 |
ขออีกสักครั้งกับ "วัฒนธรรมกระแดะ" และตามด้วยบทแกะ "ความกระแดะ" ของสุจิตต์ วงษ์เทศ{แตกประเด็นจาก P9767887}
|
|
อ่านกระทู้ท่านทวดที่ผมแตกประเด็นมานี่แล้ว ผมก็ได้แต่ยิ้ม 
อ่านแล้วทำให้นึกถึงข้อเขียนสองชิ้น เลยขอเอามาแปะอีกสักครั้ง
อีกสักครั้งเพราะบทความสองชิ้นนี้ผมเอ่ยถึงและแปะหลายครั้งแล้ว
ข้อเขียนสองชิ้นนี้ยาวครับ ใครขี้เกียจอ่านก็ไม่ต้องอ่าน ให้กิ๊ฟได้เลย 
**********************************************************
วัฒนธรรมกระแดะ
นิธิ เอียวศรีวงศ์ มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 29 ฉบับที่ 1492
เขาว่ากันว่า คนกลุ่มเดียวที่ไม่พอใจสถานภาพของตัวที่สุดคือคนชั้นกลาง ในขณะที่คนชั้นสูงพอใจที่เป็นคนชั้นสูงและอยากให้ลูกหลานได้เป็นคนชั้นสูงชั่วฟ้าดินสลาย ชาวนาไม่รู้หรือไม่สามารถเป็นอะไรอื่นได้ ก็ต้องรักษาความเป็นชาวนาของตัวไว้ และต้องส่งต่อให้ลูกหลานอย่างไม่มีทางเลือก
แต่คนชั้นกลางอยากไต่เต้าให้สูงขึ้นไป จนกลายเป็นคนชั้นสูง พวกเขาจึงเป็นคนกลุ่มเดียวที่ไม่อยากเป็นอย่างที่เขาเป็น ด้วยเหตุดังนั้นวัฒนธรรมของคนชั้นกลางในทุกสังคมจึงเป็นวัฒนธรรมกระแดะเสมอ
กระแดะเป็นอะไรที่ตัวไม่ได้เป็น กระแดะใช้ชีวิตที่ไม่เข้ากับชีวิตจริงของตัว... ขอยกตัวอย่างสักเรื่อง
เมื่อผมเป็นเด็ก บ้านคนชั้นกลางสมัยนั้นทุกหลังจะต้องมีห้องอยู่ห้องหนึ่ง เรียกว่า "ห้องรับแขก" ตกแต่งประดับประดาไว้เป็นอย่างดี แต่ชั่วนาตาปีแทบไม่เคยเปิดใช้เลย เพราะกว่าจะมีแขกที่ต้องเชิญไปนั่งเอี้ยมเฟี้ยมขนาดนั้นสักทีก็ไม่ได้เกิดบ่อยๆ
แขกที่แท้จริง คือคนคุ้นเคยซึ่งเข้านอกออกในได้ตามสบาย และมักรับกันที่ระเบียงไปจนถึงก้นครัว แถมบางคนยังขอหมอนมานอนยืดหลังบนพื้นให้สบายตัวเสียอีก เพราะนี่คือชีวิตจริงของความสัมพันธ์ทางสังคมที่คนชั้นกลางรุ่นนั้นเคยชิน
"ห้องรับแขก" จึงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกระแดะ
ปัจจุบัน "ห้องรับแขก" แบบนั้นหายไปจากบ้านคนชั้นกลางส่วนใหญ่แล้ว เพราะเปลี่ยนเป็น "ห้องนั่งเล่น" ซึ่งใช้รับแขกได้ด้วย แต่ใช่ว่าวัฒนธรรมกระแดะจะหายไปจากคนชั้นกลาง ไม่กระแดะเรื่องนี้ก็ไปกระแดะเรื่องโน้นแทน
ทั้งนี้ เพราะคนชั้นกลางคือกลุ่มคนที่มีพลวัติสูงที่สุด เดี๋ยวคนนี้ก็เขยิบขึ้นไปร่วมอยู่ในกลุ่มคนชั้นสูงได้ (เพราะสร้างฐานของอำนาจและเกียรติยศได้เท่าเทียม หรือผูกโยงกับอำนาจและเกียรติยศของคนชั้นสูง) เดี๋ยวคนโน้นก็ตกกระป๋องจากคนชั้นกลาง ต้องมาเดินเร่ขายสินค้าอยู่ข้างถนน
วัฒนธรรมกระแดะจึงเป็นหมุดสำหรับเหนี่ยวตัวให้สูงขึ้นสำหรับคนชั้นกลางเสมอ ถึงตกกระป๋องก็ยังรักษาส่วนกระแดะของชีวิตไว้บางอย่าง เพื่อให้หมายได้ว่าตัวไม่ใช่คนชั้นล่างแท้ๆ ที่โหนขึ้นไปอยู่ข้างบนได้ ก็มีภาระต้องโหนขึ้นไปให้สูงกว่าเดิมอีก ไม่มีที่สิ้นสุด
และอย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วนะครับว่า ในเมืองไทยนั้น คนชั้นกลางขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็วภายในชั่วอายุคนเดียวของปัจจุบัน ดังนั้น วัฒนธรรมกระแดะจึงปรากฏชัดมากในหมู่คนชั้นกลาง เพราะวัฒนธรรมกระแดะช่วยให้สลัดทิ้งรากเหง้าเดิมของตัวได้เร็วดี
หนึ่งในวัฒนธรรมกระแดะของคนชั้นกลางซึ่งต้องแสดงให้ปรากฏคือท่าทีซึ่งเรียกรวมๆ ว่า "จารีตนิยม" (Conservatism) จารีตนิยมในจุดยืนทางการเมือง, ทางเศรษฐกิจ, และทางวัฒนธรรม เพราะเชื่อว่าจุดยืนเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของคนชั้นสูง
ผมเรียกการแสดงจุดยืนเหล่านี้ว่า "การแสดง" ก็เพราะมันเป็นแค่อุดมคติหรือบทบาทต่อสาธารณะ ไม่ใช่มาตรฐานความประพฤติจริง พูดอีกอย่างหนึ่ง มาตรฐานเหล่านี้คือมาตรฐาน "ความเป็นไทย" ซึ่งคนชั้นสูงเคยบัญญัติเอาไว้เป็นอุดมคติ (คือไม่จริงแม้แต่ในชีวิตของคนชั้นสูงเอง)
เช่น กุลบุตรกุลธิดาควรแต่งกายอย่างไร, พูดจาอย่างไร, มีความสัมพันธ์ทางเพศอย่างไร, ทำมาหากินอย่างไร, รัฐควรเป็นอย่างไร, พุทธศาสนาที่ถูกต้องเป็นอยางไร, เป้าหมายทางการเมืองคืออะไร, และฝรั่งนั้นวิเศษอย่างไร เป็นต้น
ลักษณะที่คนชั้นกลางซึ่งเพิ่งโผล่ขึ้นมา กลับเป็นพวกจารีตนิยมเสียยิ่งกว่าคนชั้นสูง... หัวเก่ายิ่งกว่า, มีเลือดสีน้ำเงินยิ่งกว่าคนที่มีเลือดสีนั้นโดยกำเนิด, ต่อต้านการปรับเปลี่ยนต่างๆ, ฯลฯ มีให้เห็นไม่แต่เฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น
ผมมีเรื่องจากอินเดียจะมาเล่าให้ฟัง
นักมานุษยวิทยาคนหนึ่งชื่อศรีนิวาส ศึกษาคนในวรรณะสูงกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินส่วนใหญ่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอินเดีย ซึ่งทำให้เห็นความสัมพันธ์กับคนในวรรณะต่ำในชุมชนเดียวกันด้วย แล้วเสนอความเห็นถึงกระบวนการอันหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมากในอินเดีย
เขาเรียกกระบวนการนี้ว่าการเข้ารับวัฒนธรรมสันสกฤต (Sanskritization) เรื่องของเรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ
คนในวรรณะสูงนั้นจะบำรุงศาลเจ้าหรือเทวสถานของตระกูล ซึ่งมีพราหมณ์ประจำ และทำพิธีกรรมโดยอ่านเวทมนตร์ที่นำมาจากคัมภีร์ภาษาสันสกฤต, ประวัติของโคตรเหง้า (ซึ่งเรียกว่า ชาติ อ่านว่า ชา-ติ)ก็เล่าถึงโดยโยงเข้ากับวีรบุรุษหรือบุคคลที่ปรากฏชื่อในคัมภีร์สันสกฤต ในขณะที่หลีกเลี่ยงการไปศาลหรือเทวาลัยที่เป็นของชาวบ้าน ซึ่งมักบูชาเทพที่อาจไม่มีที่มาในคัมภีร์ และไม่ใช้ภาษาสันสกฤตในการทำพิธีกรรม
สรุปก็คือวัฒนธรรมสันสกฤตกับความเป็นชนชั้นนำในท้องถิ่นต่างๆ นั้นแยกออกจากกันไม่ได้ แม้จะอยู่ในวรรณะศูทร แต่บังเอิญชาติของตัวประกอบกันขึ้นเป็นชนชั้นนำในท้องถิ่นนั้นๆ (เช่นถือครองที่ดินมาก) ก็จะเพิ่มความเข้มข้นของวัฒนธรรมสันสกฤตในการแสดงออกของตนเอง
ชาติและวรรณะในอินเดียนั้นไม่ได้อยู่นิ่งๆ เหมือนที่เราเข้าใจ มีความพยายามในการเคลื่อนย้ายยกระดับกันอยู่ตลอดเวลา และในทางตรงกันข้ามก็มีเหตุปัจจัยที่ทำให้ชาติหนึ่งๆ ตกต่ำลงได้ แต่การเคลื่อนย้ายยกระดับหรือตกระดับนั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับปัจเจกบุคคล หากเกิดกับชาติทั้งหมดทีเดียว เรียกว่าขยับขึ้นหรือลงกันเป็นกลุ่ม
วิธีที่คนในชาติและวรรณะต่ำจะขยับขึ้น ก็คือการอ้างอิงวัฒนธรรมของตนเข้ากับคัมภีร์ในภาษาสันสกฤต เช่น เล่าตำนานของชาติของตัวใหม่ให้มีต้นกำเนิดในวรรณะสูง จัณฑาลบางชาติที่อยากขยับขึ้น อาจอ้างเอาตัวบุคคลในปุราณะบางฉบับว่า คนในวรรณะกษัตริย์นั้นๆ ทำผิดอะไรจึงต้องตกต่ำลงกลายเป็นจัณฑาล แม้ยังอยู่ในวรรณะจัณฑาล (หรือไม่มีวรรณะ) แต่ต้นกำเนิดที่แท้จริงอยู่ในวรรณะกษัตริย์
พร้อมกันไปนั้นก็อาจเปลี่ยนเทวาลัยของตัวให้กลายเป็นเทวาลัยของฮินดูแท้ๆ เช่น เปลี่ยนเจ้าแม่ที่ตัวบูชานั้นให้เป็นปางหนึ่งของนางปารวตี ชายาของพระศิวะ เลิกพิธีกรรมที่พวกวรรณะสูงรังเกียจ หันมากินอาหารและดำเนินชีวิตให้ตรงกับที่คัมภีร์สันสกฤตกำหนดไว้แก่วรรณะนั้นๆ เช่นข้อกำหนดในการเลือกคู่เป็นต้น และแน่นอนรังเกียจชาติที่ต่ำซึ่งครั้งหนึ่งเคยถือว่าเสมอกับตน
หากมีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและการเมืองประกอบ ชาตินั้นก็ขยับขึ้นมาเป็นชาติสูง ดังนั้น เขาจึงเรียกกระบวนการนี้ว่าเป็นกระบวนการรับวัฒนธรรมสันสกฤต
แต่ไม่เฉพาะวรรณะต่ำหรือชาติต่ำเท่านั้นที่พยายามขยับขึ้น วรรณะและชาติสูงก็ขยับขึ้นเหมือนกัน คือขยับไปตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความทันสมัย เช่น ไปเรียนอังกฤษ กลับมาก็ประกอบอาชีพที่มีเงินและเกียรติสูง ลงเล่นการเมืองท้องถิ่นหรือระดับชาติ หรือรับราชการจนมีตำแหน่งใหญ่โต หรือแปลงสินทรัพย์ของตัวไปลงทุนจนมั่งคั่งยิ่งขึ้นไปอีก
แม้เป็นการขยับของปัจเจกมากกว่าทั้งชาติ แต่ทุนเป็นสิ่งที่สืบทอดกันได้ในเศรษฐกิจ-การเมืองปัจจุบัน จึงส่งต่อไปยังคนอื่นๆ ในชาติและคนรุ่นต่อไปได้ กลายเป็น"ชาติ" ใหม่ ซึ่งแม้ยังใช้ชื่อเดิม แต่ก็เขยิบขึ้นไปสู่ระดับสากลแล้ว
กระบวนการนี้ไม่อาจเรียกว่า Sanskritization ได้ เพราะไม่ได้อิงกับวัฒนธรรมสันสกฤตอีกแล้ว กลายเป็นฝรั่งมากขึ้น (ซึ่งน่าจะเรียกว่า Angloization มากกว่า) ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ส่วนที่เป็นจารีตนิยมซึ่งมีฐานอยู่ที่วัฒนธรรมสันสกฤตกลับถูกทิ้งไป ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย, การเลือกคู่, การกิน, หรือโลกทรรศน์โดยรวม
สถานการณ์จึงเป็นการวิ่งไล่เอาเถิดกันไม่จบ เพราะพอคนชั้นต่ำเขยิบขึ้นมา คนชั้นสูงก็เขยิบหนีขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ผมต้องการชี้ให้เห็นก็คือ คนชาติต่ำที่เขยิบขึ้นมา จะกลับเป็นผู้กอดวัฒนธรรมสันสกฤตแน่น เพราะวัฒนธรรมสันสกฤตเป็น "วัฒนธรรมกระแดะ" ที่ตรงกับอุดมคติซึ่งชนชั้นสูงได้เคยบัญญัติเอาไว้
ในทางการเมือง คนเหล่านี้แหละครับที่สนับสนุนพรรคภารัติยะชนตะ และพรรคฮินดูหัวรุนแรงทั้งหลาย ถูกปลุกระดมให้ลุกขึ้นมาเผาวิหารทองคำของพวกซี้ค หรือเข่นฆ่าชาวมุสลิม และต่อต้านคติของคานธี-เนห์รูที่ตั้งใจให้อินเดียเป็นรัฐฆราวาส
ผมออกจะสงสัยว่า คนชั้นกลางที่กำลังผุดขึ้นมา (emerging)ในสังคมต่างๆ มีธรรมชาติ"จารีตนิยม"สูง เพราะในกระบวนการแปรเป็นคนชั้นกลางทางวัฒนธรรม คือการสลัดทิ้งรากเหง้าตัวเอง หันไปยึดอุดมคติทางวัฒนธรรมของคนชั้นสูง แล้วสร้าง "วัฒนธรรมกระแดะ" ขึ้นเป็นของตนเอง
ในทางการเมือง ก็ต้องสวมเสื้อเหลือง, ประดับกำไลข้อมือสีเหลือง, แล้วไปชุมนุมกับพันธมิตรสิครับ ในทางสังคมก็ไม่ชอบผู้หญิงแก้ผ้า, ตกใจที่ลูกหลานคนชั้นเดียวกับตัวขายบริการทางเพศผ่านอินเตอร์เน็ต, (แต่ถ้าเป็นลูกหลานคนชั้นล่างก็รับได้ และสรรเสริญว่ามีคุณแก่สังคมที่ทำให้คดีฉุดคร่าอนาจารน้อยลง), ยอมเสียเงินไปซื้อการปฏิบัติธรรมมาบริโภค, รังเกียจการคอร์รัปชั่นเข้ากระดูกดำ แต่พร้อมจะหยิบแบ๊งค์ร้อยเผื่อแผ่แก่ตำรวจจราจร ฯลฯ
http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2009q1/2009march20p10.htm
คนชั้นกลางดัดจริต ประดิษฐ์วัฒนธรรมกระแดะ
คนชั้นกลางของไทยเป็นพวกดัดจริต เห็นแก่ตัว น่ารังเกียจ ไม่อ่านหนังสือ ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น แล้วยังเป็นเจ้าของวัฒนธรรมกระแดะ
อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายไว้ในนิตยาสาร ฅ คน (ฉบับมีนาคม 2552) เรื่องหญิงไทยได้ผัวฝรั่งแก่ ๆ ก็เพราะหญิงไทยยากจน มองการแต่งงานเป็นการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ สร้างฐานะครอบครัว แล้วเป็นที่พึ่งของพ่อแม่ ไม่ใช่เรื่องศักดิ์ศรีของสตรีไทย หรือของชาติไทย
"เรื่องศักดิ์ศรีเป็นเรื่องของคนชั้นกลาง" แล้วย้ำว่า "ผู้หญิงชนชั้นกลางที่สามารถหาแ-กได้ด้วยตัวเอง" อาจารย์นิธิยกตัวย่างศักดิ์ศรีนี้อีกว่า
"เวลาที่อีหล้าไปหากิน หรือออกไปเป็นโสเภณีของภาคเหนือ นี่น่าสงสารมากนะ เขารับเอาภาระของลูกผู้หญิงในสมัยโบราณมาเป็นภาระของตัว ในเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการที่เขาจะทำภาระนั้นให้สำเร็จได้ เช่น
พ่อแม่ไม่มีที่นาเหลืออยู่อีกแล้ว อีหล้านี่ ธรรมดาสมัยก่อน คือคนที่จะได้ที่นาผืนสุดท้าย รวมทั้งที่ที่เป็นเรือนตั้งอยู่ด้วย เพราะอีหล้าต้องรับผิดชอบพ่อแม่ในยามแก่
แต่บัดนี้ไม่มีปัจจัยที่จะให้เขารับเอาภาระอันนั้นได้อีกแล้ว ก็เหลืออยู่แค่ที่นาอันน้อยเท่านั้นเองที่จะเลี้ยงพ่อแม่ได้
เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องเศร้า ไม่ใช่เรื่องที่คุณจะมาพูดถึงศักดิ์ศรีส้นตี-หมาอะไรแบบคนชั้นกลางในเมืองซึ่งมันไม่เข้าใจ"
"คนชั้นกลางที่ไหน ๆ มันมักจะน่ารังเกียจทั้งนั้น โดยเฉพาะคนชั้นกลางไทย เพราะแม่-ไม่อ่านหนังสือด้วย ไม่สนใจห่-เหวอะไรทั้งสิ้นเลย เพราะฉะนั้นมันจะเป็นพวกแบบนี้ พวกดัดจริต เห็นแก่ตัว ไม่เข้าใจห่-อะไร แล้วนึกว่าตัวเองเก่ง เที่ยวตัดสินนู่นตัดสินนี่อยู่ตลอดเวลา"
"ศีลธรรมจริยธรรมที่สอนกันในโรงเรียน ก็ล้วนแต่เป็นศีลธรรมจริยธรรมของคนชั้นกลางทั้งสิ้น
คุณบอกลูกผู้หญิงเรา รักนวลสงวนตัว อ้าว ไอ้เหี้- สมัยก่อนนะ ส่วนใหญ่ของการแต่งงาน คือ การพาหนี แล้วก็มีลูกหรือไม่มีลูกก็แล้วแต่ เขาก็กลับมาขอขมากันภายหลัง ไม่เห็นแปลกเลย"
นอกจากนั้นคนชั้นกลางยังอยู่ในวัฒนธรรมกระแดะ เรื่องนี้ อาจารย์นิธิเขียนบอกไว้ในมติชนสุดสัปดาห์(ฉบับวันที่ 20-26 มีนาคม 2552 หน้า 28) ว่า คนกลุ่มเดียวที่ไม่พอใจสถานภาพของตัวที่สุดคือคนชั้นกลาง
ในขณะที่คนชั้นสูงพอใจที่เป็นคนชั้นสูง และอยากให้ลูกหลานได้เป็นคนชั้นสูงชั่วฟ้าดินสลาย ชาวนาไม่รู้ หรือไม่สามารถเป็นอะไรอื่นได้ ก็ต้องรักษาความเป็นชาวนาของตัวไว้ และต้องส่งต่อให้ลูกหลานอย่างไม่มีทางเลือก
"แต่คนชั้นกลางอยากไต่เต้าให้สูงขึ้นไป จนกลายเป็นคนชั้นสูง พวกเขาจึงเป็นคนกลุ่มเดียวที่ไม่อยากเป็นอย่างที่เขาเป็น ด้วยเหตุดังนั้น วัฒนธรรมของคนชั้นกลางในทุกสังคม จึงเป็นวัฒนธรรมกระแดะเสมอ"
อาจารย์นิธิสรุปว่า คนชั้นกลางที่กำลังผุดขึ้นมา (emerging)ในสังคมต่าง ๆ มีธรรมชาติ"จารีตนิยม" สูง เพราะในกระบวนการแปรเป็นคนชั้นกลางทางวัฒนธรรม คือการสลัดทิ้งรากเหง้าตัวเอง หันไปยึดอุดมคติทางวัฒนธรรมของคนชั้นสูง แล้วสร้าง"วัฒนธรรมกระแดะ" ขึ้นเป็นของตนเอง
มีตัวอย่างทางสังคมของ"วัฒนธรรมกระแดะ" คือ "ไม่ชอบผู้หญิงแก้ผ้า, ตกใจที่ลูกหลานคนชั้นเดียวกับตัวขายบริการทางเพศผ่านอินเตอร์เน็ต, (แต่ถ้าเป็นลูกหลานคนชั้นล่าง ก็รับได้ และสรรเสริญว่า มีคุณแก่สังคมที่ทำให้คดีฉุดคร่าอนาจารน้อยลง), ยอมเสียเงินไปซื้อการปฏิบัติธรรมมาบริโภค, รังเกียจการคอร์รัปชั่นเข้ากระดูกดำ แต่พร้อมจะหยิบแบงก์ร้อยเผื่อแผ่แก่ตำรวจจราจร ฯลฯ"
แต่คนจนๆคนเล็ก ๆ ยังไม่มีโอกาสดัดจริตใช้วัฒนธรรมกระแดะ เพราะยังถูกกดทับด้วยสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมไทย อาจารย์นิธิสรุปว่า
"คนจน... หรือคนเล็กๆทั้งหลาย มันถูกวัฒนธรรม ถูกอะไรในสังคมไทยกดทับมาเป็นเวลาร้อยๆปี มันขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ฉะนั้นเมื่อไหร่ที่เขาลุกขึ้นยืนแล้วสู้ได้ เขาจะเปลี่ยนไป คือเหมือนกับเกิดใหม่กลายเป็นคนใหม่อีกคนขึ้นมา"
ที่มา คอลัมน์ สยามประเทศไทย มติชน
โดย: สุจิตต์ วงษ์เทศ
http://arayachon.org/article/20090510/1297
ข้อเขียนทั้งของ อ.นิธิ และของสุจิตต์ นี้ ให้มุมมองชัดเจนครับ ทั้งทางด้านสังคม การเมือง ของประเทศไทยในขณะนี้
จากคุณ |
:
ตระกองขวัญ
|
เขียนเมื่อ |
:
5 ต.ค. 53 12:15:04
A:67.159.44.51 X:
|
|
|
|  |