มติชนออนไลน์ วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ในฐานประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การตรวจสบการจัดเก็บรายได้ ใน กมธ.การเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา แถลงว่า อนุ กมธ.ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันที่ 17 ธันวาคม ขอให้ตรวจสอบความเป็นรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7) หรือไม่
กรณีกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 วรรคสุดท้าย ด้วยการรับเป็นวิทยากรให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยรับสินจ้างเป็นค่าสมนาคุณวิทยากร โดยอนุ กมธ.ได้ตรวจพบข้อมูลโครงการอบรมหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูงรุ่นที่ 1 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2553 นายอภิสิทธิ์ได้เซ็นชื่อรับค่าวิทยากรบรรยายในหัวข้อ "บทบาทผู้นำการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กลไกการแก้ปัญหาของไทยและมุมมองในระดับสากล เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 5,000 บาท และหลังจากนั้นอีก 3 เดือน นายกษิตไปเป็นวิทยากรหัวข้อ กลไกและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสากล เป็นเวลา 3 ชั่วโมง รับชั่วโมงละ 2,000 บาท รวม 6,000 บาท
นายเรืองไกรกล่าวว่า เทียบเคียงกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีพิธีกรรายการชิมไปบ่นไปของนายสมัคร สุนทรเวช อกีตนายกฯ ที่ศาลให้พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากถือเป็นลูกจ้างเอกชนผู้ค้ากำไรตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 วรรคท้าย กรณีรับค่าวิทยากรจาก ป.ป.ช.จะถือว่านายอภิสิทธิ์และนายกษิตเป็นลูกจ้างบุคคลหนึ่งหรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญห้ามมิให้นายกฯเป็นลูกจ้างของบุคคลใดไม่ได้ จึงคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นมาตรฐานเดียวกันเพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไปแล้วและคำวินิจฉัยผูกพันต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วย