Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
จะ "ปรองดอง" หรือ จะ "เล่นการเมืองบนกองเลือดของประชาชนต่อ"???  

กำลังนึกถึงประเด็นที่จะเขียนบทความ เลยไปย้อนอ่านดูเรื่องเก่าๆ ที่ตัวเองได้เขียนไว้ ตั้งใจว่าจะเริ่มจากบทความนี้
วันนี้ยังนึกไม่ออกเลยลากของเก่ามาแปะไปพลางๆ ก่อน
บทความนี้เขียนโพสต์ลงในพันทิปครั้งแรกราวเดือนเมษายน ตอนที่เริ่มกระชับพื้นที่ที่ผ่านฟ้า
และนำไปลงใน FB ตัวเองอีกครั้งในวันที่ 16 พ.ค. เมื่อรัฐบาลเริ่มกระชับพื้นที่ที่ราชประสงค์

อยากให้เพื่อนๆ เสื้อแดงช่วยกันพิจารณาว่า
จากวันนั้น จนถึงวันนี้ รัฐบาลได้เริ่มแนวทางสำหรับการปรองดองอย่างไร ไปถึงไหนบ้างแล้วหรือยัง
ไม่ใช่ไม่อยากปรองดอง.. แต่ หลังจากที่ "ท่าน" ได้ให้ความช่วยเหลือ คนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม
อาทิ พ่อค้าแม่ค้าในย่านสยามฯ ต่างก็ได้รับการปลอบประโลมด้วยแคมเปญ
"ช๊อปช่วยชาติ" "กู้ยืมเงินฉุกเฉิน" "ทำความสะอาดราชประสงค์" ต่างๆ เหล่านั้นไปพอสมควรแล้ว

วันนี้... ท่านพูดถึงคนที่ตายและแกนนำที่ถูกขัง บ้างหรือยัง?
ไม่ต้องเฉพาะเรื่องของเสื้อแดงที่ตายก็ได้ค่ะ เอาเรื่องทหารที่ตายให้กระจ่างก่อนก็ได้ ...

"ผู้ก่อการร้าย" ที่ว่า สรุปได้หรือยังว่า "เป็นกลุ่มใด"

=============================================================
วันที่ 16 พ.ค. 2553  จะ “ปรองดอง” หรือ จะ “เล่นการเมืองบนกองเลือดของประชาชนต่อ”????
เขียนโดย SassyKate

“ถึงจะจัดการขั้นเด็ดขาด ก็ไม่อาจทำลายแนวคิดต่อต้านที่มีได้” – อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วันที่ 31 สิงหาคม 2551

นโยบายเพื่อการปรองดอง 5 ข้อ ของรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ที่ชิงประกาศ “หยิบยื่น” ทางลงให้แก่คนเสื้อแดงนั้น
ดูๆ ไปแล้ว ต้องสงสัยว่า จะปรองดองได้อย่างไร?
หากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเข้าใจถึงข้อเรียกร้องของเสื้อแดง เรื่องคงไม่บานปลายมาขนาดนี้

การรวมตัวกันของคนหมู่มาก เป็นเรื่องยากที่จะควบคุม หรืออาจเรียกได้ว่า “ไม่สามารถควบคุมได้เลย” ก็ว่าได้
เพราะคนที่มีพื้นเพต่างกัน อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างกัน แต่มารวมกันด้วยความต้องการเดียวกันมี “ทางเดียวกัน”
อย่างไรก็ตามเมื่อคนเหล่านี้แม้ว่าจะต้องการไปในทางเดียวกัน แต่หลายคนก็มีจังวะ ท่วงท่า ลีลา การเดินที่แตกต่างกัน.....
ความต้องการไปให้ถึงจุดหมาย ความเร่งรีบระหว่างการเดินทางที่แตกต่างกัน
บางคนอาจมีความต้องการเพียงเดินไปให้ถึงยังสิ่งที่ต้องการโดยไม่หยุดพัก บางคนอาจค่อยเป็นค่อยไป

แม้แต่ในฟากฝั่งรัฐบาลเอง ยังไม่สามารถควบคุมมวลชนของตนเองได้เช่นกัน
เห็นชัดเจนจากการกระทำหลายๆ อย่างที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ อาทิ
“การยิงตำรวจ” “การยิงทหารที่ไม่ใช่พวกของตัวเอง”
[วันที่ 10 เมษา พ.อ. ร่มเกล้า วันที่ 13 พ.ค. เสธ แดง ต่อไปใคร???]

หรือแม้กระทั่งคำเรียกต่างๆ อาทิ ทหารนินจา ทหารแตงโม ตำรวจมะเขือเทศ
ชื่อเรียกเหล่านี้ เกิดขึ้นมากมายอย่างที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน

ย้อนกลับไปยังสมัยการชุมนุมของ พธม. การที่กองทัพไม่ออกมากระทำการใดๆ เมื่อมีการยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน
รัฐบาลสมชายทำงานไม่ได้...มีการตั้งขบวนขับไล่จาก พธม. สร้างวัฒนธรรมผิดๆ ในการเรียกร้องตามระบอบประชาธิปไตย...

สิ่งเหล่านี้สะท้อนอะไร?
1. กองทัพมีความเห็นไม่เหมือนรัฐบาล? (การไม่ปราบปรามประชาชนอย่างเต็มที่ของตำรวจ)
2. คนในกองทัพแตกแยก?

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ คำถามคือ
รัฐบาลอภิสิทธิ์จะทำอย่างไรภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีความชัดเจนเหล่านี้???
รัฐบาลจะทำอย่างไรให้ความมั่ว ความไม่แน่นอน ความไม่ชัดเจนต่างๆ เหล่านี้
ให้เกิดเป็นความชัดเจน ความมีมาตรฐานจากหน่วยงานของรัฐ
รัฐบาลจะสร้างสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร???

การปรองดองที่เป็นรูปธรรม ต้องมี 3 มิติ
1. ระบบนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ (Rule of Law)
2. การปลดปล่อยสื่อ (Freedom of Speech, Freedom of Information)
3. สัญญาต่อสังคม (Social contract)

1. ระบบนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ (ซึ่งได้รับการยอมรับ)

หากแบ่งขั้วประชาชนออกเป็นขั้วใหญ่ๆ 2 ขั้วคือ แดง – เหลือง
(ตามสภาพการณ์ของกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องทางการเมือง)
จะเห็นว่าระบบยุติธรรมไทยเป็นสิ่งซึ่งทั้ง 2 ฝั่ง ต่างต่อว่าด่าทอ ตำหนิ ติเตียน ว่า
“ไม่มีความแน่นอน - ไม่มีมาตรฐาน” เพราะอะไร?
เพราะกฎหมายไทยเมื่ออยู่ภายใต้รัฐบาลไหนมักจะ “ขาดความน่าเชื่อถือ” ทุกครั้งไป
เกิดการไม่ยอมรับจากประชาชนทุกครั้งไป

นั่นคือสิ่งที่ทั้งสองฝั่งนำมาเป็นชนวนในการเรียกร้อง ซึ่งพอจะบอกได้หรือยังว่า
“กฎหมายหรือระบบยุติธรรมไทยไม่ได้รับการยอมรับ”

แต่ถ้ามองให้ดี.....ปรากฏการณ์ครั้งนี้ให้อะไร?
หากตัดปัญหาเรื่องการต่อต้านตัวบุคคล ตลอดจนรูปแบบการเรียกร้อง ที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคมไทยปัจจุบันออกไป
จะพบว่าเนื้อหาในการเรียกร้องของเสื้อแดงครั้งนี้แตกต่างจากการเรียกร้องตาม ระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมา

หากมองย้อนไปที่การทำรัฐประหารในอดีต มากมายมากกว่า 10 ครั้ง
ทุกครั้งหลังจากการทำรัฐประหารแล้ว ไม่เคยมีครั้งใดที่จะพูดถึงระบบนิติธรรม
ไม่เคยได้มีการเรียกร้องความเป็นมาตรฐานเดียวให้เกิดแก่กฎหมาย เพื่อให้กฎหมายมีความน่าเชื่อถือ....

ครั้งนี้..... เป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึง “ระบบนิติธรรม” หลังการรัฐประหาร
ระบบนิติธรรม ซึ่งได้แตกสลายเป็น 2 มาตรฐาน....
มองให้ดีจะพบว่า.....เป็นการเรียกร้องที่จริงจังและหนักแน่น
อาทิ แกนนำไม่ขอรับการนิรโทษกรรม แต่พร้อมที่จะเดินเข้าสู่กระบวนการ “ยุติธรรม”
โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ ต้องเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกัน!

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พูดอยู่เรื่อยในเรื่อง Rule of Law
แต่ไม่เคยบอกว่า รูปธรรม เนื้อหา และวิธีการปฏิบัติที่ผ่านมาของรัฐบาลนั้น
มีอะไรที่บ่งบอกได้บ้างว่า “Rule of Law ที่ว่านั้นได้รับการยอมรับ”

เพราะเท่าที่มองเห็น ชวนให้นึกสงสัยว่าประเทศเราทุกวันนี้เป็น Rule of Law หรือ Rule by Law?
(“การปกครองโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐ”)?


2. การปลดปล่อยสื่อให้มีอิสระ (Freedom of Speech, Freedom of information
ระบบสื่อสารมวลชนต้องไม่ถูกปิดกั้น
รัฐต้องไม่ใช้สื่อทำลายกล่าวหาว่าขายชาติ ล้มสถาบัน
รัฐจะต้องยอมให้มีสื่อที่หลากหลายความคิดเห็น
การปลดปล่อย “สื่อมวลชน” ให้มีความเป็นอิสระ แต่ในความเป็นอิสระนั้นต้องมี
“ความรับผิดชอบภายใต้กฎหมายหมิ่นประมาท แพ่ง อาญา”
หรือ กระบวนการยุติธรรมใดๆ ซึ่งเป็นกลไกหลักในการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ

เพราะถ้ามีระบบยุติธรรมที่ชัดเจนจะสามารถฟ้องร้องได้ “รัฐไม่จำเป็นต้องสั่งปิดสื่อ”
ยกตัวอย่างการมีระบบยุติธรรมที่ชัดเจน เช่น GT200 ในประเทศอังกฤษ
ทำไมรัฐบาลอังกฤษจึงยังปล่อยให้มีการขายอยู่ ก็เพราะว่าตามระบบยุติธรรมนั้น
“ต้องมีการพิสูจน์ มีการฟ้องศาล ให้ศาลตัดสินเสียก่อน จึงจะสั่งปิดได้....”
ทั้งนี้ทั้งนั้นคนที่จะมาเดินเรื่องความยุติธรรมต้องเป็นคนที่สังคมเชื่อถือได้

คำอธิบายนี้คงตอบคำถามของเสื้อแดงหลายคนได้ว่า “ทำไมรัฐบาลในสมัยนั้นจึงไม่สั่งปิด ASTV”
ที่น่าสนใจคือ รัฐบาลนี้กระทำการหลายรูปแบบที่คล้ายกับยุคของจอมพลสฤษดิ์???

3. Social Contract
องค์ประกอบข้อนี้ ง่ายๆ ไม่ต้องพูดเยอะ พูดยาว.... เอาหัวแม่เท้าคิดก็เข้าใจได้ ฮ่าฮ่าฮ่า
“สัญญาอะไรต้องทำตามที่บอก”
เพราะความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ทำตามที่พูด ไม่ใช่ดีแต่พูด

บทสรุป.... จะ “ปรองดอง” หรือ จะ “เล่นการเมืองบนกองเลือดประชาชนต่อ”????

เสื้อแดงเรียกร้องอะไรนักหนา???
ม็อบของเสื้อแดงไม่ได้มาเรียกร้องขอขึ้นค่าแรง
ไม่ได้มาเรียกร้องเรื่องราคาข้าว
และไม่ได้มาเรียกร้องเรื่องรัฐบาลโกงกิน
แต่มาขอให้ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่..

ซึ่งการที่ขอให้รัฐบาลยุบสภานั้น เป็นการเรียกร้องให้ยุบสภา “ตามกรอบหลักการ ของประชาธิปไตย”
ไม่ใช่ตามจิตอารมณ์ของผู้นำเสื้อแดง

ตามกรอบหลักการของประชาธิปไตยอะไร ก็กรอบของประชาธิปไตยที่ทหารเขียนเอาไว้นั่นแหละ....
ยอมกันขนาดนี้....ยังพูดอีกว่า “เสื้อแดงไม่เคยถอย”

เหตุผลของการยุบสภาเพื่ออะไร?
เพื่อ “สร้างความชอบธรรม” ให้เกิดแก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่นเอง
เพราะถ้าหากว่ามีการเลือกตั้ง หากนายอภิสิทธิ์ ชนะการเลือกตั้งเข้ามา
ก็จะถือว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีความชอบธรรม
โดยความชอบธรรมนั้นจะต้องเป็นความชอบธรรมที่มีความน่าเชื่อถือ
เป็นความชอบธรรมที่ผ่านกระบวนการตามหลักการประชาธิปไตย

ดังนั้นโอกาสที่จะเพิ่มพูนความชอบธรรมของตัวเองจะทำได้อย่างไร ???
สามารถทำได้ด้วยการเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งนั่นเอง
และถ้าหากคุณแพ้ คุณก็จะเป็นฝ่ายค้านที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมของระบอบประชาธิปไตยเช่นกัน

“ทำนองคลองธรรมของระบอบประชาธิปไตย”.....ตัวอย่างเช่น การเล่นทักษิณ
การรวบรวมหลักฐาน การแต่งตั้งผู้ตัดสิน การให้ลูกเขาไปให้ปากคำโดยไม่ให้ทนายเข้าไปฟังด้วย ฯลฯ
สุดท้ายสรุปตัดบท....“เป็นที่น่าเชื่อได้ว่า” .......
ลักษณะอย่างนี้...เล่นกันแบบนี้....เท่ากับเป็นการเปิดช่องว่างให้เขากลับมา เอาคืน...
ซึ่ง... แบบนี้ใช่ไหมที่เรียก "ทีใคร ทีมัน" ?
ลองพวกคุณทำให้ถูกต้อง โปร่งใสสิ...ทักษิณจะสามารถกลับมาเอาเงินคืนได้หรือไม่...
เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นไปตามทำนองคลองธรรมของระบอบประชาธิปไตย

การทำรัฐประหาร การตั้งคณะกรรมการเพื่อเอาผิด....เป็นการตัดสินโดยมาตรฐานอะไร?
มาตรฐาน คมช.และอำมาตย์ หรือมาตรฐานนิติธรรม??

Legal Risk Factor
คุณเป็นผู้นำประเทศ หากคุณไม่มีมาตรฐานนิติธรรม หรือฐานของความสัมพันธ์โดยนิติที่ชัดเจนแล้ว
คุณก็จะนำพาประเทศให้มีฐานของนิติที่ล้มเหลว และการค้าขาย การเข้ามาลงทุนของต่างประเทศ
เขาก็จะคิดมูลค่าความไม่แน่นอนของกฎหมายรวมเข้าไปเป็นราคาต้นทุนกับคุณ ด้วย...

โจทย์ใหญ่ข้อหนึ่งที่ท้าทายต่อการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีไทยคือ
“การทำให้คนจนมีความสามารถในการเสียภาษี”
ไม่เพียงแต่เป็นการทำให้ประเทศมีความมั่งคั่งเพียงอย่างเดียว แต่มันคือ....
การสร้างจิตสำนึกของคนไทยให้มีประสิทธิภาพในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
ดังนั้น วันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีคำตอบสำหรับโจทย์ข้อนี้หรือยัง??

อีกประการหนึ่งที่จะทำให้การปรองดองบรรลุผลสำเร็จ และเกิดความสงบสุขคือ
ทุกสถาบันในประเทศต้องไม่ขยายพื้นที่และสิทธิของตัวเอง
ทุกสถาบันในประเทศต้องไม่ให้ใครยุแหย่เพื่อขยายพื้นที่และสิทธิของตัวเอง
อาทิ ตุลาการภิวัฒน์ กองทัพมาจัดการการเมือง สื่อมวลชนที่ยอมให้รัฐบาลครอบงำ....


สุดท้าย....ขอร้องเถอะค่ะ เสื้อหลากสี อย่าได้ยั่วยุ ดูถูกเหยียดหยาม คนเสื้อแดงอีกเลย
ข้อความที่พวกคุณต่อต้านเสื้อแดงนั้น..มันทำให้เกิดการแบ่งแยก แตกร้าว
อย่าสร้างพื้นฐานให้เกิดการฆ่ากันระหว่างมนุษย์ด้วยกันเลย...
เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น...”อภิสิทธิ์ร้อยคน ก็ช่วยไม่ได้”
ภาวนาอย่าให้สถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในบาหลี มาเกิดในไทยเลย...

ไปล่ะ สวัสดี

จากคุณ : SassyKate
เขียนเมื่อ : 15 ก.ย. 53 20:52:36 A:172.16.0.123 X:124.121.118.248



ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com