วันนี้เป็นวันที่ไม่ค่อยเหมาะในการตั้งกระทู้ เพราะกระทู้จะเข้ามาจำนวนมาก ทำให้ยากแก่การอ่าน แต่เมื่อวานก็ไม่ได้ตั้งกระทู้ และได้แจ้งหลังไมค์ถึงสมาชิกบางท่านไว้แล้วว่าเมื่อวานและวันก่อนๆบางวันจะไม่ตั้งกระทู้ เนื่องด้วยขณะนั้นยังติดภารกิจส่วนตัวและเพื่อความเหมาะสมบางอย่าง แต่เห็นว่าความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่จะนี้อยากให้ไว้เสียแต่เช้านี้ ก่อนการแถลงคดีจะยุติลงจึงขอใช้สิทธลงในกระทู้ที่ตั้งนี้ โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่ บางข้อบางมาตราหลายๆท่านคงทราบแล้วจากสื่อต่างๆ
เรื่องการพิจรณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ในเวลาปัจจุบันนี้จะถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ พศ.2550 และโดยข้อกําหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทําคําวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งจริงๆแล้วเป็นข้อกำหนดที่ออกโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดที่มีมาก่อนรธน.2550 แต่ทำหน้าที่ต่อเนื่องกันมาตามบทบัญญัติในรธน.2550 ก่อนจะมีการแต่งตั้งตุลาการศาลรธน.ชุดปัจจุบันซึ่งมีพระบรมราชโองการเมื่อ 27 มิถุนายน 2551
ข้อกําหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทําคําวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ก็ดี รัฐธรรมนูญ พศ.2550 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญก็ดี ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับกฎหมายเดิมในช่วงปี 2540-2549 คือ รธน.2550 มาตรา 216 ที่บัญญัติว่า องค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าห้าคน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีบัญญัติเป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้ .....
ในรธน.2540 มาตรา 267 ก็บัญญัติไว้แบบเดียวกันเกือบจะทุกตัวอักษร เว้นแต่จำนวนตุลาการ เดิมนั้นกำหนดเป็น ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าเก้าคน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีบัญญัติเป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหากจะมีผูใดจะโทษว่า รธน.2550 บกพร่องที่บัญญัติไว้แบบนี้ ก็ควรจะทราบไว้ก่อนว่า ความนี้มีบัญญัติมาตั้งแต่ในรธน.2540 แล้ว
ส่วนข้อกําหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทําคําวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ก็จะคล้ายกับข้อกําหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทําคําวินิจฉัยเดิมที่เคยมีออกมาหลายฉบับในช่วง 2540-2546 ซึ่งออกมาตามรธน.2540 แต่ถูกยกเลิกไปด้วยผลของการปฏิรูป เนื้อหาส่วนใหญ่จะคล้ายกัน แต่มีรายละเอียดบางข้อที่มีผลต่อการลงมติของศาลรธน.
ทั้งข้อกําหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทําคําวินิจฉัย ที่ใช้อยู่เดิมก็ดี รัฐธรรมนูญ พศ.2540 หรือ 2550 ที่เกี่ยวกับศาลรธน. ก็ดี อ่านดูแล้วจะพบว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับการออกคำวินิจฉัยนั้น เจตนาของกฏหมายที่เกี่ยวข้องต้องการให้ตุลาการลงข้อวินิจฉัยเพื่อความยุติธรรม มีกำหนดไว้ในมาตรา 216 ในรธน.ปัจจุบันว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนจะต้องทำความเห็นในการวินิจฉัยในส่วนของตนพร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ
อ่านดูแล้วอาจตีความได้ว่า ก่อนจะมีการลงมติกันนั้น กฏหมายกำหนดให้ตุลาการแต่ละคนจะต้องทำความเห็นการวินิจฉัยในส่วนของตนให้เรียบร้อยเสียก่อน โดยรธน.กำหนดว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อยต้องประกอบด้วยความเป็นมาหรือคำกล่าวหาสรุปข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง จะเห็นว่ารธน.กำหนดว่าตุลาการจะมีความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งลอยๆมิได้ จะต้องสรุปข้อคิดเห็นให้ได้จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
ข้อกําหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทําคําวินิจฉัย ข้อ ๕๐ บัญญัติว่า การพิจารณาวินิจฉัยของศาลให้ วินิจฉัยทุกประเด็นที่ศาลกําหนด โดยตุลาการที่เป็นองค์คณะทุกคนจะงดออกเสียงในประเด็นใดประเด็นหนึ่งตามที่ศาลกําหนดมิได้ นั้นคือตุลาการจะงดออกความเห็นไม่ได้ ต้องให้ความเห็น ดังนั้นในที่ประชุมตุลาการที่ประชุมกันอย่างเป็นทางการ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ประธานหรือประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการท่านใดจะงดออกเสียง เพราะกฏหมายกำหนดไว้จะต้องวินิจฉัยทุกประเด็น
ผมเข้าใจว่าการประชุมเพื่อชี้ขาดสรุปข้อวินิจฉัยคดีของศาลตามข้อกฎหมายนั้น จะต่างไปจากการประชุมบริษัท ห้างร้าน หรือสมาคม หรือการประชุมบางอย่าง ที่ที่ประชุมจะประชุมกันใหม่กี่ครั้งก็ได้เพื่อให้ได้ข้อสรุป หากประชุมครั้งแรกไม่ได้ข้อยุติ ผู้มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมอาจเปลี่ยนความเห็นของตนเสียใหม่ หรือให้ประธานลงความเห็นใหม่เพื่อให้ที่ประชุมได้ข้อยุติ แบบนี้พบได้ในการประชุมทั่วไป แต่เมื่ออ่านดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องนี้แล้ว ก็รู้สึกว่าเจตนของกฎหมาย ไม่ต้องการให้ตุลากรเปลี่ยนความเห็นที่เกี่ยวกับคดีไปเพราะเหตุแวลล้อมอื่นใด กฏหมายคงมีเจตนาที่จะท่านตุลาการสรุปข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง เท่านั้น กฎหมายไม่กำหนดให้ท่านตุลาการเปลี่ยนข้อคำวินิจฉัยเพราะเหตุแวดล้อมอื่น
ข้อกฎหมายเหล่านี้จะเปิดช่องว่างให้เกิดปัญหาในกรณีที่มีท่านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในจำนวนคู่ ซึ่งมีโอกาสจะทำให้เกิดเสียงเท่าๆกันและมีปัญหาในการตีความนั้น คงต้องรอการพิจารณาของสภาเพื่อแก้ไขต่อไป ซึงได้ตั้งกรรมาธิการมานานแล้ว และอันที่จริงการร่างพรบ.ประกอบรธน.เรื่องการพิจารณาคดีของศาลรธน.นี้ก็เลยกำหนดที่รธน.2550 กำหนดไว้มานานพอสมควรแล้ว (กำหนดไว้ 1 ปี นับจากวันประกาศใช้รธน.)
ส่วนประเด็นกฎหมายที่ใช้ในการกำหนดโทษนั้น ปกติจะใช้กฎหมายที่มีอยู่ในขณะทำการพิพากษา หากกฏหมายในขณะทำการพิพากษานั้นบัญญัติว่าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิด ก็ต้องยกความผิดไป หรือหากกำหนดโทษไว้เช่นไร ก็จะกำหนดโทษตามบทบัญญัติกฎหมายขณะพิจารณาคดี ยกเว้นคดีอาญา จะไม่กำหนดโทษหนักไปกว่ากฎหมายเดิม แต่กฎหมายการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมิใช่โทษทางอาญา เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่เกิดจากผลของกฎหมายที่ให้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่กระทำการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อมิให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองและการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยมีโอกาสที่จะกระทำการอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งคาดกันว่าจะเป็นบทกฎหมายที่จะนำมาใช้กำหนดโทษ มาตรา ๙๘ บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองใดเพราะเหตุอันเนื่องมาจากการฝ่าฝืนมาตรา ๘๒ หรือเหตุตามมาตรา ๙๔ และปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรค การเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนร่วม รู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึง การกระทำดังกล่าวแล้วมิได้ยับยั้ง หรือแก้ไขการกระทำดังกล่าว ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนสิทธิ เลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น มีหนดเวลาห้าปีนับแต่ วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง"
นั้นคือกฏหมายกำหนดให้ตัดสิทธิเฉพาะกรรมการที่มีส่วนร่วม รู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึง การกระทำดังกล่าวแล้วมิได้ยับยั้ง ไม่ได้ตัดสิทธิกรรมการบริหารเสียหมดทั้งคณะซึ่งในทางคดี ต้องรอฟังคำวินิจฉัยของศาลว่า มีกรรรมการท่านใดที่เข้าข่ายนี้ กรรมการใดไม่เข้าข่ายนี้
รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้จากรธน.2540 รธน.2549 และรธน.2550 และ
ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๖ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00120864.PDF
ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2550/A/096/14.PDF
พระราชบัญญัติพรรคการเมือง 2550
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2550/A/064/22.PDF
(ขออนุญาตเข้ามาเพิ่มเติมความเห็นหลังมีการวินิจฉัย แต่จะไม่แก้ไขเนื้อความในสาระข้างบนโดยจะเซฟไว้)
...........................................................................................................
เพิ่มเติมครั้งที่ 1
ขอเข้ามาเพิ่มเติมกรณีที่มีการอ้างเกี่ยวกับกรณียุบพรรคพลังเกษตรกรนั้น มีความตามที่ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรธน.ยาว ขอคัดมาในตอนท้ายดังนี้....
ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ผู้ถูกร้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เมื่อครบกำหนดระยะเวลาปรากฏว่าผู้ถูกร้องไม่ได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ
พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพรรคผู้ถูกร้องได้รับจดแจ้งการจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๗ จึงมีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมาให้ถูกต้องตามความเป็นจริงตามวิธีการที่นายทะเบียนกำหนดและแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในเดือนมีนาคมของทุกปีซึ่งในการจัดทำงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองผู้ถูกร้องจะต้องกระทำโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองตามมาตรา ๒๘ วรรคสอง (๕) จากข้อเท็จจริงพบว่า ผู้ถูกร้องได้รายงานดังกล่าวแต่ไม่ได้กระทำโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรค ข้ออ้างของผู้ถูกร้องที่อ้างว่าไม่สามารถจัดประชุมใหญ่ได้นั้น แสดงให้เห็นว่าพรรคผู้ถูกร้องไม่สามารถที่จะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่ผู้ร้องกำหนด ผู้ถูกร้องก็มิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด ทั้งที่ผู้ร้องได้มีการแจ้งเตือนให้ทราบแล้วหลายครั้ง จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๔๒ วรรคสอง จึงมีเหตุที่จะสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓
สำหรับกรณีตามมาตรา ๘๒ ที่บัญญัติให้พรรคการเมืองจะต้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินให้ถูกต้องตามความเป็นจริงและยื่นต่อคณะกรรมการ การเลือกตั้งภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป และให้นำความในมาตรา ๔๒ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกร้องได้รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองในรอบปี พ.ศ. ๒๕๕๐ แต่เป็นเอกสารหลักฐานที่ไม่ครบถ้วนถูกต้อง เมื่อผู้ร้องได้มีการแจ้งเตือนแล้วหลายครั้ง ผู้ถูกร้องก็ไม่ได้ชี้แจงหรือจัดส่งเอกสารเพิ่มเติมตามที่ผู้ร้องแจ้งให้ชี้แจงแต่อย่างใด จึงถือว่า ผู้ถูกร้องไม่รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองในรอบปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๘๒ กรณีจึงมีเหตุที่จะสั่งยุบพรรคการเมืองผู้ถูกร้องได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ ได้อีกเช่นกัน...
ดังนั้นกรณีจะไปเหมือนกรณีพรรคปชป.หรือไม่อย่างไร กรุณาใช้วิจารณญาณเองครับ
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/A/064/17.PDF
.........................................................................................................................
เพิ่มเติมครั้งที่ 2
ได้รับทราบข่าวว่าศาลรธน.วินิจฉัยว่ากระบวนการยื่นฟ้องคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฏหมาย แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าไม่ชอบด้วยพรบ.พรรคการเมือง 2550 หรือตามกฏหมายรธน. หรือตามข้อกำหนดวิธีพิจารณาคดีของศาล หากมีรายละเอียดตรงนี้จะเข้ามาเพิ่มเติมอีกครั้ง
.........................................................................................................................
เพิ่มเติมครั้งที่ 3
สรุป คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ถูกยกเพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 2 ให้ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากเห็นว่าการฟ้องคดีของนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ได้ทำตามกำหนดภายใน 15 วันตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งตามข้อเท็จจริงต้องส่งตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค.2552 เป็นวันที่กกต.มีมติให้ยุบพรรค แต่การประชุมกกต.ครั้งที่ 41/2553 ที่ให้ตรวจสอบสำนวนให้ยื่นคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์เพิ่มเติมนั้นเป็นเพียงกระบวนการตรวจสอบภายในองค์กร ดังนั้น วันที่ 26 เม.ย.2553 ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณานั้นจึงไม่อยู่ในครบกำหนดเวลา 15 วัน
สำหรับบทบัญญัติกฏหมายที่ว่าด้วยเรื่องนี้อยู่ในพรบ.พรรคการเมือง 2550 ซึ่งมีบัญญัติไว้ดังต่อไปนี้
มาตรา ๙๓ ในกรณีที่พรรคการเมืองใดมีเหตุต้องเลิกตามข้อบังคับพรรคการเมืองแต่พรรคการเมืองนั้นยังมีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ หรือในกรณีที่พรรคการเมืองใด ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง หรือ มาตรา ๘๒ ให้ยุบพรรคการเมืองนั้น
เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความ ปรากฏต่อนายทะเบียน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองตามคำร้องของนายทะเบียน ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น
โดยความผิดตามมาตรา 42 และ 82 นั้นบัญญัติไว้ว่า
มาตรา ๔๒ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองจัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมาให้ถูกต้องตามความเป็นจริงตามวิธีการที่นายทะเบียนกำหนด และแจ้งให้ นายทะเบียนทราบภายในเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อประกาศให้สาธารณชนทราบ เว้นแต่พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นยังไม่ถึงเก้าสิบวันนับจนถึงวันสิ้นปีปฏิทิน เมื่อครบระยะเวลาการรายงานตามวรรคหนึ่งแล้ว หากพรรคการเมืองใดยังไม่ได้รายงานให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้หัวหน้าพรรคการเมืองรายงานภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าพ้นกำหนด ระยะเวลาแล้วยังมิได้รายงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของ คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการเพื่อให้มีการยุบพรรคการเมืองนั้น
มาตรา ๘๒ พรรคการเมืองที่ได้รับเงินสนับสนุนต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้เป็นไปตามที่ บัญญัติไว้ในส่วนนี้ และส่วนที่ ๕ การใช้จ่ายของพรรคการเมือง และจะต้องจัดทำรายงาน การใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินให้ถูกต้องตามความเป็นจริง และยื่นต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้งภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป และให้นำความในมาตรา ๔๒ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ดังนั้น ดูเหมือนว่าความผิดหากมีปรากฏขึ้นจริง ก็พ้นล่วงเลยข้อกำหนดตามกฏหมายที่จะพิจารณาเอาผิดได้แล้ว และบทกฏหมายพรบ.พรรคการเมืองนี้
อนึ่งการกำหนดระยะเวลาให้นายทะเบียนยื่นเรื่องต่อศาลรธน. ภายใน 15 วันนี้ มีบัญญัติมาตั้งแต่พรบ.พรรคการเมือง 2541 โดยอยู่ในมาตรา 65 จึงไม่ใช่ข้อกำหนดที่เพิ่งมีขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด
.
แก้ไขเมื่อ 29 พ.ย. 53 15:59:40
แก้ไขเมื่อ 29 พ.ย. 53 15:07:09
แก้ไขเมื่อ 29 พ.ย. 53 12:51:14