...สิ่งที่ตามมาในปี 2550 ก็คือ มีรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นฉบับที่ 18 แล้วก็เป็นรัฐธรรมนูญซึ่งผมมองว่า เอื้ออำนวยต่อการรักษาอำนาจของกลุ่มคนที่เป็น “อนุรักษ์นิยม” กับกลุ่มคนที่เป็น “ชนชั้นสูง” ของบ้านเมือง เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นฉบับที่เป็นประชาธิปไตยน้อยกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และน้อยกว่าฉบับปี 2517 อาจเรียกว่ามีการ “หมกเม็ด” ก็ว่าได้ คือ แอบๆ ซ่อนๆ อะไรๆไว้เยอะ และตัวที่ผมคิดว่า น่าเกลียดน่าชังมากๆ คือ ส.ว. สรรหา ผมคิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมของประชาธิปไตย ถือเป็นความน่าละอายของคนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แอบใส่เอาไว้ เป็น การ “หมกเม็ด” เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเองที่จะได้รับการสรรหา ซึ่งก็แปลว่า “แต่งตั้ง” ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง เป็นจุดที่เลวร้ายมากๆในแง่ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ผมมองว่า ปี 2549 เป็นการถอยหลังเป็นการตกต่ำจมลงดิ่ง ในปี 2550 ทั้งรัฐบาล “ขิงแก่” ก็ดี ทั้งรัฐธรรมนูญก็ดี ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นแล้วเราก็ตามมาด้วยมีการเลือกตั้งและการมีรัฐบาลตาม ลำดับที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สองรัฐบาลนี้ พูดง่ายๆว่า ถึงแม้จะร่างรัฐธรรมนูญเอาไว้เพื่อกำจัดอำนาจของฝ่ายของพ.ต.ท.ทักษิณ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะ ฉะนั้น ก็ใช้ “ม็อบเสื้อเหลือง” ดำเนินการต่อ จุดนี้เป็นจุดที่สร้างสิ่งที่เราเรียกว่า “อนาธิปไตย” ขึ้นมามันไม่ใช่ประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น “คปค.-คมช.” จะอ้างว่า เป็นประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อะไรก็ตามหรือทางฝ่าย “ม็อบเสื้อเหลือง” เรียกตัวเองว่าเป็นพันธมิตรประชาธิปไตย อะไรก็ตาม นี่ ตรงกับสิ่งที่ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ พูดเอาไว้ก็คือ ทำให้เกิดสภาพที่เป็น “อนาธิปไตย” เมื่อเกิดสภาพนี้แล้วก็เกิดการยึดอำนาจ “รัฐประหาร” ที่ทำให้ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยทั้งฝ่าย คมช.และม็อบเสื้อเหลือง เมื่อ เป็นอย่างนี้แล้วมันก็มีผลร้ายนำไปสู่การผลักดันให้ “เกิด” กระบวนต่อเนื่องที่เรียกกันว่า “ตุลาการธิปไตย” ขึ้นมาที่นักวิชาการบางคนพยายามเรียกให้เป็นบวกว่า “ตุลาการภิวัตน์” คือ เอากระบวนการตุลาการและกฎหมายมาแก้ปัญหาของสังคมและการเมือง แต่ผมคิดว่า ศัพท์ที่ถูกต้องน่าจะเป็น “ตุลาการธิปไตย” เสียมากกว่าศัพท์คำนี้มาจากฝ่ายนักวิชาการทวนกระแสที่ไม่รับใช้อำนาจรัฐ คือ มีความหมายว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่ฝ่ายตุลาการ หรืออยู่ที่ฝ่ายกฎหมายที่จะใช้ขจัดฝ่ายตรงข้ามหรือรัฐบาลที่ไม่พึงประสงค์ (อย่างนายสมัครและนายสมชาย) ออกไป เราก็มาถึงจุดนี้ของการที่มีรัฐบาลชุดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผล ของมันก็คือทำให้ “ม็อบเสื้อแดง” เติบโตอย่างรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ นำมาซึ่งวิกฤตการณ์และความปั่นป่วนของบ้านเมืองต่อเนื่องอย่างที่เราเห็น ทั้งในเหตุการณ์ “สงกรานต์เลือด” ปี 2552 หรือทั้งเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ปี 2553 ฉะนั้น แปลว่า ในปี 2549 ทำรัฐประหารยึดอำนาจ ในปี 2550 มีรัฐธรรมนูญฉบับ “หมกเม็ด” ต่อมาในปี 2551 มีการเลือกตั้งตามมาด้วยสภาพ “อนาธิปไตย” ในปี 2552 เกิด “สงกรานต์เลือด” และในปี 2553 เกิด “เมษา-พฤษภาอำมหิต” เป็นกระบวนการยาวเหยียด เราก็มาถึง ณ ตรงนี้ ซึ่งถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์ในช่วง 4 ปี ก็มีแต่เลวร้ายลงทุกที ไม่ใช่ถอยหลังอย่างเดียว แต่มันดิ่งลงใน “หลุมดำทางการเมือง” ซึ่งหลุมนี้มันจะ “ดูด” ทุกสิ่งทุกอย่างให้จมดิ่งลงไปหมด... |