์ที่เข้ามาสมทบเรายืนยันในหลักการประชาธิปไตย เป็นจุดยืนที่แน่วแน่มาโดยตลอด ตอนนี้ก็เป็นกลุ่มมากกว่า 5 อาจารย์แล้ว คาดว่าจะเปิดตัวได้ประมาณกลางเดือนกันยายนนี้ ส่วนชื่อเว็บมีแล้วครับ แต่ขออุบไว้ก่อนนิดนึง เพราะอาจจะเป็นที่หมั่นไส้เล็กน้อย(ครับ)


(ที่มา ประชาชาติธุรกิจ , 9 กันยายน 2553)

จากคุณ : อายุธ
เขียนเมื่อ : 10 ก.ย. 53 20:38:37 A:118.172.40.73 X:



ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com