Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
จากกระทู้ P10063871ของคุณตระกองขวัญ “เศรษฐกิจฟองสบู่จวนเจียนจะมาถึงจริงๆแล้วหรือเนี่ย...?” ติดต่อทีมงาน

วันอาทิตย์นี้ที่จริงตั้งใจจะเบรคด้วยเหตุผลดังกล่าวในกระทู้เมื่อวานแล้ว แต่เมื่อเช้าแวะเช็คดูเห็นมีกระทู้ คุณตระกองขวัญพาดพิงมา อ่านดูเนื้อหาแล้วเห็นได้ชัดว่าคงต้องแจงกันยาวพอสมควร หากรอถึงพรุ่งนี้เกิดมีประเด็นอื่นที่จำต้องโพสต์อีก ก็คงต้องรวมสองเรื่องหรือหลายเรื่องเข้าในกระทู้เดียวกัน ซึ่งจะยาวมากเกินไป เพราะกระทู้นี้ก็คงยาวพอประมาณอยู่ จึงใช้หลังเคลียร์ธุระส่วนตัวเสร็จเวลาช่วงเช้า มาตั้งกระทู้เสียแต่ในวันนี้เพื่อความสะดวกหากมีสมาชิกสนใจจะอ่าน

อนึ่งอยากจะบอกคุณตระกองขวัญว่า ดีแล้วครับ ที่ผมโพสต์ไว้เรื่องอุปทานหมู่นั้น ผมพูดเป็นกรณีกว้างๆจริงๆไม่ได้เจาะจงใคร หากคุณหรือคณะไม่รู้สึกว่าตัวเองจะเป็นแบบนั้นหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นแบบนั้นได้ ก็คงผ่านเลยไป นี้การณ์กลับกลายเป็นว่าคุณร้อนตัวเองขึ้นมาเอง ก็แสดงว่าคุณทึกทักว่าตัวเองมีความเสี่ยงจะเป็นพวกอุปทานหมู่ด้วยตัวของคุณเอง จึงต้องออกมาแก้ตัวเป็น ซึ่งก็ไม่น่ามีปัญหาหาอะไร แต่จากการโพสต์ของคุณ ผมอ่านดูแล้ว น่าจะคลาดเคลื่อนในสาระที่สำคัญไปพอสมควรจึงขอแก้ไขไว้ในกระทู้นี้

ในกระทู้P10063871 ที่คุณแก้ตัวไว้นั้นเกี่ยวกับเรื่อง “อุปทานหมู่” มันอาจจะแปร่งๆพิกล เพราะดูจะเป็นคนละประเด็นกับที่ผมพูดนะครับ คุณพูดถึงภาคเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดฟองสบู่ขึ้นเช่น พวกอสังหาริมทรัพย์ ตลาดเงิน ตลาดหุ้น ตลาดทุนอะไรทำนองนั้น  แต่ที่ผมถกนั้น เป็นตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจภาคภาคเศรษฐกิจจริง อันเป็นพื้นฐานอันเป็นภาคที่จะส่งผลต่อการเติบโตที่ยั่งยืนและประเทศจะเจริญได้ ตัวเลขที่ผมยกมานั้นเป็นพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อชี้ว่าภาคเศรษฐกิจจริงกำลังมีการฟื้นตัว อย่างที่ผมว่าละครับแม้จะเป็นช่วงของรัฐบาลเด็กน้อยสองคน ผมเพียงแต่ยกมาให้ดูว่าสิ่งที่ผมกล่าวอ้างนั้นมีข้อมูลหลักฐานยืนยันตามนั้น  ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนผ่านทางบีโอไอ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ส่วนรายได้ของสรรพากรผมว่าไม่น่าจะมาจากกำไรของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์นะครับ เพราะปกติการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นี้ไม่ต้องเสียภาษี(ไม่ใช่กรณีคุณโอ็ค และท่านอื่นๆนั้น ซึ่งเป็นกรณีภาษีที่เกิดจากการเป็นกรรมการบริษัทและรับโอนหุ้นในฐานะกรรมการบริษัททำให้มีมูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ประเด็นหลักของกระทู้นี้) ดังนั้นรายได้สรรพากรจึงน่าจะมาจากกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริงที่กำลังฟื้นตัว

แต่ในที่นี้คุณยกเรื่องฟองสบู่ขึ้นมา ซึ่งก็เป็นสิทธิอันชอบที่คุณจะถกเรื่องนี้แม้มันจะเป็นคนละประเด็นกับเรื่องการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริงซึ่งเป็นกระทู้ของผมก็ตาม แต่ในเมื่อคุณต่อกระทู้มาแบบนี้ ผมก็สันนิษฐานได้เลยว่าคุณกำลังมีความเชื่อว่าจะมีภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่เกิดขึ้นแล้วผมหรือรัฐบาลมาเสียเวลาดูตัวเลขภาคเศรษฐกิจจริงไปทำไม และจากเนื้อกระทู้ที่คุณบรรยายไว้ คุณมีความเชื่อว่ารัฐบาลไม่รู้เรื่องนี้ หรือไม่ได้นำพาหรือให้ความสนใจ และคุณไม่สนใจต่อตัวเลขเศรษฐกิจในภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจภาคที่มีการแจ้งแรงงานและเป็นภาคที่ขับเคลื่อนความเจริญของประเทศ  คุณสนใจอยู่อย่างเดียวว่ารัฐบาลไม่สนใจไม่ใส่ใจเรื่องฟองสบู่ที่คุณเชื่อว่ากำลังจะมีมา จนอาจจะเกิดกาลวิบัติไรอย่างที่คุณว่า ดังนั้นผมจึงต้องขอแย้ง ดังนี้คือ

    

ประการที่หนึ่ง

เศรษฐกิจฟองสบู่จะเกิดได้ก็ต่อเมือภาคเศรษฐกิจจริงมีการฟื้นตัวไปแล้วสักระยะหนึ่งแล้วซึ่งอาจจะกินเวลา 2 หรือ3 หรือ 4ปี ทั้งนี้เพราะโดยธรรมชาติของเศรษฐกิจฟองสบู่ นั้นจะเกิดเมื่อมีระบบเศรษฐกิจมีเงินในระบบมากแล้วหรือเหลือเฟือแล้ว จึงมีการสร้างอุปสงค์เทียมจนทำให้เกิดการเก็งกำไร เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในที่สุดทำให้โครงสร้างของระดับราคายกระดับสูงขึ้น และนำไปสู่การขยายตัวแบบฟองสบู่ พูดอย่างง่ายๆก็คือ ภาวะที่ราคาทรัพย์สินชนิดหนึ่ง เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยราคาที่สูงขึ้น เกิดจาก ความต้องการซื้อเพื่อรอขายเก็งกำไร เช่น ที่ดิน บ้าน คอนโดมิเนียม หลักทรัพย์ฯ ในช่วงแรกๆ การซื้อมาและขายไปจะยังทำได้และได้กำไร และเป็นตัวล่อให้ผู้บริโภคจำนวนมากมายี่สามารถหาเงินมาได้ไม่ว่าจะจากการกู้ยืมธนาคาร พากันกระโดเข้ามาเก็งกำไรในการสร้างอุปสงค์เทียมนี้ จนมีการถีบตัวของราคาสินทรัพย์เกินจริง เป็นสภาวะฟองสบู่นั้นเอง

เหตุเช่นนี้ จะไม่เกิดในสังที่เศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว เพราะปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบยังไม่มากพอ และในแง่จิตวิทยาผู้คนจะยังมีความกังวลใจและระมัดระวังสูง เพราะความที่ยังไม่มั่นใจในสภาวะเศรษฐกิจจึงยังไม่กล้าเสี่ยงลงทุนในลักษณะที่จะนำไปสู่ฟองสบู่ ซึ่งจะแตกต่างไปจากประเทศหรือสังคมที่ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่ไปแล้วสักระยะ และคนมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เริ่มหาช่องทางที่จะลงทุนเพื่อสร้างผลกำไร และเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจดีแล้ว ความมั่นใจลวง จะทำให้เกิดความกล้าที่จะเก็งกำไรและเริ่มต้นเศรษฐกิจฟองสบู่ ซึ่งในเวลานี้ สภาพแวดล้อมเชิงจิตวิทยาตรงนี้ยังไม่มี เพราะทุกคนในสังคมไทยต่างก็ทราบดีว่าเราเพิ่งจะผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ จึงเป็นไปได้ยากที่ใครจะกล้าเสี่ยงนำเงินไปลงทุนในเชิงเก็งกำไรในระยะนี้

ความเห็นของผมนี้ตามวิญญูชนพึ่งจะคิดวินิจฉัยนี้ ได้รับการสนับสนุนจากข่าวที่คุณเอามาลงเอง อาทิเช่นบทความเรื่อง "จับตาสัญญาณเศรษฐกิจฟองสบู่ ฤาประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย" จะมีความตอนท้ายแจ้งว่า “..  ยันไม่พบฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์  …โดยนายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยืนยันว่ายังไม่พบสัญญาณฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย หรือข่าวจากบทความเรื่อง “TMBเตือนระวังฟองสบู่ตลาดคอนโดแตก” ที่คุณยกมาเองนั้น  ก็ แจ้งว่า “TMB Analytics  หรือ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB มองว่าราคาคอนโดมิเนียมในปัจจุบันยังถือว่าสูงเกินกว่ามูลค่าพื้นฐานเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับโอกาสที่ฟองสบู่จะแตกแล้วส่งผลกระทบกระจายในวงกว้างอย่างเช่นปี 2540 นั้นยังคงห่างไกล”   หรือ เมื่อเร็วๆนี้ นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย ก็กล่าวไว้ว่า  “สมาคมฯได้นำข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันมาให้พิจารณา โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมยังห่างไกลคำว่าฟองสบู่อยู่ค่อนข้างมาก”
http://www.thailandpages.com/news-news_detail_2264.html


ดังนั้นในเวลานี้  ยังไม่มีหลักฐานว่ากำลังจะเกิดสภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ได้โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังไม่มีสัญญาณและอัตราการซื้อขายก็ยังห่างไกลจากสภาพที่จะเป็นฟองสบู่ หากจะเกิดขึ้นจริงน่าจะเกิดหรือก่อตัวในต้นปี 2555 หรือ 2556 เป็นอย่างเร็ว ความข้อนี้โดยส่วนตัวของผมแล้ว ผมมั่นใจเกือยร้อยเปอร์เซนต์ และในเวลานี้ ผู้ที่อยู่ในวงการก็ยืนยันว่า ยังไม่มีภาวะฟองสบู่เกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทย ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นจากมาตราการสนับสนุนการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐยกเลิกไปเสียเมื่อต้นปี 2553 ตลอดจนมาตราการด้านอัตราดอกเบี้ย ดังรายละเอียดข้างล่าง

ประการที่ 2 รัฐบาลหรือประชาชนทั่วไปไม่ทราบปัญหานี้หรือ ไม่ได้มีความคิดหรือแผนงานที่จะป้องกันหรือ

ในประเด็นนี้ หากคุณตระกองขวัญกลับไปอ่านบทความที่คุณยกมาเองในกระทู้ก่อนๆ คุณจะพบความจริงว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาหรือแม้แต่ประชาชนทั่วไป เขามีตระหนักถึงภัยนี้อยู่ แล้วดังต่อไปนี้


-  ในบทความเรื่อง "เวิลด์แบงค์เตือนเอเชียตะวันออกระวังฟองสบู่" ที่คุณยกมานั้น ก็มีความตอนหนึ่งแจ้งไว้ชัดว่าหน่วยงานของรัฐบาลไทยมีมาตราการสกัดกั้นเรื่องนี้อยู่ ดังความต่อไปนี้  “ธนาคารกลางของบางประเทศในเอเชียตะวันออก  เช่น  เกาหลีใต้  และไทย  ได้ตัดสินใจแทรกแซงตลาดด้วยการขายเงินสกุลท้องถิ่นออกมาในช่วงระยะหลังๆ  นี้เพื่อหยุดรั้งการแข็งค่าของสกุลเงินท้องถิ่นที่ส่งผลคุกคามการส่งออกของ”

- ในบทความเรื่อง "หม่อมอุ๋ย" เตือน ศก.ไทยระวัง "ฟองสบู่แตก" ทั้งหุ้น-อสังหาฯ” ที่คุณยกมาในนั้นก็มีลงไว้เกี่ยวกับท่าทีและทัศนคติขิงมาร์คและของรัฐบาลต่อเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยกับการรับมือของรัฐบาล" ในงานสัมนา ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยกับการเติบโตของจีดีพี ปี 54" ว่า  ปัญหาความไม่สมดุลในภาวะเศรษฐกิจโลกคงไม่หายไปง่ายๆ ตราบใดที่สหรัฐฯใช้นโยบายการเงินในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ เงินที่มีอยู่จำนวนมากก็จะไหลเข้าเอเชีย และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน การค้าขาย และรายได้ภาคการเกษตรมากพอสมควร รัฐบาลตระหนักถึงความเสี่ยงเหล่านี้และเตรียมพร้อมจะรับมือความผันผวน”

- ที่สำคัญคุณไม่ทราบหรอกหรือว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ถอนมาตราการที่สนับสนุนให้มีการซือ้ขายอสังหาริมทรัพย์ออกไปแล้ว อันถือเป็นมาตราการหนึ่งของรัฐบาลเพื่อป้องกันการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ นี้ยังไม่นับกฏหมายเก่าที่ออกมาหลังมีฟองสบู่ในปี 2539-2540 ที่กำหนดให้หากมีการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหารริ่มทรัพย์กันโดยที่มีการถือครองไว้ไม่นานเช่นไม่เกิน 2 ปีจะต้องเสียค่าธรรมเนียมสูงและไม่ได้รับการลดหย่อน 

รายละเอียดตรงนี้ ขอกยกมาตามนี้ดังนี้คือ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. วานนี้ (23 ก.พ.) มีมติให้ยุติมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 28 มี.ค.2553 ทั้งการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะจาก 3.3% เหลือ 0.11% สำหรับรายรับก่อนหักรายจ่ายจากการขายอสังหาริมทรัพย์ และการลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์และค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% และ 1% เหลือ 0.01% ของราคาประเมินสำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์"  นอกจากนี้ ครม.มีมติไม่ขยายมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับประชาชนที่ซื้อบ้านใหม่หลังแรกเพื่อที่อยู่อาศัย เท่ากับมูลค่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งหมดอายุไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2552” และสำหรับมาตราการด้านการเงิน ในปี  2554  กนง.ก็จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.5-1  ทำให้เป็นมาตรการป้องกันการนำเงินไปเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์

http://www.thailandpages.com/news-news_detail_2264.html
http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/137642.html

http://www.suthichaiyoon.com/detail/508


ประการที่สาม  รัฐบาลไม่มีมาตรการหรือการวางแผนรับมือต่อเงินทุนที่ไหลเข้ามาหรือ

คำตอบคือมีครับ ผมเคยอ่านเจอในหลายเอกสารมานายแล้ว แต่ไม่ได้มีโอกาสรวบรวมเข้าไปเป็นหมวดหมู่ มาตราการเหล่านี้ที่หาอ่านได้ เช่นจากรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสสาม และแนวโน้มปี 2553-2554 ของสํานักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2553 มีรายละเอียดต่อมาตราการที่มีเงินไหลเข้ามาดังต่อไปนี้ คือ
 (1) เพิ่ มช่องทางการไหลออกของเงิ นทุ น (Out Flow channel) มากขึ้ น โดยเฉพาะการเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจ และเอกชนเพิ่ มน้ำาหนักการลงทุนในตปท. ในประเทศที่เป็นคู่ค้าและคู่แข่งที่สําคัญ รวมทั้งการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นที่เป็นการเก็งกําไรค่าเงิน เพื่อลดความผันผวน
(2) ส่งเสริมและจูงใจให้ภาคธุรกิจส่งออก/นําเข้า ใช้เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำาเสมอ และควรเพิ่มช่องทางการเข้าถึ งและเพิ่มความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง สำาหรับ SME ทั้งนี้ ภาครั ฐอาจให้ความช่วยเหลือทางด้านสภาพคล่องในเบื้องต้นแก่กลุ่มผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาหรือขาดศักยภาพ
(3) เร่งรัดการปรับโครงสร้างการชําระหนี้ ที่เป็นเงินสกุลตราต่างประเทศที่ค่าเงินบาทมี ความได้เปรียบอยู่ รวมทั้งรํฐบาลให้การสนับสนุนผู้ส่ งออกที่ ยังพึ่งพิงวัตถุ ดิบภายในประเทศเป็นหลัก มีการนําเข้าเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น

ที่สำคัญในเวลานี้ ทุกสกุลเงินสำคัญของเอเชีย  ยกเว้นดอลลาร์ฮองกง ซึ่งผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐฯล้วนขยับค่าแข็งขึ้นมาก  แม้ว่าของไทยอาจจะแข็งมากกว่าเพื่อนบ้านเราไปสักนิดก็ตาม

นอกจากนี้เมือวันที่ 12 ตค.2553 นี้เมื่อ 12 ต.ค. นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  แจ้งว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอเรื่องมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท โดยแบ่งออกเป็น 3 มาตรการย่อย ดังนี้


1. มาตรการชะลอ Capital inflows โดยยกเลิกมาตรการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับพันธบัตรรัฐบาล, พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับการซื้อขายโดย Non-resident โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาให้มีผลบังคับใช้ในวันนี้


ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีมติ ครม.ดังกล่าว Non-resident ที่ซื้อขายพันธบัตรทั้งสามประเภทดังกล่าว (ไม่รวมถึงตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชน) จะได้รับการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ ซึ่งสาเหตุของการยกเว้นภาษีให้กับ Non–resident ดังกล่าว เพราะเรามีนโยบายที่ต้องการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันในกลุ่มอาเซียน แต่ในวันนี้ความสนใจของนักลงทุนต่างประเทศต่อตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทยถือว่ามีอยู่ในระดับที่สูงเพียงพอแล้ว ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศได้ใช้ตลาดตราสารหนี้เป็นที่พักเงินเป็นหลัก (มากกว่าการเป็นแหล่งลงทุนระยะยาว) ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงได้ยกเลิกสิทธิพิเศษด้านภาษีดังกล่าว ทำให้ทั้ง Non-resident และนักลงทุนชาวไทย มีภาระภาษีจากการซื้อขายตราสารหนี้ในอัตราเดียวกัน คือ 15% ทำให้ non-resident ที่ลงทุนในตราสารหนี้ มีภาระต้นทุนสูงขึ้น กำไรลดลง และน่าจะมีผลต่อเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้


ต่อคำถามที่ว่า หากค่าเงินบาทยังมีความผันผวนอีก กระทรวงการคลังจะมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นหรือไม่ เช่น การเก็บภาษีเงินทุนไหลเข้า นายกรณ์ กล่าวว่า ต้องดูเหตุผลและที่มาของแหล่งเงินทุนไหลเข้า ถ้าเข้ามาเก็งกำไรสร้างความผันผวนเกินไปหรือไม่ (เมื่อถึงจุดนั้น) แล้วค่อยมาดูว่ามาตรการใดเหมาะสม แต่ขณะนี้ตนไม่ขอพูดถึง (มาตรการเก็บภาษีเงินไหลเข้า)


2.การเร่งให้รัฐวิสาหกิจลงทุนที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ภายในปีนี้ มีมูลค่ารวม 5 หมื่นล้านบาท


3.มาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ส่งออก โดยให้ธนาคารของรัฐให้บริการ Forward contract แก่ SMEs ที่ส่งออก และกำหนดวงเงินสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน รวม 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs ที่ส่งออก

ประการที่ 4
สภาวะฟองสบู่เกือบทุกประเทศจะมีตัวแปรที่สำคัญและถือเป็นจำเลยหรือผู้รับเคราะห์ร่วมทุกครั้ง นั้นก็คือธนาคาร เพราะประชาชนที่เข้าสู่ระบบวัฐจักรของการสร้างอุปสงค์เทียมหรือการเก็งกำไรได้นั้น จะต้องมีเงิน ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็ได้มาจากการกู้ยืมธนาคารนั้นแหละครับ คราวนี้พอถึงจุดที่ฟองสบู่แตก คนรับเคราะหืนอกจากจะเป็นประชาชนแล้ว ธนาคารผุ้มีส่วนในเรื่องนี้ก็รับเคราะห์ไปด้วย ดังจะเห็นได้จากที่ธนาคารในไทยล้มหายตายจากไปในวิกฤติการณ์ปี 2539-2540 หรือในปี 2551-2552 ธนาคารในยุโรปก็ล้มหายตายจากไปเพาะไปปล่อยกู้ให้ซัพไพรม์นั้นเอง


คุณคิดว่าธนาคารในประเทศไทยเจ็บแล้วไม่จำหรือครับ ผมว่าไม่นะ บทเรียนคราวนั้นนะชัดแจ้งว่ะนาคารนั้นแหละตัวดี หากปล่อยสินเชื่ออย่างไม่เหมาะสม ขาดวินัยในการปล่อยสินเชื่อเมื่อไร การเก็งกำไรจะตามมา แล้วฟองสบู่จะเกิด


ในเรื่องนี้เคยมีความเห็นของนายธนาคารต่อเรื่องนี้ว่า “เท่าที่ดูสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ไม่ได้โตรวดเร็ว แต่มีแนวโน้มดีต่อเนื่องเพราะการปรับตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น แต่ในแง่ความต้องการหรือดีมานด์ยังไม่ได้สูงมากมาย ส่วนปริมาณโครงการหรือซัพพลาย ถึงจะมีโครงการเพิ่มขึ้นมากในทำเลรถไฟฟ้า แต่การเก็งกำไรที่สะท้อนจากดีมานด์ส่วนเกิน หรือกระทั่งซัพพลายส่วนเกินก็ไม่ได้สูงจนน่าห่วง แต่เรายังต้องติดตามดูต่อไป”  เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป และทุกคนมีบทเรียนอย่างดีมาจากปี 2540 แล้ว คงไม่มีใครดงให้เรื่องเช่นนี้เกิดซ้ำขึ้นมาได้ง่ายๆเป็นแน่
http://realestate-roi.com/%E0%B8%98%E0%B8%9B%E0%B8%97-%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9F%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%8A/

  

อนึ่ง ในอดีตนั้น ก่อนเกิดฟองสบู่แตกในปี 2539-2540 นั้น การปล่อยกู้มีมูลค่าสูงกว่ามูลค่ารวมของตลาดทุนไทย โดยมีการปล่อยกู้ค่ารวมกันราว 1.4 เท่าของมูลค่าตลาดทุนไทย แต่ในเวลานี้ มูลค่าตลาดทุนของเราอยู่ที่ 1.5 เท่าของการปล่อยกู้ เหตุการณ์จึงกลับกัน การปล่อยกู้อย่างไร้วินัยที่อาจจะนำเงินที่ได้ไปเก็งกำไรอย่างที่เกิดในช่วงปี 2539-2540 ยังไม่มีวี่แวว
http://www.set.or.th/setresearch/files/F_graph_34years_SET.pdf

       


ประการสุดท้าย เรื่องตลาดหุ้น


ตลาดหุ้นเป็นจุดที่มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาได้ง่ายที่สุดและมีการเก็งกำไรกันได้ง่ายที่สุดและในเวลานี้ดูจะเป็นจุดเดียวที่ต้องจับตามองเพราะ การเก็งกำไรหรือฟองสบู่ในภาคอื่นเช่นภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่เกิด ในขณะนี้ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้นจนมากว่าปี 2548-2549 ทำให้หลายคนไม่พอใจ และอีกหลายๆคนก็เป็นกังวลว่าจะเกิดฟองสบู่ในตลาดหลักทรัพย์


ที่จริงแล้วตลาดหุ้นตอนนี้มีโอกาสที่จะเป็นฟองสบู่อยู่พอสมควร เหมือนกับที่มันเคยเป็นมาตลอดเพราะธรรมชาติขิงตลาดหลักทรัพย์ก็คือมีการเก็งกำไรแฝงอยู่ในตัวเสมอมา ในช่วงก่อนหน้านี้นั้น อัตราดอกเบี้ยถูกเซ็ตให้ต่ำผิดปกติมาเป็นเวลานานพอสมควร  ต่อให้เวลานี้ยังไม่ใช่ฟองสบู่ แต่ถ้าดอกเบี้ยยังเป็นแบบนี้ต่อไป ตลาดหุ้นก็จะเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ในที่สุด เพราะต้นทุนของเงินถูกบิดเบือนให้ต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก แต่จะเห็นว่าฝ่ายรัฐบาลเริ่มมีการระวังโดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารให้สูงขึ้นแล้ว(เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประกาศดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น0.25 %)
http://www.isnhotnews.com/2010/12/%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%AF%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%98%E0%B8%9B%E0%B8%97-%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B1/


อีกประการ ฟองสบู่ปี 39-40 หรือฟองสบู่แนสเด็กนั้นกว่าจะแตกก็ต้องใช้เวลา 6-7 ปีในการก่อตัว  และใครจะรู้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่เราว่าต่ำเกินไปนั้น อาจกำลังกลายมาเป็นระดับที่ปกติของโลกในยุคต่อไปก็ได้ เพราะในเวลานี้อัตราดอกเบี้ยก็ต่ำไปทั่วโลกยกเว้นแต่ในออสเตรเลีย หรืออินเดียกระมังที่ยังมีอัตราดอกเบี้ยสูง

อนึ่ง หากเราดูเทียบกับเหตุการณ์ในอดีตจะพบว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในปี2539 ก่อนฟองสบู่แตกนั้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์สูงถึงกว่า 1,300จุด ในขณะที่ในเวลานั้น ผลิตภัณท์มวลรวมของประเทศเรามีค่าเพียง 4,598,288 ล้านบาท     แต่ในเวลานี้ในปี 2553 นี้รายได้ประชาชาติสูงกว่ามากๆ มาอยู่ที่ 9,041,551 ล้านบาท แต่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่แค่เพียง 1,000 กว่าจุดเท่านั้น เรียกว่าเรามีความมั่งคั่งกว่าเดิมเกือบ 2เท่า แต่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็ยังไมได้สูงกว่าในอดีตตอนเกดฟองสบู่ ความเหมาะสมหรือสมดุลของฐานะเศรษฐกิจกับความร้อนแรงในตลาดหลักทรัพย์นั้น มีความสมดุลสูงกว่าปี 2539 ก่อนฟองสบู่แตกมานัก


อนึ่ง เหตุการณ์ที่นำหน้ามาก่อนฟองสบู่แตกของไทยในอดีตนั้นก็คือ การเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์อันเนื่องมาจากนักลงุทุนบอกต่อๆกัน สมัยนั้นคนเล่นหุ้นในตลาดเพียงสัปดาห์เดียว สามารถถอยรถเก๋งออกมาขับได้ เป็นข่าวที่เลื่องลือไปไกล และชักจูงให้คนเข้ามาเล่นกุ้นในตลาดจนดัชนีสูงผิดปกติดังกล่าว เช่นในปี 2532 ราวการลงทุนมีอัตราการตอบแทนอยู่ราว ร้อยละ 118 เทียบกับปี 2540 ที่ลดเหลือ -52 แต่ในเวลานี้ผมตอบแทนจาการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้สูงจนเย้ายวนผู้คนเฉกเช่นในอดีตแล้ว

http://www.set.or.th/setresearch/files/F_graph_34years_SET.pdf
http://www.set.or.th/setresearch/files/20101130_B_graph_comparative.pdf
http://www.nesdb.go.th/Portals/0/eco_datas/account/ni/ni_2009/NI2009.xls
http://www.nesdb.go.th/Portals/0/eco_datas/account/ni/ni_2008/Book_NI2008.pdf
http://www.nesdb.go.th/Portals/0/eco_datas/account/ni/ni_2008/NI2008.xls


ดังนั้นโดยสรุปสำหรับผม ผมยังยืนยันในกระทู้เดิมที่ลงมา 2 วันในวันศุกร์บ่ายและวันเสาร์เช้าว่า จากข้อมูลที่ผมมีนั้น ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงกำลังเริ่มฟื้นตัวชัดเจนในรัฐบาลเด็กน้อยสองคน ส่วนประเด็นเรื่องฟองสบู่ที่คุณตระกองขวัญเอ่ยขึ้นมา นั้น ผมถือว่าเป็นไปได้ แต่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ ยังไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะเก็บมาหวาดกลัวหรือเกิดอุปทานขึ้นว่าจะมีเหตุวิบัติร้ายแรงในวันนี้พรุ่งนี้เลย อีกทั้งภาครัฐบาลก็ดี ภาคเอกชนเช่นธนาคารก็ดี หรือแม้แต่ประชาชน ต่างก็มีบทเรียนในเรื่องเหล่านั้นมาแล้ว และในเวลานี้ตัวบ่งชี้เช่นราคาอสังหาริมทรัพย์ ก็ยังไม่ได้เกิดความผิดปกติอย่างที่มีคนกลัวกันเลย


และขออนุญาตที่จะยังไม่นับกระทู้ของคุณที่คุณยกตัวเองของคุณไว้ว่าเป็น"ขุมทรัพย์"นะครับ กระทู้นั้นอาจจะเป็นได้ก็แค่"ขุมการตื่นศัพท์ที่ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจเขาวิเคราะห์ไว้" มากกว่า อนึ่ง ผมมีความรู้สึกว่าคุณอาจมีปมปัญหาเกี่ยวกับ “ระดับความคิด” หรือเปล่ากระมังเพราะเห็นคุณยกเรื่องนี้มาอ้างบ่อยเหลือเกินในกระทู้ของคุณ ผมขอแนะว่าคุณสามารถพัฒนา“ระดับความคิด” ของคุณได้ หากคุณรู้จักจะอ่านเอกสารต่างๆและคิดวิเคราะห์ด้วยตัวคุณเอง ไม่ใช่ไปเอาศัพท์ที่ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจเขาวิเคราะห์ แล้วเอามาอ้างต่อ โดยไม่พิจารณาคิดวิเคราะห์ให้เหมาะสมเสียก่อน


ด้วยความนับถือนะครับ

ขอจบการอภิปรายไว้แค่นี้ก่อนละครับ
 

            

 

 

 

.
 

แก้ไขเมื่อ 26 ธ.ค. 53 14:11:53

แก้ไขเมื่อ 26 ธ.ค. 53 13:52:09

แก้ไขเมื่อ 26 ธ.ค. 53 13:30:46

แก้ไขเมื่อ 26 ธ.ค. 53 13:29:08

จากคุณ : thyrocyte
เขียนเมื่อ : 26 ธ.ค. 53 13:23:55 A:58.136.4.202 X:



ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com