Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ผลกระทบยกคำร้องคดียุบปชป. ติดต่อทีมงาน

หมายเหตุ - ดร.วิชัย ตันติกุลานันท์ นักกฎหมายอิสระ ซึ่งติดตามการพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 2 คดีอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ต้น เขียนบทความทางวิชาการ ชี้ความเสียหายที่เกิดจากนายทะเบียนพรรค การเมืองทำผิดขั้นตอนมาตรา 95 เป็นเหตุให้ศาลยกคำร้อง

ดร.วิชัย เป็นข้าราชการตุลาการบำนาญ เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เคยเป็นผช.กก.ผจก.ใหญ่อาวุโส ธนาคารศรีนคร

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 ยกคำร้องคดีที่พรรคปชป.รับบริจาคเงิน 258 ล้านบาท วินิจฉัยว่านายทะเบียนมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนในมาตรา 95 วรรคหนึ่งแห่งพ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2550

มาตราดังกล่าวบัญญัติว่า "...เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียน หรือเมื่อนายทะเบียนรับแจ้งจากคณะกรรมการบริหารพรรค การเมือง และตรวจสอบแล้วเห็นว่าพรรคการเมืองใดกระทำ การตามมาตรา 94 ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของกกต. แจ้งต่ออัยการสูงสุด พร้อมด้วยหลักฐาน เมื่ออัยการสูงสุดได้รับแจ้งให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าอัยการสูงสุดเห็นสมควรก็ให้ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง ดังกล่าว..."

ข้อเท็จจริงได้ความว่า วันที่ 12 เม.ย.53 นายอภิชาต สุขัคคานนท์ นายทะเบียนพรรคการเมือง และประธานกกต. เสนอบันทึกต่อกกต.ว่า

"พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงที่คณะทำงานของนายทะเบียนได้รวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติม กรณีอาจมีการกระทำ ตามมาตรา 94 แห่งพ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอันควรสู่การพิจารณามีมติของกกต."

ต่อมา กกต.มีมติเห็นชอบส่งเรื่องเสนออัยการสูงสุดพร้อมด้วยหลักฐาน ก่อนที่อัยการสูงสุดจะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ยุบพรรค ปชป.

ตุลาการโดยเสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 ยกคำร้องโดยวินิจฉัยว่า

1.ตามมาตรา 95 นายทะเบียนจะต้องมีหรือให้ความเห็นต่อกกต.ในเบื้องต้นก่อนว่า พรรคปชป.กระทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง

2.ตามข้อความบันทึกของนายทะเบียนดังกล่าว นายทะเบียนยังมิได้มีความเห็นว่ามีเหตุจะยุบพรรคปชป.

3.ตามบันทึกนายทะเบียนข้อความที่ว่า...กรณีอาจมีการกระทำตามมาตรา 94...ถือว่านายทะเบียนยังมิได้มีความเห็นว่าพรรคปชป. กระทำการอันเป็นเหตุให้ต้องถูกยุบพรรค

4.การที่กกต.เห็นชอบให้นายทะเบียนแจ้งต่ออัยการสูงสุดพร้อมหลักฐาน เพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งยุบพรรคปชป. เป็นการข้ามขั้นตอนของมาตรา 95 จึงไม่ชอบด้วยวิธีปฏิบัติ กกต.ยังไม่มีอำนาจให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบตามความในมาตรา 95 วรรคแรก

จากคำวินิจฉัยของตุลาการเสียงข้างมากดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการยกคำร้องคดีขอยุบพรรค ปชป. ด้วยปัญหาข้อกฎหมายโดยตีความตามมาตรา 95 วรรคแรก ว่า

เนื่องจากนายทะเบียนเสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. โดยมิได้ทำความเห็นว่าพรรค ปชป. กระทำความผิดต่อกฎ หมายพรรคการเมือง มาตรา 94 กกต.จึงไม่มีอำนาจลงมติให้ความเห็นชอบ หรือไม่ให้ความเห็นชอบให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคปชป.

บทวิเคราะห์ด้วยความเคารพต่อศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก

1.ตามมาตรา 95 นายทะเบียนจะเสนอขอความเห็นชอบจากกกต. มีหลักเกณฑ์ว่า...เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียน... และ ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 94 ก็ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของ กกต. ....

ตามตัวบทกฎหมายดังกล่าวไม่มีข้อความใดระบุว่า... นายทะเบียนจะต้องทำบันทึกอย่างชัดเจนต่อ กกต.ว่าตนมีความเห็นว่าพรรคการเมืองนั้นๆ ได้กระทำความผิดต่อกฎ หมายมาตรา 94 แล้ว

2.ตามบันทึกของนายทะเบียนดังกล่าวที่ระบุว่า...พิจารณา แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงที่คณะทำงานของนายทะเบียนได้รวบ รวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติม...นั้น น่าจะเข้าใจได้ว่าตรงกับตัวบทกฎ หมายที่ว่า ...เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียน...และได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 94 แล้ว

และข้อความในบันทึกที่ว่า...กรณีอาจมีการกระทำตามมาตรา 94 น่าจะเป็นไปตามตัวบทกฎหมายที่ว่านาย ทะเบียนได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าพรรคการเมืองใดกระทำ การตามมาตรา 94 แล้ว เพราะกฎหมายใช้คำว่า...พรรคการ เมืองใดกระทำการตามมาตรา 94...กฎหมายมิได้ใช้คำว่า... พรรคการเมืองใดกระทำความผิดตามมาตรา 94...

3.คดีนี้นายทะเบียนได้เสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. แล้ว และกกต.เห็นชอบให้แจ้งอัยการสูงสุดพร้อมหลักฐานเพื่อให้ยื่นคำร้องต่อศาลมีคำสั่งยุบพรรค ปชป. และนายทะเบียนก็ได้ดำเนินการตามมติของ กกต.แล้ว

จึงน่าจะแปลความได้ว่านายทะเบียนมีความเห็นว่าพรรค ปชป. กระทำการตามกฎหมายมาตรา 94

อย่างน้อยก็เข้าใจได้ว่ากรณีดังกล่าวเท่ากับ กกต.ให้ความ เห็นชอบก่อนแล้วนายทะเบียนจึงเห็นด้วยว่าพรรค ปชป. กระทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง

หากจะถือว่าเป็นการดำเนินการผิดขั้นตอนกฎหมายก็หมายความว่า กกต.และนายทะเบียนดำเนินการตามมาตรา 95 ในลักษณะก่อนหลัง

แตกต่างจากคำวินิจฉัยของศาลซึ่งวินิจฉัยว่า นายทะเบียนจะต้องทำความเห็นก่อนว่าพรรค ปชป.กระทำผิดมาตรา 94 แล้ว กกต.จึงมีอำนาจให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้เห็นชอบ

แต่ กกต.และนายทะเบียนดำเนินการตรงข้ามกับคำวินิจฉัยของตุลาการในลักษณะก่อนหลังกลับกัน

ตามกฎหมายนายทะเบียนและประธานกกต.เป็นคนเดียวกัน ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนก็ดี ของ ประธานกกต.ก็ดี จึงไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้อย่างชัดเจนเด็ดขาด

ต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ทั้งสองฐานะหรือสองตำแหน่งในตัวคนเดียวกันและเวลาเดียวกันได้ ดังนั้น ขั้นตอน วิธีการดำเนินการของ กกต.และนายทะเบียนตามที่กล่าวมาแล้วนั้น น่าจะถือได้ว่าเป็นไปตามมาตรา 95 แล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อตุลาการเสียงข้างมากวินิจฉัยว่ากกต. และนายทะเบียนมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนมาตรา 95 จึงให้ยกคำร้องขอยุบพรรค ปชป. ดังกล่าวนั้น

จะมีปัญหาว่านายทะเบียนจะเริ่มต้นดำเนินการตามขั้นตอนที่ศาลคือ ทำความเห็นว่าพรรค ปชป. กระทำผิดกฎ หมายพรรคการเมืองแล้วจึงเสนอเรื่องต่อกกต. เพื่อขอความเห็นชอบ แล้วให้อัยการสูงสุดยื่นเรื่องคำร้องขอต่อศาลใหม่อีกครั้งหนึ่งได้หรือไม่

และจะเป็นการร้องซ้ำหรือฟ้องซ้ำหรือไม่

ข้อนี้ต้องรอดูว่าผู้เกี่ยวข้องจะดำเนินการอย่างไร ศาลจะมีคำวินิจฉัยอย่างไรต่อไป

ในชั้นนี้คงมีประเด็นสำคัญว่าการที่นายทะเบียนไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่ศาลวินิจฉัยมาดังกล่าวข้างต้น จะถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่ จนถึงกับถือว่าเป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย

อันจะเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่

อีกประการหนึ่งการที่อัยการสูงสุด เมื่อรับสำนวนคดีจากนายทะเบียนแล้วไม่ตรวจสอบให้รอบคอบว่าดำเนินการตามขั้นตอนที่ศาลวินิจฉัยหรือไม่ ก็อาจอยู่ในข่ายที่มีความบกพร่องหรือมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

คำวินิจฉัยของตุลาการเสียงข้างมากที่ให้ยกคำร้องขอยุบพรรค ปชป. รวม 2 คดี โดยอาศัยข้อกฎหมายเรื่องเดียว กัน ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า

อำนาจขอยุบพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่งนั้น เป็นอำนาจสูงสุดเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของนายทะเบียนแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธาน กกต. ด้วย

การปฏิบัติของประธาน กกต. และนายทะเบียนจึงไม่สามารถแยกออกจากกันได้ชัดเจน ไม่สามารถบอกได้ว่าขั้นตอนใดกระทำการหรือปฏิบัติโดยนายทะเบียน หรือประธาน กกต.

จากคำวินิจฉัยของตุลาการเสียงข้างมากดังกล่าว ประกอบ กับนายทะเบียนเป็นคนเดียวกับประธาน กกต. มีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดเสนอขอให้ยุบพรรคการเมือง

ทำให้ยากแก่การวินิจฉัยว่าการกระทำของนายทะเบียน เป็นเรื่องบกพร่องต่อหน้าที่หรือจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต

ไม่ว่าจะเป็นประการใดก็ตาม การที่ศาลยกคำร้องทั้งสองคดีดังกล่าวนั้นทำให้รัฐเสียหาย กล่าวคือเสียงบประ มาณแผ่นดินในการสืบสวนสอบสวนกล่าวหาว่าพรรคปชป. กระทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง เสนอเรื่องให้กกต. พิจารณา เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลขอให้ยุบพรรคปชป. เสียเวลาเป็นปี

เสียงบประมาณบุคลากรเจ้าหน้าที่ศาล ตลอดจนตุลา การศาลรัฐธรรมนูญ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งการดำเนินกิจ กรรมดังกล่าว ได้แก่ ค่าจ้างเงินเดือนบุคลากรดังกล่าวทั้งหมดคิดแล้วน่าจะไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท โดยไม่เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติแต่ประการใดแม้แต่น้อย

ความเสียหายดังกล่าวนั้นใครจะรับผิดชอบ?

ที่มา: http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd2Iyd3dNVEUxTVRJMU13PT0=&sectionid=TURNd05BPT0=&day=TWpBeE1DMHhNaTB4TlE9PQ==

จากคุณ : Samong2
เขียนเมื่อ : 15 ธ.ค. 53 10:00:50 A:124.121.32.127 X:



ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com